โดยจิรสุดา สายโสม

อุบลราชธานี – ชาวนาบ้านท่าโพธิ์ศรี อ.เดชอุดม ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำเป็นเวลา 2-3 ปีมาแล้ว ทำให้ทั้งขาดทุนและมีหนี้สิน พวกเขาจึงอยากให้รัฐบาลชุดปัจจุบันทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นเท่ากับรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ชาวนาตำบลท่าโพธิ์ศรี กำลังถอนต้นกล้าข้าวเพื่อนำไปปักดำในที่นา

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คือช่วงเวลาย่างเข้าสู่ฤดูทำนาของชาวบ้านท่าโพธิ์ศรี ต.ท่าโพธิ์ศรี อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เมื่อมองไปตามทุ่งนาจะพบเห็นชาวนากำลังถกถอนต้นกล้า (หลกกล้า) เพื่อเตรียมนำไปปักดำ ซึ่งเป็นวิธีปลูกข้าวดั้งเดิมในอดีต ขณะเดียวกันที่นาบางแปลงก็มีการใช้วิธีการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวแบบสมัยใหม่

ถึงแม้จะใช้รถไถนาเดินตามไถนาแทนควาย แต่ชาวตำบลท่าโพธิ์ศรีผู้นี้ยังคงทำนาด้วยดั้งเดิมด้วยการปักดำ

วิธีการดำนามีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เริ่มจากการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในแปลงนาที่เตรียมไว้ ผ่านไปเดือนเศษเมื่อเมล็ดพันธุ์เติบโตเป็นต้นกล้า ชาวนาก็จะถอนต้นกล้าไปปักดำในที่นาที่เป็นดินโคลนที่ไถพรวนดินแล้ว ในอดีต ชาวนาบ้านท่าโพธิ์ศรีใช้ควายไถนา แต่หลังจากเทคโนโลยีเดินทางเข้ามาสู่หมู่บ้าน ชาวนาที่นี่จึงเปลี่ยนจากไถนาด้วยควายที่กินหญ้ากินน้ำมาเป็นไถนาด้วยควายเหล็ก (รถไถ) ที่กินน้ำมัน

เรื่องราวชีวิตของชาวนาบ้านท่าโพธิ์จะเป็นอย่างไร เราขอนำท่านผู้ไปติดตามพร้อมๆ กัน

น.ส.อวน นามลี อายุ 59 ปี (ซ้ายมือ) ลูกสาวคนโตของนางสาวเต็ม นามลี อายุ 78 ปี (ขาวมือ)

เริ่มต้นที่เถียงนาหลังแรก เราพบน.ส.เต็ม นามลี แม่เฒ่าวัยเกือบ 80 ปีที่ยังดูแข็งแรง พูดจาฉะฉาน เธอนั่งอยู่กับน.ส. อวน นามลี ลูกสาวคนโตวัยเกือบ 60 ปี ทั้งสองคนเพิ่งทานข้าวเช้าเสร็จ น.ส.อวน เล่าว่า ตนทำนากับพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก มีที่นา 12 ไร่ ครอบครัวมีทั้งหมด 9 คน สมัยก่อนเคยใช้ควายไถนาและใช้วิธีการดำนา โดยทำนาไว้เพื่ออุปโภคภายในครัวเรือน ไม่ได้นำไปขาย หลังจากพี่น้องเติบโตมีครอบครัวของตัวเอง แม่จึงแบ่งที่นาให้ลูกทุกคน ทั้งนี้ ที่ดินทำนาที่ตนได้รับ ตนให้น้องสาวทำนาและรับค่าตอบแทนเป็นผลผลิตข้าว โดยในปีที่ผ่านมา น้องสาวคนสุดท้องทำนาบนที่นาผืนดังกล่าว

น.ส.ธัญญารัตน์ นามลี น้องสาวคนสุดท้องของน.ส.อวนเล่าว่า เธอได้ทำนาปีนี้เป็นปีที่สอง ก่อนนั้นเธอไปเป็นแรงงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพเริ่มสูงขึ้น เงินค่าจ้างจากขายแรงงานในเมืองใหญ่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เธอจึงกลับมายังบ้านเกิดเพื่อมาทำนา การทำนาของเธอใช้วิธีการปักดำ มีการใช้ปุ๋ยเคมีแต่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เก็บข้าวไว้กินเองและแบ่งข้าวให้ค่าที่นาของพี่สาว

“ข้าวจะมีราคาถูกหรือราคาแพงก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะไม่ได้ทำเพื่อขาย อยู่กินแบบพอเพียงไม่มีหนี้สิน หาของจากธรรมชาติตามฤดูกาลกิน หากมีเยอะก็นำไปขาย เช่น หาเห็ดป่า หน่อไม้ ไข่มดแดง อาหารตามฤดูกาล” น.ส.ธัญญารัตน์กล่าว

เฮ็ดแบบนี้เขาเอิ้นว่า เฮ็ดหลี่ลัดปลา ยามลงนาฝนตกดีมีน้ำไหลปลากะสิตื่นน้ำมาลงหลี่ เฮดมาแต่สมัยโบราณ สุมื้อนี้บ่ค่อยมีแล้ว น.ส.อวน นามลี ชาวนาผู้ซึ่งไม่ได้ทำนาแล้ว เล่าให้ฟัง

เรื่องราวข้างต้นคือตัวอย่างของชาวนาที่ไม่ได้ทำนาเพื่อขายผลผลิต พวกเขาจึงไม่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่ตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ทว่า ปัจจุบันมีชาวนาไม่กี่รายที่ใช้ชีวิตแบบนี้

ไม่ไกลจากที่ดินทำนาของน.ส.อวน เป็นที่นาของน้องสาวคนกลาง ที่นาผืนนี้เต็มไปด้วยน้ำฝนพร้อมหว่านไถ ชายหญิงสองคนที่อยู่กลางทุ่งนาผืนนั้นคือสองสามีภรรยากำลังเตรียมพื้นที่ทำนาปักดำ ต้นกล้าที่ถักถอนมาแต่วันก่อนถูกตั้งเรียงรายไว้บนคันนา (คันแทนา) สามีทำหน้าที่ไถนา (คาดนา) ไว้รอการปักดำในอีกแปลงหนึ่ง ขณะที่ภรรยากำลังทำหน้าที่ปักดำในอีกแปลงที่เตรียมเรียบร้อยแล้ว

น.ส.พุทธ นามลี กำลังก้มดำนา ท่ามกลางบรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน

น.ส.พุทธ นามลี อายุ 44 ปี มีที่นา 5 ไร่ และปลูกข้าว 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวจ้าวหอมมะลิกับข้าวเหนียวสุพรรณ ครอบครัวของเธอเลือกทำนาแบบเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมีผสมกัน โดยใช้ปุ๋ยคอกหว่านใส่ที่นาก่อนไถ แล้วใช้รถไถนาเดินตามไถพรวนดินเพื่อปักดำกล้า จากนั้น เธอใช้ปุ๋ยหมักฉีดบำรุงเมื่อข้าวเริ่มตั้งท้อง

การทำนาปลูกข้าวของน.ส.พุทธ เธอลงทุนซื้อปุ๋ยหมัก 5 กระสอบ ราคากระสอบละ 900 บาท น้ำมันเชื้อเพลิง 300 บาทเพื่อไว้ใช้เติมรถไถนา คิดรวมเป็นต้นทุนราว 4,800 บาท ผลผลิตที่ได้ในปีที่ผ่านมาเป็นข้าวเหนียว 80 กระสอบโดยเก็บเอาไว้กินเองทั้งหมด และข้าวจ้าวอีก 40 กระสอบนั้น น.ส.พุทธเก็บไว้กินเอง 5 กระสอบและขาย 35 กระสอบ โดยขายราคาที่กิโลกรัมละ 6 บาท มีรายได้ 14,000 บาท

“เมื่อยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (น.ส.ยิงลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ขายข้าวเปลือกหอมมะลิได้กิโลกรัมละ 10 บาท ปีนั้นขายข้าว 35 กระสอบ ได้เงิน 30,000 บาท” น.ส.พุทธกล่าวถึงอดีตเมื่อตอนข้าวยังมีราคา

ทั้งนี้ เกษตรอินทรีย์ผู้นี้ยังกล่าวอีกว่า ต้นทุนการทำนาในแต่ละปีไม่แตกต่างกัน เพราะเธอทำนาแบบธรรมชาติ จึงไม่ได้ลงทุนอะไรมาก มีเพียงแค่ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงกับปุ๋ยหมัก จึงทำให้เธอยังพอมีกำไรจากการปลูกข้าวอยู่บ้าง แต่เธอก็ยังคงต้องการให้ข้าวมีราคาสูงกว่านี้

น.ส.พุทธ นามลี อยากให้รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายรับซื้อข้าวในราคาเดียวกับราคาข้าวยุครัฐบาลก่อนที่มีโครงการจำนำข้าวและโครงการประกันราคาข้าว

นอกจากการทำนาแบบปักดำแล้ว ตำบลท่าโพธิ์ศรียังมีชาวนาที่ทำนาหว่าน หนึ่งในนั้นคือ นายบุญมี มั่นหมาย ชาวนาที่หว่านนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาจึงใช้เวลาที่เหลือคอยดูแลนาข้าวของตนเอง

นายบุญมี มั่นหมาย หวังนำเงินจากการขายข้าวไปจ่ายหนี้เงินต้นที่กู้มา “แต่กะบ่ฮุ้ว่ามื้อได๋ราคาข้าวสิแพงพอที่สิมีเงินไปใช้หนี้ธ.ก.ส.”

นายบุญมี มั่นหมาย อายุ 64 ปี มีที่นา 57 ไร่ เขาปลูกข้าวหอมมะลิ 44 ไร่ และปลูกข้าวเหนียว 13 ไร่ นายบุญมีบอกว่า จากที่เคยขายข้าวได้เงินหลักแสน แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ขายข้าวราคาถูก ได้เงินแค่หลักหมื่น ทำให้ต้องกู้เงินระยะยาวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มาใช้จ่ายและมีหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยรวมกว่าสองแสนบาท โดยปีที่ผ่านมา เขาชำระหนี้คืนได้แค่จำนวนดอกเบี้ยของเงินต้นเท่านั้น

นายบุญมีเล่าอีกว่า แม้ราคาข้าวจะตกต่ำ แต่ต้นทุนในการทำนายังคงสูง เมื่อปีที่ผ่านมา ต้นทุนการทำนาหว่านรวมแล้วเป็นเงินราว 110,000 บาท ได้แก่ ค่าไถ 20,000 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว 20,000 บาท ค่าปุ๋ย 40,000 บาท และค่าเก็บเกี่ยวอีก 30,000 บาท แต่ทว่า เขากลับขายข้าวได้เงินแค่ประมาณ 80,000 บาท ขาดทุนไป 30,000 บาท

ชาวนาวัย 64 ปีผู้นี้จึงอยากให้รัฐบาลช่วยพยุงราคาข้าวให้สูงขึ้นและปรับราคาปุ๋ยลดลงเพื่อต้นทุนการทำนาจะได้ลดลงบ้าง เหมือนนโยบายจำนำข้าวและประกันราคาข้าวของรัฐบาลชุดก่อนที่เคยทำมา

“แม้ว่าข้าวราคาถูก ก็ยังคงทำนา เพราะที่นาไม่เหมาะจะทำอย่างอื่น แต่มีเพียงที่บางส่วนที่สามารถทำไร่มันสำปะหลังได้หลังจากที่เสร็จฤดูกาลทำนา แต่ราคามันสำปะหลังก็ตกต่ำเช่นเดียวกันกับราคาข้าว” นายบุญมีกล่าว

นายบุญมี ประทุมทอง ชาวนาตำบลท่าโพธิ์ศรี กำลังเก็บต้นกล้าไปดำนา

ต่อมา เราได้เดินทางไปพบกับนายบุญมี ประทุมทอง ชาวนาเจ้าของที่ดินที่อยู่ไม่ไกลกันนัก นายบุญมีกำลังเก็บรวยรวมต้นกล้าที่โตพร้อมนำไปปักดำ ปีนี้เขาปลูกข้าวจ้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวในที่นา 30 ไร่ ด้วยการปักดำและการทำนาหว่าน เขากล่าวว่า ส่วนตัวตนนั้นอยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตรทุกชนิดให้สูงกว่านี้ เพื่อให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้บ้าง

ภายใต้นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อน นายบุญมีมีรายได้จากการขายข้าวปีเฉลี่ยละประมาณ 90,000 – 100,000 บาท แต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา รายได้จากการทำนาลดลงเหลือเพียง 50,000 บาท

รายได้จากการขายข้าวลดลงกว่าครึ่งหนึ่งแต่ต้นทุนไม่ได้ลดลงตามไปด้วย ทำให้รายได้จากการขายข้าวไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน นายบุญมีจำต้องกู้ยืมเงินจากธ.ก.ส. แต่เมื่อถึงนัดชำระหนี้ เขาก็ไม่มีเงินไปคืน จึงได้ไปขอยืมเงินจากญาติพี่น้องเพื่อไปชำระ แล้วกู้ยืมเงินมาอีกครั้ง หลังจากที่กู้ยืมเงินจากธ.ก.ส.เขาได้นำเงินไปชำระคืนญาติพี่น้องที่ให้หยิบยืม ซึ่งวิธีการหมุนเวียนหนี้เช่นนี้เกิดขึ้นมาเป็นหลายปีนับตั้งแต่ราคาข้าวตกต่ำ

“หากจะให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น รัฐบาลก็ต้องมีนโยบายเข้ามาช่วยเหลือชาวนาด้วย ไม่ใช่จะมาบอกให้ชาวนาเลิกปลูกข้าว” บุญมีกล่าว

ทั้งนี้ ที่ตำบลท่าโพธิ์ศรีแห่งนี้ยังมีลานรับซื้อข้าวอยู่ในพื้นที่ ซึ่งชาวนานิยมนำข้าวไปขาย นั่นคือ ลานรับซื้อข้าวศรีโกศล

ลานรับซื้อข้าวศรีโกศล ต.ท่าโพธิ์ศรี อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

ลานรับซื้อข้าวศรีโกศลรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรทั้งข้าวและมันสำปะหลัง นางสาวนิสา เดชะคำภู เจ้าของลานรับซื้อข้าว กล่าวว่า ตนรับซื้อข้าวจากชาวนาโดยมีโรงสีเป็นคนตั้งราคารับซื้อ โดยรับซื้อข้าวปีละหลายร้อยตัน ขณะนี้ มีข้าวอยู่ในสต็อกประมาณ 20 ตัน และรับซื้อข้าวที่เก็บเกี่ยวตามฤดูกาล ปี 2559 ได้แก่ ข้าวจ้าวหอมมะลิราคากิโลกรัมละ 10 บาท ข้าวเหนียวกข.กิโลกรัมละ 8 บาท ข้าวเหนียวอุบลฯและข้าวเหนียวพันธุ์อื่นๆ กิโลกรัมละ 6 บาท

“สองสามปีที่ผ่านมา ราคาข้าวตกต่ำมาก และรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่มาดูแลให้สูงขึ้น ต่างจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาข้าวให้สูงขึ้นได้” เจ้าของลานรับซื้อข้าวกล่าว

ชาวตำบลท่าโพธิ์ศรียังมีความเชื่อและปฏิบัติตามพิธีกรรมดั้งเดิมเกี่ยวกับการทำนา ไม่ว่าจะเป็นพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษหรือ “ผีปู่ตา” และพิธีเลี้ยงผีตาแฮกที่เป็นผีประจำไร่นา แม้พิธีกรรมดั้งเดิมจะมีขึ้นเพื่อให้การเพาะปลูกราบรื่น แต่ข้อเท็จจริงปัจจุบันคือ แม้การเพาะปลูกจะไม่ติดขัด แต่ราคาผลผลิตกลับตกต่ำมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ปี 2557

ข้อเท็จจริงเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำคงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการขอร้องต่อสิ่งเคารพนับถือใดๆ นอกเสียจากอาศัยความสามารถของรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลถัดไปเท่านั้น

หมายเหตุ จิรสุดา สายโสม ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

 

 

image_pdfimage_print