โดยดานุชัช บุญอรัญ

ร้อยเอ็ด – ผอ.รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองนาสร้าง พบว่า ประชาชนที่อาศัยใกล้กับโรงไฟฟ้า ต.เหนือเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นจาก 2 พันกว่าคนในปี 2553 เป็น 7 พันกว่าคนในปี 2558 ด้านผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นสีดำเตรียมฟ้องกรมธุรกิจพลังงานและกรมควบคุมมลพิษฐานปล่อยปละละเลยอีกครั้ง

ริมถนนร้อยเอ็ด – กาฬสินธุ์ บริเวณ ต.เหนือเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 3 โรง ขนาด 14,647 แรงม้า โรงแรกดำเนินการในนามบริษัท ร้อยเอ็ดกรีน จำกัด ตั้งแต่ปี 2535 ส่วนสองโรงที่เหลือตั้งขึ้นในปี 2537 ดำเนินการโดย บริษัท บัวสมหมายผลิตไฟฟ้า จำกัด จากข้อมูลจดทะเบียนระบุว่า โรงงานไฟฟ้าทั้ง 3 โรงเป็นโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กมีกำลังการผลิตโรงละ 9.0-9.9 เมกะวัตต์ ขณะที่ถัดจากรั้วของโรงไฟฟ้าไม่ถึง 1 กิโลเมตร คือ เขตชุมชนของหมู่บ้าน 7 หมู่บ้าน มี 2,574 ครัวเรือน มีประชากร 10,803 คน และมีสถานศึกษา 5 แห่ง

ปัญหาระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชนในพื้นที่แห่งนี้ เริ่มปะทุขึ้นในช่วงปี 2550 เป็นต้นมา สาเหตุหลักมาจากฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ของแกลบที่ใช้ผลิตไฟฟ้าฟุ้งกระจายในอากาศ และถูกลมพัดพาไปยังบ้านเรือนของประชาชน ทำให้เกิดคราบเขม่าสีดำเกาะตามหลังคาบ้าน และฝุ่นละอองได้เจือปนลงในแหล่งน้ำ โรงงานไฟฟ้ายังระบายน้ำเสียเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ซึ่งคนในพื้นที่เชื่อว่าน้ำเสียดังกล่าวเจือปนด้วยสารเคมี ส่งผลให้ต้นข้าวเจริญเติบโตเร็วกว่าปกติแต่ไม่มีเมล็ด โดยปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

การคัดค้านผลกระทบจากโรงไฟฟ้า ต.เหนือเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
14 ก.ย. 2553 แกนนำประชาชนพร้อมครูและนักเรียนเข้ายื่นหนังสือ ผวจ.ร้อยเอ็ด คัดค้านการขออนุญาตขยายโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล
20 ส.ค. 2555 รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับเรื่องร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนชาวตำบลเหนือเมืองจากมลพิษโรงไฟฟ้าชีวมวล และที่ทิ้งขยะเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด
30 ต.ค. 2555 เครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อม จ.ร้อยเอ็ด พร้อมตัวแทนประชาชน ร้องผู้ว่าฯ เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากผลกระทบของโรงไฟฟ้าชีวมวล
13 พ.ย. 2555 ม็อบเหนือเมือง ทวงสัญญาแก้ปัญหาฝุ่นแกลบ จากโรงไฟฟ้าชีวมวลขอ ทำบันทึกข้อตกลงร่วม 3 ฝ่าย
16 มี.ค. 2559 นายชยันต์ ศิริมาส รอง ผวจ.ร้อยเอ็ด และ พ.อ.ทนงศักดิ์ กิตติทรัพย์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27 ร่วมเป็นประธานที่ประชุมคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษจากโรงสีข้าวและโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายแสงจันทร์ ปทุมดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 บ้านหนองม่วง แสดงให้เห็นที่ดินว่างเปล่าที่อยู่ติดรั้วของโรงไฟฟ้า พร้อมเล่าว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร แต่หลังมีน้ำเสียจากโรงงานไฟฟ้าไหลซึมลงมาจากแนวรั้วจึงไม่มีใครอยู่ในพื้นที่นี้

สภาพแวดล้อมบริเวณใกลักับโรงไฟฟ้า นายแสงจันทร์ ปทุมดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 บ้านหนองม่วง ต.เหนือเมือง เปิดเผยว่า เมื่อก่อนพื้นที่บริเวณใกล้โรงไฟฟ้าเคยเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านหนองนาสร้าง แต่เมื่อโรงไฟฟ้าก่อตั้งในปี 2537 ผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่นเพราะหวั่นเกรงผลกระทบจากน้ำเสียของโรงไฟฟ้าที่ไหลออกมาทำให้เกิดแอ่งน้ำขังสีดำ เมื่อน้ำสีดำไหลซึมลงสู่ผืนดินจะส่งผลให้ต้นข้าวเจริญเติบโตก่อนเวลาแต่เป็นเมล็ดมีลักษณะแห้งฝ่อ

“แต่ก่อนพ่อเคยมาเลี้ยงควายแถวนี้ ถัดไปทางแคมป์คนงานทางพู้นกะเคยเป็นบ้านคน เป็นร้านซ่อมรถ ร้านขายของ พอโรงงานมันเข้ามาแล้วกะบ่มีไผอยากจะอยู่ น้ำมันซึมลงมา มันเป็นตาย่าน” นายแสงจันทร์กล่าว

บ่อน้ำขังสีดำ เกิดจากน้ำเสียซึ่งไหลซึมลงมาจากรั้วของโรงงานไฟฟ้า คนที่นี่เล่าว่า แม้แต่วัวควายที่นำมาเลี้ยงไว้ในบริเวณก็ไม่ยอมดื่มน้ำจากบ่อนี้

นายแสงจันทร์เล่าอีกว่า ในอดีตที่ดินในเขตชุมชนบริเวณนี้มีราคาสูงเนื่องจากอยู่ห่างจากอำเภอเมืองร้อยเอ็ดเพียง 3 กิโลเมตร แต่เมื่อมีโรงงานไฟฟ้าเข้ามาตั้งทำให้ที่ดินที่เคยซื้อขายราคาไร่ละ 1 ล้านบาท ลดลงเหลือไร่ละ 1-2 แสนบาท และปัจจุบันแทบไม่มีผู้ใดอยากจะซื้อขายที่ดินบริเวณนี้อีกแล้ว ด้วยสภาวะจำยอมเพราะไม่อาจรับผลกระทบจากน้ำเสียและเสียงดังรบกวนจากเครื่องจักรโรงงาน ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องขายที่ดินให้กับโรงไฟฟ้าในราคาไร่ละไม่กี่แสนบาท ปัจจุบันที่ดินของประชาชนที่อยู่ติดกับกำแพงของโรงงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของบริษัท บัวสมหมาย จำกัด โดยมีการปลูกสร้างเป็นบ้านพักชั่วคราวให้กับกลุ่มคนงานต่างด้าว

นายไชยยันต์ มูลมณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองนาสร้าง อธิบายถึงภาระหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยจากปัญหาฝุ่นละออง ปีละหลายพันคน

ผลกระทบด้านสุขภาวะของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณโรงงาน นายไชยยันต์ มูลมณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองนาสร้าง เปิดเผยสถิติการรักษาของโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาว่า พบผู้ป่วยจากการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับฝุ่นละอองในอากาศปีละมากกว่า 3,000 ราย อาการมี อาทิ อาการผื่นคัน การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เยื่อบุตาและคอหอยอักเสบ ฯลฯ

นายไชยยันต์กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยแต่ละปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2552 มีผู้ป่วยจากฝุ่นละออง ทั้งสิ้น 2,232 คน ปี 2555 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 3,469 คน ล่าสุดที่มีการสำรวจในปี 2558 พบว่า มีอาการเจ็บป่วยลักษณะใหม่คืออาการจากสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดการระคายเคืองที่ตาส่วนนอก เมื่อรวมกับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยลักษณะเดิม จึงมีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 7,602 คน และยังพบว่ามีผู้ป่วยบางคนมีอาการป่วยเรื้อรัง เนื่องมาจากต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการรักษาอีกด้วย

ผอ.รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองนาสร้างกล่าวอีกว่า การที่ผู้ป่วยใช้ภาชนะเพื่ออุปโภคและบริโภคที่มีคราบฝุ่นละอองก็อาจเป็นช่องทางหนึ่งของการเจ็บป่วย ส่วนการทำความสะอาดภาชนะด้วยน้ำจากแหล่งน้ำที่เจือปนฝุ่นละอองก็ไม่ทำให้ภาชนะเหล่านั้นสะอาดหมดจด

“ตราบใดที่มีโรงไฟฟ้า ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองก็ไม่มีทางหมดไป ฝุ่นสีดำที่เกิดจากการเผาแกลบแบบที่เห็นกันอยู่นี้เป็นอันตรายแน่นอน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ นี่ยังไม่พูดถึงผลกระทบจากมลพิษทางเสียงจากการทำงานของเครื่องจักรนะครับ” นายไชยยันต์เผย

นายไชยยันต์ตั้งข้อสังเกตว่า โรงไฟฟ้าทั้ง 3 โรงไม่ได้ทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (EIA) เนื่องจากมีกำลังผลิตไฟฟ้าของแต่ละโรงต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า 3 โรงที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันเข้าด้วยกันจะมีกำลังการผลิตเกือบ 30 เมกะวัตต์ ทำให้พบว่ามีช่องโหว่ในหลักเกณฑ์การทำ EIA ของโรงไฟฟ้า

เด็กหญิงบี (นามสมมุติ) มีอาการผื่นแดงขึ้นตามตัว เนื่องจากผิวหนังเกิดการระคายเคืองฝุ่นละออง ที่มา – เอกสารสำรวจผลกระทบจากละอองฝุ่นแกลบดำ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองนาสร้าง (ซ้ายมือ) ภาชนะบรรจุน้ำซึ่งตั้งทิ้งไว้ในที่โล่ง ปรากฏคราบละอองฝุ่นสีดำเกาะติดที่ผิวภาชนะรวมทั้งเจือลงในน้ำ (ขวามือ)

นายนิคม รักพุทธะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 13 บ้านหนองบัวทอง ต.เหนือเมือง รู้สึกสิ้นหวังต่อการช่วยเหลือของภาครัฐ

นายนิคม รักพุทธะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 13 บ้านหนองบัวทอง ต.เหนือเมือง กล่าวว่า เมื่อปี 2556 ตนและประชาชนเคยยื่นฟ้องไปยังศาลปกครอง จ.อุบลราชธานี เพื่อเอาผิดกับกรมธุรกิจพลังงานและกรมควบคุมมลพิษ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้โรงไฟฟ้าดำเนินการอยู่ แต่ศาลยกฟ้องเนื่องด้วยพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

“ตอนนี้เรามีคณะทำงานแล้ว กำลังอยู่ในขั้นรวบรวมหลักฐาน จะฟ้องอีกครั้งหนึ่ง ผมคิดว่าภาครัฐจะต้องรับผิดชอบต่อความบกพร่องของตัวเองบ้าง ไม่ควรให้ประชาชนรับอยู่ฝ่ายเดียว” นายนิคมเผย

นายนิคมมีข้อสงสัยว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในสามแห่งหมดอายุมานานกว่า 5 ปีแล้วหรือไม่ แต่โรงไฟฟ้าดังกล่าวยังผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายอยู่ ซึ่งจะนำข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ต่อสู้คดีในอนาคต

นางภาวัลย์ เอกทัศน์ ผู้ประสานงานกับประชาชนในพื้นที่ แสดงความกังวลต่อสภาพสิ่งแวดล้อมภายใน ต.เหนือเมือง ซึ่งเสียหายจากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งสาม

นางภาวัลย์ เอกทัศน์ กรรมการชมรมเครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ต.เหนือเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ตนและชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนได้ร้องเรียนไปยังทุกช่องทางของหน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับภูมิภาคและส่วนกลาง แต่สิ่งที่ได้รับคือท่าทีเดิมๆ เช่น ส่งตัวแทนออกมารับหนังสือ หรือตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหา ส่งผลให้คนในพื้นที่ไม่เชื่อมั่นภาครัฐอีกต่อไป รวมทั้งสงสัยว่า เหตุใดจึงไม่มีหน่วยงานไหนสนใจเมื่อพบว่า โรงไฟฟ้าดำเนินการต่ำกว่ามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม

“เรื่องมลภาวะนี่ กรมควบคุมมลพิษมาตรวจก็ไม่เคยเกินมาตรฐานนะ ทั้งๆ ที่ฝุ่นมันก็ฟุ้งอยู่เต็มไปหมด” นางภาวัลย์กล่าวและว่า มีอยู่ปีหนึ่งได้เป็นตัวแทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพฯ เข้าไปสังเกตการณ์การตรวจสอบสภาพอากาศที่มีการนำรถปฏิบัติการณ์ (รถห้องแล็ป) มาตรวจสอบ ทำให้เห็นว่าค่ามลภาวะเกินกว่าค่ามาตรฐาน แต่ก็ไม่มีหน่วยงานไหนดำเนินการอะไรจนถึงปัจจุบันนี้

ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

 

 

image_pdfimage_print