โดยดานุชัช บุญอรัญ ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

มหาสารคาม – บำรุง บุญปัญญา ไม่รู้สึกยินดียินร้ายที่ได้รับรางวัลนาคราชในวัย 72 ปี ชี้ควรให้คนวัยกำลังมีไฟ พร้อมย้อนถึงวัยหนุ่มเมื่อเป็นเอ็นจีโอรุ่นบุกเบิกศึกษาปัญหาชาวนา กับวิธีการทำงานที่ต้องไปกิน-ไปอยู่กับประชาชน แล้วค่อยผันตัวมาเป็นวิทยากรในช่วงปัจฉิมวัย

นายบำรุง บุญปัญญา รับมอบรางวัลนาคราช สาขานิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมจากศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดพิธีมอบรางวัล “นาคราช” งานเชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้านอีสาน และผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมตักสิลา แกรนด์ บอลรูม โรงแรมตักสิลา จังหวัดมหาสารคาม

หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลนาคราช สาขานิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ปรากฏชื่อของ “ลุงเปี๊ยก” หรือ นายบำรุง บุญปัญญา เอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน- ผู้เขียน) ผู้คร่ำหวอดในการสร้างเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนมามากกว่า 30 ปี  

ผมมีโอกาสสนทนากับลุงเปี๊ยกภายหลังพิธีมอบรางวัล โดยราชสีห์แดนอีสานในวัย 72 ปี บอกเล่าเรื่องราวของการเดินทางอันยาวนานบนถนนสายนักพัฒนา รวมทั้งให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทและปัญหาของเอ็นจีโอในยุคปัจจุบัน

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีมอบรางวัล แขกภายในงานจำนวนหนึ่งร่วมแสดงความยินดีพร้อมมอบช่อดอกไม้ให้แก่ “ลุงเปี๊ยก”

คำประกาศเกียรติคุณ ผู้ได้รับรางวัลนาคราชประจำปี 2560 ของสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นายบำรุง บุญปัญญา เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2488 มีภูมิลำเนามาจากบ้านหนองผำ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาปฐพีวิทยา เคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สังกัดมูลนิธิบูรณะชนบท ในฐานะนักพัฒนาหรือบูรณากร ประจำพื้นที่บ้านบางขุด ตำบลห้วยกรด อำเภอสวรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ภายหลังผันตัวมาทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนอีกหลายแห่ง

นายบำรุง บุญปัญญา ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักคิด นักเขียน ที่มีผลงานบทความ บทกวี ตีพิมพ์ในวารสารสังคมพัฒนาและวารสารชุมชนพัฒนา โดยใช้นามปากกาว่า ราชสีห์อีสาน อุทุมพรรักษ์ ฯลฯ เป็นผู้เสนอแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนและศึกษาค้นคว้าด้านนิเวศวัฒนธรรมอย่างจริงจัง จนนำไปสู่การขยายผลในทางปฏิบัติในเวลาต่อมา

รู้สึกอย่างไรครับกับการได้รับรางวัลในครั้งนี้

ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้นแหละ (หัวเราะ) รางวัลชนิดนี้มาให้คนยามแก่มันจะไปได้ประโยชน์อะไร ความจริงมันต้องให้ตั้งแต่เราอายุ 40 นั่นถึงจะเป็นการผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหว ถึงจะเป็นเป็นสีสัน เป็นกำลังใจให้คนทำงาน

อยากให้ลุงเปี๊ยกเล่าถึงเส้นทางการเข้ามาทำงานพัฒนาหน่อยครับ

ก็เริ่มจากการทำค่ายอาสา สมัยเป็นเป็นนักศึกษาที่ ม.เกษตรศาสตร์ ยุคนั้นเราเรียกกันว่า ยุคการถามหาความหมายของชีวิต จุดเริ่มต้นมาจากกระแสวิพากษ์ของนักศึกษาที่ตั้งคำถามต่อการเรียนที่ทำกันอยู่เฉพาะในห้องสี่เหลี่ยม ซึ่งเรามองว่ามันดักดาน ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะออกไปเรียนรู้สิ่งอื่นๆ นอกห้องเรียน ลุงเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแส รู้ว่ามีงานอบรมสัมมนาที่ไหน ลุงก็ไปร่วมหมด ชอบไปนั่งฟังความคิดเค้า

ต่อมาหลังจากเรียนจบก็ไปทำงานที่มูลนิธิบูรณะชนบทของ ดร.ป๋วย (องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดย นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2510 – ผู้เขียน) ความสนใจตอนนั้นมุ่งไปที่ประเด็นปัญหาชาวนาเป็นหลัก โดยเฉพาะปี 2518 เป็นปีที่ชาวนามีการเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปที่ดินกันมาก ที่พูดถึงบ่อยๆ คือการเรียกร้องเรื่องค่าเช่าที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของชาวนาภาคกลาง บริบทของภาคกลางนี่ชาวนาส่วนหนึ่งเขาเป็นพวกมีฐานะ ก็ปล่อยที่ให้คนเช่า ทีนี้ในความเป็นชาวนาภาคกลางคือไม่ได้ทำนาหนเดียวต่อปี เคยได้ยินคำว่า “ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีมีแต่หนี้กับซัง” (ซังข้าว – ผู้เขียน) มั้ย? นั่นแหละยิ่งทำมันก็ยิ่งจน เพราะต้องเสียค่าเช่าที่เค้า

แล้วลุงกลับมาทำงานที่ภาคอีสานตอนไหนครับ สภาพปัญหาตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

หลังจากอยู่ที่บูรณชนบทได้ซัก 5-6 ปี ก็กลับขึ้นมาอีสาน ปัญหานี่นะ ถ้าเอาตามรัฐบาลว่าก็เรื่องน้ำ (หัวเราะ)  อ้างว่ามันทำให้เกิดความล้าหลังทางการผลิต ไอ้วาทะกรรมเรื่องขาดน้ำนี่แหละเป็นที่มาของการสร้างเขื่อน สร้างกันเยอะแยะไปหมด ซึ่งตอนนี้ก็เห็นแล้วมันไม่ตอบโจทย์ แถมยังต้องมานั่งแก้เรื่องน้ำท่วมกันอีก

บรรยากาศการทำงานตอนนั้นเป็นอย่างไร

สบายๆ นะ ก็ทำมั่งกินเหล้ามั่ง (หัวเราะ) เมื่อก่อนนี้องค์กรมันไม่ใหญ่มาก ทุกคนต้องอยู่กับชุมชน เวลาประชุมงานก็คุยกันให้เสร็จ ได้ข้อสรุปแล้วก็ไปคุยกับชาวบ้านต่อ เป็นลักษณะของการให้ความรู้ ช่วยคิดช่วยแก้ปัญหา คือที่สำคัญต้อง “ไปกิน-ไปอยู่” มันถึงจะเห็นปัญหาถึงจะเข้าใจปัญหา

นิยามคำว่าเอ็นจีโอสำหรับลุงเปี๊ยกคืออะไร

จริงๆ คำนี้มันพึ่งมาทีหลังนะ แต่ก่อนจะมีก็แต่องค์กรการกุศล องค์กรสาธารณะประโยชน์ องค์กรพัฒนาฯ ส่วนเอ็นจีโอถ้าเอาตามนิยามสากล ต้องบอกว่าเมื่อรัฐเสื่อมถอยจะปรากฏกลุ่มที่เรียกว่า non-government organization  คือพวกที่ไม่ใช่รัฐ ทว่าทำงานพัฒนาเติมเต็มในส่วนที่กลไกรัฐเอื้อมไปไม่ถึงแต่ถ้าเอาตามนิยามของสังคมไทย เอ็นจีโอคือพวกค้านรัฐ พวกต้านรัฐนั่นแหละ

แล้วลุงเปี๊ยกคิดว่าหน้าที่ของเอ็นจีโอคืออะไร

ก็เป็นหน้าที่เช่นเดียวกันกับประชาชนทั่วๆ ไป มีคำนึงที่ใช้บ่อยคือ “ประชาชนต้องกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง” ดังนั้นหน้าที่ของเอ็นจีโอคือการเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาทางสังคม ด้วยวิธีการสะท้อนสภาพความเป็นจริงจากในพื้นที่ ซึ่งจะต่างกับวิธีของรัฐที่คิดแก้ปัญหาแบบ top down และรวมศูนย์

คิดอย่างไรครับกับการที่มีคนมองว่า กลุ่มเอ็นจีโอผูกขาดการเคลื่อนไหวในสังคม

คือพูดอย่างนั้นมันก็เกินเหตุไปหน่อย ต้องมองว่าเอ็นจีโอคือการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ซึ่งคำว่าเอ็นจีโอนั้นเป็นคำติดปากที่เมื่อเราพูดแล้วมันเห็นภาพ มันมีตัวตน และมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ในยุคนี้เราอาจมองว่าเอ็นจีโออาจจะเสื่อมถอยก็ได้หรืออาจจะไปข้างหน้าก็ได้ แต่สถานการณ์มันก็คือการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมักถูกปิดล้อมโดยอำนาจรัฐ

สถานการณ์ทางการเมืองมีผลต่อการทำงานของเอ็นจีโอหรือไม่

แน่นอน ตั้งแต่ปี 2549 (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. รัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 -ผู้เขียน) เป็นต้นมาเราจะเห็นได้ว่ามีความขัดแย้งที่ทำให้สังคมแวดล้อมอยู่กับกลุ่มอำนาจทางการเมืองใหญ่ๆ สองกลุ่ม ทีนี้พอมีปัญหาเกิดขึ้นแทนที่สังคมจะมองมายังปัญหา จุดสนใจหลักกลับมุ่งไปที่ความขัดแย้งข้างบน ส่วนปัญหาข้างล่างเอาไว้ก่อน ดังนั้นการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในยุคนี้ต้องเป็นไปในแนวทางของการปฏิวัติวัฒนธรรมประชาธิปไตย คือเราต้องแบ่งประชาธิปไตยออกเป็นสองระดับ ระดับบนคือการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ก็ว่ากันไป แต่ด้านล่างคือวัฒนธรรม ประชาชนต้องร่วมกันเคลื่อนไหวให้รัฐเห็นปัญหา ซึ่งถ้ารัฐแก้ได้ก็จะช่วยให้สถานะของรัฐได้รับความชอบธรรมมากขึ้น หัวใจสำคัญคือพวกเราไม่ได้ต้านรัฐแต่เราต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลงรัฐให้รับใช้ประชาชน

ลุงเปี๊ยกเห็นว่าเอ็นจีโอคือความจำเป็นของสังคมไทย?

ไม่ได้จำเป็น แต่ต้องมี

เขาว่ากันว่าเอ็นจีโอชอบชี้นำชาวบ้าน?

คำว่า “ชี้นำ” ส่วนตัวลุงมองว่าเป็นแค่วาทกรรมที่ฝ่ายทุนที่เสียผลประโยชน์หยิบนำมาใช้เท่านั้น เพราะในความเป็นจริง เมื่อมีการเคลื่อนไหวทางสังคมและเกิดคู่ขัดแย้งไม่มีฝ่ายไหนหรอกที่ไม่ชี้นำ ตรงนี้หากมองในระยะยาวถ้าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นประโยชน์และส่งผลดีกับชาวบ้านจริงๆ จำเป็นต้องชี้นำก็ต้องชี้นำ

ลุงคิดว่าองค์ความรู้ของชาวบ้านเดี๋ยวนี้ข้ามพ้นการชี้นำของใครต่อใครไปไกลแล้ว ที่ผ่านมาการทำงานของเอ็นจีโอได้สร้างประสบการณ์ให้แก่ชาวบ้านทั้งในเรื่องการต่อรองและการต่อสู้ ประสบการณ์เหล่านี้คือองค์ความรู้ที่สะสม ซึ่งเมื่อตระหนักรู้แล้วจะนำไปสู่การปลดปล่อยทางความคิด ที่ไม่ว่าอะไรก็ยั้งไว้ไม่อยู่                     

แล้วคุณสมบัติสำคัญของคนที่จะเข้ามาทำงานเอ็นจีโอคืออะไร

คนที่จะทำงานด้านนี้ สำคัญที่สุดคือความต้องการที่จะเรียนรู้ ปัญหามันอยู่รอบตัวเราเยอะแยะ  ถ้าเราไม่อยากจะเรียนรู้มันก็จบ ไม่จำเป็นต้องถือทฤษฏีมาก เพียงแต่ต้องพร้อมที่จะเปิดใจยอมรับความจริง เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์ให้ถูกต้อง

นายบำรุง บุญปัญญา ในวัย 72 ปี กับการแต่งกายและบุคลิกลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์

ทุกวันนี้ลุงยังทำงานอยู่ไหม

ที่คุยกันอยู่ตอนนี้ถือเป็นงานไหม? (หัวเราะ) ต้องบอกก่อนว่างานของลุงก่อนหน้านี้ ส่วนแรกคือการเป็นวิทยากร เป็นนักฝึกอบรมสำหรับโครงการวิจัยต่างๆ รวมถึงการก่อรูปเครือข่ายเคลื่อนไหวภาคประชาชน ส่วนที่สองก็คือการลงพื้นที่กับชาวบ้าน ทีนี้พอเราอายุมากขึ้นก็ตระเวนแบบนั้นน้อยลง งานทุกวันนี้จะเป็นไปในรูปแบบของการให้คำปรึกษามากกว่า

เคยคิดอยากจะหยุดบ้างไหม

บางช่วงมันก็มีอารมณ์เซ็งบ้าง แต่ไม่เคยคิดจะหยุดทำงานนะ แค่จะหยุดคิด เวลาที่เรื่องมันประดังเข้ามามากๆ ต้องคอยสางเอาสิ่งที่พะรุงพะรังออก ไม่อย่างนั้นมันจะทับเรา เมื่อสางอะไรที่ไม่จำเป็นออกแล้วมันจะทำให้เข็มมุ่งในชีวิตของเรากลับมาชัดเจนที่เป้าหมายอีกครั้ง

อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้ลุงยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

อืม…ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร “ศรัทธา” มั้ง

ศรัทธาต่ออะไร?

ศรัทธาต่ออุดมการณ์และทิศทางข้างหน้าของสังคม ศรัทธาตัวนั้นมันยังมีอยู่แม้ว่าสภาพการณ์มันจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่สังคมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่เราคิดว่ามันจะดีขึ้นกว่าเก่า

ในฐานะของคนรุ่นเก่าลุงมีมุมมองต่อคนรุ่นใหม่อย่างไร

เป็นห่วงนะ คือความเข้าใจของคนรุ่นปัจจุบันนี้ต่อสังคม มันเป็นความเข้าใจเฉพาะปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเสพข่าวสาร การเสพสื่ออย่างฉาบฉวย โดยเฉพาะข้อมูลมันเยอะมากเกือบทุกอย่างมีคำตอบสำเร็จรูปรอไว้หมด พอเป็นแบบนี้มันก็ทำให้เราขาดโอกาสที่จะทำความเข้าใจเชิงลึก ยิ่งการศึกษาปัจจุบันมันเป็นลักษณะแข่งขัน เด็กเองก็ต้องพยายามดิ้นรน บางคนเรียนวิศวะแต่ก็คิดว่าเอากฎหมายไว้หน่อยก็ดี ก็ไปลงเรียนรามฯ (ม.รามคำแหง-ผู้เขียน) ซึ่งการแสวงหาตัวตนแบบนี้ก็เป็นการแสวงหาเหมือนกัน แต่มันแสวงหาเพื่อเอาตัวรอด พลังความใฝ่ฝัน จินตนาการ เรื่องความดีงาม พวกนี้สิ มันหายไปหมด

สุดท้ายนี้อยากจะฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่บ้าง

พวกเจ้าคนรุ่นหนุ่มต้องตั้งคำถามกับตัวเองนะ ว่าเราศรัทธาต่อสิ่งไหน ถึงวันนี้เรายังไม่มีศรัทธา แต่เราสนใจสิ่งไหน จงทำสิ่งนั้นให้มันสุด สู้ไปกับมันให้จริงจัง สุดท้ายแล้วทุกอย่างจะตอบเราเองว่าใช่หรือไม่ใช่ ที่สำคัญคือต้องหมั่นทบทวนตัวเอง ทบทวนเป้าหมายในชีวิต ซึ่งถ้าคิดว่าคำตอบมันชัดเจนแล้วก็ลุยเลย!

 

image_pdfimage_print