กาฬสินธุ์ – แกนนำหมู่บ้านเสื้อแดง อ.หนองกุงศรี ถูกห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังรัฐประหาร แต่ยืนยันอุดมการณ์ยังคงเดิม โอดไปให้กำลังใจ “ยิ่งลักษณ์” ไม่ได้ เหตุรถเช่าไม่มาตามนัด พร้อมไม่เชื่อว่าหลังเลือกตั้งจะเป็นประชาธิปไตย  

ถนนภายในหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งหนึ่งใน อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์

ต้นปี 2555 มีข่าวการเกิดขึ้นของชุมชนทางการเมืองที่เรียกว่า   “หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย” กระจายตัวทั่วประเทศไทย

แต่ข่าวสารเกี่ยวกับหมู่บ้านเหล่านั้นได้จางหายไปจากการนำเสนอของสื่อมวลชน เดอะอีสานเรคคอร์ดจึงไม่พลาดที่จะลงพื้นที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงและความเป็นอยู่ของหมู่บ้านเสื้อแดงหลังรัฐประหารมาแล้ว 3 ปี

ห่างจากสำนักงานเดอะอีสานเรคคอร์ด จ.ขอนแก่น ออกไปทางทิศตะวันออกราว 90 กิโลเมตร คือที่ตั้งของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ สภาพพื้นที่ล้อมรอบด้วยเนินเขาที่เรียกกันว่า “ภูแผงม้า” หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่อย่างเงียบสงบ ริมถนนสองข้างทางเป็นไร่อ้อยสลับกับทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา

ท่ามกลางอากาศร้อนของบ่ายวันที่ 9 ส.ค. 2560 ทุกอย่างดูปกติไม่มีสัญลักษณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่แห่งนี้เคยมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่สมัยที่มีการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับเจ้าหน้าที่รัฐ จนมาถึงการเป็นหมู่บ้านเสื้อแดงเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ชีวิตปัจจุบันของแกนนำแดง

ชาวบ้านเสื้อแดงคนแรกที่เดอะอีสานเรคคอร์ดไปพบคือ นายศักดิ์ (นามสมมติ) ผู้ใหญ่บ้านเสื้อแดง หรือที่เรียกกันว่า “แกนบ้าน” ซึ่งเป็นคนสำคัญของหมู่บ้านที่เจ้าหน้าที่คอยจับตา เขาเล่าว่า หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 ไม่นาน เจ้าหน้าที่ทหารมาควบคุมตนขึ้นไปบนภูเขา เพื่อให้พาไปหาแกนนำเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ที่หลบหนีจากที่อื่นมาซ่อนตัวที่ภูแผงม้า ทหารเชื่อว่าตนเป็นคนส่งข้าวส่งน้ำให้กับแกนนำคนดังกล่าว พวกเขาจึงพยายามคาดคั้นให้ตนตอบว่าเห็นแกนนำคนดังกล่าวจริง แต่ตนยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนส่งข้าวส่งน้ำให้และไม่เคยเห็นแกนนำคนดังกล่าว ทหารจึงพาตนกลับลงมาปล่อยตัวที่บ้าน แต่ก่อนจะมาส่ง ทหารพูดทำนองว่าให้เตรียมตัวไปเข้าค่ายทหาร 6-7 คืน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไปเข้าค่าย หลังจากเหตุการณ์นั้น ยังมีตำรวจคอยโทรศัพท์ติดต่อมาเรื่อยๆ

ปัจจุบันนายศักดิ์ใช้ชีวิตอยู่กับภรรยา มีอาชีพทำไร่ทำสวน และเป็นกรรมการหมู่บ้าน เขาอาศัยรายได้จากลูกหลานที่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น และยังสนใจติดตามข่าวการเมืองอย่างใกล้ชิด

เช่นเดียวกับนายพันธ์ จันทรัตน์ อายุ 69 ปี คนเสื้อแดงแม้ไม่มีตำแหน่งในหมู่บ้านเสื้อแดง แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารมาหาที่บ้าน 2-3 นาย เพื่อสอบถามว่าคิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์การเมือง พร้อมกับขอร้องว่าอย่าเคลื่อนไหวทางการเมือง เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารสนใจนายพันธ์เป็นพิเศษอาจเพราะเขาเป็นสหายเก่า นามว่า “สหายชมภูพาน” ที่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)เมื่อปี 2519 ในฐานะคนทำงานด้านมวลชนแล้วออกจากป่าเมื่อปี 2523 หลังมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกพคท.ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

นายพันธ์เล่าถึงบรรยากาศการเมืองในหมู่บ้านว่า คนทั่วไปไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลแม้ว่าจะไม่พอใจผลงานนัก คนที่นี่จะจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันเฉพาะคนสนิท หากเป็นคนแปลกหน้าจะไม่บอกเด็ดขาดว่าคิดอย่างไรกับรัฐบาล

“เดี๋ยวนี้ก็เงียบแล้ว เขาพูดกันมาว่าเสื้อแดงตายแล้ว แต่ก็ดี เราก็ชอบอยู่ จะได้ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะเราก็ดูทิศทางลมอยู่” นายสมเดช สิงห์ประสาท อดีตประธานระดับตำบลเสื้อแดงกล่าว

นายสมเดช อายุ 67 ปี กล่าวว่า ตนหยุดการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร แม้ว่าจะไม่ถูกทหารควบคุมตัวหรือเข้ามาพูดคุยด้วยเหมือนกับแกนบ้าน แต่ก็มีสายของทหารเดินผ่านหน้าบ้านของตนบ่อยๆ เป็นการสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ

นายสมเดช สิงห์ประสาท อดีตประธานระดับตำบลเสื้อแดง กำลังคัดฝรั่งส่งขายให้พ่อค้าคนกลาง โดยเขายุติความเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557

นายสมเดชพูดคุยด้วยสำเนียงอีสานแปล่งๆ ออกจะเหมือนภาษาไทยกลางมากกว่าภาษาอีสาน เนื่องจากเขาเป็นคนจ.นครสวรรค์ ที่มาตั้งรกรากที่จ.กาฬสินธุ์ตั้งแต่ปี 2519 ปัจจุบันเขายึดอาชีพหลักเป็นพ่อค้าขายส่งผลไม้ โดยขายส่งฝรั่งให้พ่อค้าคนกลาง และยังเป็นกรรมการในโครงการต่างๆ ของหมู่บ้านด้วย เช่น ศูนย์ดำรงธรรมหมู่บ้านเพื่อคอยไกล่เกลี่ยเรื่องราวความขัดแย้งในหมู่บ้าน กองทุนอธิปุญโญที่ช่วยเหลือเกี่ยวกับการเลิกเหล้า เลิกยาเสพติด และกองทุนสัจจะออมทรัพย์ของหมู่บ้าน

หมู่บ้านเสื้อแดงยังไม่หายไปไหน

“ที่เรียกว่าหมู่บ้านเสื้อแดง ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเป็นเสื้อแดง คนที่ไม่ชอบก็มี แต่เป็นส่วนน้อย เขาไม่ค่อยอยากไปชุมนุมด้วย เขากลัว แต่ 80 เปอร์เซ็นต์ ในหมู่บ้านเป็นเสื้อแดง” นายศักดิ์ แกนบ้านเสื้อแดงกล่าว

หมู่บ้านแห่งนี้ประกาศว่าเป็นหมู่บ้านเสื้อแดงเมื่อประมาณปี 2553 โดยเป็นการรวมตัวของคนในหมู่บ้านที่มีอุดมการณ์เดียวกันคือ รักประชาธิปไตยและต้องการให้มีการเลือกตั้ง ที่มาร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยทางแกนนำเสื้อแดงส่วนกลางสนับสนุนค่ารถและค่าอาหาร แต่ไม่มีค่าจ้าง คนที่นี่ไปร่วมชุมนุมหลายครั้งจนกระทั่งเกิดการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 จึงหยุด และไปร่วมชุมนุมอีกครั้งเมื่อปี 2557 ก่อนการรัฐประหาร ที่ถนนอักษะ กรุงเทพฯ

คนเสื้อแดงในหมู่บ้านแห่งนี้ยังเข้าร่วมการอบรมของโรงเรียนการเมืองตามจังหวัดต่างๆ เช่น จ.ร้อยเอ็ด และจ.ขอนแก่น รวมถึงยังได้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 ที่ จ.กาฬสินธุ์ และ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย

ปัจจุบัน เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาขอร้องและห้ามปรามไม่ให้มีการเคลื่อนไหว กิจกรรมที่เคยทำก็ต้องหยุดไป จนดูเหมือนว่าหมู่บ้านเสื้อแดงได้หายไปโดยปริยาย แต่นายศักดิ์ เห็นว่า หมู่บ้านเสื้อแดงยังไม่ได้หายไปไหน อนาคตอาจมีการเคลื่อนไหวอีก

“ในเวลานี้เป็นเวลาที่เราอยู่เงียบๆ เพราะถูกอำนาจรัฐคุมไว้ไม่ให้ขยับ และเรามีแค่มือเปล่า ไม่สามารถสู้กับปืนได้” นายศักดิ์กล่าว

นายศักดิ์บอกอีกว่า ถ้าหากตอนนี้ยังเคลื่อนไหวได้อยู่ ก็อยากไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 25 ส.ค. 2560 กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดพิพากษาคดีจำนำข้าว เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นฝ่ายประชาธิปไตย โครงการรับจำนำข้าวก็เป็นโครงการที่ประชาชนได้ประโยชน์ รวมถึงเป็นโครงการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศไว้แล้วว่าจะทำ หากไม่ดำเนินนโยบายตามที่ประกาศไว้ก็คงไม่ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งใจว่าจะเดินทางไปกรุงเทพฯ แต่ล่าสุดกลุ่มที่จะไปด้วยกัน บอกว่าไม่มีรถไปแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด

ภาพถ่ายแกนบ้านเสื้อแดงเมื่อครั้งเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงใหม่ๆ แต่ภายหลังรัฐประหาร 2557 เจ้าหน้าที่รัฐได้ขอร้องให้ปลดป้ายหมู่บ้านเสื้อแดงออก

จุดเริ่มต้นสู่การเป็นคนเสื้อแดง

ถ้าย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็น “คนเสื้อแดง” นั้น นายศักดิ์เล่าว่า เริ่มมาจากความชื่นชอบในนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้ประชาชนธรรมดาได้ประโยชน์โดยตรง เช่น กองทุนหมู่บ้านๆ ละ 1 ล้านบาท ที่ประชาชนสามารถบริการจัดการเงินทุนได้เองทำให้ผลประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลตกถึงมือประชาชน ทำให้พวกเขาตระหนักถึงสิทธิของตนเองในการเลือกตั้ง การบริการงานของรัฐบาลทักษิณแตกต่างจากหลายรัฐบาลที่ผ่านมาที่การดำเนินนโยบายต้องผ่านหน่วยงานราชการหลายชั้น แต่สุดท้ายผลประโยชน์ตกถึงมือประชาชนเพียงน้อยนิด

“เป้าหมายที่เราเป็นเสื้อแดง เพราะอยากเลือกตั้ง ตอนนั้นอภิสิทธิ์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราก็ไม่พอใจ เราอยากให้ยุบสภา แล้วเลือกตั้ง แค่นั้น” นายศักดิ์กล่าว

ส่วนนายสมเดชเล่าว่า สาเหตุที่ตนมาร่วมเป็นเสื้อแดงเพราะชอบประชาธิปไตย ตนเห็นระบบทหารมาตั้งแต่สมัย (อดีตนายกรัฐมนตรี) จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งตนไม่ชอบการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยตอนนั้นมีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 17 ซึ่งคล้ายกับอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ของรัฐบาลปัจจุบัน ที่สามารถสั่งอะไรก็ได้ ตนเห็นว่าการใช้กฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ใช่ประชาธิปไตย ควรยกเลิกเสีย

จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยปกครองโดยคณะรัฐประหารมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ชาวหมู่บ้านเสื้อแดงถูกขอร้องว่าอย่าเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่นายพันธ์ยืนยันว่า เขายังไม่ลืมอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ยังคงสนับสนุนสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และไม่สนับสนุนสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

นายกรัฐมนตรีที่คนไทยไม่ลืม

เมื่อถามถึงความนิยมต่อรัฐบาลเพื่อไทยในหมู่บ้านว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ นายพันธ์ตอบอย่างหนักแน่นว่า “เขาไม่ลืมหรอก ทำยังไงเขาก็ไม่ลืม” นายกรัฐมนตรีประเทศไทยที่ประชาชนไม่ลืมมี 2 คน คือ คึกฤทธิ์กับทักษิณ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ปี 2518, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร – ยศขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2544 – 2549) โดยนายกฯ คึกฤทธิ์มีนโยบายเงินผัน มีถนนคึกฤทธิ์ สระคึกฤทธิ์ ฝายคึกฤทธิ์ ส่วนทักษิณมีนโยบายกองทุนหมู่บ้านๆ ละ 1 ล้านบาท 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งชาวบ้านบางคนที่เป็นเนื้องอกในมดลูก เขาบอกว่าถ้าไม่มีนโยบายทักษิณ เขาคงตายไปแล้ว

ป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทยพื้นที่เขต 3 จ.กาฬสินธุ์ ถูกดัดแปลงมาเป็นอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน

“ถ้าประยุทธ์บริหารงานดีก็รับเหมือนกัน ขอให้มันดี เขาก็ไม่ได้ว่า ประชาชนเขาไม่ได้เลือกคน ไม่ได้บูชาส่วนบุคคลด้วย” นายพันธ์บอก

นายพันธ์กล่าวเสริมว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศได้ดี และให้ประชาธิปไตยกับประชาชนอย่างเต็มที่ สามารถทำให้ประชาชนเงยหน้าอ้าปากได้ ทำให้สังคมอยู่ดีกินดี พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเป็นนายกฯ อีกคนหนึ่งที่ประชาชนไม่ลืม  แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม

ไม่มีเมตตา ไม่มีอภัย ปรองดองอย่างไร

นายพันธ์ จันทรัตน์ หรือ สหายชมภูพาน คนเสื้อแดง

สถานการณ์การเมืองที่ดูเหมือนไร้ความขัดแย้งในปัจจุบัน ในสายตาของสมาชิกหมู่บ้านเสื้อแดงแล้ว เป็นเพียงความสงบที่เกิดขึ้นจากการห้ามขยับตัว เป็นความสงบด้วยอำนาจ พวกเขามองว่า นโยบายการปรองดองของรัฐบาลปัจจุบันเป็นเพียงความปรองดองที่อยู่ในกระดาษ แต่สิ่งที่พวกเขาอยากจะเห็นคือ การมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เอาเปรียบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และให้สิทธิทั้งสองฝ่ายเท่าๆ กัน

สหายชมภูพานเห็นว่า การปรองดองที่รัฐบาลนี้ประกาศไว้ยังไม่สามารถทำได้ เพราะยังมีการไล่บี้อีกฝ่ายอยู่ “ไม่มีเมตตา ไม่มีอภัย แล้วจะปรองดองได้อย่างไร ถ้ายิ่งกด ยิ่งดัน เชื่อว่าอีกไม่เกิน 20 ปี จะถึงคราวปะทุออกมา”

นายพันธ์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประชาชนตื่นตัวมากกว่าเดิม เพราะไม่พอใจรัฐบาลจากการรัฐประหาร ประชาชนรู้หมดว่า แต่ละประเทศทำอะไรอยู่ และรัฐบาลไทยทำอะไรอยู่

อนาคตประเทศไทยหากมีเลือกตั้ง

คำถามทิ้งท้ายก่อนจะออกจากหมู่บ้านเสื้อแดงคือ สมาชิกอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเรื่องใดมากที่สุด แกนบ้านและแกนนำตำบลเสื้อแดงตอบตรงกันว่า อยากเห็นการเลือกตั้งที่จะนำมาสู่ประชาธิปไตย และไม่มีทหารมายุ่งเกี่ยวกับเมือง หากเป็นไปตามนั้น คนเสื้อแดงก็จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวอีก

“ตอนนี้ก็ยังอยากเลือกตั้ง เพราะอยากได้ประชาธิปไตย พูดอะไรกันก็ง่าย คอรัปชั่นเดี๋ยวนี้ก็เยอะ เขาบอกว่าปราบโกง เขาเอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำ เครื่องบินขับไล่ ทางรถไฟ แย่กว่าเดิมอีก เขาว่านักการเมืองโกง ตัวข้าราชการยิ่งโกงได้หลายปี แต่ผู้แทนฯ โกงได้ 4 ปี” นายศักดิ์กล่าว

ขณะที่นายพันธ์ยังกังขาต่ออนาคตการเมืองไทย เขาไม่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้ง การเมืองเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เอื้อให้เกิด

“เอาอย่างนี้ก็ได้ นายจ้างกับลูกจ้างคิดไม่เหมือนกัน นายจ้างคิดว่า ทำยังไงจึงจะจ้างได้ถูก ส่วนลูกจ้างคิดว่าทำยังไงจึงจะได้ค่าแรงสูง ทีนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใครเป็นคนเขียน ใครเป็นคนคุมเกม เขามี ส.ว.ที่มาจากการลากตั้ง ลากมาได้ยังไง (หัวเราะ) มันไม่ใช่รัฐธรรมนูญของประชาชน นี่มันคนละเรื่องกับประชาธิปไตยเลย” สหายชมภูพานกล่าวปิดท้ายบทสนทนา

 

image_pdfimage_print