ขอนแก่น – คณะนักเขียนให้กำลัง “ไผ่ ดาวดิน” ที่ศาลทหาร มทบ. 23 จ.ขอนแก่น ในการสืบพยานโจทก์คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ส่วนทนายความจำเลยเผย ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตร มทบ.23 ผู้จับกุมตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ไม่ได้รับแต่งตั้งจากหัวหน้าคสช.ให้ทำหน้าที่

หลังจากที่ศาลพิจารณาดคีแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ได้คุมตัวนายจตุภัทร์มาขึ้นรถเพื่อนำตัวไปคุมขังต่อที่ทัณฑสถานพิเศษขอนแก่น

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2560 เวลา 13.30 น. ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น นัดสืบพยานโจทก์ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จำเลยกระทำผิดในคดีชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากกรณี ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558

วันดังกล่าว นายจตุภัทร์และนักศึกษาม.ขอนแก่น กลุ่มดาวดิน อีก 6 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จับกุมขณะชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร แต่นักศึกษาทั้ง 7 คนให้การปฏิเสธทุกข้อหา และประกันตัวไปในชั้นสอบสวน ต่อมานักศึกษาทั้ง 7 คนแสดงการอารยะขัดขืนไม่เข้ารายงานตัวตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน

คดีนี้เงียบไปนานกว่า 1 ปี จนกระทั่งนายจตุภัทร์ถูกจับกุมในกรณีแจกใบปลิวรณรงค์ประชามติ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2559 ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2559 นายจตุภัทร์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ถูกเจ้าหน้าที่อายัดตัวตามหมายจับเพื่อส่งตัวไปยังศาลทหาร มทบ. 23 ซึ่งนำมาสู่การดำเนินคดีนายจตุภัทร์คนเดียวจนถึงปัจจุบันนี้

การนัดสืบพยานโจทก์นัดนี้ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตร มทบ.23 ได้ตอบคำถามค้านของทนายความจำเลย หลังร.อ.อภินันท์เบิกความไว้ในนัดก่อน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่การสืบพยานยังไม่แล้วเสร็จ

นายอานนท์ นำภา ทนายความนายจตุภัทร์ ให้สัมภาษณ์หลังการพิจารณาคดีว่า พยานเป็นนายทหารที่จับกุมนายจตุภัทร์ โดยอ้างอำนาจตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ถ้าร.อ.อภินันท์อ้างว่าใช้คำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จริงก็ควรได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยโดยตรงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แต่อัยการอ้างว่า ร.อ.อภินันท์ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่จากผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 23 แต่ก็ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจหรือหลักฐานการแต่งตั้งจริง

“ทหารค่อนข้างมีทัศนคติที่เป็นลบเกี่ยวกับคนที่ต่อต้านการรัฐประหาร หลายคำถามก็สื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ทหารเห็นด้วยกับการรัฐประหาร แล้วก็เห็นว่ากลุ่มที่คัดค้านรัฐประหารเป็นกลุ่มที่ทำลายประชาธิปไตย” นายอานนท์กล่าว

นายอานนท์หวังว่า ศาลจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ที่จับกุมมีอคติต่อนายจตุภัทร์และคนที่ออกมาคัดค้านรัฐประหารจึงได้จับกุมเพื่อดำเนินคดีกลั่นแกล้ง และเชื่อว่าศาลจะยกฟ้องในที่สุด

การนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.ย. 2560 เป็นการนัดสืบพยานโจทก์อีก 2 ปาก คือ พนักงานสอบสวน สภ.ขอนแก่น และผู้สื่อข่าวที่ไปถ่ายภาพในสถานที่เกิดเหตุ

ที่บริเวณรอบศาล มทบ. 23 มีเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนสิบกว่านายรักษาความสงบอย่างเข้มงวด พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ “เสธ.พีท” ผู้บังคับการกองร้อยรักษาความสงบ มทบ. 23 ห้ามผู้สื่อข่าวและประชาชนที่อยู่นอกอาคารศาลถ่ายรูปให้เห็นอาคารศาล โดยแจ้งว่าจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และมีกล้องวงจรปิด 4 ตัวจับภาพอยู่รอบนอก ถ้าใครถ่ายรูปกล้องวงจรปิดจะส่งภาพไปที่ห้องปฏิบัติการทันที แต่หลังจากนั้นเสธ.พีทได้เข้ามาพูดคุยกับผู้มาให้กำลังใจไผ่เพื่อให้เกิดความสนิทสนมกันซึ่งเสธ.พีทเล่าว่าตนเป็นนายทหารคนเดียวที่กล้าออกมาพูดคุยกับประชาชน ไม่เหมือนกับนายทหารคนอื่นที่อยู่ในที่ทำงาน นอกจากเสธ.พีทแล้วยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบอีกคนแฝงตัวมาหาข่าวกับผู้มาให้กำลังใจไผ่ด้วย

คณะนักเขียนได้มาเยี่ยมนายจตุภัทร์เช่นกัน นำโดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี เจ้าของนามปากกาสิงห์สนามหลวง ผู้ก่อตั้งรางวัล “ช่อการะเกด” และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ปี 2554, เวียง-วชิระ บัวสนธ์ บก.สำนักพิมพ์สามัญชน, รวี สิริอิสสระนันท์ หรือ “วาด รวี” นักเขียน, ทินกร หุตางกูร, อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร WAY, ภาณุ ตรัยเวช ผู้เขียนสารคดี “ในไวมาร์เยอรมัน ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง”, วีระพงศ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ ผู้เขียนนวนิยาย “อนุสรณ์สถาน”, วิทยากร โสวัตร นักเขียนเรื่องสั้นรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2552 เรื่อง “ฆาตกร” และนักเขียนคนอื่นๆ

สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี 2554 (ด้านซ้าย) และเวียง-วชิระ บัวสนธ์ บก.สำนักพิมพ์สามัญชน (ด้านหลัง)

สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวถึงเหตุผลที่มาเยี่ยมไผ่ว่า ตนคิดว่าไผ่เป็นสัญลักษณ์ของความถูกต้อง ตนเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่าไผ่คือเราทุกคน การที่ไผ่ต้องรับเคราะห์กรรมครั้งนี้เป็นเหมือนการบ่งบอกถึงความไม่ถูกต้องของกระบวนยุติธรรม ความไม่ถูกต้องของการเลือกปฏิบัติ

“สิงห์สนามหลวง” กล่าวอีกว่า ไผ่เป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นความสำคัญของการที่จะใช้ชีวิตในอนาคตที่มีความงดงามของการที่มีสังคมที่เป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม มีความยุติธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาวเมื่อ 40 ปีก่อนด้วย

สุชาติกล่าวว่า ตนมองไผ่และอีกหลายๆ คนที่เคลื่อนไหวแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่ใช่การต่อต้าน แต่มันเป็นการแสดงออกว่าไม่เอาวิถีชีวิตแบบการที่รัฐบาลได้อำนาจมาโดยมิชอบ ไผ่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะการทำรัฐประหารแต่ละครั้งมันฉุดดึงประเทศถอยหลังมากกว่าก้าวหน้า แล้วไผ่ก็ไปยืนต้านพายุ

เมื่อถามถึงบทบาทของนักคิด นักเขียน กวี ในสังคมไทยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยในปัจจุบัน สุชาติกล่าวว่า ถ้าพูดถึงนักคิด นักเขียน ปัญญาชน ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่กุหลาบ สายประดิษฐ์ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 กวี นักคิด นักเขียน เป็นเหมือนจิตสำนึกบางอย่างที่ก้าวไปก่อนหนึ่งก้าวเพื่อจะบอกทิศทางของสังคม เพราะฉะนั้นเมื่อมีการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องนักเขียนจะออกมาแสดงความคิดเห็น แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ

สุชาติกล่าวอีกว่า เหตุการณ์ทางการเมืองประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จนหลอมตัวมาเป็นการรัฐประหารปี 2557 นักคิด นักเขียน ศิลปินมีการปักธงแบ่งข้าง มีผู้ที่คิดว่าการรัฐประหารนำไปสู่ความถูกต้อง คือไปคิดว่าที่ว่าการล้มกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้อง แต่อันที่จริงมันคือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

“ผมผิดหวังกับนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนที่ผมมีเคยความสัมพันธ์ด้วยในฐานะบรรณาธิการกับนักเขียน ผมรู้สึกว่าเขาก็ไม่แสดงออกให้ชัดเจน อย่างที่ผมมักจะพูดอยู่เสมอว่า พวกเขาทำเนียน ทำเบลอไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น” สุชาติกล่าว

เวียง-วชิระ บัวสนธ์ กล่าวถึงบทบาทนักคิด นักเขียนในสังคมไทยกับจิตสำนึกในหลักการประชาธิปไตยในปัจจุบันว่า โดยพื้นฐานแล้วกวีนักเขียนต้องมีสำนึกเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตย หมายความว่าให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค กรณีของไผ่เห็นชัดเจนว่านี่มันเป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่ทำให้เห็นถึงความอยุติธรรม ประเด็นคือว่าถ้านักเขียนและกวีไทยเห็นสิ่งเหล่านี้ เขาอาจแสดงปฏิกิริยา

แต่ภาพรวมที่ปรากฎ ตนไม่ค่อยแน่ใจว่านักเขียนหรือนักกวีได้สนใจเรื่องนี้หรือไม่ บางส่วนก็รับรู้เรื่องนี้แล้วเลือกที่จะเงียบ เลือกที่จะปิดปาก เลือกที่จะไม่พูดเพราะเกรงว่าตัวเองจะได้รับภัยหรือเกรงว่าจะถูกนับเป็นพวกนั้น

“คนที่รับรู้รับทราบเรื่องนี้แล้วเลือกที่จะเงียบนั้น เท่ากับว่าคุณอนุญาตให้ความระยำตำบอนเรื่องนี้มันอยู่และปรากฏต่อไป” เวียง-วชิระกล่าวและเผยว่า เหตุที่ตนต้องมาเยี่ยมไผ่ เพราะว่าจิตวิญญาณของตนถูกพรากและถูกจับกุมคุมขังอยู่ในร่างของไผ่ด้วย

บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชนผู้นี้กล่าวว่า นักเขียนและกวีไทยมันเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่หนังค่อนข้างหนาเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นพูดอะไรไปก็ไม่ซึมเข้าผิวหนังของพวกเขา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด

นายอธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร WAY (ขวามือ)

อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร WAY กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับไผ่ มันไม่ใช่แค่การเรียกร้องเอากับนักเขียน ศิลปินหรือกับคนทำงานสร้างสรรรค์ แต่มันคือบททดสอบคนทุกคนในสังคมว่าแม่นยำในหลักพื้นฐานกันแค่ไหน เพราะสิ่งที่ไผ่ทำไม่ได้ละเมิดหลักการพื้นฐานใดๆ เลย ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ไผ่พูดหรือสิ่งที่ไผ่ทำ แต่สิ่งที่ไผ่ทำนั้นอยู่ภายใต้ข้อตกลงพื้นฐานสากลว่าคนทุกคนต้องมีสิทธิที่จะแสดงออกได้ ดังนั้นจึงไม่ใครมีสิทธิห้ามใครแสดงออกเพราะสิ่งนี้คือสิทธิพื้นฐาน ส่วนเรื่องถูกเรื่องผิดค่อยมาว่ากัน


ส่วนบทบาทของนักเขียนในสถานการณ์เช่นนี้ อธิคมบอกว่า ถ้ายอมรับข้อเท็จจริงว่า นิยามของนักคิด นักเขียนแบบเดิมมันเคลื่อนไปไกลแล้วก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเรียกร้องหรือคาดหวังจากนักเขียนในความหมายเดิม

“เราอาจไม่จำเป็นที่จะไปเรียกร้องกับคนกลุ่มเดิมก็ได้ แต่กลับมาที่จุดเดิมกรณีที่เกิดขึ้นกับไผ่ มันเรียกร้องสามัญสำนึก เรียกร้องหลักคิดที่แม่นยำสำหรับทุกคนไม่ว่าจะสาขาอาชีพใด ว่าเราหนักแน่นและแม่นยำหรือไม่ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ การแสดงออก” บก.บริหาร WAY กล่าว

 

image_pdfimage_print