โดยดานุชัช บุญอรัญ

มหาสารคาม- ชาวไร่อ้อย จ.มหาสารคาม สนับสนุนการยกเลิกใช้สารพาราควอต เนื่องจากเป็นสารอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและร่างกาย ได้ผลผลิตไม่ต่างจากการปลูกวิธีธรรมชาติ แนะรัฐบาลเสนอตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า

จากกรณีเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอส ภายในเดือนธันวาคมปี 2562 โดยกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ ไม่อนุญาตให้ต่ออายุทะเบียน หรือขึ้นทะเบียนเพิ่มและให้ยุติการนำเข้าตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2561 เป็นต้นไป

ต่อมา นายธนัษ อภินิเวศ ผู้อำนวยการ กลุ่มบริษัท ซินเจนทา ประเทศไทย ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์สารเคมีเกษตรรายใหญ่ ให้ความเห็นแย้งว่า บริษัทฯ ได้พูดคุยกับเกษตรกรพบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สารพาราควอต เนื่องจากสารพาราควอตเห็นผลเร็วกว่าสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่น และยังปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม นายธนัษยังอ้างอีกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องต้นทุนการผลิตหลังยกเลิกใช้สารพาราควอต เพราะอาจต้องใช้แรงงานในการถอนหญ้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและ มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และหากใช้สารเคมีชนิดอื่นทดแทนก็ไม่คุ้มค่าเพราะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าและต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่าสารพาราควอต

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่บ้านโคกล่าม ต.บรบือ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงด้านคุณสมบัติและปัญหาการใช้สารพาราควอตในการทำการเกษตร ทั้งนี้ เกษตรกรได้เล่าถึงผลลัพธ์ของการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีส่วนผสมของสารพาราควอตและผลกระทบหลังเลิกใช้สารพาราควอต ดังนี้

นายน้อย หาสุข ชาวไร่อ้อยที่เพาะปลูกโดยวิธีธรรมชาติสนับสนุนการยกเลิกใช้สารเคมีเกษตร

นายน้อย หาสุข อายุ 71 ปี ประธานกลุ่มเกษตรกรอ้อยแปลงใหญ่ บ้านโคกล่ามกล่าวว่า พื้นที่ อ.บรบือ จ.ร้อยเอ็ด เป็นบริเวณที่เกษตรกรนิยมปลูกอ้อยเป็นจำนวนมาก เฉพาะที่บ้านโคกล่ามแห่งเดียวก็มีไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ ในส่วนของสารพาราควอตหรือที่เกษตรกรรู้จักกันทั่วไปในชื่อ “กรัมม็อกโซน” เป็นสารกำจัดวัชพืชสำคัญที่ชาวไร่อ้อยเพื่อใช้กำจัดต้นหญ้า และพืชคลุมดิน เพื่อปรับหน้าดินให้พร้อมต่อการปลูกอ้อย โดยสารดังกล่าวมีลักษณะเป็นของเหลวใช้สำหรับฉีดพ่น จากประสบการณ์ของตนพบว่า การใช้สารเคมีชนิดนี้ส่งผลให้เกิดโทษร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมและต่อตัวผู้ใช้ กล่าวคือ ก่อให้เกิดสารตกค้างสะสมภายในร่างกาย มีอาการชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า และเมื่อเกิดบาดแผลแผลก็จะลุกลามทำให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นแห้งตายและต้องตัดทิ้งในที่สุด ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารพาราควอตแทรกซึมจากดินลงสู่แหล่งน้ำทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถจับสัตว์น้ำ พืชและแมลงบางชนิดอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำขึ้นมารับประทานได้ เนื่องจากว่าหากนำสัตว์น้ำและแมลงมารับประทานจะเกิดอาการปวดศีรษะและมึนเมา

สำหรับผลกระทบของการใช้ยาฆ่าหญ้า นายวิศนุ วิทยาบำรุง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ถึงกรณีประชาชนในพื้นที่อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ กว่า 30 ราย มีอาการท้องร่วงและคลื่นไส้อย่างรุนแรง ภายหลังรับประทานเห็ดโคนที่เกิดขึ้นในสวนยางพาราว่า เห็ดชนิดดังกล่าวเป็นเห็ดไม่มีพิษ ซึ่งประชาชนก็เคยเก็บมารับประทานกันอยู่เสมอ แต่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงน่าจะมาจากเจ้าของสวนยางมักนิยมฉีดพ่นยาฆ่าหญ้า(ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดรวมทั้งพาราควอต-ผู้เขียน) แทนการตัดหญ้าเพราะไม่เสียเวลามาก ซึ่งยาฆ่าหญ้าเป็นสารพิษที่ตกค้างและยังไม่สลายหรือถูกดูดซึมลงดิน สารยังตกค้างอยู่บนผิวดิน เมื่อเห็ดงอกออกมาจึงเป็นไปได้ว่ามีสารเคมีมีพิษติดมากับดอกเห็ดด้วย

นายน้อยเปรียบเทียบระหว่างผลผลิตในไร่ของตนซึ่งไม่ใช้สารเคมีกับไร่ของเพื่อนบ้านที่ยังใช้สารพาราควอตและปุ๋ยเคมีหลายชนิดว่า จำนวนของผลิตต่อไร่ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก คือ ได้อ้อยประมาณ 20 ตันต่อไร่ หากแต่ไร่ของเพื่อนบ้านที่ใช้สารพาราควอตกำจัดวัชพืช หลังผ่านไปหลายปีกลับประสบปัญหาสภาพดินแข็ง ส่งผลให้กล้าอ้อยที่ปักลงไปมีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้าและแห้งตายบางส่วน ปัจจุบันคนในชุมชนของตนจึงเริ่มหันมาปลูกอ้อยด้วยวิธีการธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการอ้อยแปลงใหญ่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม (เริ่มโครงการในปี พ.ศ. 2559- ผู้เขียน) ที่สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันปลูกอ้อยที่สะอาด ได้มาตรฐาน ไร้สารเคมี เพื่อประโยชน์ในการต่อรองราคาขายอ้อย

นายน้อยกล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับรัฐบาลในการยกเลิกใช้สารพาราควอต เนื่องจากก่อให้เกิดอันตรายสูง แต่ต้องยอมรับว่าการกำหนดนโยบายเช่นนี้ย่อมทำให้เกษตรบางส่วนที่ยังใช้สารเคมีชนิดนี้อยู่เกิดผลกระทบ เนื่องจากหากไม่ใช้สารพาราควอตก็จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชด้วยวิธีอื่น เช่น การไถกลบ การจ้างแรงงานมาถางหญ้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการนำสารพาราควอตมาฉีดพ่นเพื่อฆ่าหญ้า

“ถ้ามองในมุมของความปลอดภัย พ่อว่ามันก็คุ้มนะ เสียเงินหรือเหนื่อยเพิ่มสักหน่อย แต่มันไม่เป็นโรคเป็นภัย มันไม่อันตราย “ นายน้อยกล่าว

นายสมชัย โนราช แสดงให้เห็นผื่นที่เกิดจากการใช้สารเคมีในการปลูกอ้อย

นายสมชัย โนราช อายุ 67 ปี เกษตรกรในพื้นที่เดียวกันกล่าวว่า ตนเป็นผู้หนึ่งซึ่งยังคงใช้สารพาราควอตอยู่ เนื่องจากตนมีไร่อ้อยกว่า 50 ไร่จึงต้องใช้สารพาราตวอตเพื่อกำจัดวัชพืช เพราะคุ้มค่ากว่าการไถกลบหรือจ้างแรงงานมาช่วยงาน แต่การใช้สารพาราควอตเป็นเวลานานทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย มีอาการแพ้เป็นผื่นแดง และคันบริเวณผิวหนัง แต่อาการแพ้สารเคมีจะไม่เกิดทันที แต่จะสะสมและส่งผลในอนาคต

“ต่อไปคิดว่าจะเลิกใช้แล้ว ถางเอา ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น ไม่งั้นก็ไถกลบไปเลย ลองดู แต่ก็ยังไม่รู้นะว่ามันจะคุ้มไหม” นายสมชัยกล่าว

การที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอตนั้น นายสมชัยเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ควรมีการเสนอสารเคมีชนิดอื่นหรือวิธีการกำจัดวัชพืชวิธีอื่นที่มีคุณภาพและใช้ต้นทุนน้อยกว่าการใช้สารพาราควอต เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำมาใช้ทดแทนได้

นายสมชัยกล่าวถึงต้นทุนการปลูกอ้อยว่า พื้นที่ 1 ไร่ต้องใช้สารพาราควอต ประมาณ 1-2.5 ลิตรราคาลิตรละ 160 บาท เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างรถไถ ค่าปุ๋ยบำรุงพืช ค่าพันธุ์ต้นกล้า ค่าจ้างแรงงานตัดอ้อย ค่ารถขนส่ง ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนต่อไร่จำนวนกว่า 4,000 บาท ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ในชุมชนโคกล่ามพบความยากลำบากในการทำไร่อ้อยที่มีต้นทุนสูง อาทิ การซื้อยาและปุ๋ยก็ชื้อเงินเชื่อจนกลายเป็นภาระหนี้สินจำนวนมาก ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคำนึงถึงปัญหาของเกษตรกรและแก้ปัญหาในส่วนนี้ให้ด้วย

ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print