โดย สุรวุฒิ ศรีนาม

ภาพที่เด็กๆ ช่วยพ่อแม่ทำงานทางการเกษตร กลายเป็นภาพที่เห็นได้ยากเสียแล้วในยุคที่ความหวังอย่างเดียวของพ่อแม่คือลูกประสบความสำเร็จในการศึกษาที่โรงเรียน
“แม แม เอาเงินมาแหน่ สิไปกินก๋วยเตี๋ยว”
เสียงเรียกขอเงินจากแม่ที่นั่งลอกต้นหอมรับจ้างอยู่ใต้ร่มมะม่วง เป็นเสียงที่เคยชินและน่าเบื่อหน่าย เจ้าของเสียงเป็นเด็กหนุ่มอายุใกล้จะยี่สิบปีแล้ว ไม่ยอมทำการทำงานอะไร วันๆ เอาแต่ขอเงินแม่และยายไปเที่ยวเล่น
ในชุมชนของผม วัยรุ่นส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพประมาณนี้ ที่หนักกว่านี้ก็คือถูกจับเข้าคุกในข้อหาเสพหรือค้ายาเสพติด จากการประเมินคร่าวๆ ในชุมชนประชากรสองพันกว่าคนของผม พบว่ามีวัยรุ่นมากกว่าสิบคนที่เคยหรืออยู่ระหว่างติดคุกในคดียาเสพติด บางคนนั้นเข้าๆ ออกๆ คุกอย่างกับว่าคุกเป็นเพียงที่พักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศการใช้ชีวิต
ผมสังเกตพบว่าคนในชุมชนที่มีปัญหาแบบนี้โดยส่วนใหญ่เป็นคนในยุคที่ผมเรียกว่า “ยุคตื่นการศึกษา” ตกช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ช่วงนี้ชุมชนท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไปหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการผลิตภาคการเกษตรที่เทคโนโลยีอย่างรถไถนาเดินตามแพร่หลาย รถยนต์เริ่มมีมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานในการทำการเกษตรเข้มข้นอย่างในอดีต ลูกชายไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านช่วยพ่อเอาควายไถนา เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องออกเลี้ยงวัวควายซึ่งเป็นสัตว์ที่จำเป็นต่อการทำการเกษตร การทำนาเริ่มเปลี่ยนจากนาดำเป็นนาหว่าน บทบาทของลูกชาวบ้านจึงเปลี่ยนจากแรงงานทางการเกษตร กลายเป็นความหวังที่จะเป็นเจ้าคนนายคน
จำนวนรถยนต์ที่มากขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนเฟื่องฟูขึ้น จากที่ชาวบ้านมีความยากลำบากในการขายผลผลิตทางการเกษตรก็กลายเป็นเรื่องง่าย เพราะสามารถใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือของญาติพี่น้องขนไปขายในเมืองได้รวดเร็วและสะดวก นอกจากนี้ชาวบ้านบางคนที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจก็ผันตัวจากเกษตรกรกลายมาเป็นพ่อค้าคนกลางที่สามารถหารายได้มากขึ้นจากการนำผลผลิตในชุมชนไปขายในตลาดทั้งใกล้และไกล
ผมมองว่าการทำการเกษตรที่ง่ายขึ้นและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ปกครองหันมาลงทุนและให้ความหวังกับการศึกษามากยิ่งขึ้น เมื่อก่อนสำหรับชาวบ้านแล้วลูกหลานคือแรงงานสำคัญ และเศรษฐกิจที่ไม่ดีก็ทำให้ชาวบ้านไม่ค่อยคิดถึงเรื่องการศึกษาสักเท่าไหร่ เพราะแค่จะหาเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็เป็นเรื่องยากแล้ว หากส่งให้เด็กๆในครอบครัวเรียนอีก ภาระค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มมากขึ้นซึ่งมันก็เกินกว่าที่จะแบกรับไหวในสภาพของครอบครัวที่มีรายได้น้อย ไหนจะการหายไปของแรงงานในครอบครัวอีกที่จะทำให้งานต่างๆ ทั้งในบ้านและในไร่ในสวนดูวุ่นวายยิ่งขึ้นเพราะมีแรงงานลดลง
เราจึงพบว่าเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนการได้เรียนต่อจนได้ทำงานอย่างอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรมนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก บางคนถึงขั้นต้องหนีออกจากบ้านไปดิ้นรนเพื่อที่จะได้เรียนเอง เพราะที่บ้านไม่สนับสนุนให้เรียน
เมื่อการเรียนในโรงเรียนกลายเป็นหน้าที่หลักของเด็กในชุมชน ความจำเป็นในการทำงานเกษตรช่วยเหลือครอบครัวจึงลดความสำคัญลง เด็กๆ บางครอบครัวไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่องานเกษตรของครอบครัว พวกเขาจึงมีอิสระที่จะเที่ยวเล่นมากยิ่งขึ้น เงินกลายเป็นปัจจัยหลักที่พ่อแม่จะต้องมอบให้ลูกในทุกๆ วันเพื่อไปโรงเรียนหรือเพื่อทำกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียน
ดูเหมือนว่าสังคมท้องถิ่นจะได้รับการยกระดับขึ้นจากการที่มีคนในชุมชนได้เรียนหนังสือมากยิ่งขึ้น… เด็กในชุมชนหลายต่อหลายคนประสบความสำเร็จในการศึกษาในระบบ สามารถเรียนต่อจนก้าวออกจากชุมชนเกษตรกรรมได้สำเร็จ ซึ่งก็ทำให้ครอบครัวที่เคยอิงอาศัยอยู่กับเฉพาะภาคเกษตรมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้นได้ จากรายได้ที่เกิดจากงานประจำอย่างการรับราชการหรืองานภาคเอกชนในเมือง
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถใช้การศึกษาในระบบโรงเรียนพัฒนาตนเองไปตลอดรอดฝั่งจนสามารถมีอาชีพที่มั่นคงได้ มีเด็กๆ ในชุมชนหลายคนที่เรียนไม่จบ ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ยังไม่จบประถมหรือมัธยม
เด็กๆ เหล่านี้เมื่อออกจากระบบโรงเรียนมาแล้วส่วนใหญ่ก็ล่องลอยอยู่ระหว่างรอยต่อของความหวังกับความจริงของผู้ปกครอง ความหวังที่อยากเห็นลูกเรียนจบได้ทำงานดีๆ กับความจริงที่ลูกเรียนไม่จบ
เมื่อเด็กๆ ต้องแบกรับภาระความหวังของพ่อแม่ที่จะเห็นลูกเรียนจบอีท่าเดียว ทำให้เด็กๆ ในชุมชนหลายคนซึ่งถูกตัดขาดจากวิถีชีวิตและวิถีอาชีพของครอบครัวแล้วไม่สามารถเชื่อมตัวเองกลับเข้าไปได้ ซึ่งทำให้เยาวชนหลายคนในชุมชนต้องเข้าสู่วงจรของอาชญากรรมและยาเสพติดไปโดยปริยาย
ด้วยความที่พวกเขาตกหล่นจากระบบการศึกษากระแสหลักแต่ทว่าความหวังที่จะออกจากวิถีเกษตรกรรมของพ่อแม่ก็ยังคงมีอยู่ จึงทำให้เยาวชนที่ตกค้างอยู่ในชุมชนส่วนใหญ่กลายเป็นคนหลักลอยไม่มีอะไรให้ยึดเกาะอย่างมั่นคง จะไปทำงานดีๆ นอกชุมชนก็ไม่ได้เพราะเรียนไม่จบ ครั้นจะทำการเกษตรที่บ้านก็ทำไม่เป็นและไม่ยอมทำ เพราะถูกปลูกฝังทัศนคติที่มองว่าการเกษตรหรืองานในชุมชนเป็นงานต่ำต้อยลำบากมาตั้งแต่เด็ก
เมื่อตกอยู่ในสภาพเช่นนี้จึงเป็นการง่ายที่พวกเขาจะหลุดเข้าสู่วงจรยาเสพติดซึ่งเป็นอาชญากรรมหลักๆ ที่พบในชุมชน ปัจจุบันนี้ในชุมชนของผมมองคนที่ค้ายาเสพติดเป็นคนที่ประกอบอาชีพหนึ่งไปเสียแล้ว เท่าที่ทราบข้อมูลผู้ค้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์คือเยาวชนหรือผู้ใหญ่ที่ตกหล่นจากระบบการศึกษากระแสหลัก
เมื่อห้าปีก่อนคุณพ่อผมสร้างบ้านใหม่โดยมีช่างเจ้าประจำที่ทำงานก่อสร้างให้เราหลายงานเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านใหม่ น้าสินมีลูกสองคน เมเป็นพี่คนโตเรียนอยู่ ม.3 โรงเรียนใกล้บ้าน เหมยน้องสาววัยซนยังไม่เข้าโรงเรียน
ทุกวันเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุด เมจะมาช่วยพ่อทำงานที่บ้านผมเสมอ ผมเห็นเขามาตั้งแต่เด็ก เมได้ความเป็นช่างจากพ่อมามาก เขาช่วยงานพ่อได้หลายอย่างทั้งที่อายุยังน้อย
ผมถามเมว่า “มีความฝันอะไรกับการเรียนไหม”
“ไม่มี” เมบอก
“แล้วการเรียนเป็นไงบ้างจะจบ ม.3 แล้วนิ” ผมถามต่อ
“เรียนไม่เก่ง มีตกบ้างหลายวิชา” เมตอบด้วยน้ำเสียงเรียบ
ด้วยความที่ผมเองก็กระโดดออกจากกรอบของห้องเรียนมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน โตเรียนรามฯ (ม.รามคำแหง) แบบไม่เคยไปเข้าห้องเรียน ผมจึงเห็นช่องทางชีวิตอีกทางที่ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน ดูๆ แล้วเมไม่น่าจะเป็นเด็กที่มีความใฝ่ฝันอะไรกับการเรียนนัก แต่ในทางการทำงานช่วยพ่อดูเขาขยันและทำมันได้ดีมาก
ผมจึงแนะนำน้าสินว่าถ้าเมเรียนก็ไม่เก่ง ไม่มีความฝันอะไรกับการเรียน จะให้เขาเรียนในโรงเรียนแบบนั้นทำไมล่ะ เท่าที่ดูๆ เขาน่าจะชอบการทำงานแบบพ่อมากกว่า ฝีมือเขาดีไม่ต่างจากช่างผู้ใหญ่เลย ถ้าขืนยังให้เรียนในระบบเขาอาจไม่อยากทำงานเหล่านี้แล้ว ทั้งที่ก็ทำได้ดี แล้วก็จะพาลติดเพื่อนเสียคนไปเฉยๆ แต่หากให้ออกจากระบบโรงเรียนมาอาจจะเรียนการศึกษานอกโรงเรียนควบคู่กับทำงานช่วยพ่อ 3 ปี ถ้าเทียบเป็นมัธยมปลาย เขาก็จะได้อะไรมากกว่าวุฒิ ม.6 เขาจะมีทักษะชีวิตเพราะได้ทำงานเก็บเงินเอง ได้มีทักษะอาชีพจากงานที่ทำ ถ้าต่อไปอยากเรียนต่อก็ยังเรียนได้ ถ้าไม่อยากเรียนแล้วก็ทำงานต่อไปก็จะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว
หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้คุยเรื่องนี้กับน้าสินอีก แต่สังเกตเห็นว่าเมจะได้รับหน้าที่ในการทำงานที่ต้องใช้ทักษะมากขึ้น ผมเห็นเขาฝึกก่ออิฐ ฉาบ และทำงานต่างๆ เหมือนผู้ใหญ่ มารู้ว่าเขาไม่เรียนต่อ ม.ปลาย จริงๆ ก็ตอนที่เปิดเทอมแล้วแต่เขายังมาทำงานอยู่ทุกวัน ดูเมมีความสุขกับการทำงานมากทีเดียว เขาพัฒนาตนเองได้ไวมากๆ
บ้านผมใช้เวลาสร้างสามปี ซึ่งเหมือนกับว่าเขาเรียน ม.ปลายที่นี่จนจบ
งานชิ้นสุดท้ายที่เหมือนกับเป็นการสอบครั้งสุดท้ายของเมคือ การทำตู้เสื้อผ้าใบใหญ่ ซึ่งมีค่าจ้างกว่าหกหมื่นบาท น้าสินให้เมทำเองโดยมีช่างลูกมือช่วยหนึ่งคน เขาใช้เวลาไม่ถึงเดือนก็ทำออกมาเสร็จเรียบร้อยและสวยงามมาก

ตู้ไม้สัก ผลงานของเม ช่างเยาวชน
ปัจจุบันเมมีจบวุฒิมัธยมศึกษาแล้วโดยการเรียนกศน. ระดับม.ปลาย และกลายเป็นนายช่างเต็มตัวที่มีฝีมือไม่ธรรมดา เขาใช้ทักษะงานช่างนี้ทำงานช่วยพ่อและรับงานเองบ้างเล็กน้อย ระดับรายได้ไม่น้อยหน้ากว่าคนอื่นๆ ที่เรียนจบสูงกว่าและได้ทำงานในเมือง
เรื่องราวของเมเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจว่าแท้จริงแล้วเด็กๆ ล้วนมีความสามารถเป็นของตนเอง แต่ความสามารถของคนนั้นมีความหลากหลายเกินกว่าที่จะผ่านเบ้าหลอมเดียวกันออกมาได้
ระบบโรงเรียนปัจจุบันเป็นเหมือนเบ้าหลอมที่มีแบบเหมือนๆ กัน ซึ่งมันไม่อาจตอบสนองความต้องการ หรือตรงต่อความสามารถของเด็กๆ ได้ทุกคน แต่สังคมก็ยังพยายามบอกเด็กๆ ว่า “การเรียนในระบบอย่างเดียวนะที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้” เรามีแผนภาพชีวิตที่พยายามยัดเยียดให้ทุกๆ คนคือ ตั้งใจเรียนมัธยมให้สอบเข้ามหาลัยดีๆได้แล้วได้ทำงานดีๆ มีเงิน มีบ้าน มีรถ มีครอบครัวที่อบอุ่น แล้วเราก็ไม่มีแผนภาพชีวิตอื่นๆ ให้กับเด็กๆ ของเรา รวมทั้งพ่อแม่ของเด็กๆ ด้วย ที่ควรจะมีความหวังว่าถ้าลูกไปทำอย่างอื่นก็สามารถประสบความสำเร็จได้
สุดท้ายทุกคนต้องพยายามดิ้นรนไปตามคติเหล่านั้น บางคนไปรอดก็ดีไป แต่บางคนที่ไปไม่รอดก็กลายเป็นพวกตกหล่นถูกเขี่ยออก ด้วยความที่พวกเขาถูกโปรแกรมความคิดมาแล้วว่าต้องเรียนเท่านั้นจึงจะมีชีวิตที่ดีได้ เมื่อไม่อาจเรียนได้ก็กลายเป็นคนอับจนหนทาง แม้ผู้ปกครองเองก็จนใจที่จะจัดการบรรดาลูกหลานที่เรียนไม่จบให้อยู่ในที่ทางอย่างอื่นที่ไม่ใช่อย่างที่เคยคาดหวัง
ผมเคยถามน้าคนหนึ่งที่ลูกเรียนไม่จบมัธยมต้นแล้วออกมานอนให้แม่เลี้ยงโดยที่ไม่ยอมทำอะไรว่า ทำไมไม่หาอะไรให้เขาทำ ที่บ้านก็มีงานในนาในสวนทั้งปีทำไมไม่ให้เขาทำช่วยละ คำตอบที่ได้รับคือ “มันไม่ยอมทำ จะฆ่ามันก็ตายทิ้งเฉยๆ” ผู้เป็นแม่กล่าวน้ำตาคลอ
ผมเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่านี่คือผลจากการที่สังคมท้องถิ่น “ตื่นการศึกษา” จนไม่ส่งผ่านวิถีชีวิตและทักษะอาชีพของตนให้ลูกหลาน เพราะหวังว่าจะให้เขาเรียนจบสูงๆ ได้ทำงานดีๆ และสามารถหนีจากวงจรชีวิตอันลำบากของเกษตรกรได้ ซึ่งก็น่าเห็นใจพวกเขาเพราะมันเป็นหนึ่งในไม่กี่ทางที่จะช่วยขยับฐานะของพวกเขาได้ แต่การตัดขาดลูกหลานจากวิถีชีวิตของตนเองนั้นกลายเป็นเหมือนการโยนเด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็นลงน้ำ ซึ่งคนที่ตะเกียกตะกายว่ายน้ำได้ก็รอดไปขึ้นอีกฝั่งได้ แต่คนที่ว่ายไม่รอดก็ค่อย ๆจมลงในที่สุด
ปัจจุบันนี้ในสังคมท้องถิ่นมีผู้คนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และถูกค่านิยมทางการศึกษาทำลายศักยภาพในด้านอื่นๆ อยู่มากมาย และนับวันก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ผมไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะหันกลับมาทบทวนระบบการศึกษาของเราอย่างจริงจังว่ามันสร้างคนได้กี่คนและทำลายคนไปกี่คน