โดยจิรสุดา สายโสม 

สกลนคร – กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสต่อต้านการสำรวจเหมืองแร่โพแทช ที่อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เนื่องจากไม่ได้รับทราบข้อมูลจากหน่วยงานใด และเกรงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชีตอนล่าง เผย มี 5 กลุ่มปัญหาที่เกิดจากการจัดการทรัพยากรในภาคอีสาน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดโครงการส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักในการเสนอข่าวที่เคารพสิทธิมนุษยชน แก่สื่อมวลชนจากส่วนกลางและภาคอีสาน ระหว่างวันที่ 25-28 ก.ค. 2560 ที่โรงแรมหนองหาร เอลลิแกนท์ อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2560 ช่วงเช้า มีการบรรยายสรุป “ภาพรวมสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคอีสาน” โดยนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชีตอนล่าง

นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชีตอนล่าง

นายสิริศักดิ์แบ่งกรณีปัญหาออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

ทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน พบว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิที่พบมากที่สุดในภาคอีสานคือ สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล โดยชาวอีสานถูกหลอกเรื่องเอกสารสิทธิในที่ดินมากที่สุด เช่น การขายฝากที่ดิน และอีกเรื่องคือการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับพื้นที่ดินทำกินของประชาชน

ทรัพยากรน้ำ การสร้างเขื่อน และการประมง อาทิ การสร้างเขื่อน 14 เขื่อนตามโครงการโขง-ชี-มูล และเขื่อนราษีไศล เป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่า ทำให้ประชาชนสูญเสียที่ดินทำกิน

พลังงานและเหมืองแร่ อาทิ พื้นที่หนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะปิโตรเลียม มีสารเคมีปนเปื้อน

เขตเศรษฐกิจพิเศษ การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.มุกดาหาร จ.นครพนม และจ.หนองคาย ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของประชาชนในพื้นที่

และโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อปี 2554 มีการอนุญาตให้ตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากเดิมมี 20 โรง เพิ่มอีก 10 โรง จึงมีความกังวลเรื่องการใช้น้ำ การแล่นของรถบรรทุกอ้อยตลอด 24 ชั่วโมง และการเพิ่มขนาดของโรงไฟฟ้าโดยไม่สอบถามความคิดเห็นของประชาชน

นายสักกพล ไชยแสงราช (เสื้อสีเขียว) ทนายความและสมาชิกกลุ่มคนรักษ์อำเภอวานรนิวาส

จากนั้นเป็นการล้อมวงเสวนาปัญหาเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร นายสักกพล ไชยแสงราช ทนายความและสมาชิกกลุ่มคนรักษ์อำเภอวานรนิวาสเล่าว่า สิ่งที่กังวลจากการทำเหมืองแร่โพแทชคือการนำเกลือที่เป็นสิ่งเหลือจากการทำเหมืองแร่มากองเอาไว้บนพื้นดินซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาดินเค็ม น้ำเค็ม น้ำบาดาลมีการปนเปื้อนของเกลือ และอาจเกิดหลุมขนาดใหญ่จากขุดเจาะที่ดินเพื่อทำเหมืองแร่

ฐานจุดเจาะแร่โพแทชที่บ้านแหลมทอง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ประชาชนเล่าให้ฟังว่ามีการสร้างฐานขุดเจาะแร่ในดินที่ของประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต

ช่วงบ่าย กสม. และแอมเนสตี้ฯ พาคณะสื่อมวลชนไปที่ อ.วานรนิวาส โดยมีประชาชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสให้การต้อนรับและพาชมพื้นที่ เพื่อศึกษาผลกระทบจากกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทช ให้แก่ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในพื้นที่อ.วานรนิวาส จำนวน 12 แปลง เนื้อที่รวม 116,875 ไร่ อาชญาบัตรพิเศษมีอายุ 5 ปี จนถึงวันที่ 4 ม.ค. 2563 โดยการอนุญาตอาชญาบัตรเป็นเพียงการให้สิทธิสำรวจแร่เท่านั้น

นายหนูเจียม ใฝ่สีทา อายุ 55 ปี ชาวบ้านนาง่ามเล้า อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

จุดแรกที่คณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ คือ บ้านแหลมทอง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เดอะอีสานเรคคอร์ดได้พูดคุยกับ นายหนูเจียม ใฝ่สีทา อายุ 55 ปี ชาวบ้านนาง่ามเล้า นายหนูเจียมพูดภาษากลางเพื่อให้คณะผู้สื่อข่าวเข้าใจ แต่ผู้สื่อข่าวบางคนฟังภาษาอีสานรู้เรื่อง นายหนูเจียมจึงเล่าเรื่องเป็นภาษากลางบ้างภาษาอีสานบ้างว่า การจะเข้ามาของเหมืองแร่ทำให้ตนมีความกังวลใจว่าอาจส่งกระทบต่อสภาพแวดล้อม การเข้ามาทำให้เกิดความขัดแย้งประชาชนที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน และยังมีคนมาบอกให้ตนหยุดคัดค้านเพราะสักวันจะโดนอุ้มฆ่า

ถนนทางเข้าไปยังหลุมขุดเจาะสำรวจแร่โพแทชในพื้นที่เอกชน ที่บ้านตาลเดี่ยว ต.ธาตุ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

จุดที่สองที่คือ บ้านตาลเดี่ยว ต.ธาตุ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ซึ่งเป็นหลุมขุดเจาะสำรวจแร่ในพื้นที่เอกชน โดยประชาชนเล่าให้ฟังว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของอดีต ส.ส. สกลนคร คนหนึ่ง

นางสุจิตรา พิมเก ชาวบ้านหินกอง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

นางสุจิตรา พิมเก อายุ 43 ปี อาชีพเกษตรกร ชาวบ้านหินกอง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาสเล่าว่า ก่อนมีการสำรวจแร่ในบริเวณนี้ ประชาชนสามารถใช้ถนนดินแดงทีี่ตัดผ่านพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่เมื่อมีการขุดเจาะเพื่อสำรวจแร่เจ้าของที่ดินไม่ยินยอมให้ประชาชนใช้ถนนเส้นนี้ โดยอ้างว่าเป็นที่ส่วนบุคคล และยังมีทหารมาเฝ้าหากประชาชนมารวมตัวกัน

ประชาชนสอบถามเจ้าหน้าที่ทหารถึงเอกสารเขียนข้อความว่า “รายชื่อโพแทช

ระหว่างที่คณะสื่อมวลชนอยู่ที่บ้านตาลเดี่ยว เจ้าหน้าที่ทหาร 2 นายมาสังเกตการณ์ ทำให้ประชาชนเข้าไปพูดคุยด้วยจึงพบว่า เจ้าหน้าที่ทหารถือเอกสารที่ระบุหัวข้อว่ารายชื่อโพแทช ประชาชนและผู้สื่อข่าวจึงสอบถามว่าเอกสารชิ้นนี้คือเอกสารอะไร เจ้าหน้าที่ทหารจึงบอกว่า เอกสารชิ้นนี้คือรายชื่อของประชาชนที่จะมาแจ้งเตือนเพื่อไม่ให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องไปแถลงปิดคดีโครงการจำนำข้าว ในวันที่ 1 ส.ค. 2560 เนื่องจากจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 แต่ประชาชนไม่เชื่อและมีการถามตอบกันไปมา

ซากฐานขุดเจาะเพื่อสำรวจแร่โพแทช ที่บ้านวังบง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

พื้นที่จุดสุดท้ายที่คณะสื่อมวลชนลงไปเยี่ยมชมคือ ฐานขุดเจาะที่บ้านวังบง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส ที่มีการสร้างฐานขุดเจาะเอาไว้ก่อนเพราะได้รับความยินยอมจากญาติของเจ้าของที่ดิน แต่สุดท้ายไม่สามารถนำเครื่องจักรลงมือขุดเจาะเพื่อสำรวจแร่โพแทชได้ เนื่องจากเจ้าของที่ดินตัวจริงไม่อนุญาต

นางมะลิ แสงบูรณ์สิริ ชาว ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส

นางมะลิ แสงบูรณ์สิริ อายุ 50 ปี ชาวตำบลวานรนิวาส อ.วานรนิวาส มีความกังวลใจว่าหากมีการทำเหมืองแร่โพแทชแล้วจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับเหมืองแร่โโพแทชในพื้นที่อื่น (เหมืองแร่โพแทชที่จ.อุดรธานี – ผู้เขียน) รู้สึกว่าตนถูกละเมิดสิทธิแต่ไม่รู้ว่าละเมิดสิทธิข้อไหนเพราะตนไม่มีความรู้ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นกับหมู่บ้านของตนหากมีเหมืองแร่โพแทช อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยเข้ามาให้ข้อมูล

กลุ่มรักษ์วานรนิวาสทำอาหารเย็นจัดเลี้ยงแก่คณะสื่อมวลชนก่อนประกาศเจตนารมณ์ไม่เอาเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

ช่วงค่ำหลังจากลงพื้นที่และรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน คณะสื่อมวลชนเดินทางกลับเพื่อไปรายงานข้อมูลข่าวสารที่ได้พบเจอต่อสาธารณชน อันเป็นกิจกรรมปิดการทำงานในแต่ละวัน ขณะที่ภารกิจของกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสในการปกป้องที่ดินและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาพึ่งพาอาศัยสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายยังคงต้องดำเนินต่อไป ตราบใดที่อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทชยังมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

จิรสุดา สายโสม เป็นผู้เข้าอบรมโครงการนักข่าวภาคอีสาน ประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print