โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจโดยกองทัพ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในวันแถลงปิดคดีจำนำข้าว เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

การที่อดีตนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ถูกยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ไม่มาฟังตัดสินคดีรับจำนำข้าว ส่งผลกระทบต่อทิศทางการเมืองไทยหลายประการ รวมถึงอนาคตของการเมืองในภาคอีสานซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย

เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้ที่ไปรอต้อนรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บริเวณศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ต้องผิดหวัง เมื่อจำเลยในคดีจำนำข้าวไม่ได้มาตามนัดหมาย โดยให้ทนายความแจ้งต่อศาลว่า มีอาการป่วยน้ำในหูไม่เท่ากันจึงขอเลื่อนการฟังคำพิพากษา

แต่ศาลไม่เชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ป่วยถึงขนาดมาศาลไม่ได้จึงให้ออกหมายจับจำเลย และปรับนายประกัน 30 ล้านบาท พร้อมเลื่อนฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 27 ก.ย. ที่จะถึงนี้

เช้าวันเดียวกัน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) สั่งจำคุกนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ 42 ปี นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 36 ปี และจำคุกจำเลยคนอื่นลดหลั่นตามพฤติการณ์

ถ้านำคำตัดสินจำคุกอดีตรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาเป็นบรรทัดฐาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่พ้นความผิดอย่างแน่นอน

มีคำถามหลายประการตามมาหลังทราบข่าวดังกล่าว อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์หายไปได้อย่างไร คดีนี้เป็นกระบวนการยุติธรรมตามปกติหรือไม่ และอนาคตการเมืองไทยและอีสานจะเดินหน้าไปทิศทางไหน

น.ส.ยิ่งลักษณ์หายไปได้อย่างไร

ที่เกิดข้อกังขาในกรณีนี้เนื่องจากตามพฤติการณ์ที่ผ่านมารัฐบาลคสช.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์มาโดยตลอดไม่เว้นแม้กระทั่งขณะลุกไปเข้าห้องน้ำ แล้วทำไมเมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาสำคัญอย่างเช่นการตัดสินคดีจำนำข้าวจึงไม่มีเจ้าหน้าที่ไปติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์เหมือนที่ผ่านมา สมมุติถ้ามีเจ้าหน้าที่ติดตามแล้วทำไมถึงปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์คลาดสายตาได้ ข้อกังขาเหล่านี้นำไปสู่อีกคำถามว่า ใครก้นแน่ที่เป็นคนพา น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนีไป ด้วยวิธีการอย่างไร

เป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องถูกจำคุกเพราะจะเป็นการสร้างแรงกดดันทางการเมืองให้เกิดขึ้น จึงหาทางประนีประนอมด้วยการให้อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยหายตัวไป เช่นเดียวกับเมื่อปี 2550 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางออกจากประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าจะไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ก่อนศาลคำพิพากษาคดีจำคุก 2 ปี
ผ่านมาหลายวันก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน รวมถึงยังไม่มีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดหน้าบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ซึ่งจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด

คดีนี้เป็นกระบวนการยุติธรรมตามปกติหรือไม่

เรื่องนี้มองได้สองมุม มุมแรกคือเป็นกระบวนการยุติธรรมตามปกติเนื่องจากมีผู้ร้องคดีต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ป.ป.ช.จึงต้องไต่สวนคดี โดยมีมติส่งเรื่องให้ ส.ว.ถอดถอน และชี้มูลความผิดในคดีอาญา อัยการสูงสุดจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ จนนำมาสู่การพิจารณาคดี และตัดสินคดีในที่สุด

มุมที่สองเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นผลพวงของการต่อสู้กันระหว่างผู้มีอำนาจ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายอำนาจเก่าและฝ่ายอำนาจใหม่ ที่ประทุขึ้นมานานกว่า 10 ปีนับจากความพยายามโค่นล้มรัฐบาลทักษิณด้วยอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ หลังพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง ปี 2548 ถล่มทลาย 377 เสียง
ฝ่ายอำนาจเก่านำโดยระบบรัฐราชการ ส่วนฝ่ายอำนาจใหม่นำโดยพรรคไทยรักไทยที่มีอำนาจผ่านการเลือกตั้ง ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเป็นฝ่ายอำนาจเก่า จึงมีเป้าประสงค์ในการทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายอำนาจใหม่ เพื่อรักษาอำนาจของรัฐราชการให้อยู่เหนือกว่าประชาชนต่อไป

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินคดีรับจำนวนข้าวไม่ใช่เรื่องของกฎหมายแต่เป็นเรื่องทางการเมืองที่นำกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือ ตามศัพท์ที่อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ระบุว่า คือ “Judicialization of Politics” หรือ การเอาเรื่องการเมืองไปทำให้เป็นกฎหมายหรือศาล ทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ในที่สุด

นอกเหนือจากคดีจำนำข้าวแล้วยังพบเหตุปรากฏการณ์การนำกฎหมายเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอื่นๆ อีก เช่น การใช้ศาลทหารตัดสินคดีพลเรือน ตัวอย่างในภาคอีสาน ได้แก่ การดำเนินคดีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักกิจกรรมทางการเมือง ในข้อหาหมิ่นเบื้องสูง จนนำมาสู่การจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยไผ่ไม่ได้รับการประกันตัว ตั้งแต่ถูกถอนประกันตัวเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2559

เชื่อว่าผู้ที่ติดตามการเมืองทั้งผู้ที่ไม่เลือกข้าง หรือผู้ที่เลือกฝ่ายอำนาจเก่า คงมองออกว่าคดีความจำนวนไม่น้อยหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คือ “คดีการเมือง” ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา คงขอให้ทางการต่างประเทศส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร กลับไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้นานแล้ว

อนาคตการเมืองไทยและอีสานจะเดินหน้าไปทิศทางไหน

ขอคาดเดาถึงอนาคตการเมืองไทย ด้วยการตั้งคำถามว่าหากในอนาคตรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้กับประชาชนได้ (เกรงว่าจะถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกับคดีจำนำข้าว) ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

ผลที่ตามมาคือพรรคเพื่อไทยที่มีนโยบายถูกใจประชาชนจนชนะการเลือกตั้งทุกครั้งรวม 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2544 คงจะหาเสียงได้ด้วยความยากลำบาก ความต้องการของประชาชนที่ถูกส่งผ่านผู้แทนไปยังคณะรัฐมนตรีคงถูกลิดรอน

นั่นเท่ากับว่าสิทธิในการกำหนดอนาคตของประชาชนจะถูกทำลาย การเลือกตั้งจะถูกลดความหมาย ระบบการเมืองจะย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยมีความเป็นไปได้ว่า หากนายกรัฐมนตรีคนต่อไปไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การเมืองไทยอาจจะกลับสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
แน่นอนว่ายิ่งสิทธิของประชาชนหดหายลงไปเท่าไหร่ อำนาจของรัฐราชการหรือกลุ่มอำนาจเก่าก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ทั้งที่ข้าราชการคือลูกจ้างของประชาชนเจ้าของอำนาจสูงสุด

การตัดสินคดีจำนำข้าวจึงไม่ใช่แค่เรื่องการเอาผิดน้องสาวนายทักษิณเท่านั้น แต่เป็นการลงโทษระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเลือกรัฐบาลเองได้

ส่วนอนาคตของภาคอีสานคงมืดมนไม่แพ้กัน การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2554 มี ส.ส.ทั้งสิ้น 500 คน พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้ ส.ส. 265 คน ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส. 159 คน เมื่อแบ่งตามรายภาคพบว่า ภาคอีสานมี ส.ส.มากที่สุด 126 คน ตามมาด้วยภาคกลาง 96 คน พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งในภาคอีสานถึง 104 เขต จึงสามารถสรุปได้ว่าเสียงของ ส.ส.ในภาคอีสานเป็นฐานเสียงที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ในอนาคตหากเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแต่ไม่สามารถดำเนินนโยบายตามที่รับปากกับประชาชนไว้ได้ คนภาคอีสานน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หรือ กล่าวได้ว่าเสียงคนอีสานคงหมดความหมาย

เมื่อพิจารณาระดับรายบุคคลพบว่า ชาวนาที่ อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ และชาวนาที่ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ล้วนแต่ประสบปัญหาในการทำนามา 3 ปีติดต่อกันแล้ว นั่นคือต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาขายข้าวเปลือกที่ลดต่ำลง ชาวนาดังกล่าวจึงมีเสียงสะท้อนที่ตรงกันว่า อยากให้ราคาข้าวสูงเท่ากับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีราคาประมาณกิโลกรัมละ 18-20 บาท

แต่ความหวังเรื่องราคาข้าวของชาวนาที่เป็นประชาชนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากับคนไทยทุกคนรวมถึงคนในกลุ่มอำนาจเก่าคงยากที่จะเป็นความจริง เพราะบทเรียนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับคงทำให้ผู้ที่คิดจะอาสามาทำงานรับใช้ประชาชนต้องไตร่ตรองให้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากสามารถสร้างผลงานซื้อใจประชาชนได้มากกว่ากลุ่มอำนาจเก่า

การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยของไทยคงยังต้องผ่านการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่อีกหลายยก

image_pdfimage_print