โดยมานะ เหนือโท

พอช.นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ “ร้อยเอ็ด-สุรินทร์-บุรีรัมย์” เพื่อเยี่ยมชมชุมชน “กู่กาสิงห์” แหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งเดียวในทุ่งกุลาร้องไห้ การสร้างกลุ่มทอผ้าไหมเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว และ การเปลี่ยนหมู่บ้านเป็นตลาดนัดโบราณ ตามแนวทางประชารัฐ

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. (องค์การมหาชน) จัดโครงการสื่อสัญจรจังหวัดร้อยเอ็ด-สุรินทร์-บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 17-19 ส.ค. 2560 โดยนำคณะสื่อมวลชน 10 สำนักข่าวจากกรุงเทพฯ ลงพื้นที่ภาคอีสานเพื่อสัมผัส เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันแรกของการลงพื้นที่ นายอนุรักษ์ เรืองรอบ ผู้จัดการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน พอช. พร้อมคณะสื่อมวลชนเดินทางจากตัวเมืองร้อยเอ็ดผ่านทุ่งกุลาร้องไห้ไปยังชุมชนบ้านกู่กาสิงห์ ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย เพื่อเยี่ยมชมโบราณสถานปราสาทกู่กาสิงห์ ปราสาทกู่พระกู่นา และป่ายางนาชุมชนทุ่งกุลา  

มัคคุเทศก์นำเที่ยวปราสาทกู่กาสิงห์ ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

ปราสาทกู่กาสิงห์ คือดินแดนแห่งอาณาจักรเจนละ สร้างโดยเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปัจจุบัน ผืนดินบริเวณอาณาจักรเก่าแก่แห่งนี้ คือพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 ที่มีชื่อเสียงและได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จุดเด่นของชุมชนบ้านกู่กาสิงห์ คือเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนแห่งเดียวในทุ่งกุลาร้องไห้ ทั้งนี้ ยังเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมขอมในทุ่งกุลาร้องไห้อีกด้วย          

จากการบรรยายสรุปโดยวิทยากร พบว่า ปัญหาของตำบลกู่กาสิงห์ ได้แก่ มีการใช้สารเคมีในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่สมดุลกับปัจจัยการผลิตที่มีราคาต้นสูงขึ้นเรื่อยๆ

วันต่อมา (18 ส.ค. 2560) ซึ่งเป็นวันที่สองของการลงพื้นที่ คณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปเยี่ยมชมชุมชนผ้าไหมตำบลสวาย อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ เพื่อชมการผลิตผ้ามัดหมี่ซึ่งมีหลายลวดลาย และผ้าปะกากันเตรย

การทอผ้าไหมที่ชุมชนผ้าไหมตำบลสวาย อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์

นางสำเนียง บุญโสดากร ชาวชุมชน ต.สวาย อ.เมืองสุรินทร์ กล่าวว่า ต้องการตั้งกลุ่มผลิตผ้าไหมด้วยสีธรรมชาติ แต่ยังขาดเงินทุนเพื่อขับเคลื่อน ถ้ามีเงินทุนก็พร้อมรับซื้อสินค้าจากชาวชุมชนเพื่อนำไปขายต่อ ซึ่งจะทำให้ชาวชุมชนไม่ต้องนำสินค้าไปขายผ่านพ่อค้าคนกลาง

ทั้งนี้ นางสำเนียงยังกล่าวถึงสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก คือต้องการให้มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้าในจุดเดียว เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้เห็นการทำงาน กระบวนการผลิต และความร่วมแรงร่วมใจกันของชาวชุมชน อีกทั้ง หากนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมก็จะทำให้ชุมชนมีรายได้

วันที่ 19 ส.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย คณะสื่อมวลชนได้เดินทางลงพื้นที่บ้านสนวนนอก อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 12 กิโลเมตร ชาวชุมชนได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมการพัฒนาชุมชน บริษัทประชารัฐบุรีรัมย์ และจังหวัดบุรีรัมย์ พัฒนาชุมชนบ้านสนวนนอกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีตลาดนัดโบราณ ซึ่งชาวชุมชนจะนำอาหารและผลไม้ที่ปลูกในรั้วบ้านมาวางจำหน่าย

นายบุญทิพย์ กะรัมย์ ผู้ใหญ่บ้านสนวนนอก หมู่ 2 กล่าวว่า เมื่อก่อน พอมีคนต่างถิ่นหรือมีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่หมู่บ้าน ผู้สูงอายุก็จะรีบขึ้นบ้านไม่กล้าพูดคุยด้วย แต่พอจัดให้มีการท่องเที่ยวชุมชน ผู้สูงอายุก็ช่วยลูกหลานทอผ้า และจำหน่ายสินค้า ทำให้เพลิดเพลินไม่เงียบเหงา

นายบุญทิพย์เปิดเผยอีกว่า ก่อนที่บริษัทประชารัฐบุรีรัมย์จะเข้ามาสนับสนุน บ้านสนวนนอกมีรายได้จากการท่องเที่ยวต่อปีประมาณ 3-4 แสนบาท แต่ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมเฉลี่ยเดือนประมาณ 1,000 คน ทำรายได้เข้าหมู่บ้านปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท


“ผมก็ไม่อยากจะเน้นเรื่องเงินมากนัก หวังเพียงให้คนเฒ่า คนแก่ได้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และถ้าการท่องเที่ยวชุมชนมันดีขึ้น ต่อไปคนหนุ่มคนสาวก็อาจจะไม่ต้องไปหางานทำที่กรุงเทพฯ ช่วยกันทำมาหากินอยู่ที่หมู่บ้านนี่แหละ ครอบครัวก็จะได้อบอุ่น อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา” นายบุญทิพย์กล่าว

นายอนุรักษ์ เรืองรอบ ผู้จัดการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน พอช.

นายอนุรักษ์ เรืองรอบ ผู้จัดการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน พอช. กล่าวปิดท้ายว่า โครงการสื่อสัญจรมีเพื่อนำเสนอบทเรียนพื้นที่รูปธรรมเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งแต่ละตำบลก็จะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจ มีสินค้าชุมชน มีอาหารพื้นบ้าน มีวัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างกันไป แต่สามารถนำมาเชื่อมโยงกัน และจัดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้

“หลังจากนี้ผมจะประสานกับสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (สททร.) เพื่อจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวสายไหม นำนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางมาดูการผลิตผ้าไหม การทอผ้า ดูวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวจากยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสสนใจการท่องเที่ยวแบบนี้มาก”

นายอนุนักษ์กล่าวว่า เดือนธันวาคมที่จะถึงนี้จะจัดงาน “สวายโมเดล” ที่ต.สวาย จ.สุรินทร์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแหล่งใหม่เชื่อมโยงเรื่องผ้าไหม เกษตรอินทรีย์ อาหารพื้นบ้านเข้าไว้ด้วยกัน

หมายเหตุ มานะ เหนือโท คือ ผู้เข้าอบรมโครงการนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

image_pdfimage_print