โดย อิทธิพล โคตะมี

ศิลา วงศ์สิน เป็นที่รู้จักในฐานะนักโทษประหารคนแรกในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้มาตรา 17 ของธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร 2502 ปกครองประเทศ กรณีนี้เกิดจากเหตุการณ์ที่ศิลา วงศ์สินและประชาชนจำนวนหนึ่งตั้งรกรากอาศัยเป็นชุมชน ในพื้นที่อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยมิได้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องที่

ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจค้นชุมชน ได้เกิดการตะลุมบอนขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านใช้มีดพร้าฟันนายอำเภอและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปถึง 5 คน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำกำลังเข้าจับกุมศิลา วงศ์สินอีกครั้ง ในครั้งนี้ได้มีการยิงปะทะกันอย่างรุนแรง ส่งผลให้ชาวบ้านที่ติดตาม ศิลา วงศ์สินถูกยิงเสียชีวิตไปถึง 12 คน นี่เป็นจุดเริ่มต้นการตามล่าตัวเขาและครอบครัว ขณะที่ศิลา วงศ์สินได้ถูกทางการและสื่อมวลชนในเวลานั้น เรียกขานว่าเป็น “กบฏผีบุญ” ในยุคจอมพลผ้าขาวม้า

อย่างไรก็ตาม ได้มีการย้อนกลับมาทบทวนเหตุการณ์เล็กๆ ครั้งนั้นอีกครั้ง ในบทความวิชาการเรื่อง “เสียงเล็กๆ ของ “ผีบุญ” ศิลา วงศ์สินในหนังสือพิมพ์สารเสรี พ.ศ. 2502 ประวัติศาสตร์อำพราง เบี้ยล่าง (อยาก) เล่าเรื่อง”* โดย ธิกานต์ ศรีนารา นักประวัติศาสตร์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ กลับไปค้นคว้าเอกสารในช่วงเวลาดังกล่าวขึ้นใหม่เมื่อปีที่แล้ว และพบปัญหาการอธิบายต่อกรณีศิลา วงศ์สินอยู่บางประการ ซึ่งคำอธิบายถูกครอบงำจาก 2 แนวทาง คือหากศิลาไม่เป็นผู้ร้าย กบฏผีบุญที่หลอกหลวงชาวบ้าน ก็เป็นการอธิบายว่ากรณีศิลาคือตัวอย่างของขบฏผู้มีบุญที่ต้องการต่อต้านอำนาจรัฐ

พาดหัวข่าวศิลา วงศ์สิน จากหนังสือพิมพ์สารเสรี โปรดสังเกตกรอบเล็กด้านล่าง “‘ผีบุญ’ ในกรุง อาศัยผ้าเหลืองอบรมการเมือง” คงเป็นการปรับทัศนคติในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์

อะไรคือเหตุการณ์ศิลา วงศ์สิน

เหตุการณ์ ‘ศิลา วงศ์สิน’ คือเรื่องราวของหมอธรรม ผู้มีอำนาจทางธรรมและไสยศาสตร์ได้ชักชวนชาวบ้านจำนวนมากเดินทางออกไปแสวงหาของทิพย์เพื่อหนีไปให้พ้นจากความยากจนข้นแค้น ซึ่งภาคอีสานในช่วงก่อนทศวรรษที่ 2500 นั้นห่างไกลจากการพัฒนาของรัฐบาลส่วนกลาง โครงสร้างพื้นฐานดังเช่น ถนน ไฟฟ้า ยังไม่ถูกกระจายไปถึงท้องถิ่น

เรื่องราวของศิลาเริ่มต้นขึ้น หลังจากที่ศิลาย้ายจากจังหวัดสกลนคร ภูมิลำเนาเดิม ไปที่จังหวัดอุบลราชธานี เขาใช้ความรู้ที่เคยร่ำเรียนมาเกี่ยวกับธรรมและไสยศาสตร์ในการรับเข้าทรงเพื่อรักษาไข้ จนมีลูกศิษย์และคนนิยมเลื่อมใสอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อจากนั้นศิลาจึงได้ชักชวนผู้คนอพยพจากอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ไปตั้งชุมชนอยู่ที่บริเวณบ้านใหม่ไทยเจริญ ตำบลสารภี อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่นั่นเองนำมาสู่จุดจบของชีวิตศิลา

เมื่อตั้งรกรากอยู่ได้ไม่นานนัก เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าตรวจค้นชุมชนของศิลา ก่อนที่จะมีการตะลุมบอนระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ จนกระทั่งนายอำเภอและผู้ติดตามได้เสียชีวิต และไม่นานต่อมาได้มีการสังหารประชาชนที่ติดตามศิลาไปจำนวน 12 คน ขณะที่ตัวศิลาและครอบครัวหนีไปได้

แต่นั่นก็เพียงเวลาไม่นานนัก ศิลาได้ถูกทางการลาวจับตัวและส่งให้ทางการไทยได้ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2502 ศิลาและผู้ติดตามจึงถูกส่งตัวไปคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจจังหวัดนครราชสีมาระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงถูกส่งตัวไปพบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งต้องการสอบสวน ศิลา วงศ์สิน ด้วยตัวเอง

จนกระทั่งในที่สุดวันที่ 26 มิถุนายน 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิต ศิลา วงศ์สิน โดยอ้างมาตรา 17 ตามธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2502

ความรับรู้ทั่วไปต่อเหตุการณ์ประหารศิลา

ในแง่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ได้มีการหยิบยกเรื่องราวของศิลา ขึ้นมาพูดถึงอยู่เป็นระยะทั้งในมุมของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในยุคจอมพลสฤษดิ์ หรือในมุมของการต่อต้านอำนาจรัฐ

บทความของ ธิกานต์ ศรีนารา ได้เสนอว่า มีคำอธิบายอยู่ 2 มุมที่ครอบงำความรู้ความเข้าใจต่อกรณีศิลา วงศ์สิน อยู่จนถึงปัจจุบัน

ในแบบแรก เป็นการผลิตซ้ำคำอธิบายจากทางราชการและสื่อมวลชนกระแสหลักในยุคสมัยดังกล่าว ว่า ศิลา เป็น “ผีบุญ” ที่อ้างอิงเอาอภินิหารมาหลอกหลวงชาวบ้าน แล้วต้องการตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน คำอธิบายในช่วงเวลานี้มักจะวางโครงเรื่องอยู่ที่ว่า ศิลาเป็นชาวบ้านผู้หนึ่งจากจังหวัดนครราชสีมา ที่คิดว่าตนเองเป็นผีบุญที่เก่งกาจทางไสยศาสตร์ จนคิดจะก่อตั้ง “อาณาจักร” ของตนขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง และต้องการยกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์

ธิกานต์เห็นว่า คำอธิบายในแบบนี้มักจะให้ภาพลักษณ์ที่ดูห่างไกลจากความเป็นเหตุเป็นผลว่า ศิลามีอำนาจเหนือชาวบ้านสองร้อยคน ที่ไม่ใช่ “คนไทยแท้” ซึ่งอาศัยอยู่ในอาณาจักรของตน เมื่อกำนันในตำบลนั้นไปเยี่ยมเพื่อที่จะซักถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่กลับถูกโจมตีจนมีคนถูกฆ่าตาย และมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจออกไปทำการจับกุม “ผีบุญ” ศิลา ผู้ซึ่งบอกแก่พรรคพวกของตนว่าตำรวจไม่สามารถทำอันตรายตนได้เนื่องจากอำนาจเวทมนตร์ของตนที่มีอยู่

ดังจะเห็นได้ว่าหนังสือพิมพ์สารเสรี เรียกศิลา และผู้ติดตามอย่างสับสนว่า เป็นชาวไทยเผ่าหนึ่งซึ่งเรียกด้วยคำที่แฝงนัยยะดูแคลนว่า “ส่วย” โดยทึกทักว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นลูกผสมระหว่าง “เขมร” กับ “ลาว” ทั้งที่ชาวกูยหรือกวยเป็นชาติพันธุ์ที่เป็นตัวของตัวเองของคนที่แพร่กระจายอยู่บริเวณรอยต่อรัฐลาว-กัมพูชา-และไทยปัจจุบัน สารเสรี ยังสำทับอีกว่าชาวไทยเหล่านี้ไม่ใช่ “ไทยแท้”

ขณะที่มีคำอธิบายต่อกรณีศิลา วงศ์สินอีกแบบ คือจากสายตาของนักวิชาการในกลุ่มประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ

ในแบบที่สองนี้ ธิกานต์เสนอว่า เป็นคำอธิบายที่มีลักษณะ “วิชาการ” มากกว่า โดยจะอธิบายกรณีศิลาขึ้นใหม่ว่า เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการผลิตแบบเอเชีย และเปลี่ยนคำเรียกกรณีศิลาจากกลุ่มแรกที่ว่า “กบฏผู้มีบุญ” เป็น “ขบถผู้มีบุญ” ซึ่งให้ความหมายที่มีลักษณะขัดขืนหรือต่อต้านผู้มีอำนาจมากกว่าคำว่ากบฏ ที่เป็นคำกล่าวหาร้ายแรงตามกฎหมายทั่วไป

คำอธิบายนี้ได้มีความพยายามเชื่อมโยงกรณีของศิลา วงศ์สิน เข้ากับ “ขบถผู้มีบุญอีสาน” กรณีอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ไทย  โดยพบลักษณะร่วมกันอยู่ 3 ประการ ได้แก่

  1. ปฏิเสธรัฐ มีเป้าหมายก่อตั้ง ระบบใหม่เป็นระบบสังคมนิยมหมู่บ้านอิสระจากอำนาจรัฐ
  2. เชื่อว่ามิคสัญญีจะมาถึงในเวลาใกล้มากขึ้น และหลังจากนั้นระบบใหม่ที่มีแต่ความสมบูรณ์พูนสุขทางวัตถุจะตามมา
  3. วิธีการที่จะได้มาซึ่งระบบใหม่ คือ ก. การรวมใจของชาวบ้านก่อการแข็งข้อโดยอาศัยจิตสำนึกประวัติศาสตร์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ชนชาติ ข. ให้สังคมชาวบ้านนั้นประพฤติธรรมรักษาศีลภาวนาสมาธิโดยเคร่งครัด ทำให้พระศรีอาริยเมตไตรย หรือผู้มีบุญจุติลงมาช่วยเหลือโดยใช้แนวคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ เรื่อง “วิถีการผลิตแบบเอเชีย” (The Asiatic Mode of Production) มาอธิบาย

จากข้อสังเกตของธิกานต์ เห็นว่า เป็นความจริงที่ว่าคำอธิบายกลุ่มนี้ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ ขบถผู้มีบุญอีสาน (รวมทั้ง กรณีของ ศิลา วงศ์สิน) ที่ซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้นว่า อุดมการณ์ของขบถคืออุดมการณ์ของชนชั้นชาวนา ขบถผู้มีบุญคือขบถชาวนา อุดมการณ์ของขบถผู้มีบุญคือ “สังคมนิยมหมู่บ้านอิสระจากอำนาจรัฐ” และแสดงให้เห็นอุดมการณ์จิตสำนึก เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ศิลา วงศ์สิน รวมทั้งชาวนาอีสานกรณีอื่นๆ มีอุดมการณ์และจิตสำนึกเช่นนั้น

แต่กระนั้นก็ตามงานเขียนในกลุ่มนี้ ยังคงสะท้อนให้เห็น “ความคิด” หรือ “เสียง” และความคิดของผู้เขียนมากกว่าที่จะเป็น “เสียง” ของ ศิลา วงศ์สิน หรือ “เสียง” ของชาวบ้านที่อยู่ร่วมในกลุ่มของศิลาจริงๆ

แล้ว “เสียง” ของศิลา วงศ์สิน จริงๆ ล่ะ เรายังสามารถพลิกอดีตเพื่อกู้ขึ้นมาได้อยู่หรือไม่? อ่านต่อได้ในตอนที่ 2

*ดูเพิ่มเติมในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และสังคมวิทยาภาคใต้ ครั้ง ที่ 2 “ศาสตร์แห่งการจำ ศิลป์แห่งการลืม” เล่ม 1 วันที่ 25-27 สิงหาคม พ.ศ. 2559 อาคาร 58 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, หน้า 305-327

*ท่ามกลางการปิดกั้นสื่อและการแสดงความเห็น หนังสือพิมพ์สารเสรียังสามารถดำเนินต่อไปได้ในฐานะที่เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลเผด็จการทหารในเวลานั้น และสำคัญยิ่งกว่านั้นเมื่อมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นเจ้าของ

image_pdfimage_print