แถลงข่าว โดย โครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2560 นพ.อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์ และนายจอห์น เดรเปอร์ ตัวแทนโครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตย ได้พบกับนายนิติกร ค้ำชู ผู้ประสานงานขบวนการอีสานใหม่และนายกรชนก แสนประเสริฐ สมาชิกพรรคสามัญชนแห่งอีสาน ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ต.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เพื่อสนทนากันเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของประเทศไทย

ตัวแทนจากโครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตยเริ่มต้นโดยการอธิบายมุมมองต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศไทย และได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การปกครองของทหารอย่างถาวร ไม่ว่าจะจากการส่งต่ออำนาจจากบุคคลถึงบุคคลในลักษณะของประเทศเมียนมา หรือจากพรรคการเมืองของทหาร โดยตัวแทนทั้งสองได้กล่าวถึงความกังวลว่าหากสิ่งนี้เกิดขึ้นก็อาจจะทำให้มีการสูญเสียในลักษณะเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 อีกครั้ง หรือถ้าไม่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารประเทศไทยก็อาจจะต้องกลับไปสู่รูปแบบเดิมๆ ที่มีพรรคเพื่อไทยแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะทำให้ผู้ชนะในการเลือกตั้งถูกตัดสินโดยพรรคการเมืองอำนาจท้องถิ่น (เนื่องจากจะเป็นเสียงที่เติมเข้าไปเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีจำนวนเสียงมากพอในการเป็นรัฐบาล)

ตัวแทนทั้งสองกล่าวว่า ปัญหาพื้นฐานของการเมืองในประเทศไทยคือการที่กระบวนการเปลี่ยนผ่านดังที่ควรเป็นจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นหยุดชะงักงันเนื่องจากเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2519 และเหตุการณ์นี้ทำให้ไม่เกิดกระบวนการทางการเมืองที่นำไปสู่พรรคการเมืองซึ่งดำเนินการโดยปรัชญาทางการเมืองต่างๆ แม้ว่าจะมีความพยายามจากนางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตรักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในการที่จะดำเนินกิจกรรมการเมืองโดยมีปรัชญาการเมืองเป็นตัวนำ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือพรรคเพื่อไทยนั้นไม่ได้ถูกควบคุมโดยผู้คนทั่วไป พรรคเพื่อไทยนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากพรรคอื่น และไม่ได้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยจากภายใน และนั่นทำให้พรรคไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้

ตัวแทนทั้งสองยังแสดงข้อสังเกตว่าพรรคสามัญชนแห่งอีสานและขบวนการอีสานใหม่นั้นมีความพยายามที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคอีสาน แล้วก็มีความพยายามดึงนักศึกษาไปยังชุมชนดังจะเห็นได้จากกิจกรรมชุมชนของนักศึกษากลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นลักษณะกิจกรรมเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงสี่สิบปีก่อน

ตัวแทนจากโครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตยเชื่อว่า ปัญหาอย่างหนึ่งในประเทศไทยคือการที่เอ็นจีโอจำนวนมากทำงานเกี่ยวกับประเด็นเดี่ยวๆ และไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่องค์กรเหล่านี้น่าจะรวมกันภายในหลักปรัชญาเดียวกันได้นั่นคือแนวคิดสังคมประชาธิปไตย (social democracy) ตัวแทนจากโครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตยยังชี้ประเด็นอีกว่าแนวคิดสังคมประชาธิปไตยนั้นมีแง่มุมอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏในการเมืองเสรีประชาธิปไตยแบบของสหรัฐอเมริกาซึ่งคนไทยมักจะเคยได้ยินกัน แง่มุมเหล่านี้ก็เช่น สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคม และสิทธิทางวัฒนธรรม

ผู้เข้าพบปะทั้งสี่คนเห็นด้วยกับการมุ่งความสำคัญไปที่แง่สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งประเทศไทยก็ได้ลงนามในสนธิสัญญานานาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแล้ว (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights โดยประเทศไทยลงนามในวันที่ 5 ก.ย. 2542)

ตัวแทนจากโครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตยกล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะพัฒนาต่อไปได้ก็ต่อเมื่อมีการประนีประนอมครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมและประชาชนทั่วไป โดยเห็นตัวอย่างได้จากในประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเหล่าขุนนางได้ยอมสละอำนาจและความมั่งคั่งเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคมให้มากขึ้นและเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนทั่วไป จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและนำไปสู่การที่เกาหลีใต้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน

ตัวแทนจากโครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตยกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีพรรคสังคมประชาธิปไตยในลักษณะเดียวกันกับหลายประเทศในทวีปยุโรป และบอกอีกว่า มีการจัดตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยขึ้นแล้วในการเลือกตั้งครั้งก่อน โดยพรรคมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่มีความผูกพันและได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ตัวแทนจากโครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตยได้แสดงข้อสังเกตว่าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยและประชาชนในภาคอีสานนั้นยังมีความแตกต่างในปรัชญาทางการเมืองอยู่
ประเทศตะวันตกหลายประเทศมีคลังสมอง สถาบัน และมูลนิธิสังคมประชาธิปไตยอยู่

หากมีการจัดตั้งมูลนิธิสังคมประชาธิปไตยไทยก็จะสามารถนำผู้คนซึ่งทำงานในประเด็นเดี่ยวๆ มาอยู่ร่วมกันได้ และยังสามารถดึงดูดเงินสนับสนุนในระดับหลายล้านบาทได้ด้วย มีสัญญาณให้เห็นจากประเทศต่างๆ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์ว่า สถาบันและมูลนิธิต่างๆ ในประเทศเหล่านั้นพร้อมที่จะสนับสนุนมูลนิธิเพื่อสังคมประชาธิปไตยไทย

มูลนิธิเพื่อสังคมประชาธิปไตยไทยจะเป็นเหมือนสมองและทำหน้าที่ผลักดันพรรคการเมืองในอนาคตโดยปฏิบัติงานผ่านทางการทำงานวิจัยเพื่อสร้างแนวนโยบาย การเสาะหาแหล่งเงินทุน และการกระจายเงินทุน แต่ต้องมีการแบ่งแยกระหว่างมูลนิธิเพื่อสังคมประชาธิปไตยไทยและพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยให้ชัดเจน เพราะกฎหมายการเลือกตั้งในประเทศไทยไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองรับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ

มูลนิธิเพื่อสังคมประชาธิปไตยไทยยังจะพยายามสร้างความประนีประนอมระหว่างกลุ่มผู้สนใจในกรุงเทพฯ กับ นักกิจกรรม และกลุ่มต่างๆ ในภาคอีสานผ่านกระบวนการเสนอชื่อบุคลากรเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในมูลนิธิ และด้วยเหตุนี้ก็จะสามารถสร้างความเคารพและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ ประเด็นเดี่ยวๆ ทั้งหลายก็จะถูกนำเข้ามารวมอยู่ด้วยกันเพื่อลดการแบ่งกลุ่มและเพื่อสร้างหนทางสู่อนาคตร่วมกัน

ตัวแทนทั้งสองยังกล่าวอีกว่ามีกลุ่มนักศึกษาและเยาวชนที่เห็นด้วยกับหลักการของสังคมประชาธิปไตยและแนวทางการสร้างมูลนิธิ

หากความพยายามในการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสังคมประชาธิปไตยไทยนี้ประสบผลสำเร็จมูลนิธิสังคมประชาธิปไตยไทยก็อาจจะสามารถขับดันพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยให้ได้คะแนนเสียงร้อยละ 5-10 และมีส่วนตัดสินในการจัดรัฐบาลชุดหน้าได้

ตั้งแทนทั้งสองกล่าวว่า การที่แนวทางในการก่อตั้งมูลนิธินี้จะประสบผลสำเร็จได้นั้นกลุ่มที่ไม่เคยมีการสื่อสารระหว่างกันมาก่อนก็จะต้องปรึกษาหารือกันและสร้างเป้าหมายร่วมกัน โดยอาจทำผ่านบุคคลที่เป็นผู้เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่ออำนวยให้เกิดการสนทนากันระหว่างกลุ่มที่อาจมีมุมมองที่คล้ายคลึงกันในภาพรวมแต่แตกต่างกันในรายละเอียด และสร้างการเคลื่อนไหวที่ทุกคนจะดำเนินการร่วมไปด้วยกันได้

ตัวแทนทั้งสองยังกล่าวอีกว่า ความเกรงใจเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทย อีกทั้งความกลัวในการเสียหน้าก็ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้การเริ่มต้นพูดคุยกันเป็นเรื่องยาก บุคคลจากกลุ่มต่างๆ อาจกังวลว่าจะไม่สามารถพูดคุยและทำความเข้าใจกันระหว่างกลุ่มได้ แต่ตัวแทนทั้งสองได้ระบุถึงความจำเป็นว่า จะต้องมีความพยายามหาทางร่วมกันสร้างมูลนิธิ และต้องดึงเยาวชนเข้ามาอยู่ในการเคลื่อนไหวนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาในกรุงเทพมหานครหรือกลุ่มดาวดิน เพราะการเคลื่อนไหวเช่นนี้จำเป็นต้องมีพลังและพลวัตรจากเยาวชน

ทั้งสองบอกว่าหลักการของสังคมประชาธิปไตยนั้นได้รับการยอมรับจากบรรณาธิการของเดอะเนชั่นและบางกอกโพสต์ ซึ่งเคยตีพิมพ์คอลัมน์ของโครงการเพื่อสังค

มประชาธิปไตยที่กล่าวถึงแนวทางแก่นๆ ของแนวคิดสังคมประชาธิปไตย และยังมีผู้มีอำนาจส่วนหนึ่งในสังคมที่ยอมรับแนวคิดของการ “ประนีประนอมครั้งใหญ่ในสังคม” เพราะดูแล้วไม่น่าจะมีทางออกอื่นตัวแทนจากอีสานใหม่และพรรคสามัญชนให้ความเห็นว่าแนวทางขั้นพื้นฐานนั้นสามารถยอมรับได้ นายกรชนกเล่าว่า เคยเดินทางไปพบกับตัวแทนจากมูลนิธิเฟรดริชเอแบร์ (Friedrich Ebert Stiftung คือมูลนิธิทางสังคมประชาธิปไตยจากประเทศเยอรมนี) และเคยมีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกสภาผู้แทนจากเยอรมนีด้วย จึงเคยได้ยินว่าวิธีนี้สามารถทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างมูลนิธิกับพรรคการเมืองได้ และเห็นด้วยว่านี่เป็นวิธีที่สามารถทำได้ในประเทศไทย พรรคสามัญชนแห่งอีสานนั้นถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือในลักษณะนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนพรรค

ตัวแทนทั้งสองแสดงความกังวลว่าพรรคสามัญชนจะไม่ได้เสียงสนับสนุนถึง ร้อยละ 5-10 และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่สามารถผลักดันให้เกิดการประนีประนอมในสังคมได้ ในการจะสร้างความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่นั้นผู้มีอำนาจในสังคมและสหภาพต่างๆ จะต้องเห็นด้วย ในการนี้มูลนิธิเฟรดริชเอแบร์ก็กำลังพยายามดึงสหภาพแรงงานต่างๆ ในกรุงเทพมหานครเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย ในท้ายที่สุดแล้วสหภาพต่างๆ ที่ยึดถือแนวคิดแบบกลุ่มพันธมิตรฯ ก็จำเป็นต้องเข้ามาร่วมกับพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยด้วย โดยเหตุผลสำคัญก็คือเหตุผลทางเศรษฐกิจ นั่นคือการถ่ายความมั่งคั่งจากคนรวยมาสู่คนจนจะทำให้คนจนสามารถจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลางและขยายชนชั้นกลางให้สูงขึ้น และช่วยเหลือสหภาพแรงงาน

ตัวแทนทั้งสองยังชี้อีกว่าแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศ ซึ่งหลายคนตระหนักว่าการประนีประนอมในสังคมเป็นสิ่งสำคัญ โดยทำได้ผ่านภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก และภาษีเงินได้ ดูเหมือนว่านักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีความตระหนักถึงแนวทางในการสร้างความเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ แต่ความร่วมมือจากเยาวชนในมหาวิทยาลัยที่เป็นกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมอย่างเช่นจุฬาฯ นั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน

นายกรชนกกล่าวว่า พรรคสามัญชนมีความพยายามจะขยายฐานเสียง และมีความพยายามสร้างความเข้าใจว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระดับของสังคม พรรคสามัญชนไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพียงแค่เพื่อหลักการทางการเมืองแต่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนด้วย แนวคิดทั่วไปภายในพรรคคือ เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะทำงานร่วมกับคนกลุ่มอนุรักษนิยมหรือแม้กระทั่งคนที่อยู่กลางๆ แต่ตนเองเห็นด้วยว่ามันเป็นเวลาที่ควรจะลองสิ่งนี้อีกครั้ง และยินดีกับแนวทางมูลนิธิ พร้อมทั้งบอกว่าพรรคสามัญชนนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความประนีประนอมในสังคม ด้วยเหตุนี้ตนจึงยินดีที่จะเข้าร่วมกับโครงการมูลนิธินี้

ตัวแทนจากโครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตยจึงเชิญนายกรชนกและนายนิติกรให้มีโอกาสได้พบกับนักกิจกรรมเยาวชนในกรุงเทพฯ และพบกับตัวแทนกลุ่มต่างๆ โดยนี่จะเป็นการประชุมในขนาดเล็กเพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงและนำกลุ่มต่างๆ มาเข้าร่วมกันภายใต้ร่มของมูลนิธิสังคมประชาธิปไตย โดยทั้งสองยอมรับคำเชิญ

ตัวแทนทั้งสองกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับชื่อพรรค โดยระบุว่าชื่อพรรคสามัญชนจะทำให้ยากต่อการเจรจากับผู้มีอำนาจในสังคม นายกรชนกและนายนิติกรเห็นด้วยว่าชื่อพรรคมีความสำคัญ และกล่าวว่าต้องมีการรับช่วงต่อจากฝ่ายซ้าย พัฒนาการต่อจากช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งแนวคิดสังคมประชาธิปไตยยังเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองไทย

ตัวแทนทั้งสองบอกว่าพรรคที่มีแนวทางสังคมประชาธิปไตยในนานาประเทศนั้นส่วนใหญ่ก็จะใช้ชื่อนี้ เป็นการดึงเอาแนวคิดสังคมนิยมซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากการเมืองฝ่ายซ้ายมาใช้ แนวคิดสังคมประชาธิปไตยนั้นเป็นแนวคิดนานาชาติ ดังนั้นมูลนิธิจะสามารถทำงานร่วมกับเอ็นจีโอ เช่น องค์การนิรโทษกรรมสากล ฮิวแมนไรท์วอทช์ หรือกรีนพีซ เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีขึ้นในประเทศ แนวคิดนี้ยังสนับสนุนความเป็นเอกภาพของมวลมนุษยชาติที่จะฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกัน ซึ่งตรงกันข้ามกับความรักชาติแบบสุดโต่งในลักษณะที่เห็นได้ผ่านทางแนวคิดอำนาจนิยมในหลายประเทศและวาทกรรมในทำนอง “เป็นคนไทยรึเปล่า?” ซึ่งเน้นการแยกตัวออกจากผู้อื่นและไม่สนับสนุนความร่วมมือกับต่างประเทศ

ทั้งสี่คนยินดีที่จะสร้างเครือข่ายและนัดหมายการประชุมร่วมกันต่อไป

image_pdfimage_print