โดยดานุชัช บุญอรัญ ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

มหาสารคาม – อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มมส. เปิดเผยว่า สาเหตุการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคอีสานเกิดจากสร้างเขื่อน การสร้างพนังกั้นน้ำ และการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้น้ำระบายไม่สะดวก พร้อมเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการรองรับอุทกภัยที่รัดกุม เปิดประตูเขื่อนทุกเขื่อนและฟื้นฟูป่าบุ่งป่าทามเพื่อแก้น้ำท่วมถาวร  

จากกรณีพายุ  เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2560พายุดีเปรสชันเซินกาเคลื่อนผ่านเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ต่อมาเกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคอีสานรวมทั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่ตัวเมืองสกลนคร

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) นักวิชาการที่เคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมของภาคอีสาน ให้มุมมองและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน อยู่ในระยะที่มวลน้ำเคลื่อนตัวจากเขตภาคอีสานตอนบนลงสู่เขตภาคอีสานตอนใต้ ปัญหาของการเคลื่อนมวลน้ำไล่เรียงจากเขตภาคอีสานตอนบนคือ วิธีการระบายน้ำออกจากพื้นที่หนองหาน จ.สกลนคร ที่ทำได้อย่างลำบาก เนื่องจากตลอดลำน้ำก่ำซึ่งเป็นเส้นทางระบายน้ำจากหนองหานลงสู่แม่น้ำโขงที่จ.นครพนม มีการสร้างประตูกั้นน้ำขวางอยู่ถึง 7 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนน้ำอูนและเขื่อนน้ำพุงมาสมทบทำให้สถานการณ์ระบายน้ำยิ่งแย่ลงไปอีก

ส่วนปัญหาในเขตภาคอีสานตอนใต้ นายไชยณรงค์มองว่า ปัจจัยหลักมาจากการปล่อยน้ำของเขื่อนใหญ่ๆ ในพื้นที่ ภายหลังจากพายุสงบลง ยกตัวอย่างกรณีของเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ที่มีการปล่อยน้ำในระยะที่ผ่านมาสูงที่สุดถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการทำให้น้ำชะลอการระบาย เช่น การสร้างพนังกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำชี การสร้างฝายเก็บน้ำในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร และการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำใน จ.อุบลราชธานี เป็นต้น

“ปัญหาทุกอย่างจะไปมะรุมมะตุ้มอยู่ที่อุบลฯ เพราะน้ำไปรวมกันอยู่ที่นั่นทั้งหมด ทั้งน้ำจากจากแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ที่สำคัญคือมันไปติดตรงเขื่อนปากมูลก่อนที่จะลงแม่น้ำโขง ทีนี้พอไม่มีพื้นที่ชุ่มน้ำไว้รองรับ น้ำมันก็บ่าขึ้นท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน” นายไชยณรงค์กล่าว

สาเหตุของน้ำท่วม

นายไชยณรงค์วิเคราะห์ว่า สาเหตุของอุทกภัยครั้งนี้เกิดจากนโยบายเรื่องการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลักๆ คือ

การสร้างเขื่อน

เขื่อนที่สร้างอยู่ต้นน้ำ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนน้ำพอง เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนในลักษณะนี้หากไม่มีการบริการจัดการที่ถูกต้องและไม่ได้ดูแลอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีตัวแปรจากธรรมชาติมากระทบเพียงเล็กน้อยจะส่งผลให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่กินบริเวณกว้างไปทั่วภูมิภาค

เขื่อนที่สร้างอยู่ในพื้นที่ลุ่ม เขื่อนลักษณะนี้มีแนวคิดมาจากโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล การสร้างเขื่อนทำให้เกิดน้ำท่วมบนพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเคยเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในภาคอีสาน เพื่อการผันน้ำไปใช้ในพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่ห่างออกไป เขื่อนที่สร้างในที่ลุ่มเหล่านี้นอกจากจะกีดขวางทางน้ำธรรมชาติส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการระบายน้ำในภาวะวิกฤติแล้ว เขื่อนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ตัวอย่างเช่น กรณีของเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ที่สร้างอยู่บนโดมเกลือใต้ดิน ซึ่งในทางปฏิบัติหากมีการนำน้ำออกไปใช้จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของดินเค็มอย่างหนัก

การสร้างพนังกั้นน้ำ  

พนังกั้นน้ำในภาคอีสานส่วนใหญ่สร้างต่อเนื่องมาจากโครงการผันน้ำ โขง-ชี-มูล โดยมีลักษณะเป็นแนวยาวเลาะริมฝั่งแม่น้ำไปตลอดสาย การสร้างพนังกั้นน้ำในลักษณะนี้เป็นการปิดกั้นการระบายของน้ำจากแม่น้ำสายใหญ่เข้าไปยังพื้นที่รับน้ำรอบๆ  ที่เรียกกันว่าป่าบุ่ง-ป่าทาม ดังนั้นเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้น การมีอยู่ของพนังกั้นน้ำจึงเสมือนเป็นรางน้ำที่คอยบีบให้น้ำไหลได้เฉพาะแต่ในลำน้ำเท่านั้น ส่งผลให้กระแสน้ำไหลด้วยความรวดเร็วและรุนแรง

แม่น้ำชีล้นตลิ่ง ช่วงไหลผ่าน จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560

การทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ  

พื้นที่ชุ่มน้ำในภาคอีสานเป็นบริเวณที่มีหน้าที่รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยมีลักษณะเป็นทุ่งกว้างหรือที่ราบลุ่มน้ำที่เรียกกันว่า ป่าบุ่ง-ป่าทาม ในอดีตซึ่งพื้นที่เหล่านี้ถูกทำลายไปในการสร้างเขื่อน เช่น กรณีการสร้างเขื่อนราษีไศล จ.ศรีษะเกษ ที่เป็นการทำลายป่าบุ่ง-ป่าทาม ที่ใหญ่ที่สุดในเขตอีสานใต้ ปัจจุบันพื้นชุ่มน้ำในภาคอีสานยังคงถูกบุกรุกจากการขยายตัวของตัวเมืองใหญ่ เช่นในเขตอ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่มีการถมพื้นที่ป่าบุ่ง-ป่าทาม เพื่อก่อสร้างสถานีขนส่งและห้างสรรพสินค้า

แนวทางในการแก้ไขปัญหา  

อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ผู้นี้กล่าวว่า จากบทเรียนน้ำท่วมจังหวัดสกลนคร เราได้เห็นความบกพร่องที่เกิดจากการขาดความเตรียมพร้อมหลายกรณี เช่น หอเตือนภัยไม่สามารถใช้งานได้, ความชำรุดของอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น, การให้ข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง ฯลฯ ซึ่งความบกพร่องเหล่านี้ทำให้ประชาชนที่อยู่ต้นน้ำและปลายน้ำเสี่ยงภัยเมื่อน้ำหลาก ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตรการรับมือต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เป็นระบบมากกว่านี้ ควรมีการประเมินความเสี่ยงรวมทั้งมีแผนเผชิญหน้าต่อสภาวะวิกฤตโดยกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน

“การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่างแรกคือ เขื่อนใหญ่ๆ ต้องเลิกปล่อยน้ำลงมาสมทบ และควรให้มีการเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด เพื่อให้น้ำที่ท่วมขังอยู่มีช่องทางไหลต่อไปได้ ที่สำคัญคือต้องรื้ออะไรก็ตามที่กีดขวางทางน้ำออก แบบนี้น้ำจึงจะไหลลงไปได้อย่างเป็นระบบ” นายไชยณรงค์ชี้

นายไชยณรงค์ยังกล่าวอีกว่า ตนไม่เห็นถึงความจำเป็นของการมีเขื่อนในภาคอีสาน เนื่องจากที่ผ่านมา เขื่อนเก่าที่สร้างมานานได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ เช่น เขื่อนปากมูลที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 36 เมกกะวัตต์ แลกกับการที่ต้องปิดตายแม่น้ำมูลทั้งระบบ ในปัจจุบันหลายประเทศฝั่งยุโรป, อเมริกา ยกเลิกเขื่อนไปแล้ว ตนคิดว่าภาครัฐควรสนับสนุนให้มีการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำขึ้นมาใหม่ เปลี่ยนมาใช้วิธีบริหารจัดการน้ำให้ยึดโยงกับธรรมชาติและควรพิจารณายกเลิกระบบเขื่อนโดยวิธีการหยุดปฏิบัติงานโดยไม่ต้องรื้อถอน เชื่อว่าหากไม่มีเขื่อนก็จะไม่มีอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงเช่นในครั้งนี้

image_pdfimage_print