โดย ดานุชัช บุญอรัญ

มหาสารคาม – แอมเนสตี้ อินเตอร์ฯ ฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและตั้งวงเสวนาเพื่อสร้างความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงทัศนคติลบ ด้านตัวแทนองค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเรียกร้องรัฐบาลไทยเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

ผู้ร่วมงานเริ่มทยอยมาลงทะเบียนและรับของที่ระลึกจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ ก่อนเข้าชมภาพยนตร์

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2560 ที่ห้อง MU 300 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จ.มหาสารคาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ (Amnesty International Thailand) ร่วมกับ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มมส. จัดกิจกรรมส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในหัวข้อผู้ลี้ภัย ผ่านการชมภาพยนตร์เรื่อง THE GOOD LIE (หลอกโลกให้รู้จักรัก)

ภาพยนตร์ที่จัดฉายเป็นเรื่องราวการเดินทางของผู้อพยพชาวซูดานกลุ่มหนึ่งที่ในวัยเด็กต้องเผชิญกับภัยสงครามกลางเมือง ทำให้ต้องหลบหนีการไล่ล่าของกลุ่มทหารไปยังค่ายผู้อพยพในประเทศเคนย่า ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ และได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะผู้ลี้ภัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยฝีมือการกำกับของนักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ รีส วิทเธอร์สปูน โดยมี 3 นักแสดงชาวซูดานซึ่งเป็นบุตรหลานผู้อพยพชาวซูดานที่ผ่านเหตุการณ์สงครามกลางเมืองและการไล่ล่าในอดีตร่วมแสดงด้วย ได้แก่ อาร์โนลด์ โอแซง, คูโอธ วีล และ เอมมานูเอล จาล

บรรยากาศการรับชมภาพยนต์เรื่อง THE GOOD LIE (หลอกโลกให้รู้จักรัก) ภายในห้องฉายภาพยนต์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหาสารคาม

ผู้เข้าชมภาพยนตร์มีทั้งนิสิตและประชาชนทั่วไป ประมาณ 170 คน ความเศร้าสะเทือนใจของภาพยนตร์เรื่องหลอกโลกให้รู้จักรักทำให้ผู้ชมหลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

กิจกรรมปิดท้ายด้วยวงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมีวิทยากรรับเชิญจากองค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานด้านผู้ลี้ภัย ได้แก่ นายชวรัตน์ ชวรางกูล จาก อะไซลัม แอคเซส ไทยแลนด์ (Asylum Access Thailand) และ น.ส.เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ ร่วมบอกเล่าประสบการณ์และตอบข้อซักถามในวงเสวนา

วงเสวนาแลกเปลี่ยนหลังภาพยนตร์จบ จากซ้ายมือ นายยุทธนา ลุนสำโรง พิธีกร นายชวรัตน์ ชวรางกูล ตัวแทนอะไซลัม แอคเซส ไทยแลนด์ และ น.ส.เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล ตัวแทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์

ผู้ลี้ภัยในไทยไม่มีสถานะบุคคล

นายชวรัตน์กล่าวว่า ปัญหาของผู้ลี้ภัยในประเทศไทยคือ รัฐไทยยังไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ ปี 2494 และไม่มีกฎหมายรับรองสถานภาพของผู้อพยพ กรณีที่บุคคลเหล่านั้นถูกจับกุม พวกเขามักจะถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานกว่าจะได้รับการยินยอมให้สามารถเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย หรือถูกส่งกลับไปยังประเทศของเขา ที่ผ่านมาการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของประเทศไทยจึงเป็นเพียงนโยบายในระยะสั้นที่จำเป็นต้องทำอย่างเสียมิได้

นายชวรัตน์กล่าวอีกว่า แม้ในระยะ 1-2 ปีมา รัฐบาลจะเริ่มพูดถึงแนวคิดที่จะบริหารจัดการปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยให้เป็นระบบมากขึ้น แต่แนวคิดดังกล่าวยังคงอยู่ในขั้นตอนของการริเริ่ม และยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

ผู้ลี้ภัยในทัศนคติของสังคมไทย

น.ส.เพชรรัตน์กล่าวว่า จากการทำแบบสำรวจเรื่องทัศนคติของคนไทยต่อผู้ลี้ภัยที่ได้จัดทำขึ้นในการฉายหนังของแอมเนสตี้ครั้งก่อนหน้านี้ พบว่า คนส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงลบต่อผู้ลี้ภัย โดยหวั่นเกรงผลกระทบด้านทรัพยากรหากประเทศไทยหากเปิดรับผู้ลี้ภัยเข้ามา
น.ส.เพชรรัตน์ตั้งประเด็นว่า ทัศนคติเชิงลบของคนไทยที่มีต่อผู้ลี้ภัย ล้วนเป็นมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดชาตินิยม ดังนั้น จึงควรทำให้คนไทยเข้าใจถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์และยอมรับสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของผู้ลี้ภัยได้อย่างแท้จริง

ข้อสงสัยเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย

นายยุทธนา ลุนสำโรง ผู้ประสานงานฝ่ายนักกิจกรรมประจำภาคอีสาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้ชักชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถามคำถามในประเด็นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่สนใจ โดยมีวิทยากรทั้งสองคนคอยตอบคำถามและร่วมวิเคราะห์ไปพร้อมกัน ดังนี้

ผู้ลี้ภัยที่ได้รับสถานะพลเมืองของต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา หากกระทำความผิดสามารถถูกเนรเทศกลับไปยังประเทศเดิมได้หรือไม่

นายชวรัตน์ – ตามระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยของสหรัฐอเมริกา ในระยะ 6 ปีแรก หากผู้ลี้ภัยได้กระทำความผิดร้ายแรงก็อาจจะถูกส่งตัวออกนอกประเทศได้เช่นกัน ทว่าตามหลักการ Non-refoulement (นอนรีฟูลมอน) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นห้ามการส่งกลับผู้ลี้ภัยไปยังรัฐที่ไม่ปลอดภัยสำหรับชีวิตหรือเสรีภาพซึ่งอาจถูกคุกคาม

ผู้ลี้ภัยจำเป็นต้องเสียภาษีหรือไม่

น.ส.เพชรรัตน์ – ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางที่ขอลี้ภัย เช่นประเทศนอร์เวย์ได้กำหนดอัตรารายได้ขั้นต่ำที่ผู้ลี้ภัยไม่ต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐจนกว่าจะสามารถมีรายได้เกินกว่าอัตราที่กำหนด จึงจะต้องจ่ายภาษีตามปกติเช่นเดียวกับพลเมืองทั่วไป

ตามกฎหมายไทย เด็กทุกคนในราชอาณาจักรต้องได้รับการศึกษา รวมถึงผู้ลี้ภัยหรือไม่อย่างไร

นายชวรัตน์ – ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เด็กผู้ลี้ภัยทั้งที่อาศัยอยู่ในที่คุมขังและที่ครอบครัวอยู่อาศัยในเขตเมืองมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาจากสถานศึกษานอกที่คุมขัง หากแต่ด้วยนโยบายของรัฐที่เน้นปราบปรามมากกว่าปกป้อง ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บลูกไว้กับตัว แทนที่จะส่งออกไปรับการศึกษา

การสร้างอาชีพให้กับผู้ลี้ภัยมีแนวทางเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร

นายชวรัตน์ – แนวทางคือการพัฒนาศักยภาพบุคคลให้คนกลุ่มนี้สามารถพึ่งพาตนเองและเข้าสู่ระบบภาษีได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยปฏิเสธ

น.ส.เพชรรัตน์ – เนื่องจากผู้ลี้ภัยในไทยไม่มีสถานะ ดังนั้น ผู้ลี้ภัยจึงไม่มีสิทธิทำงาน น่าเสียดายบุคลากรเหล่านี้ ซึ่งหลายคนมีความรู้ทางวิชาชีพที่มีประโยชน์ติดตัวมาจากประเทศต้นทาง แต่ไม่มีโอกาสได้นำออกมาใช้

ถ้าหากเราจำเป็นต้องเป็นผู้ลี้ภัย ควรไปอยู่ประเทศใดและสามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง ?

นายชวรัตน์ – การขอลี้ภัยนั้นมีความซับซ้อนพอสมควร การให้ลี้ภัยนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ที่ตัวผู้ลี้ภัยประสบ ส่วนประเทศที่มีระบบคัดกรองและสามารถให้สถานะแก่ผู้ลี้ภัยได้จะต้องเป็นประเทศที่ร่วมในสมาชิกของภาคีอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 144 ประเทศ

น.ส.เพชรรัตน์ – จริงๆ แล้ว เราเลือกไม่ได้ว่าจะลี้ภัยไปประเทศไหน เพราะแต่ละประเทศมีโควตาที่จำกัด ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและความหนักเบาของกรณี

เมื่อต้องอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยของประเทศไทย อาหารและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจะได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรใด

นายชวรัตน์ – โดยมากเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในความเป็นจริง สิ่งที่ผู้ลี้ภัยจะได้รับคือ ข้าว น้ำมันพืช น้ำตาล เกลือ ถั่ว ไม่กี่อย่างเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องพึ่งพาตนเอง จุดนี้ทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยต้องหลบหนีออกจากค่ายกักกันมาทำงานในเมืองเพื่อส่งเงินให้ครอบครัวใช้อยู่อาศัยภายในค่าย ทำให้เกิดปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในเวลาต่อมา

ในปัจจุบันมีคนไทยขอลี้ภัยจำนวนมากเท่าใด เรื่องอะไร และส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศไหน

น.ส.เพชรรัตน์ – ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยการเมือง โดยมากลี้ภัยอยู่ในประเทศแถบยุโรป สำหรับตัวเลขยังไม่แน่ชัด

เราขอลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศกัมพูชา ได้หรือไม่

นายชวรัตน์ – กัมพูชาเป็นสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ แต่ยังมีปัญหาในเรื่องระบบบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ที่ผ่านมามีกรณีตัวอย่างผู้ลี้ภัยจากประเทศออสเตรเลีย 5 คน หนีจากประเทศกัมพูชากลับประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากทนระบบในประเทศกัมพูชาไม่ไหว

รัฐบาลไทยควรมีวิธีการบริหารจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา อย่างไร

นายชวรัตน์- ที่ผ่านมารัฐบาลไทยแก้ปัญหากลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาโดยมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้น แทนที่จะใช้หลักปฏิบัติของผู้ลี้ภัยดำเนินการในเรื่องนี้ รัฐบาลไทยกลับใช้กฎหมายว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์เข้าไปจัดการ ทำให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ได้

วิธีการที่เหมาะสมคือ รัฐบาลควรร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อดูแลผู้ลี้ภัย และควรพิจารณาเข้าร่วมเป็นประเทศในภาคีอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ เพื่อแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยทั้งชาวโรฮิงญาและคนชาติอื่นๆ อย่างตรงจุด แทนที่จะตามจับกุมคุมขังและผลักดันให้ออกนอกประเทศ แล้วก็มีคนย้อนกลับเข้ามาใหม่อย่างเช่นในปัจจุบัน

 

หมายเหตุ ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

image_pdfimage_print