โดย วิทยากร โสวัตร

(บทความชิ้นนี้สืบเนื่องมาจากบทความ “กบฏผีบุญและการแบ่งแยกดินแดนในมุมมองของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)” ท่านสามารถอ่านได้ที่นี่)

หนังสือวิจารณ์นโยบายของประเทศและการเมืองระดับโลกสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้วยการแต่งหนังสือเทศนาธรรมว่าการสร้างอาวุธและการเข้าร่วมสงครามเป็น “วิชาชั่ว” ทำให้พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ถูกถอดยศและกักบริเวณ 1 ปี

การปฏิรูปการปกครองประเทศสยามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงแรกเริ่มนั้น ระบบราชการที่จะเป็นกลไกในการทำงานยังไม่เข้มแข็งพอ จึงทำให้รัฐขาดตัวเชื่อมระหว่างชนชั้นนำกับราษฎร ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการเลือกสรรแนวความคิดทางพุทธศาสนาบางประการมาเป็นศีลธรรมของชาติเพื่อเป็นตัวเชื่อมและควบคุมคนในสังคมไปในตัว โดยมีฐานพระธรรมยุตินิกายซึ่งพระราชบิดาของพระองค์ (รัชกาลที่ 4) ได้ทรงก่อตั้งและวางรากฐานไว้ ดังที่สายชล สัตยานุรักษ์ ศึกษาวิเคราะห์ไว้ว่า

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธรรมยุตินิกายเป็นนิกายใหม่ทางศาสนาที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ยังไม่มีพระภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ยึดมั่นและสืบทอดจารีตประเพณีขององค์กรสงฆ์มาอย่างยาวนาน จึงเปิดโอกาสให้แก่การตีความพุทธศาสนาใหม่ตลอดจนการเพิ่มเติมหลักคำสอนหรือหลักปฏิบัติใหม่ๆ เข้าไป เพื่อทำให้พุทธศาสนาเอื้อประโยชน์ต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเต็มที่ตามพระราชประสงค์”

และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส รับเป็นผู้สนองพระบรมราโชบายนี้ด้วยการทำให้พระสงฆ์ทั่วประเทศเข้ามาอยู่ในระบบการปกครองและระบบการศึกษาที่พระองค์ทรงจัดตั้งขึ้นใหม่

ด้านพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ชาวอุบลราชธานี ก็ถือเป็นกำลังสำคัญในการกระจายอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือผ่านคำเทศนาและการจัดการศึกษาผ่านคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายอย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงรัชกาลที่ 6 ก็มีการสืบทอดนโยบายเกี่ยวกับพุทธศาสนาเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรากฐานเอาไว้ จะเห็นได้จากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้เป็นสมเด็จพระสังฆราชสมัยนั้น ได้ทรงเทศนาให้คนยึดมั่นในชาติอยู่เสมอ เช่นว่า “ท่านทั้งหลายควรถือชาติเป็นสำคัญ …ควรช่วยกันอุดหนุนชาติของตนไว้เพื่อความเป็นไทยสมชื่อ ไม่ควรรักชีวิตของตนยิ่งกว่ารักชาติ”

อีกทั้งพระบรมราโชบายในขณะนั้นก็ยังเน้นให้ประเทศสยามเป็นชาตินักรบ (กษัตริย์ แปลว่า นักรบ) ดังจะเห็นได้จากทรงประกาศเข้าร่วมสงครามโลก ครั้งที่ 1 แต่เพื่อให้การตัดสินพระทัยในครั้งนี้ได้รับการยอมรับและมีความชอบธรรมก็ทรงใช้หลักคิดจากพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในเรื่องมงคลวิเสสกถา ว่า

“สมเด็จพระมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้ามาทรงตัดพระราชไมตรีและประกาศทำสงครามกับกรุงเยอร์มนีและกรุงออสเตรียกับฮุงการีในนามของกรุงสยาม ทรงพร่าสันติภาพเสียก็เพื่อจะทรงอุปถัมภ์ธรรมในรวางมิตร เมื่อคำนึงถึงธรรมภาษิตว่า อังคํ ธนัญ์ ชีวิตัญ์จาปิ สัพ์พํ  อัป์เปว ชเห ธัม์มนุส์สรัน์โต ที่แปลว่า “เมื่อรลึกถึงธรรม ถึงคราวเข้า ทรัพย์อวยวะ แม้ชีวิตรก็ควรสละเสียทั้งนั้น” เปนอันห้ามรัฐประศาสนนัยโดยประการอื่น”

จากนั้นก็ทรงโปรดให้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเล่มแล้วแจกจ่ายออกไป

ในช่วงเดียวกันนั้น พระธรรมเทศนาที่สำคัญของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อย่าง อนุศาสนี ที่สายชล สัตยานุรักษ์ ศึกษาไว้และสรุปเนื้อหาสำคัญไว้ดังนี้ (เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ)

“…คำว่า “อนุศาสนี” หมายถึงคำสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งสอนที่ต้องยกขึ้นสอนกันซ้ำๆ ซากๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ…ทรงสอน “ข้าแผ่นดิน” หรือ ราษฎร ถึงสิ่งที่ควรกระทำและควรละเว้นในฐานะที่เป็นพลเมืองดีของชาติในระบอบทุนนิยม เช่น ไม่เป็นหัวไม้ทำร้ายร่างกายหรือทำลายชีวิตผู้อื่น ไม่ขโมยทรัพย์ของผู้อื่น ทำงานเพื่อเลี้ยงตนเอง ไม่เกาะผู้อื่นกินเช่นขอทาน ขยันทำงานเพื่อแสวงหาทรัพย์ รู้จักรักษาและจับจ่ายทรัพย์ เลี้ยงดูคู่สามีภรรยาและบุตรตลอดจนบิดามารดา เจือจานญาติมิตรผู้ขาดแคลนตลอดจนคนอนาถา ออกทรัพย์เสียอากรเป็นราชพลีสำหรับบำรุงแผ่นดิน ออกเงินหรือเรี่ยไรในการงานอันเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน เช่น ซื้อเรือรบ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ถนน สะพาน ทำนุบำรุงลูกให้มีร่างกายล่ำสันแข็งแรง โดยไม่เป็นโรคหรือพิการ หากเป็นผู้ชายจะได้รับราชการทหารแล้วออกมาเป็นพลเมืองผู้สามารถ หากเป็นผู้หญิงจะได้เป็นมารดาของบุตรที่แข็งแรง และเป็นชาวเมืองผู้สามารถเช่นเดียวกัน เคารพนับถือและซื่อสัตย์ในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินของตน โดยนับถือตลอดจนถึงราชสกุล…นับถือเจ้าหน้าที่ราชการผู้เป็นใหญ่เหนือตนขึ้นไปตามควรแก่ฐานะ”

ในบริบทนี้เอง พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สมณศักดิ์ขณะนั้นคือ พระเทพโมลี) ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ “ธรรมวิจยานุศาสน์” แจกในงานศพของ ม.ร.ว.ดวงใจ ปราโมช ณ อยุธยา ในพระบรมวงศ์เธอกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ซึ่งโดยรูปแบบและเนื้อหาหนังสือก็เป็นลักษณะกระทู้ธรรมหรือธรรมเทศนา

แต่หนังสือเล่มนั้น กลับทำให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนสังคมสงฆ์และบ้านเมืองขึ้น ซึ่งก็คงจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่มาก มีคำประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรื่อง “ประกาศคืนยศพระเทพโมลี วัดบรมนิวาส” เนื้อหาว่า

“ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระเทพโมลี วัดบรมนิวาส รจนาหนังสือให้ชื่อว่า ธรรมวิจยานุสาศ พิมพ์แจกในงานศพหม่อมราชวงษ์ดวงใจ แสดงโวหารอันไม่ชอบด้วยทำนองคลองธรรม เอื้อมเข้ามาถึงการแผ่นดิน เปนเหตุจะชักนำให้ผู้ที่มีวิจารณญาณยังอ่อนอยู่พลอยหันเหไปตาม ทรงพระราชดำริห์จะให้เปนตัวอย่างมิให้มีผู้กำเริบฟุ้งสร้านเช่นนี้ต่อไป จึงได้คืนยศพระเทพโมลีออกจากตำแหน่งพระราชาคณะ มอบตัวพระจันถวายสมเด็จพระมหาสมณะ เพื่อทรงทรมานกว่าจะเข็ดหลาบ”

หนังสือชีวประวัติที่ผู้อื่นเขียนเกี่ยวกับท่านในยุคหลัง ๆ ก็ยังคงกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ แต่ส่วนใหญ่ก็เพียงแต่กล่าวถึงเหตุการณ์ ไม่พูดถึงรายละเอียดในเรื่องนี้เท่าใดนัก

ดังนั้นลองไปอ่าน อัตตโนประวัติ ที่ท่านเขียนไว้เอง

“วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนตำแหน่งเป็นพระเทพโมลี ครั้งถึงพ.ศ. ๒๔๕๘ พรรษาที่ ๓๙ ปลายปี ถูกถอดยศออกจากตำแหน่งพระเทพโมลี... ในสมัยนั้นเพิ่งเกิดมหาสงครามในประเทศยุโรปใหม่ๆ อัตตโนได้คิดแต่งหนังสือแทนจดหมายเหตุ ชี้โทษแห่งทุวิชชาขึ้นเรื่องหนึ่ง ให้ชื่อว่า “ธรรมวิจยานุศาสน์” …แต่หนังสือนั้น ขัดข้องต่อรัฐประศาสโนบายของประเทศ เป็นเหตุไม่ต้องด้วยพระราชนิยม เมื่อทราบจึงมีพระบรมราชโองการ รับสั่งให้ถอดจากสมณศักดิ์ ให้นำตัวไปกักไว้ที่วัดบวรวิหาร ครั้นเมื่อพรรษาที่ ๔๐ ตรงกับวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงพระราชทานอภัยให้อัตตโนพ้นจากโทษ แล้วทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานตำแหน่งสมณศักดิ์ ให้เป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี มีตำแหน่งเสมอกับพระราชาคณะชั้นเทพ

ที่ผู้เขียนบทความทำตัวเอนไว้นั้น เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า เมื่อพระผู้ใหญ่ท่านนี้พ้นโทษแล้ว และได้สมณศักดิ์สูงขึ้น ๑ ขั้น แต่สถานะและอำนาจนั้นกลับต่ำกว่าเป็นจริง ๑ ขั้น นี่หมายความว่าหลังพ้นโทษแล้วท่านไม่ได้มีอำนาจตามตำแหน่งนั่นเอง

“ธรรมวิจยานุศาสน์” มีอะไรที่ขัดต่อรัฐประศาสโนบายของประเทศ จนเป็นเหตุให้ไม่ต้องด้วยพระราชนิยมกระนั้นหรือ ?

เมื่อได้อ่านดูแล้ว ก็ได้เห็นถึงความขัดแย้งกับอนุศาสนีและมงคลวิเสสกถาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ใช้เป็นคำอ้างอิงให้แก่หลักการชาตินักรบและสร้างความชอบธรรมในการเข้าร่วมสงครามนั่นเอง ซึ่งพระอุบาลีคุณูปมาจารย์วิเคราะห์การสงคราม การซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์นั้นว่าเป็น ทุวิชชา นั่นก็คือ วิชาชั่ว !

ลองมาดูเนื้อหาส่วนนี้ของ ธรรมวิจยานุศาสน์ กันว่าเป็นอย่างไร

“สุวิชาโน ภวํ โหติ ทุวิชาโน ปราภโว ธมฺมกาโม ภวํ โหติ ธมฺมเทสฺสี ปราภโว ฯ บัดนี้ จัดแสดงพระธรรมเทศนา ในพุทธภาษิตคาถาซึ่งมีมาในปราภวสูตร …สมเด็จพระผู้มีพระภาคบรมศาสดาผู้พิเศษในพิธีเทศนา จึงได้แสดงเป็นพุทธนิพนธคาถาในปราภวสูตรในคาถาที่แรกดังได้ยกอุเทศขึ้นในเบื้องต้นว่า “สุวิชาโน ภวํ โหติ” ความรู้ดี ย่อมเป็นเข็มทิศชี้ทางให้เกิดความเจริญ “ทุวิชาโน ปราภโว” ความรู้ชั่ว ย่อมเป็นเข็มทิศชี้ทางให้เกิดความเสื่อมทราม “ธมฺมกาโม ภวํ โหติ” ความรักใคร่ชอบใจในธรรม ย่อมเป็นเข็มทิศชี้ทางให้เกิดความเจริญ “ธมฺมเทสฺสี ปราภโว” ความเกลียดชังธรรมย่อมเป็นเข็มทิศชี้ทางให้เกิดความเสื่อมทราม ดังนี้”

“…ในข้อที่ ๒ ซึ่งว่า ทุวิชาโน ปราภโว วิชาชั่วเป็นสะพานแห่งความเสื่อมทราม ดังนี้นั้น อธิบายว่าวิชาใดที่สัมปยุตด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นมูล คือเมื่อเล่าเรียนศึกษา ก็เพ่งแต่จะให้ร้ายแก่ผู้อื่นเอาเปรียบเอาดีแต่ส่วนตัว ดังวิชาฉ้อโกง ฉกลักปล้นสะดมเขา คือเพ่งความเสียหายให้แก่เขา เอาความได้ความดีไว้ส่วนตัว วิชาชั่วเหล่านั้น บางสิ่งก็เป็นของจำเป็นจะต้องเล่าเรียน บางสิ่งก็ไม่จำเป็นจะต้องเล่าเรียน ดังวิชาทหาร วิชาฝึกหัดยิงปืนให้แม่นยำเป็นต้น ก็ชื่อว่า ทุวิชา เป็นวิชาชั่วโดยแท้ เพราะขาดเมตตา กรุณา แก่ฝ่ายหนึ่ง วิชาทำปืน ทำดาบ สรรพอาวุธยุทธภัณฑ์ทั้งปวง ดังเรือรบต่าง ๆ เรือเหาะ เรือใต้น้ำ ลูกแตกลูกตอร์ปิโด เป็นต้น ต้องนับว่าเป็นวิชาชั่ว เป็นสะพานแห่งความเสื่อมทราม ความฉิบหายโดยแท้ แต่ว่าวิชาเหล่านี้ถึงรู้ว่าเป็นวิชาชั่วก็จำเป็นจะต้องเรียนให้รู้ให้ฉลาด แต่พึงเข้าใจว่าเป็นวิชาชั่ว เป็นสะพานแห่งความเสื่อมทราม มีตัวอย่างดังจะชี้ให้เห็นที่เกิดมหาสงครามขึ้นในประเทศยุโรปในพุทธศก ๒๔๕๗ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมมาปรากฏในสมัยนี้พากันได้รับความพินาศฉิบหายใหญ่ คือมนุษย์ด้วยกัน ควรรักกัน ควรป้องกันรักษาซึ่งกันและกัน จึงจะชอบ จึงจะนับว่าเป็นชาติศิวิไลฯ

“ความจริงเหตุที่จะบังเกิดขึ้น ตามข่าวก็ไม่ใหญ่โตสักปานใด ได้ความว่า คนชาติเซอร์เวีย ได้ปลงพระชนม์ชีพรัชทายาท ทั้งพระราชา ของประเทศออสเตรีย ในเวลาเมื่อเสด็จประพาสประเทศเซอร์เวีย โดยวิสัยของพวกอันธพาลเป็นเหตุ สองประเทศจึงได้เป็นปากเป็นเสียงกันขึ้น แลหารือไปยังมหาประเทศให้ช่วยระงับเหตุ ข้างฝ่ายรัสเซียก็เข้ากับเซอร์เวีย ข้างฝ่ายเยอรมันก็เข้ากับออสเตรีย ข้างฝ่ายอังกฤษ ฝรั่งเศส เข้าฝ่ายรัสเซีย เมื่อถืออำนาจเข้าหากันทั้ง ๒ ฝ่ายเช่นนั้น ต่างฝ่ายก็มิได้ตั้งใจจะระงับเหตุ มุ่งแต่จะวางอำนาจ จนถึงพร้อมกันประกาศสงครามเข้าสัมประหารชิงชัยซึ่งกันและกัน ลุกลามไปทั่วทั้งโลก ล้มตายกันด้วยอาวุธศาสตราก็นับไม่ถ้วน ล้มตายเสียด้วยอดอาหารหรือเกิดโรคต่าง ๆ เพราะกลิ่นไอโสโครกก็นับไม่ถ้วน มิได้จะตายแต่พลรบอย่างเดียว คนแก่และผู้หญิงและเด็กที่อพยพยกครอบครัวหนีข้าศึกไปไม่มีอาหารจะเลี้ยงกัน ตายเสียก็มากนับไม่ถ้วน คนตายระหว่างมหาสงครามคราวนี้ ไม่ต้องนับด้วยล้าน เห็นจะต้องนับด้วยโกฏิ น่าสลดสังเวช จะต้องพลัดพรากจากกันในระหว่างสามีภรรยาบุตรนัดดา จะต้องเป็นหม้ายเป็นกำพร้า ไม่มีผู้พาทำมาหากิน จะต้องยากจนต่อไปอีกจะพรรณนาไม่มีที่สิ้นสุด ชักมาชี้แจงเพียงเล็กน้อยเพื่อจะให้เห็นอำนาจของวิชาชั่ว ย่อมให้โทษร้ายแรงถึงอย่างนี้

“คือต่างฝ่ายต่างก็ถือว่าตนเป็นเจ้าของวิชา เรือเหาะข้าก็ทำได้ เรือดำน้ำข้าก็ทำได้ เรือรบข้าก็มาก ลูกแตกลูกระเบิดข้าก็ทำได้ ค่าที่ต่างฝ่ายต่างอวดวิชาของตน จึงมีความกล้าหาญเข้าสู้รบชิงชัยกันและกัน ปราศจากเมตตาปรานีแลเห็นกันเป็นเนื้อเป็นปลาไปหมดทีเดียว คือวิชาชั่วเป็นเหตุแห่งความฉิบหาย จะมากหรือน้อยให้ดูกำหนดตามกำลังของวิชา ดังวิชาทำหอกทำดาบแหลนหลาวเป็นต้น ประโยคที่ทำก็ไม่ใหญ่โตนัก ผลแห่งความฉิบหายที่ได้จากอาวุธศาสตราเหล่านั้น ก็ไม่มากสักปานใด ถ้าวิชามีประโยคใหญ่ดังวิชาทำลูกแตกลูกระเบิดเป็นต้น ผลแห่งความฉิบหายที่จะได้ ก็เป็นของใหญ่ดังปรากฏอยู่ในสมัยทุกวันนี้ พึงเข้าใจว่า วิชาที่สัมปยุตด้วยโลภะ โทสะ โมหะ อิจฉา พยาบาท ชื่อว่า “ทุวิชา” สมด้วยพุทธภาษิตว่า “ทุวิชาโน ปราภโว” วิชาชั่วเป็นสะพานแห่งความเสื่อม ความฉิบหายดังนี้ ฯ”

เราไม่อาจรู้เบื้องหลังความคิดของท่านพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) ในการต่อต้านอำนาจรัฐด้วยการอธิบายคำสอนในพุทธศาสนาแตกต่างจากกระแสหลักของพุทธศาสนาไทยสยาม ซึ่งนำโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จนต้องถูกถอดยศและกักบริเวณโดยไม่ได้อยู่ในวัดประจำของท่าน แต่การวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองระดับโลกก็เกิดมีให้เห็นโดยพระภิกษุและถือว่านี่เป็นการนำหลักพุทธศาสนามารับใช้แนวคิดสันตินิยมในมิติการเมืองระดับโลกเลยทีเดียว

และภายหลังเหตุการณ์นั้น ก็เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ที่ทำให้ท่านมุ่งมาทางวิปัสสนาธุระ และกลายเป็นที่ยอมรับนับถือให้เป็นครูบาใหญ่ของพระวิปัสสนาหรือพระป่าสายอีสานมาตั้งแต่นั้น

ปล. จริงๆ แล้วการที่พระป่าสายอีสานถือท่านเป็นหลักพิงเป็นครูบาใหญ่นั้น ก็มีนัยยะน่าสนใจ ซึ่งแง่มุมประวัติศาสตร์อำนาจและความผันผวนของพระอีสานยุคหนึ่ง เมื่อบ้านเมืองเข้าใกล้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เข้าไป ซึ่งน่าเขียนถึงมาก เพียงแต่ผมจะไม่เขียนที่นี่อีกแล้ว ก็บอกลากันตรงนี้นะครับ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

image_pdfimage_print