โดยนายภานุภพ ยุตกิจ ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

อุบลราชธานี – ชาวชุมชนบ้านโดมพัฒนาจำนวน 31 ครอบครัว ประกาศไม่ยอมย้ายออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมน อ.สิรินธร แม้มีข่าวจะถูกขับไล่ เนื่องจากอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศพื้นที่ป่าสงวนฯ ออป.รับทราบว่ามาอาศัยอยู่ในป่ายูคาลิปตัส และไม่ได้เป็นผู้ถูกศาลสั่งให้ออกจากพื้นที่

บริเวณที่ประชาชน 31 ครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่เพื่อรอการพิสูจน์สิทธิ

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายประสิทธิ อินทโชติ นายอำเภอสิรินธร เตรียมให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสวนป่าพิบูลมังสาหาร องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป. และผู้นำชุมชน เข้ามาเจรจาผลักดันประชาชนที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมนให้ออกจากพื้นที่ โดยอาศัยคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งอยู่ระหว่างการบังคับคดี

ทั้งนี้ศาลมีคำพิพากษาว่า ประชาชนจำนวน 32 ราย มีความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และผิด พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ให้จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้จำเลยพร้อมบริวารออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจำเลยทั้ง 32 รายได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลเรียบร้อยแล้ว

แต่ยังมีประชาชนอีกกลุ่มจำนวน 31 ครอบครัวที่อ้างว่าเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมนและสวนป่าพิบูลมังสาหารทับที่ทำกิน เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่สวนป่ายูคาลิปตัส โดยอ้างว่า เป็นการเข้ามาอยู่อาศัยชั่วคราวเพื่อรอผลการพิจารณาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดลงพื้นที่สังเกตการณ์การใช้ชีวิตของประชาชนชุมชนบ้านโดมพัฒนา 31 ครอบครัว ที่เข้ามาปลูกบ้านพักอาศัย ทำไร่ทำสวน และปลูกพืชผัก ใช้เนื้อที่กว่า 20 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติยอดมน บริเวณพื้นที่ปลูกสร้างสวนไม้ป่ายูคาลิปตัส แปลงปี 2520 ทางเข้าหมู่บ้านบากชุม ม.1 ต.โนนก่อ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี โดยพบว่าประชาชนยังใช้ชีวิตและประกอบอาชีพตามปกติ

ลำดับเหตุการณ์ ปี 2511 เริ่มก่อสร้างเขื่อนสิรินธรปิดกั้นแม่น้ำลำโดมน้อยซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำมูล ปี 2514 เขื่อนสิรินธรเปิดใช้งาน

ปี 2517 รมว.เกษตรและสหกรณ์ประกาศให้ป่าห้วยยอดมนเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากป่าห้วยยอดมนมีไม้มีค่าและมีทรัพยากรจำนวนมาก

ปี 2519 กรมป่าไม้อนุญาติให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เข้าใช้พื้นที่ป่าโดยจัดตั้งสวนป่าพิบูลมังสาหาร  

ประชาชนจำนวนหนึ่งจาก 31 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมน อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี

นายประสาท หลักทอง อายุ 71 ปี อดีตทหารยศสิบตรีกองประจำการ อยู่บ้านเลขที่ 103 ม.6 ต.บัวงาม อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี หนึ่งในสมาชิกของครอบครัว 31 ครอบครัว ที่ปัจจุบันมาอยู่อาศัยและอ้างสิทธิในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมน กล่าวว่า สาเหตุที่ตนและประชาชนส่วนหนึ่งกลับเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยอดมนอีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2553 เพราะพวกตนต้องการที่อยู่อาศัยระหว่างรอผลการพิสูจน์สิทธิที่ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปี 2535 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแม้จะกินเวลามานานกว่า 25 ปี โดยพวกตนได้รับผลกระทบจากกรณีรัฐประกาศเขตป่าทับที่ทำกินที่อยู่อาศัยมาก่อน

นายประสาทเล่าว่า เมื่อปี 2510 ตนได้มาประจำการเป็นทหารการข่าวในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงที่มีแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอาศัยอยู่จำนวนมาก ขณะนั้นได้มีประชาชนบางส่วนเข้ามาทำประโยชน์ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมน ในปี 2517 และกรมป่าไม้อนุญาตให้ ออป.ใช้พื้นที่ในปี 2519

“ยืนยันว่าประชาชนได้เข้ามาอาศัยอยู่ก่อน ดังนั้นภาครัฐจะต้องแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนแต่ก็ไม่มีความชัดเจน” นายประสาท กล่าว

ส่วนกระแสข่าวที่ว่าหน่วยงานจะเข้ามากดดันและขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่บุกรุกนั้น อดีตทหารยศสิบตรีกองประจำการผู้นี้บอกว่า ตนและประชาชนยอมรับว่าได้กระทำผิดกฎหมาย แต่มีความจำเป็นเพราะไม่มีที่อยู่อาศัย และหากจะเข้ามาขับไล่ ตนและชาวบ้านทั้ง 31 รายก็จะไม่ออกไปไหน

บ้านพักของประชาชนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมน

นายประสาทกล่าวถึงเหตุผลที่ไม่ออกจากพื้นที่ว่า มีอยู่ 3 ประเด็น คือ

ประชาชนทั้ง 31 ครอบครัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับจำเลย 32 ราย ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีตัดสินคดีไปก่อนหน้านี้ และพวกตนไม่ใช่บริวารของจำเลย 32 รายนั้นด้วย การบังคับคดีจึงไม่มีผลกับพวกตนทั้ง 31 ครอบครัว และหากจะมาขับไล่หน่วยงานรัฐจะต้องแจ้งความดำเนินคดีใหม่กับประชาชน 31 ครอบครัวก่อน

ประชาชนมีหนังสือจากสำนักส่งเสริมและพัฒนาไม้เศรษฐกิจอุบลราชธานี องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่ทส.1413.6/79 ลงวันที่ 14 มกราคม 2554 เพื่อแสดงว่า ออป.รับทราบแล้วว่าประชาชนเข้ามาอยู่ในแปลงปลูกไม้ยูคาลิปตัสสวนป่าพิบูลมังสาหาร แปลงปี 2520 ตั้งแต่ปี 2553 โดยหนังสือดังกล่าวระบุเพียงว่าการเข้ามาอยู่อย่าได้สร้างความเสียหาย และกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งประชาชนได้ปฏิบัติตามมาโดยตลอด

และ อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 ข้อ 2.1 ว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

“ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ข้อชาวบ้านจึงอยากให้หน่วยงานรัฐได้ใช้อำนาจโดยอนุโลมเพื่อเกิดความผาสุกและยับยั้งเหตุรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเข้าขับไล่”  นายประสาทกล่าว

นายศักดา กาญจนเสน ประธานสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน กำลังผลักดันปัญหาที่ดินของประชาชนเข้าสู่คณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาเกษตรกร

นายศักดา กาญจนเสน ประธานสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน ในฐานะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาเกษตรกร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการผลักดันปัญหาเข้าไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวว่า  ได้เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการแล้ว อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลสรุปของหน่วยงานภาครัฐ โดยมี ออป. เขตอุบลราชธานี เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนข้อมูลของประชาชนตนได้นำเสนอสรุปไปแล้ว ซึ่งหากได้ข้อมูลทั้งสองฝ่ายแล้ว คณะกรรมการจึงจะพิจารณาว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

นายศักดาบอกว่า หากคณะกรรมการเห็นชอบก็จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธานเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทตามกฎหมาย

image_pdfimage_print