นาข้าวชาวบ้านปากบังถูกน้ำท่วมเสียหาย
โดยเพชรรัตน์ พิลารัตน์
นครพนม – นายเวท วงค์วิวงค์ เกษตรกรชาวบ้านบ้านปากบัง อ.นาแก จ.นครพนม เปิดเผยว่า นาข้าว 23 ไร่ของตนถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด สูญเงินลงทุนไปกว่า 3 หมื่นบาท ด้านนางบัวพา ธ.น.ก่ำ กังวล ไม่มีเงินมาใช้หนี้ค่าปุ๋ยที่ลงทุนทำนาไปแล้ว โดยต้องเปลี่ยนจากคนปลูกข้าวขายมาซื้อข้าวกิน
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดลงพื้นที่บ้านปากบัง อ.นาแก จ.นครพนม ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมหลังจากฝนตกลงมาต่อเนื่องหลายวัน ประกอบลำน้ำก่ำซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้เอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่การเกษตรและหมู่บ้าน ทำให้นาข้าวนาปีทั้งข้าวเหนียวซึ่งส่วนมากเป็นข้าวพันธุ์ กข6 และข้าวจ้าวหอมมะลิได้รับความเสียหาย

นาข้าวแช่อยู่ใต้น้ำมาเป็นเวลา 15 วันจนยืนต้นตาย
การเดินทางเข้าสู่บ้านปากบังมีความยากลำบากเนื่องจากถนนชำรุดจากน้ำท่วม เมื่อเข้าไปถึงหมู่บ้าน พบว่านาข้าวได้กลายสภาพเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีนาข้าวเพียงบางบริเวณเท่านั้นที่น้ำลดลงแล้ว แต่ต้นข้าวจากที่เติบโตตามปกติมีใบสีเขียวเมื่อ 15 วันที่แล้ว ขณะนี้ลำต้นได้เน่าเป็นสีเหลืองช้ำและไม่สามารถเจริญเติบโตออกรวงเป็นเมล็ดข้าวได้อีกต่อไป
บ้านปากบังเป็นแหล่งผลิตข้าวของอ.นาแก จ.นครพนม ประชาชนที่นี่มีอาชีพหลักคือทำนา ชาวนาส่วนมากไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนข้าว เพราะเมื่อทำนาได้ในแต่ละปี จะแบ่งข้าวออกเป็น 3 ส่วน หนึ่งส่วนเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดทั้งปีและเป็นเมล็ดพันธุ์ในปีถัดไป ส่วนอีกสองส่วนที่เหลือจะนำไปจำหน่ายให้แก่โรงสีเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและใช้หนี้จากการลงทุนทำนาของฤดูกาลที่ผ่านมา หากมีเงินเหลือจากใช้จ่ายก็จะเก็บออมเพื่อใช้เป็นต้นทุนในการทำนาปีถัดไป

นาข้าวที่บ้านปากบัง อ.นาแก เน่าเสียจากน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนมเกิดน้ำท่วมใน 11 อำเภอจาก ทั้งหมด 12 อำเภอ โดยจ.นครพนมสามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้วันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ด้วยข้อจำกัดติดขัดในเรื่องของประตูน้ำ ซึ่งมีอยู่หลากหลายประตู ขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ทำให้น้ำไหลได้ช้า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า น้ำที่ระบายไหลมาทางลำน้ำก่ำส่งผลกระทบต่ออ.วังยางและอ.นาแกมากที่สุด
ขณะที่เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานในวันเดียวกันว่า พื้นที่ อ.นาแก จ.นครพนม ซึ่งติดกับลำน้ำก่ำที่รองรับน้ำที่ไหลมาจากหนองหาร จ.สกลนคร ก่อนลงสู่แม่น้ำโขง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

นายเวท วงค์วิวงค์ อายุ 53 ปี ชาวบ้านปากบัง หมู่ที่ 2 ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ชาวนาผู้ที่เดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม
นายเวท วงค์วิวงค์ อายุ 53 ปี ชาวบ้านปากบัง หมู่ที่ 2 ต.พิมาน เล่าว่า มีอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก มีที่นา 23 ไร่ติดคลองชลประทาน ทำนาได้เพียงปีละครั้ง เป็นนาหว่าน 17 ไร่ และนาดำอีก 6 ไร่ มีต้นทุนในการทำนา 30,000 บาท ซึ่งนำมาจากรายได้จากการขายข้าวปีที่แล้ว แต่ขณะนี้น้ำท่วมข้าวตายหมด
นายเวทกล่าวอีกว่า แต่ละปีจะขายข้าวได้ประมาณ 30,000-50,000 บาท ถ้าปีไหนฟ้าฝนดีได้ผลผลิตเยอะก็จะมีรายได้ถึง 70,000 บาท เงินจำนวนนี้เอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและลงทุนทำนาในปีถัดไป ส่วนน้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปีแต่ไม่ได้หนักเท่าปีนี้ ปีนี้ท่วมหนักมากที่สุดในรอบ 20 ปี โดยน้ำมาเร็วมาก ส่วนการขอรับความช่วยเหลือได้ลงทะเบียนผู้ประสบภัยน้ำท่วมของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเอาไว้แล้ว
“ตอนแรกก็รู้สึกเครียดมาก แต่จะทำยังไงได้ สุดท้ายเราก็ต้องปรับตัว ยอมรับกับความจริงที่เกิดขึ้น ปีนี้คงต้องขอให้ลูกที่ไปทำงานส่งเงินมาให้ซื้อข้าวกิน” นายเวทกล่าว

นางบัวพา ธ.น.ก่ำ อายุ 60 ปี ชาวบ้านปากบัง หมู่ที่ 2 ต.พิมาน อ.นาแก
จ.นครพนม ไม่เห็นน้ำท่วมนาหนักเท่าปีนี้
นางบัวพา ธ.น.ก่ำ อายุ 60 ปี อาศัยอยู่กับสามี มีที่นา 25 ไร่ ติดกับลำน้ำก่ำ เล่าว่า ทำนาก็ทำได้รอบเดียวเฉพาะนาปีเท่านั้น มีผลผลิตแต่ละปีประมาณ 200 กระสอบ แบ่งไว้กิน 50 กระสอบ นอกนั้นนำไปขาย เงินที่ได้จะนำไปใช้หนี้บ้างและใช้จ่ายในชีวิตประจำวันบ้าง ปีนี้ลงทุนจ้างไถนา และซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ จำนวนประมาณ 20,000 บาท เมื่อข้าวเริ่มมีใบเขียวก็ได้ซื้อปุ๋ยอีก 3 กระสอบ ราคากระสอบ 1,680 บาท และไปยืมปุ๋ยของหมู่บ้านอีก 6 กระสอบมาใช้ ราคา 3,360 บาท รวมเป็นเงินค่าปุ๋ย 5,040 บาท หลังเก็บเกี่ยวขายข้าวได้ค่อยนำเงินไปจ่ายหนี้
“มาปีนี้นาของยายน้ำท่วมหมด ไม่เหลือสักต้น ตั้งแต่เกิดมา 60 ปี พึ่งเคยเห็นน้ำท่วมหนักขนาดนี้ นาข้าวเสียหายมาก แต่ก่อนก็ท่วมนะ แต่ข้าวไม่ตาย เพราะน้ำไม่ได้ท่วมสูงและขังหลายวัน แต่มาปีนี้ท่วมมาสิบกว่าวันแล้ว ยายอยู่กับตา 2 คน ยายก็ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาซื้อข้าวและใช้หนี้ค่าปุ๋ย เมื่อก่อนเป็นคนขายข้าว แต่มาปีนี้กลับต้องเป็นคนมาซื้อข้าวเอง”
หมายเหตุ เพชรรัตน์ พิลารัตน์ ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560