โดยจิรสุดา สายโสม ผู้เข้าอบรมโครงการนักข่าวภาคอีสาน ของเดอะอีสานเรคคอร์ด ครั้งที่ 2 ประจำปี 2560

อุบลราชธานี – วัดเมืองเดชคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ แต่ชาวเดชอุดมไม่มีโอกาสเห็นต้นเทียนก่อนเพราะวัดเกรงต้นเทียนจะเสียหาย ขณะที่วัดทุ่งศรีเมืองผู้ชนะเลิศปีที่แล้วไม่ส่งต้นเทียนเข้าประกวดอีกเนื่องจากติดขัดด้านงบประมาณที่ปีที่แล้วใช้เกือบล้านบาท

อำเภอเดชอุดมจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปีเช่นเดียวกับจังหวัดอุบลราชธานีที่อยู่ห่างออกไป 40 ก.ม. โดยการแห่เทียนพรรษาในปีนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 ก.ค. 2560  

ช่วงเย็นวันที่ 7 ก.ค. มีการนำต้นเทียนโบราณจาก 7 คุ้มวัดในเขตเทศบาลเมืองเดชอุดมมาจัดแสดง ณ ที่ว่าการอำเภอเดชอุดม ต้นเทียนของอำเภอเดชอุดมเป็นต้นเทียนโบราณทำจากการนำเทียนปกติมามัดรวมกันเป็นต้นเทียนขนาดใหญ่ ต้นเทียนของที่นี่จึงแตกต่างจากต้นเทียนพรรษาทั่วไปที่มีลวดลายจากการแกะสลัก ส่วนรถแห่เทียนโบราณตกแต่งด้วยใบตองและใบลานสาน โดยอำเภอเดชอุดมกลับมาทำต้นเทียนโบราณเป็นเวลา 6 ปีแล้ว

“ที่ทำเทียนโบราณเพราะว่า คนบ้านเรา (อ.เดชอุดม) มีฝีมือทางด้านศิลปะงานใบตองมากกว่าการแกะสลักและติดพิมพ์เทียน” นายยิ่งยศ ศรีจรูญ ผู้อำนวยการกองศึกษา เทศบาลเมืองเดชอุดม เล่าถึงที่มาของต้นเทียนโบราณ

ขบวนแห่ต้นเทียนพรรษาโบราณของอำเภอเดชอุดมขณะเคลื่อนผ่านที่ว่าการอำเภอเดชอุดม

ขบวนแห่เทียนพรรษาถูกจัดขึ้นในเช้าวันต่อมา (8 ก.ค.) ซึ่งเป็นวันอาสาฬหบูชา  ขบวนแห่เทียนประกอบด้วยรถบรรทุกต้นเทียนและขบวนฟ้อนรำ ขบวนแห่เริ่มต้นจากสะพานลอยถนนเดช-นาห่อม ผ่านใจกลางเมืองไปทางสามแยกวงเวียนคิวรถบุณฑริก และสิ้นสุดที่สนามกีฬาชุมชนบ้านหนองแสงใต้

ขบวนแห่เทียนพรรษาขณะอยู่ที่กลางเมืองเดชอุดม

นางวิมล เหล่าโก๊ก อายุ 32 ปี ชาวบ้านดอนเสาโฮง ตำบลเมืองเดช

 

นางวิมล เหล่าโก๊ก ชาวบ้านดอนเสาโฮง ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม มาดูงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่อำเภอเดชอุดมทุกปี มาเพื่อชมความสวยงามของขบวนต้นเทียนซึ่งเป็นต้นเทียนโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของเดชอุดม

นางสาวเกษร วงค์มาเกษ (คนยืน) แม่ค้าขายซาลาเปาในงานแห่เทียนเข้าพรรษาที่อ.เดชอุดม

ขณะที่พ่อค้าแม่ค้ามาวางแผงขายสินค้าหลายราย นางสาวเกษร วงค์มาเกษ แม่ค้าขายซาลาเปา อายุ 34 ปี จากบ้านแขมเจริญ ตำบลเมืองเดช เล่าว่า วันนี้ (8 ก.ค.) ขายของได้ไม่ต่างจากวันธรรมดา ปีที่แล้วขายของได้น้อยแล้วแต่ปีนี้ขายของได้น้อยกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำส่งผลให้คนมาเที่ยวงานน้อย คนที่มาเดินก็ไม่ค่อยซื้อของเหมือนเมื่อกับยุคที่เศรษฐกิจดี จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องเศรษฐกิจและอยากให้ราคาพืชผลสูงขึ้นด้วย

นายสราวุธ ทองดง พ่อค้าขายขนมโตเกียว หน้าธนาคารกรุงเทพ ข้างศาลหลักเมืองเดชอุดม

ในทางตรงข้าม นายสราวุธ ทองดง พ่อค้าขายขนมโตเกียว อายุ 30 ปี จากบ้านแสนตอ ตำบลเมืองเดช บอกว่า วันนี้ (8 ก.ค.) ขายของดีกว่าวันธรรมดา ปีนี้คนเยอะงานคึกคัก วันธรรมดาขายของตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงได้เงินไม่กี่ร้อยบาท แต่วันนี้ขายของถึงเที่ยงวันได้เงินพันกว่าบาทแล้ว

ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันเข้าพรรษา นักท่องเที่ยวกว่า 5 หมื่นคนเข้าร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ที่บริเวณทุ่งศรีเมือง มีขบวนต้นเทียนที่เข้าร่วมประกวด ทั้งหมด 55 ต้น แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ แกะสลัก ติดพิมพ์ และเทียนโบราณ โดยมีขบวนฟ้อนรำและการแสดงพื้นบ้านอีก 19 ชุด

ผลการประกวดมีผู้ชนะเลิศประเภทต่างๆ มีดังนี้ ต้นเทียนพรรษาแกะสลักขนาดใหญ่ ได้แก่ วัดพระธาตุหนองบัว, ต้นเทียนพรรษาแกะสลักขนาดกลาง – วัดเลียบ, ต้นเทียนพรรษาแกะสลักขนาดเล็ก – อำเภอกันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ, ต้นเทียนพรรษาติดพิมพ์ขนาดใหญ่ – วัดแจ้ง, ต้นเทียนพรรษาติดพิมพ์ขนาดกลาง – วัดนาควาย, และต้นเทียนพรรษาเทียนโบราณแบบดั้งเดิม – อำเภอสว่างวีระวงศ์

ด้านต้นเทียนโบราณวัดสิริสารคุณ ตัวแทนเทศบาลเมืองเดชอุดม ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทต้นเทียนโบราณดั้งเดิม

ขบวนแห่เทียนพรรษาจากวัดเมืองเดชได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ประเภทต้นเทียนพรรษาแกะสลักขนาดใหญ่

ระหว่างขบวนรถแห่ต้นเทียนแล่นผ่านไป ผู้สื่อข่าวพบว่ามีต้นเทียนพรรษาจากอำเภอเดชอุดมเข้าร่วมประกวดด้วย แต่ต้นเทียนดังกล่าวเป็นเทียนแบบแกะสลักซึ่งแตกต่างจากต้นเทียนที่อำเภอเดชอุดมที่เป็นต้นเทียนโบราณ อีกทั้งต้นเทียนดังกล่าวไม่ได้ร่วมขบวนแห่เทียนพรรษาที่อำเภอเดชอุดม ในวันก่อนหน้า ต้นเทียนดังกล่าวเป็นของวัดเมืองเดช มีนายสุวัฒน์ สุทธิประภา ชาวอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหัวหน้าช่าง ได้รางวัลอันดับที่ 3

นายศรีใส สมสัตยะ อายุ 63 ปี มัคทายกวัดเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

นายศรีใส สมสัตยะ มัคทายกวัดเมืองเดช เล่าว่า วัดเมืองเดชเป็นสถานที่ทำเทียนโดยไม่ได้เป็นผู้ออกทุนเอง แต่ได้เงินทุนมาจากเทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลทุกเทศบาลในอำเภอเดชอุดม และองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งในอำเภอเดชอุดม ส่วนสาเหตุที่วัดเมืองเดชได้รับการคัดเลือกให้ส่งเทียนเข้าประกวดเป็นเพราะวัดเมืองเดชเป็นวัดประจำอำเภอเดชอุดม

“เทียนของวัดเมืองเดชไม่ร่วมขบวนแห่เทียนพรรษาที่อำเภอเดชอุดมเพราะกลัวว่า ต้นเทียนจะชำรุด เทียนจะละลาย จนเกิดความเสียหาย และเกรงว่าจะไม่ชนะการประกวด” นายศรีใสกล่าว

ด้วยวัตถุประสงค์ทำเทียนเพื่อส่งเข้าประกวดส่งผลให้ชาวอำเภอเดชอุดมมีโอกาสเห็นต้นเทียนพรรษาแกะสลักที่เป็นตัวแทนของอำเภอหลังจากการประกวดเทียนพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว

พระครูสิริ รัตนานุยุทธ (พระมหากมลรัตน์ นันทศิริ ) รองเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง

มีเรื่องน่าสังเกตุอีกประการ คือ วัดทุ่งศรีเมืองผู้ได้รางวัลชนะเลิศเทียนแกะสลักขนาดใหญ่เมื่อปีที่แล้วไม่ได้ส่งต้นเทียนเข้าประกวดในปีนี้ (เทียนแกะสลักขนาดใหญ่เป็นประเภทที่เด่นที่สุดในงาน) พระครูสิริ รัตนานุยุทธ รองเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง ชี้แจงว่า สาเหตุที่วัดทุ่งศรีเมืองไม่ได้ส่งต้นเทียนเข้าประกวด เป็นเพราะคณะกรรมการประกวดเทียนพรรษาซึ่งคือเทศบาลนครอุบลราชธานีขอให้ส่งต้นเทียนในปีที่แล้วเข้าร่วมแสดงในขบวนแห่เทียนพรรษาในปีนี้ ประกอบกับวัดมีความเห็นว่าการทำต้นเทียนใช้งบประมาณสูงโดยเมื่อปีที่แล้วใช้งบประมาณไปประมาณ 8 แสนล้านบาท (เทศบาลนครอุบลราชธานี 2 แสนบาท วัดทุ่งศรีเมือง 1 แสนบาท ที่เหลือมาจากเงินบริจาคและบริษัทห้างร้านช่วยสมทบทุน) จึงเห็นด้วยที่จะส่งต้นเทียนเข้าร่วมแสดงโดยไม่ทำเทียนต้นใหม่ในปีนี้เพื่อส่งเข้าประกวด

วัดทุ่งศรีเมืองได้รับรางวัลติดต่อกันหลายปี

ปี 2556 รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภทแกะสลักขนาดกลาง

ปี 2557 รางวัลชมเชย ประเภทแกะสลักขนาดกลาง

ปี 2558 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทแกะสลักขนาดใหญ่

ปี 2559 รางวัลชนะเลิศ ประเภทแกะสลักขนาดใหญ่

พระครูสิริกล่าวอีกว่า เดิมทีการแห่เทียนพรรษาจัดเป็นประเพณีแต่ต่อมาภายหลังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี ส่งเสริมให้กลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีการประกวดแข่งขัน จึงเกิดความนิยมใช้งบประมาณจำนวนมากในการทำต้นเทียน ปีที่แล้ววัดทุ่งศรีเมืองลงทุนไปเกือบล้านบาทจึงได้รางวัลชนะเลิศ ส่วนสาเหตุที่ยอมลงทุนก็เพราะวัดจะได้มีหน้ามีตาหากชนะการประกวด

นายสุชาติ นิลมณี ช่างรับเหมาก่อสร้าง ชาวกรุงเทพฯ มาชมงานแห่เทียนพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นครั้งแรก

ผู้มาร่วมงานได้สะท้อนความคิดเห็น นายสุชาติ นิลมณี ช่างรับเหมาก่อสร้าง ชาวกรุงเทพมหานคร เล่าว่า มาชมงานเป็นครั้งแรกรู้สึกประทับใจขบวนแห่ที่มีความสวยงามอลังการ แต่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมราคาที่พักไม่ให้มีราคาสูงเกินไป เช่น ปกติราคาที่พักห้องละ 500 บาทต่อคืน แต่ช่วงนี้คิดราคาห้อง 1,500 บาท

นางกองแพง วังมนตรี แม่ค้าขายถั่วต้ม จากต.ตาลสุม อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี

การขายของเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับงานเทศกาล นางกองแพง วังมนตรี แม่ค้าขายถั่วต้ม อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี เล่าว่า ถ้าไม่มีงานแห่เทียนจะขายของอยู่ที่ตลาดใหญ่ริมแม่น้ำมูนขายของได้วันละ 500 บาท แต่วันนี้ (9 ก.ค.) ขายของตั้งแต่เช้าจนเกือบเที่ยงวันได้เงินแล้ว 600 บาท

นางรัชนีย์ แสงอุทัย แม่ค้าขายน้ำส้มเกล็ดหิมะ ชาวอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

นางรัชนีย์ แสงอุทัย แม่ค้าขายน้ำส้มเกล็ดหิมะ ชาวอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ บอกว่า ปกติขายของตามตลาดนัดในจังหวัดศรีสะเกษ มาขายของที่งานปีนี้เป็นปีแรก เริ่มขายมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. มาวันนี้ (9 ก.ค.) ขายดีกว่าทุกวันขายของถึงเวลา 17.00 น.ได้เงินหนึ่งหมื่นบาทแล้ว ขณะที่ปกติต้องขายจนถึงเวลา 20.00 น. จึงจะได้เงินหนึ่งหมื่น

งานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีเปลี่ยนแปลงจากการทำตามประเพณีทางพุทธศาสนาเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยมีจุดเด่นอยู่ที่การประกวดขบวนแห่เทียนที่ใหญ่โตอลังการ ทำให้บางวัดต้องงดส่งต้นเทียนเข้าประกวด บางอำเภอทำต้นเทียนเพื่อประกวดเป็นหลัก และโรงแรมที่พักถีบราคาสูงขึ้น จึงต้องติดตามว่าในเทศกาลเข้าพรรษาปีหน้าจะมีการจัดการกรณีเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร#

image_pdfimage_print