โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

ท่านจะเชื่อไหมว่า หนังสือราคาแพงที่สุดเท่าที่ฉันเคยซื้อในชีวิตนี้เป็นหนังสือพจนานุกรมภาษาอีสาน ราคา 3,500 บาทที่ตั้งไว้อย่างไม่แคร์สาธารณชน (ประมาณสามเท่าของราคาปกดั้งเดิม) ไม่ได้ยับยั้งฉันจากการสั่งซื้อเลย เหตุผลน่ะหรือ? ก็เพราะมันเป็นหนังสือรวมคำศัพท์ภาษาอีสานที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมานั่นไง

สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ (ชื่อภาษาอังกฤษว่า Isan-Thai-English Dictionary) เขียนโดย ดร. ปรีชา พิณทอง พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2532 จำนวนพิมพ์ 5,000 เล่ม ปัจจุบันยังมีเล่มปกแข็งจำหน่ายอยู่ ท่านสามารถสั่งซื้อได้จากสำนักพิมพ์ ด้วยราคา 3,500 บาท ไม่รวมค่าส่ง ภาพนี้ถ่ายเมื่อเดือนเมษายน 2559

ฉันดีใจเหลือหลายตอนที่ได้รับหนังสือเล่มนี้มาทางไปรษณีย์ เมื่อเปิดกล่องออกมาฉันถึงกับโพสท่าถ่ายรูปกับมันหลายท่า จนรู้สึกถึงน้ำหนักของปกและสันแข็งที่กดทับเส้นเลือดตรงข้อมือ

ถึงจะราคาขนาดนี้ฉันก็ไม่รู้สึกเสียดาย หนังสือเล่มนี้กลายเป็นแหล่งอ้างอิงแรกที่ฉันจะหันไปหา เวลามีข้อกังขาในการทำงานเขียนหรืองานแปลที่ต้องใช้ภาษาอีสาน

แรกทีเดียว ฉันออกจะงงว่าทำไมคุณปรีชาถึงเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า “สารานุกรม” แทนที่จะเรียกว่า “พจนานุกรม” ตามแบบไทย หรือ “วัจนานุกม” ตามแบบลาว

ความงุนงงสงสัยนั้นคลี่คลายเชื่องช้าเหมือนกลีบบัว ตอนที่ฉันพยายามแหวกกระแสธารตัวหนังสือในวรรณคดีลาวเรื่องสังข์ศิลป์ชัย และกระแสธารน้ำตาของตัวเองเพราะบางบรรทัดแม้แต่จะจับความคร่าวๆ ยังไม่ได้ สังข์ศิลป์ชัย (หรือ สินไซ) ที่ฉันอ่านเป็นฉบับของคลังนานาธรรม ขอนแก่น ซึ่งผู้ชำระคุณจินดา ดวงใจ ไม่จัดบรรทัดให้ร้อยกรองอ่านง่าย ทั้งไม่ทำอภิธานศัพท์หรืออรรถาธิบายใดๆ แต่เมื่อฉันค้นหนังสือของคุณปรีชา พิณทองแล้ว ต่างก็พบว่าคุณปรีชาได้แถลงไขคำที่ฉันไม่รู้ไว้อย่างค่อนข้างครบถ้วน พร้อมดึงตัวอย่างการใช้มาจากตัวบทเดียวกันกับที่ส่งฉันวิ่งร้องไห้ไปหาคำอธิบายนั่นเอง

คำแล้วคำเล่า พุทธิปัญญาก็ค่อยๆ แบ่งบาน ว่าเพราะอย่างนี้เอง หนังสือเล่มนี้จึงมีดีแตกต่างจาก “พจนานุกรม” ภาษาอีสานเล่มอื่นๆ ที่มักไม่เจาะลึกตัวบทวรรณคดี การจะเรียก “สารานุกรม” ก็เหมาะสมแล้ว เพราะมีพื้นฐานมาจากการค้นคว้ามากกว่าคำ แต่ยังแนะนำวรรณคดีของภาคอีสานไว้อย่างไม่บันยะบันยัง

ตัวอย่างหนึ่งคือความหมายของคำว่า “นาง” ซึ่งกินพื้นที่เกือบเต็มหน้ากระดาษ เพราะพ่อใหญ่ปรีชายกตัวอย่างการใช้คำนี้ด้วยคำพูดของนางอมิตตตาจากเรื่องพระเวสสันดร ตอนที่นางถูกหญิงอื่นดูถูกเหยียดหยามเพราะไปเป็นเมียชูชก เป็นคำด่าผู้หญิงโดยผู้หญิงที่ยาวเหยียดอย่างน่าอัศจรรย์

ในเมื่อสารานุกรมนี้เน้นหนักไปทางศัพท์จากวรรณคดี (ซึ่งถ้าไม่เป็นศัพท์แสงก็มักเป็นคำโบราณ) การออกเสียงคำที่หลากหลาย ภาษาปาก และคำเฉพาะถิ่นจำนวนมากจึงไม่ถูกนับรวมไว้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีหลายจุดที่คุณปรีชาเอาตัวเข้าปกป้องภาษาของสามัญชน ใต้คำอย่าง “มึง” กับ “บัก” เขาเจาะจงลงไปว่าคำพวกนี้ “ไม่ใช่คำหยาบ” ไม่ก็ “ไม่เห็นจะเป็นคำหยาบตรงไหน” ซึ่งความหมายระหว่างบรรทัดก็คือ ไม่เห็นจะเป็นคำหยาบอย่างที่ผู้กำหนดมาตรฐานภาษาไทยเขาจัดช่วงชั้นไว้เลย (“ผักบุ้ง” เป็นคำไม่สุภาพ เพราะผวนแล้วเป็น “พุ่งบัก” ต้องพูดว่า “ผักทอดยอด”)

พอจะพูดแบบเว่อร์ๆ ได้อยู่ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นจดหมายรักถึงวรรณคดีอีสานและภาษาอีสานที่ใช้เวลาเขียนชั่วชีวิต

~~~

ด้วยความที่ไม่มีสถาบันควบคุมภาษาอย่างเป็นทางการ ภาษาอังกฤษจึงอาศัยพจนานุกรมที่รวบรวมโดยปัจเจกชนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญเพื่อสร้างมาตรฐานของภาษามาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 18 พจนานุกรมปี 1755 ของแซมมวล จอห์นสัน อยู่ยงคงกระพันเป็นตำราต้นตำรับของภาษาอังกฤษแบบบริติชกว่าร้อยปี ทรงอำนาจถึงขนาดที่ว่ารัฐสภาสหราชอาณาจักรโยนร่างกฎหมายทิ้งแม่น้ำเทมส์ด้วยเหตุว่า “คำคำหนึ่งในร่างกฎหมายไม่ได้ถูกด็อกเตอร์จอห์นสันบันทึกไว้”

อีกด้านหนึ่งของการสร้างมาตรฐานการสะกดและระบุการใช้ที่เหมาะสม ก็คือการละลายความแตกต่างหลากหลายของภาษาตามที่ใช้จริง และกดทับภาษาถิ่นรอบนอกศูนย์กลางอำนาจให้ตกอยู่ภายใต้มาตรฐานของภาษาเขียนอีกด้วย

เมื่อพินิจในแง่นี้แล้ว ก็พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีประเด็นน่าสนใจ ที่นี่ ไม่เพียงแต่ไม่มีสถาบันราชบัณฑิตยสภาควบคุมภาษาลาวของอีสาน แต่ยังไม่มีมาตรฐานการเขียนเสียด้วย — ความปรารถนาอยากให้มีมาตรฐานการเขียนสำเนียงนับสิบให้เหมือนกันเป็นแบบเดียวก็ไม่เห็นจะมี

(ขอแทรกเป็นหมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า การพูดว่าภาษาลาวในอีสานไม่ใช่ภาษาเขียน ออกจะผิดความจริงอยู่หลายระดับ ทุกวันนี้ “ภาษาอีสาน” ก็เขียนกันเป็นล่ำเป็นสันทางสื่อโซเชียลและป้ายโฆษณาสินค้าในภาคอีสาน ส่วนเมื่อก่อน “ภาษาอีสาน” ก็ถูกเขียนไว้ตั้งหลายแบบ ด้วยตัวอักษรไทยน้อยก็มี ตัวธรรมก็มี)

ถ้าเช่นนั้นไซร้ การที่อีสานมีพจนานุกรม มันหมายความว่าอย่างไรกัน?

เคยมีไหมความต้องการในหมู่ประชาชนให้ปรับภาษาลาวอีสานให้มีมาตรฐานเดียวกัน? เคยมีไหมที่จำเป็นต้องละลายความแตกต่างหลากหลายของภาษาถิ่นนี้? หรือความจำเป็นที่จะต้องแปลความเป็นกิจลักษณะ?

ต่อคำถามสามข้อนี้ ฉันคงต้องตอบว่า ไม่, ไม่, และไม่. แต่ก็นั่น พจนานุกรมของปรีชาก็ยังตั้งอยู่ พร้อมกับพจนานุกรมภาษาอีสานอีกหลายต่อหลายฉบับทั้งที่พิมพ์เป็นเล่มและรวบรวมไว้ในโลกออนไลน์ ในขณะเดียวกันกับที่หนังสือพจนานุกรมเหล่านี้ขายไม่เคยหมด และโรงเรียนก็ไม่เคยนำมาใช้เป็นสื่อการสอน คนทั่วไปในอีสานก็ยังคงใช้ภาษาพูดของตนอยู่ทุกวัน ยิ่งใช้ก็ยิ่งดิ้น ยิ่งแผลง ยิ่งผลิออกมาเป็นพันทาง และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง “ภาษาอีสาน” ถึงกาลต้องตายโดยธรรมชาติในอีก 100-200 ปีข้างหน้าตามที่ จอห์น เดรเปอร์ ได้ทำนายไว้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ภาษาก็ได้เกิดใหม่อยู่ทุกวัน

เดี๋ยวนี้ คำอย่าง “อินดี้” และ “เซราะกราว” ได้ถูกเพิ่มเติมความหมายและการใช้แบบพื้นถิ่นโดยชาวอีสานผู้นำมาใช้ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคลังคำสาธารณะไปแล้ว ส่วนพจนานุกรมทั้งหลายก็ถูกทิ้งไว้ในโกดังจนกระดาษเหลืองด่าง บุรุษอักษร (homme de lettres – หมายถึงผู้ใช้ชีวิตกับตัวหนังสือโดยไม่ทำมาหากินเหมือนชาวบ้านเขา) แห่งแผ่นดินอีสานสาบสูญไปในอดีตกาล

ก่อนที่พจนานุกรมจะเริ่มนับ หมวด ก ชีวิตของคุณปรีชา พิณทอง ก็ได้ฉายฉานออกมาให้เห็นเป็นภาพถ่ายพร้อมคำบรรยาย เกิดปี พ.ศ. 2457 คุณปรีชาถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2546 ใครกันเล่าที่เป็นทายาทของผลงานแห่งชีวิตนี้?

เมื่อฉันได้อ่านบทความเกี่ยวกับการสะสมหนังสือชื่อว่า “Ich packe meine Bibliothek aus (ผมเปิดกรุหนังสือของผมอยู่)” เขียนโดยวอลเตอร์ เบนยามีน บุรุษอักษรแห่งศตวรรษที่ยี่สิบอีกคนหนึ่ง ฉันเกิดได้มุมใหม่ที่จะมองความวิริยะอุตสาหะของคุณปรีชา ว่ามันเป็นความหมกมุ่นเยี่ยงนักสะสมคำ

แน่ละว่า ถ้อยคำไม่ใช่อะไรที่จะมาสะสมกันได้อย่างสิ่งของทั่วไป แม้กระนั้น ด้วยความที่สารานุกรมเล่มนี้ตั้งแต่คำแรกยันคำสุดท้ายนั้นรวบรวมมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนคนเดียว  การเปิดค้นหาคำก็ให้ความรู้สึกราวกับได้เปิดกรุข้าวของที่เหลือรอดมาจากเวลาและสถานที่โพ้นไกล สิ่งของเหล่านี้มีรูปลักษณ์ผุกร่อนเหมือนผ่านมือคนและกรำแดดกรำฝนมามาก (เราเติมอักษรควบกล้ำ “ร เรือ” หรือ “ล ลิง” ใส่คำนี้เวลาปริวรรตเป็นตัวไทยเถอะ จะได้ไปพ้องกับการสะกดแบบไทยมาตรฐาน) และสืบหาประวัติชัดๆ ได้เพียงไม่กี่ร่องรอย “เบิ่งถ้อน–คำคำนี้ปรากฏในวรรคหนึ่งของ สังข์ศิลป์ชัย ให้ข้อยบอกความหมายแก่เจ้า พร้อมอ้างอิงวรรคนั้นอันเป็นแหล่งของคำ แต่เจ้าก็อาจจะบ่เข้าใจแน่แท้ถึงความหมายของมันอยู่ดี” เสียงของปรีชาสะท้อนมาเงียบเชียบด้วยน้ำเสียงที่ฉันไม่รู้จัก

เบนยามีนเขียนไว้ว่า

ว่ากันตามจริง การรับมรดกตกทอดเป็นมรรควิธีที่เหมาะสมถูกต้องที่สุดในอันที่จะได้มาซึ่งของสะสม เนื่องจากฉันทาคติที่นักสะสมมีต่อสิ่งของในครอบครองนั้นงอกเงยมาจากความรู้สึกของผู้เป็นเจ้าของว่าต้องรับผิดชอบต่อ[ชะตาของ]ทรัพย์สมบัติของตน ฉันนั้นแล้วมันจึงเป็นฉันทาคติแบบทายาทในความหมายระดับที่สูงส่งที่สุด และลักษณะโดดเด่นเป็นเลิศที่สุดที่ของสะสมชุดหนึ่งๆ คือความที่มันสามารถสืบทอดต่อไป . . . ปรากฏการณ์การสะสมสูญเสียความหมายในตัวมันไปพร้อมๆ กับที่การสะสมสูญเสียนักสะสม ถึงแม้นจะเป็นได้ว่าของสะสมเพื่อสาธารณชนจะไม่ถูกสังคมตำหนิได้เท่ากับของสะสมส่วนตัว ทั้งยังมีประโยชน์ทางวิชาการมากกว่า แต่อย่างไรสิ่งของสะสม [ในที่นี้คือถ้อยคำ] จะถูกดูแลรักษาอย่างคู่ควรได้เฉพาะในแบบส่วนตัวเท่านั้น

ในเมื่อปรีชาได้จากไปแล้ว ปรากฏการณ์ของการสะสมถ้อยคำและงานวรรณคดีก็ดูจะสูญเสียความหมายในตัวของมันไปด้วย ของสะสมของปรีชาตกทอดมาถึงใครกัน? คลังคำที่เขาสะสมและสงวนลิขสิทธิ์ไว้ ควรได้รับการถ่ายทอดไปเป็นของสาธารณะไหม?

มีแหล่งความรู้ภาษาลาวอีสานออนไลน์อยู่สี่ห้าแหล่งที่ฉันเข้าไปเยี่ยมเพื่อเรียนคำใหม่เรื่อยๆ แหล่งหนึ่งที่น่าเอ่ยถึงเป็นพิเศษคือคลังคำของชมรมวัฒนธรรมอีสานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสะสมคำไว้สองพันกว่าคำ ในจำนวนนี้มีสำนวนภาษาปากอยู่มาก พร้อมตัวอย่างในรูปบทสนทนาจริง บอกพื้นที่ที่มีการใช้คำนั้นๆ แลที่สำคัญคลังคำนี้เป็นการทำร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งบุญผลาตกมาสู่สาธารณชน

เคราะห์ร้าย แหล่งความรู้เหล่านี้เป็นของยุคเว็บ 2.0 ที่คนใช้เว็บบอร์ดเฉพาะกลุ่มสื่อสารกันเข้มข้น ทุกวันนี้ตกสมัย ไร้คนอัพเดตเสียแล้ว

ในเมื่อภาษาลาวไม่ใช่ภาษาแรกของฉัน ฉันจึงถูกสาปให้เป็นผู้เรียนรู้ภาษาลาวตลอดชีวิต นอกจากจะเป็นผู้เรียนรู้ภาษาอังกฤษตลอดชีวิตซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว

ผัวฝรั่งของฉันเรียนภาษาไทยได้มาต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ ส่วนสำคัญก็เป็นเพราะมีแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนและพจนานุกรมดิจิตัลหลายฉบับที่เขาสืบค้นได้อย่างสะดวกด้วยการป้อนเสียงหรือตัวอักษรเข้าไป บ่อยไปที่ฉันปรารถนาจะมีแหล่งเรียนรู้ภาษาลาวอีสานดีๆ ให้มากพอเทียบกันได้กับที่ผัวฝรั่งของฉันมีสำหรับเรียนภาษาไทย คือๆ กันกับที่เขาปรารถนาจะมีแหล่งเรียนรู้ภาษาไทยมากมายก่ายกองอย่างที่คนไทยมีสำหรับเรียนภาษาอังกฤษ

ทุกวันนี้บางทีฉันอับจนถึงขนาดต้องใช้ Google Translate คำภาษาอังกฤษเป็นภาษาลาวฝั่งซ้าย แล้วเอาไปเช็คกับเจ้าของภาษาคนอีสานอีกทีว่าฝั่งขวาแม่น้ำโขงรุ่นยายย่าตาปู่มีใช้คำนี้แบบนี้ไหม

~~~

อยู่มาวันหนึ่ง ฉันเปิด สารานุกรมฯ หาคำคำหนึ่ง แต่แทนที่จะเจอ (หรือไม่เจอ) คำนั้น กลับเจอหน้ากระดาษเปล่าแทน พลิกกลับไปกลับมาตรงกลางเล่มก็พบว่ามีหน้าพจนานุกรมหายไปประมาณสิบหน้า

ตอนที่ฉันแจ้งปัญหาไปทางผู้จัดพิมพ์ ในใจฉันหวังไว้ว่าขอให้ได้หนังสือเป็นฉบับอีบุ๊กหรือเป็นไฟล์พีดีเอฟเทอะ เวลาซอกหาคำจะได้ไม่ลำบากลำบน แถมจะค้นกลับจากความหมายภาษาไทยมาตรฐานไปหาคำอีสานก็ยังได้

ปรากฏว่า หลังจากพิมพ์จำหน่ายมาแล้วเกือบสามสิบปี สารานุกรมฯ ยังไม่มีฉบับดิจิตัล และทางโรงพิมพ์เองก็ยังไม่มีแผนการที่จะออกฉบับใหม่ใดเลย

ฉันแกะกล่องพัสดุที่ส่งมาจากโรงพิมพ์ที่อุบลราชธานีตรงถึงบ้านฉันที่ศรีสะเกษ เป็นกล่องเดียวกันกับที่ฉันใช้ส่งหนังสือ สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ เล่มแสนรักแต่มีตำหนิกลับไปสู่ชะตากรรมอันไม่อาจล่วงรู้ หนังสือเล่มที่ได้มาใหม่ห่อพลาสติกไว้ แต่ก็กลับดูเก่าคร่ำคร่ายิ่งกว่าฉบับแรกเสียอีก ตรงขอบขาวตรงข้ามสันปกมีรอยกะด่างกะเดา มุมปกก็งุ้มงอเหมือนถูกรัดจนเสียรูป ฉันพลิกเปิดดูเนื้อใน–ไม่มีหน้าหาย ฉันวางหนังสือเล่มใหม่ไว้ ณ ที่ที่เคยเป็นของหนังสือเล่มเดิม แต่ความรู้สึกมันกลับไม่เหมือนเดิม

สารานุกรมฯ เล่มทดแทน ซึ่งมีข้อความพิมพ์หมึกทองระยิบว่า “Complimentary of Toyota Foundation” เพิ่มเติมขึ้นมาบนปกหนังเทียม ภาพถ่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560

กรุที่เก็บคำนี้ตกทอดต่อไปได้จริงหรือเปล่า เมื่อบุรุษผู้เป็นเจ้าของจากโลกนี้ไป?

ถึงแม้หนังสือ สารานุกรมฯ ทั้งสองเล่มจะดลให้เกิดความรู้สึกอย่างตรงกันข้าม เล่มหนึ่งเป็นความอัศจรรย์ใจ ส่วนอีกเล่มเป็นความทอดอาลัย ทั้งสองเล่มก็เป็นพจนานุกรมฉบับเดียวกัน ความหวังของฉันอยู่กับ สารานุกรมฯ อีกเล่มหนึ่ง เล่มที่ยังมาไม่ถึง–พจนานุกรมพูดได้ฉบับดิจิตัลนั่นเดที่ฉันรอคอย

ในสารานุกรมเล่มที่สองนี้ แต่ละคำจะมีการสะกดได้หลายแบบ ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าต้องการแบบไหนเป็นสำคัญ มีทั้งแบบตัวอักษรไทยน้อยตามที่ปรากฏในใบลานเก่า มีทั้งการสะกดแบบปริวรรตและปรับเป็นภาษาไทยของปรีชา และมีทั้งการสะกดแบบเลียนเสียงพูดตามจริงโดยอิงตามการอ่านวรรณยุกต์แบบไทยมาตรฐาน

ในสารานุกรมเล่มที่สองนี้ แต่ละคำจะมีปุ่มให้กดฟังเสียงได้ว่าออกเสียงอย่างไร ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะฟังสำเนียงใด

ในสารานุกรมเล่มที่สองนี้ ไม่เพียงแต่ตัวบทวรรณคดี แต่ภาษาปากก็จะได้เฉิดฉายอย่างเต็มที่ โดยมีแหล่งข้อมูลมาจากทีมอาสาสมัครผู้ไปรวบรวมคำที่คนเฒ่าคนแก่พูดกันอยู่จากหมู่บ้านอีสานกลุ่มตัวอย่าง

สารานุกรมเล่มที่สองนี้จะคงสภาพความค่อนข้างเท่าเทียมระหว่างสำเนียงต่างๆ ของภาคอีสาน จะต่อต้านการผนวกรวมสำเนียงชายขอบต่างๆ ให้ตกอยู่ภายใต้สำเนียงที่มีอำนาจสูงกว่า (เช่นสำเนียงลาวอุบล) และจะช่วยอำนวยให้การแปลภาษาเป็นเรื่องพลิกแพลงสร้างสรรค์ แทนที่จะย่อยย่อลงเป็นแบบเดียว สารานุกรมเล่มนี้สองนี้จะเป็นโครงการของเอกชน ซึ่งจะส่งมอบไปสู่สาธารณชนแบบฟรีๆ . . .

ท่านอาจถามว่าฉันฝันกลางวันอยู่หรือเปล่า หากท่านคิดเช่นนั้นขอให้ลองคิดอีกที–พจนานุกรมอย่างที่ว่าไปนั้นเป็นไปได้อย่างแน่นอน มันโคตรจะเป็นไปได้เลย คำถามที่ต้องถามจริงๆ คือ ใครจะเป็นคนทำมันขึ้นมาล่ะ? ใครจะตั้งตนเป็นทายาททางจิตวิญญาณของปรีชา พิณทอง กันเล่า? เวลาเท่านั้นที่จะบอกเราได้.

image_pdfimage_print