โดยบูรพา เล็กล้วนงาม
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์น่าสนใจ 2 เหตุการณ์ที่มีความเชื่อมโยงกันและสามารถสะท้อนให้เห็นว่า ทำไมการปกครองระบอบเผด็จการจึงสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมไทย

นายเรืองวิทย์ บรรจงรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล็อกคอ นายศุภลักษณ์ บำรุงกิจ รองประธานสภานิสิตจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย คนที่ 1 ระหว่างพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่ ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2560 ส่วนผู้หญิงชุดดำคืออาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ซึ่งต่อมาพยายามจะยึดโทรศัพท์มือถือของสื่อมวลชนที่บันทึกภาพเอาไว้ ภาพจากเฟซบุ๊ค Netiwit Chotiphatphaisal
กรณีแรก คือ การที่อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยล็อกคอนายศุภลักษณ์ บำรุงกิจ รองประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนที่ 1 ระหว่างพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่ ประจำปีการศึกษา 2560 พร้อมทั้งด่าด้วยคำหยายคาย (มีภาพเคลื่อนไหว)

ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกคดีฟัอง “ไผ่ ดาวดิน” ผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพ์ เมื่อ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา
กรณีที่สองคือการสืบพยานโจทก์นัดแรกอย่างปิดลับ คดีกล่าวหา นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ว่าทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เกิดการรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาประเทศไทยปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารนำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นเวลาถึง 3 ปี 2 เดือนแล้ว ซึ่งเป็นการปกครองโดยรัฐบาลทหารยาวนานที่สุดนับแต่การรัฐประหาร ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2501 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ปกครองประเทศต่อเนื่องนาน เกือบ 11 ปี จึงค่อยมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2512
ปัจจัยที่ทำให้คสช.สามารถปกครองประเทศได้ นอกจากการมีอำนาจเชิงกายภาพ คือ กองทัพและอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแล้ว การที่สังคมถูกบ่มเพาะด้วยแนวคิดเผด็จการก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คสช. ดำรงอยู่ได้
แนวคิดเผด็จการคือแนวคิดที่ยอมรับว่าผู้ใหญ่ควรมีอำนาจบาตรใหญ่เหนือผู้น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย เช่น สามารถพบเห็นข่าวครูทำร้ายนักเรียนได้อย่างสม่ำเสมอ แนวคิดผู้ใหญ่มีอำนาจบาตรใหญ่เหนือผู้น้อยจึงเป็นลักษณะเดียวกับแนวคิดเห็นคนไม่เท่าเทียมกัน
นายประจักษ์ ก้องกีรติ ระบุว่า แนวคิดที่ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลานานคือ “คนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน” งานพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เปรียบราษฎรไว้ว่า ผม ขน เปรียบด้วยราษฎร เมื่อขาดไปเส้นหนึ่งก็ไม่สู้กระไรนัก ถึงพวกราษฎรก็เหมือนกันถ้าตายไปคนหนึ่งก็ไม่รู้สึกว่ากระไรนัก
จึงพบว่าแนวคิดผู้ใหญ่ผู้น้อยและแนวคิดคนไม่เท่าเทียมกันเป็นแนวคิดที่สนับสนุนการปกครองระบอบเผด็จการเช่นกัน โดยระบอบเผด็จการคือระบอบที่ต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่า ผู้นำมีอำนาจสูงสุดและสามารถใช้อำนาจอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ในประเทศ
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในงานรับน้องของจุฬาฯ ในเบื้องต้นคือการกระทำส่วนบุคคลที่นายศุภลักษณ์ บำรุงกิจ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ ละเมิดสิทธิในร่างกายนิสิตคนหนึ่ง แต่เมื่อนายบัญชา ชลาภิรมย์ รองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต จุฬาฯ ชี้แจงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจัดฉากของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ พร้อมปกป้องการกระทำของนายศุภลักษณ์
ทำให้ตีความได้ว่า นอกจากจุฬาฯ จะไม่ยอมรับว่าอาจารย์ล็อกคอนิสิตทำผิดจรรยาบรรณาอาจารย์จุฬาฯ ที่ระบุว่า “ให้เกียรติและปฏิบัติต่อศิษย์อย่างวิญญูชน”แล้ว ยังโยนความผิดให้กับนายเนติวิทย์และรองประธานสภานิสิตฯ อีกด้วย โดยไม่พยายามอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นของการจัดพิธีแสดงความเคารพด้วยการถวายบังคม จนต่อมามีอาจารย์อีกคนกล่าวหาว่านายเนติวิทย์จงใจปั่นป่วน ซึ่งก่อนหน้านี้นายเนติวิทย์เคยถูกคุกคามจากบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยมาแล้ว อีกทั้งยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมออกมาข่มขู่นายเนติวิทย์อีก เช่น นายปิติ ภิรมย์ภักดี ทายาทธุรกิจเบียร์สิงห์
ในเรื่องนี้เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2416 รัชกาลที่ 5 ได้ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ คือ ทรงประกาศให้ “ยกเลิกการหมอบคลานถวายบังคมแลกราบไหว้” เพราะทรงเห็นว่า “เป็นการกดขี่แก่กันแข็งแรงนัก” แถมยังไม่ทรงเห็นว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย
จึงมีคำถามว่าในเมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศให้ยกเลิกการหมอบคลานถวายบังคมแลกราบไหว้ไปแล้ว เหตุใดจุฬาฯ จัดกิจกรรมรับน้องด้วยการให้นิสิตชั้นปีที่ 1 ถวายบังคม ทั้งที่สามารถทำความเคารพด้วยการโค้งคำนับและถอนสายบัวได้ พิธีกรรมที่จุฬาฯ ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เมื่อ ปี พ.ศ. 2540 บ่งบอกได้หรือไม่ว่า เป็นการปลูกฝังแนวคิดเผด็จการ
กรณีของไผ่ ดาวดินก็เช่นกัน การดำเนินคดีไผ่เริ่มจากการที่ไผ่แบ่งปันบทความพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 ทำให้ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ เสธ.พีท รักษาการหัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 23 ที่ติดตามความเคลื่อนไหวในโซเซียลมีเดียของไผ่ แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเม่ืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559
ในประเด็นนี้จึงมีข้อสงสัยว่า สาเหตุที่เสธ.พีทแจ้งความไผ่เป็นเพราะไผ่และสมาชิกกลุ่มดาวดินเคยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เมื่อปี 2557 ด้วยการชูนิ้วสามนิ้วและใส่เสื้อสกรีนข้อความ ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรวจราชการที่จ.ขอนแก่น ในพื้นที่ที่เสธ.พีทรับผิดชอบหรือไม่
อีกทั้งนายจตุภัทร์ยังถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียว แม้จะมีผู้อื่นอีกหลายพันคนที่แบ่งปันบทความดังกล่าวบนสื่อออนไลน์ และสำนักข่าวบีบีซีไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตบทความต้นฉบับกลับไม่ถูกดำเนินคดี จึงน่ากังขาว่าเพราะเหตุใดสื่อมวลชนทั่วไปและสังคมไทยจึงมองข้ามการดำเนินคดีเป็นพิเศษต่อนายจตุภัทร์เช่นนี้ หรือ นี่คือบทลงโทษที่สมควรแล้วตามแนวคิดของสังคมไทยต่อผู้แข็งขืนต่อเผด็จการ
นอกจากนี้ไผ่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแม้จะยื่นประกันตัวไปแล้ว 10 ครั้ง นับตั้งแต่นายจตุภัทร์ถูกถอนประกันตัวตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559
ทั้งหมดสามารถบอกได้ว่า นายเนติวิทย์และนายจตุภัทร์คือตัวแทนของสิ่งใหม่ที่ออกมาท้าทายต่อสิ่งเก่า กรณีของนายเนติวิทย์คือพิธีกรรมถวายบังคมซึ่งอ้างอิงจากธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่ร.5 ทรงยกเลิกไปแล้ว ส่วนกรณีของนายจตุภัทร์คือการรัฐประหารทีี่ทำกันจนเป็นวัฏจักร ส่งผลให้สิ่งเก่าต้องกระทำการเหนี่ยวรั้งนายเนติวิทย์และนายจตุภัทร์เพื่อเชือดไก่ให้ลิงดูเพื่อเตือนสิ่งใหม่ให้ยุติความเคลื่อนไหวและเพื่อรักษาแนวคิดเดิมของสังคมไทยเอาไว้นั่นคือสังคมของการเห็นคนไม่เท่ากัน