สกลนคร – กลุ่มคนรักษ์น้ำอูนครวญ ถูกบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมฟ้องหมิ่นประมาทหลังยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ที่ อ.กุสุมาลย์ ด้านนักวิชาการชี้ กรณีดังกล่าวคือการใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่ขอมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร

ป้ายผ้าแสดงพื้นที่เตรียมก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่บ้านโคกสะอาด อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร

กุสุมาลย์เป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจ.สกลนคร มีความหมายว่า ดอกไม้ป่าตามธรรมชาติ แต่ทว่าอีกไม่นาน บนพื้นที่แห่งดอกไม้ป่าแห่งนี้กำลังจะมีทั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลตั้งอยู่ห่างจากชุมชนบ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ ระยะ 2 ก.ม. และห่างจากที่ดินทำนาและการเกษตรของชาวบ้านเพียง 300 เมตร  โครงการก่องสร้างโรงงานทั้งสองแห่งดังกล่าวเกิดขึ้นตามที่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 มี.ค. 2554 เห็นชอบให้บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด สร้างโรงงานน้ำตาลที่มีขนาดกำลังผลิต 12,500 ตันอ้อยต่อวัน โดยต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 150,000 ไร่ ด้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล คาดว่าจะมีกำลังการผลิตระยะแรก 48 เมกะวัตต์ แต่ขณะเดียวกัน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังไม่ให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  

สมาชิก อบต.อุ่มจานที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานน้ำตาล แสดงหลักแบ่ง “เขตที่สาธารณะ” หลังกรมที่ดินนำมาฝังไว้ โดยพื้นที่อีกด้านหนึ่งเป็นที่ดินของเอกชนที่เริ่มปลูกอ้อยแล้ว

แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวที่บริษัทฯ เข้ามากว้านซื้อเพื่อดำเนินโครงการจะเป็นที่ดินของเอกชนที่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ประชาชนบ้านโคกสะอาดบางส่วนเกรงว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนในบริเวณดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ ที่ดินบริเวณบ้านโคกสะอาดเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าเต็งรังธรรมชาติ มีทางสาธารณะและลำห้วยสาธารณะ เช่น ห้วยเตย ห้วยตาด ซึ่งเป็นลำห้วยที่ไหลมาจากแม่น้ำอูน อันเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำสงคราม ซึ่งประชาชนผู้อาศัยอยู่ในชุมชนต่างพึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้ในการดำรงชีวิตมาช้านาน

น.ส.บำเพ็ญ ไชยรักษ์ ชาวต.อุ่มจาน เกรงผลกระทบจากการปลูกอ้อยทำลายพื้นที่ป่า

น.ส.บำเพ็ญ ไชยรักษ์ ชาวบ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ กังวลว่า โครงการดังกล่าวอาจเปลี่ยนพื้นที่นาและป่าที่มีอยู่เดิมให้กลายเป็นไร่อ้อยขนาดแสนกว่าไร่ โดยเธอเชื่อว่า การสนับสนุนการปลูกอ้อยจะยิ่งสร้างแรงจูงใจให้มีการทำลายป่าเพื่อนำที่ดินมาปลูกอ้อย ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายรัฐที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าจ.สกลนครให้ถึงร้อยละ 50 ของพื้นที่จังหวัดในอีก 20 ปี ข้างหน้า โดยในปัจจุบัน หนึ่งครอบครัวมีพื้นที่ป่า ร้อยละ 25-30 ของพื้นที่ถือครอง จึงคาดว่า จ.สกลนครมีศักภาพที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ถึงร้อยละ 50 ตามเป้าหมาย  แต่การมีนโยบาย

ด้วยความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ชาวบ้านโคกสะอาดที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้จึงรวมกลุ่มกันในชื่อว่า “กลุ่มรักษ์น้ำอูน” เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ จนทำให้พวกเขาถูกตั้งข้อหาเสียเอง

กลุ่มรักษ์น้ำอูนยื่นหนังสือต่อนายรัฐวุฒิ บุตราช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2559 เพื่อขอให้ระงับการบุกเบิกพื้นที่ หลังจากบริษัทฯ ได้บุกเบิกพื้นที่ป่าและปรับพื้นที่ ส่งผลให้ถนนและลำห้วยสาธารณะเสียหาย

ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 โดยทางกลุ่มฯ ได้ทำเป็นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม

บริษัทไทยรุ่งเรืองฯ เห็นว่า การยื่นหนังสือดังกล่าวทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงได้ยื่นฟ้องชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูน 2 คดี คดีแรกมีหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องลงวันที่ 9 มี.ค. 2560 ระบุว่า บริษัทฯ เป็นโจกท์ฟ้อง น.ส.เดือนเพ็ญ สุดไชยา ชาวบ้าน ต.อุ่มจาน เป็นจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกรวม 20 คน ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร เพราะร่วมกันลงลายมือชื่อยื่นหนังสือร้องเรียนโจทก์ ต่อมาบริษัทไทยรุ่งเรืองฯ ขอถอนฟ้องจำเลย 2 คน คือ นายอดิศร แสนภูวา จำเลยที่ 11 และนางอมรรัตน์ มังลา จำเลยที่ 12 เนื่องจากจำเลยทั้ง 2 คนขอถอนชื่อจากการคัดค้านโครงการ และแจ้งความว่านางยวนจิตร ไชยรักษ์ สมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน หลอกลวงให้พวกตนลงชื่อคัดค้าน

หมายนัดไต่สวนมูลฟ้องระหว่างบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัดโจกท์ กับน.ส.เดือนเพ็ญ สุดไชยา กับพวกรวม 20 คน จำเลย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 บริษัทไทยรุ่งเรืองฯ ได้ไกล่เกลี่ยกับกลุ่มคนรักษ์น้ำอูนที่ถูกฟ้อง โดยขอให้ฝ่ายจำเลยยอมรับรายงานผลการตรวจสอบของอบต.อุ่มจาน และขอให้ถอนเรื่องการคัดค้าน หากฝ่ายจำเลยตกลง โจทก์จะถอนฟ้องคดี แต่ฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับเงื่อนไข เพราะเห็นว่ารายงานของอบต.อุ่มจานไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และจำเลยได้รับรายงานเฉพาะหน้า 12-17 จากทั้งหมด 20 หน้า โดยในห้องไกล่เกลี่ย ตัวแทนบริษัทฯ บอกว่า หากชาวบ้านยังไม่หยุดอาจจะฟ้องอีกคดี

จากนั้นได้มีหมายศาลลงวันที่ 9 มิ.ย. 2560 นัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่สอง โดยบริษัทไทยรุ่งเรืองฯ ฟ้องนางยวนจิตร ไชยรักษ์ อายุ 68 ปี อาชีพทำนาและเลี้ยงควาย ชาวบ้านหมู่ 4 ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร โดยคำฟ้องระบุว่า

“จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายต่างกรรมต่างวาระกัน โดยได้บังอาจหลอกลวงบุคคลอื่นให้ลงลายมือชื่อในใบเอกสารแทนตนใช้เป็นเครื่องมือใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จโดยการโฆษณาด้วยเอกสารต่อนายรัฐวุฒิ บุตราช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน และบุคคลอื่น โดยประการที่น่าจะทำให้โจทย์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2559 เวลากลางวัน จำเลยได้ใช้ให้นางกานดา ภาชนะ และบุคคลอื่นร่วมการลงลายมือชื่อในเอกสารโดยที่ไม่รู้ว่า เป็นการลงลายมือชื่อเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อนายกอบต.อุ่มจาน อันเป็นการกล่าวหาโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ… ”

นางยวนจิตร ไชยรักษ์ สมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน ออกมาปกป้องแม่น้ำอูนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต.กุสุมาลย์ ที่เธอพึ่งพาอาศัยมาตั้งแต่เล็ก

นางยวนจิตรเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า เหตุที่ตนเซ็นชื่อให้อบต.มาตรวจสอบพื้นที่ ก็เพราะตนเป็นห่วงป่าที่อยู่มาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากหลังบริษัทฯ เข้ามาเบิกป่าเพียงไม่นานก็ทำให้ป่าหายไป 1,000 กว่าไร่ ต่อมาตนก็ถูกฟ้องว่าหลอกให้ชาวบ้านมาเซ็นชื่อทำสบู่ แล้วนำรายชื่อไปคัดค้านโรงงานน้ำตาล อันที่จริงตนไม่เคยขอให้ใครมาลงชื่อ แต่ตนเคยชวนชาวบ้านมาทำสบู่ด้วยกันจริง

“ทีแรกกะตกใจแฮง ย่านแฮง (กลัวมาก) เพราะซีวิตยาย แม้แต่เฮือนผู้ใหญ่บ้านยังบ่เคยขึ้น บ่เคยผิดกับไผ ทำมาหากินไป แต่มาถืกฟ้องศาล ตอนลงชื่อกะบ่คิดว่าสิถืกฟ้อง เพราะเฮาบ่ได้เบียดบังไผ บ่ได้เว้าใส่โรงงานว่า บ่ดีแบบนั้นแบบนี้ แค่เฮาร้องเรียนว่าพื้นที่ที่จะตั้งโรงงานเป็นที่สาธารณะจริงบ้อ (จริงไหม) อยากให้ อบต.มาตรวจสอบ ถนนหนทางเขาสิปิดบ้อ เพราะเห็นเขาถมลำธารสาธารณะสองสายแล้ว” นางยวนจิตรกล่าว

การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านโดยบริษัทที่เข้ามาทำโครงการในหมู่บ้านไม่ใช่เรื่องใหม่ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ที่ออกมาคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ก็ถูกบริษัททุ่งคำฯ ซึ่งเข้ามาทำเหมืองแร่ทองคำฟ้องร้องไปแล้ว 21 คดี และยังมีกรณีคล้ายๆ กันอีกในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

จึงมีโอกาสว่า การฟ้องร้องคดีเหล่านี้เชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่

นายวิเชียร อันประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ SLAPPs (Strategic Lawsuit Against Public Participations) โดยศึกษากรณีของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ประชาชนที่คัดค้านเหมืองแร่เมืองเลยถูกฟ้องทั้งสิ้น 21 คดี ด้วยกฎหมาย 7 ฉบับ มีผู้ถูกฟ้อง 38 คน และถูกเรียกค่าเสียหาย 320 ล้านบาท

จากการฟ้องร้องคดีหลายคดีด้วยกันทำให้จำนวนชาวบ้านที่เคยร่วมต่อสู้ด้วยกันมาลดลง นายวิเชียรเล่าว่า จากเดิมที่มี 6 หมู่บ้าน ประมาณ 500-600 คน ขณะนี้เหลือเพียง 100 กว่าคน ผู้ที่ถูกฟ้องแต่ละคนต้องไปขึ้นศาลหรือสถานีตำรวจ 6-13 ครั้งต่อคดี ซึ่งทำให้สูญเสียรายได้คนละ 1,500-3,500 บาทต่อวัน และมีค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีความคนละ 2,000-2,500 บาทต่อวัน

“SLAPPs น่ากลัวแบบที่นึกไม่ถึงจนกว่าจะถูกฟ้อง มันใช้ความกลัวต่อคดี ติดคุก เสียเงิน ทำให้ไม่กล้าวิจารณ์ในประเด็นที่เราเคลื่อนไหว” นายวิเชียรกล่าว

นายวิเชียร อันประเสริฐ นักวิชาการ ม.อุบลราชธานี เห็นว่า การฟ้องร้องกลุ่มรักษ์น้ำอูน ที่อ.กุสุมาลย์ คือกลยุทธ์ทางกฎหมายหยุดการเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่

ส่วนกรณีการฟ้องร้องสมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร เข้าข่าย SLAPPs หรือไม่ นายวิเชียรเผยว่า ต้องพิจารณาตามลักษณะสำคัญของ SLAPPs ที่มี 5 ข้อ ประกอบด้วย

มีการฟ้องร้องทางแพ่ง กรณีที่อ.กุสุมาลย์เข้าเงื่อนไขนี้ คือมีการฟ้องคดีหมิ่นประมาท ซึ่งแม้คดีหมิ่นประมาทในประเทศไทยจะเป็นคดีอาญา แต่ในต่างประเทศคดีหมิ่นประมาทเป็นคดีแพ่ง

ผู้ถูกฟ้องเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่รัฐ กรณีนี้ชัดเจนเพราะผู้ถูกฟ้องทั้ง 21 คนเป็นประชาชน

ผู้ถูกฟ้องต้องการสื่อสารบางอย่างถึงตัวแทนของรัฐ ซึ่งผู้ถูกฟ้องทั้ง 21 คน ได้เรียกร้องให้รัฐตรวจสอบการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล

เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ การที่ประชาชนขอให้ตรวจสอบที่ดินของโรงงานว่าอยู่ในเขตที่สาธารณะหรือไม่ และตรวจสอบผลกระทบต่อถนนและลำน้ำ ก็ล้วนแต่เป็นประเด็นสาธารณะ

และ การฟ้องร้องไม่ได้ให้คุณค่าความถูกผิด แต่มีจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจการเมือง มุ่งเน้นให้ผู้ถูกฟ้องเสียเวลาและเสียเงิน กรณีกลุ่มคนรักษ์น้ำอูนเข้าเงื่อนไขนี้ เพราะการฟ้องร้องมุ่งให้เกิดความกลัวและความยุ่งยาก โดยเฉพาะการที่บริษัทฯ ขู่ว่า หากไม่หยุดเคลื่อนไหว จะฟ้องเพิ่มอีกคดี

นายวิเชียรสรุปว่า ถ้าพิจารณาตาม 5 ลักษณะนี้ คดีของกลุ่มคนรักษ์น้ำอูน เข้าข่ายเป็น SLAPPs ที่บริษัทใช้คดีเพื่อจะปิดปากไม่ให้ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานหรือโครงการของบริษัท

เนื่องจากมีคดีลักษณะเกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ SLAPPs Law : กลไกทางกฎหมายที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (อาจ) ต้องเผชิญ ที่โรงแรมหนองหาร เอลลิแกนท์ จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560 โดยนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอาวุโสกล่าวว่า คดีลักษณะนี้เป็นการแกล้งฟ้องคดีเพื่อแสวงหาประโยชน์ ภาษากฎหมายเรียกว่า เป็นการฟ้องโดยไม่สุจริต โดยคดีจะมีลักษณะกลับข้าง กลับขั้ว

“คนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายกลับเป็นจำเลย ส่วนนายทุนที่ต้องพิสูจน์ว่าโครงการของตนดี ไม่ส่งผลกระทบชุมชน สร้างประโยชน์ให้สังคมอยู่ดีกินดี กลับเป็นโจทก์” นายแสงชัยกล่าว

ทนายความอาวุโสกล่าวอีกว่า ข้อดีของคดีแบบนี้คือทำให้ชาวบ้านรู้จักกันมากขึ้น จากเดิมที่ไม่ค่อยได้ไปมาหาสู่ ก็รู้จักกันมากขึ้น และไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้อง เพราะถูกฟ้องไปแล้ว

นางสมัย มังทะ หนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องว่าหมิ่นประมาทโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า คนที่เคยต่อสู้ด้วยกันมาราว 50 คน ตอนนี้เหลือ 18 คน และสมาชิกในกลุ่มยังถูกขู่ เช่น มีรถมาจอดที่หน้าบ้านตอนกลางคืน ผู้นำกลุ่มถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบ มีโพยหวยเถื่อนมาวางบนโต๊ะของสมาชิกกลุ่ม มีผู้ใหญ่บ้านมาคุยด้วยบ่อยๆ และมีการประกาศห้ามกลุ่มคนรักษ์น้ำอูนเข้าร่วมเวทีประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็น

“กลุ่มรักษ์น้ำอูน เฮาถืกคุกคามสิทธิ เฮาลุกขึ้นมารักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยังถืกฟ้อง เฮากะน้อยใจ๋ แต่ว่ากะสู้ เพราะว่าเฮาเฮ็ดถูกต้อง เฮาบ่ได้เฮ็ดผิด เฮากะเลยสู้” นางสมัยกล่าว

คดีของสมาชิกกลุ่มคนรักษ์น้ำอูนทั้ง 2 คดียังดำเนินต่อไป ในวันที่ 21 ส.ค. 2560 นางยวนจิตร ไชยรักษ์ มีนัดไต่สวนมูลฟ้องที่ศาลจังหวัดสกลนคร ส่วนของสมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน 18 คน มีการนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 3-4 ต.ค. 2560

 

image_pdfimage_print