นครพนม – เล่าเรื่องเก่าเพื่อสร้างพลังให้คนรุ่นใหม่ ในงานบุญรำลึก 52 ปี วันเสียงปืนแตกบ้านนาบัว อ.เรณูนคร สหายเก่าย้ำ เข้าร่วมกับ พคท. เพราะสังคมไร้ความเป็นธรรม ขณะที่ อบต.โคกหินแฮ่ได้เงิน 10 ล้านเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ให้บทเรียนสังคม

วันที่ 7 ส.ค. 2560 เป็นวันครบรอบ 52 ปี เหตุการณ์วันเสียงปืนแตก 7 ส.ค. 2508 ซึ่งเป็นวันที่เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าที่รัฐกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดย พคท.ได้เลือกเอาการปะทะครั้งนี้ เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นต่อสู้ด้วยอาวุธ

การปะทะกันเมื่อปี 2508 เกิดขึ้นที่บ้านนาบัว ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้ถูกมองว่าเป็นพื้นที่อันตราย แม้แต่คนที่อยู่ในอำเภอเดียวกันก็ไม่อยากมาข้องแวะด้วย นายศักดา แสนมิตร อายุ 45 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบ่อดอกซ้อน ต.พระซอง อ.นาแก จ.นครพนม และเป็นชาวบ้านนาบัวเล่าว่า

“คนในตัวอำเภอไม่อยากมาที่นาบัว เพราะเกิดจากการมองคนนาบัวในภาพลบว่า คนนาบัวเป็นคนใจร้ายอำมหิตเพราะมีการต่อสู้ เข่นฆ่ากันมากพอสมควร การเดินทางมาบ้านนาบัวก็ลำบาก”

ช่วงเช้าของวันจัดงาน มีผู้คนจากหลายแหล่งเดินทางมาร่วมงาน “วันเสียงปืนแตก” ที่วัดบัวขาว บ้านนาบัว อาทิ อาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม นักเรียนโรงเรียนบ้านนาบัว นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองกุง และอดีตสหายจาก จ.มุกดาหาร

ฟังเรื่องเล่าจากอดีตสหาย

อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครฟังเรื่องเล่าจากนายชม แสนมิตร (คนกลาง) อดีตสหายบ้านนาบัว โดยมีนายศักดา แสนมิตร (คนถือไมค์) เป็นผู้ดำเนินรายการ

บริเวณศาลาอเนกประสงค์ วัดบัวขาว ถูกใช้เป็นสถานที่ล้อมวงเล่าเรื่อง “สหายตั้ง” หรือ นายชม แสนมิตร เป็นอดีตสหาย (คำว่า “สหาย” เป็นคำที่คนในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้เรียก แนวร่วม หรือ ผู้ร่วมงาน – ผู้เขียน) ปัจจุบันอายุ 88 ปี มาเล่าเรื่องราวในอดีตให้ผู้สนใจรับฟัง เขาเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์การปะทะกันระหว่าง พคท. กับเจ้าหน้าที่รัฐครั้งแรก เมื่อ 20 ส.ค. 2504 แต่ พคท. ไม่ได้ยึดการปะทะกันครั้งนั้นเป็นวันเสียงปืนแตก ส่วนเหตุการณ์เสียงปืนแตกปี 2508 นายชมเป็นแนวร่วมที่อยู่ในป่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย

สหายตั้งเล่าย้อนไปถึงสภาพสังคมช่วงที่ทำให้ตนเข้าร่วมกับ พคท. ว่า มีแต่ความทุกข์ความยาก เช่น ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี ต้องเก็บสมุนไพรรักษากันเอง การเจ็บป่วยที่ไม่ร้ายแรงก็อาจถึงแก่ชีวิต ด้านการศึกษา ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้ การเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถือว่าสูงสุดแล้ว

สหายตั้งกล่าวต่อว่า เมื่อมีกระแสการเคลื่อนไหวปฏิวัติในประเทศลาวโดยมีนายพูมี สหายจากลาวเข้ามาเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคม ก็ยิ่งทำให้ตนและชาวบ้านนาบัวเห็นด้วยว่าความไม่เป็นธรรมเหล่านี้เป็นจริงในสังคมไทย ตนจึงตัดสินใจเข้าร่วมกับ พคท. โดยการทำงานมวลชน และชักชวนเยาวชนไปศึกษาที่ประเทศลาวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นายชม แสนมิตร ชี้ให้ดูภาพของสหายที่เสียชีวิตในวันเสียงปืนแตก เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2508 ภาพซ้าย คือ สหายเสถียร หรือนายกองสิน กิตมาตย์ ภาพขวาคือ สหายอ้วน หรือนายทองดี แสนละมุน

สหายตั้งเล่าอีกว่า ตอนที่ตนเดินทางไปศึกษาที่ประเทศลาว ตนไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร รู้เพียงว่าต้องการต่อสู้เพื่อความอยู่ดีกินดี สิ่งที่โดนใจตนมากในตอนนั้นคือการที่ลัทธิมาร์กซ์บอกว่า ต้องเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอาผลประโยชน์ของเอกชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งปัจจุบันตนก็ยังคงศรัทธาลัทธิมาร์กซ์ เพราะไม่มีใคร หรือแม้แต่ศาสนาใดที่บอกว่าให้ทำเพื่อประชาชน

แม้จะผ่านการปฏิวัติที่ล้มเหลวมาหลายทศวรรษแล้ว แต่นายชมก็มีความหวังกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เขาฝากบอกกับคนรุ่นหลังว่า “เราต้องยืนหยัดต่อสู้ ถ้าไม่สู้ มันก็ไม่ได้ ไม่มีเทพเจ้าหรืออะไรมาสู้ให้เรา”

วงพูดคุยจบลงแบบค้างคายังพูดคุยกันไม่จบ เนื่องจากพิธีกรประกาศว่านายอำเภอเรณูนครซึ่งเป็นประธานงานบุญรำลึกมาถึงแล้ว ขอให้ทุกคนออกมาร่วมพิธีเปิดงานที่ศาลาด้านข้าง การสนทนาจึงต้องยุติลงแม้นักศึกษาและอดีตสหายบางคนยังอยากพูดคุยกันต่อ หลังการแยกย้ายออกจากศาลาอเนกประสงค์จึงมีการตั้งกลุ่มสนทนาเล็กๆ ที่ด้านนอกพร้อมกับพิธีเปิดงาน ต่อด้วยการผูกข้อต่อแขนผู้มาเยือน การแสดงฟ้อนภูไทของเยาวชนบ้านนาบัว การมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนโรงเรียนบ้านนาบัว และการแสดงดนตรียุคปฏิวัติจากศิลปินอาสา

หนึ่งในวงสนทนาด้านนอกที่เดอะอีสานเรคคอร์ดเข้าร่วมฟังด้วย คือวงที่มี “สหายสมัคร” เป็นผู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับอดีตสหายและอดีตตำรวจ สหายสมัครมีชื่อจริงว่า นายสมสินธ์ นามวุฒิ อายุ 68 ปี เขาเล่าว่า งานรำลึกปีนี้หากเทียบกับปีก่อนๆ ถือว่าค่อนข้างเงียบเหงา มิตรสหายจากภาคใต้ ภาคเหนือที่เคยมาร่วมก็ไม่ได้มาเพราะไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์ เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอยากให้จัดเป็นงานบุญเล็กๆ ซึ่งวันนี้ก็มีทหารและตำรวจมาสังเกตการณ์การจัดงานด้วย

นายสมสินธ์เล่าประสบการณ์การต่อสู้ร่วมกับ พคท. ว่า เหตุผลที่ตนเข้าร่วมกับ พคท. เพราะเห็นความไม่เป็นธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐทำกับครอบครัวของตน เช่น ยายของตนก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเตะตี ส่วนแฟนของน้าก็เสียชีวิตในคุกเพราะถูกขังลืมที่ จ.อุดรธานี ในสมัยก่อนผู้ที่ถูกกล่าวว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไม่มีโอกาสพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรม แต่ถูกรัฐตัดสินและลงโทษเลย

สหายสมัครเล่าว่า ด้วย “ความโกรธแฮง เคียดแฮง” ตนจึงเข้าป่าร่วมกับ พคท. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2508 ซึ่งเป็นช่วงหลังเหตุการณ์เสียงปืนแตก จากนั้นปี 2509 สหายสมัครไปเรียนที่ประเทศเวียดนามเพื่อศึกษาวิชาการเมืองการทหาร เพื่อให้รู้ว่าเป้าหมายของการต่อสู้คืออะไร สู้เพื่อใคร และจะใช้ยุทธวิธีอย่างไร เขาเล่าว่า ตอนนั้นลาวและเวียดนามรู้ดีว่าจะเอาปากมาสู้กับปืนไม่ได้ ต้องสู้ด้วยอาวุธโดยวิธีป่าล้อมเมือง คือต่อสู้จากเขตชนบทก่อนแล้วจึงโจมตีเขตเมือง

ต่อมาปี 2511 สหายสมัครกลับเข้ามาประเทศไทยและไปประจำอยู่ที่เขตนาจะหลวย อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี (ขณะนั้นนาจะหลวยยังไม่ได้เป็นอำเภอ แต่เป็นพื้นที่หนึ่งของ อ.เดชอุดม-ผู้เขียน) จนถึงปี 2516 จากนั้นจึงกลับไปเรียนที่ประเทศเวียดนามอีกครั้ง ครั้งนี้เรียนด้านการพยาบาลเป็นระยะเวลา 2 ปี แล้วกลับมาประจำฐานที่มั่นใน จ.น่าน

สหายสมัครตัดสินใจออกจากป่าในปี 2527 หรือ 4 ปี หลังมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เปิดโอกาสให้สมาชิก พคท.กลับมาใช้ชีวิตในเมืองได้ปกติ ที่ไม่ออกมาในช่วงแรกเนื่องจากยังไม่แน่ใจในความปลอดภัยของตัวเองและยังไม่เชื่อมั่นว่าคำสั่งดังกล่าวจะถูกบังคับใช้จริง

ปัจจุบันสหายสมัครมีอาชีพทำนา อาศัยอยู่ที่บ้านนาบัวกับลูกหลาน หลังจากพูดคุยกับผู้สื่อข่าวและมิตรสหายเสร็จ สหายสมัครก็ขอตัวเดินกลับบ้านที่อยู่ไม่ไกลจากวัดที่จัดงานเพื่อไปเตรียมตัวออกไปดูไร่นา ขณะที่พิธีการและกิจกรรมต่างๆ ยังดำเนินต่อไป

ผลิตซ้ำเรื่องเล่าเพื่อสร้างพลังให้คนรุ่นหลัง

นางนิลวดี พรหมพักพิง นักวิจัยประจำกลุ่มวิจัยการอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เข้าร่วมงานวันเสียงปืนแตกปีนี้ด้วย กล่าวว่า การฟังเรื่องเล่าจากนายชม แสนมิตร และสหายคนอื่นๆ เป็นเรื่องเดิมที่เล่ามาเกือบทุกปี แต่เป็นการเล่าเรื่องที่จะมาสร้างพลังให้กับคนรุ่นใหม่ การเล่าเรื่องถือเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่เล็กมาก แต่ทรงพลัง และจะทำให้เรื่องดังกล่าวไม่ถูกลืม

นายเมธี กาญจนสุนทร นายอำเภอเรณูนคร (เสื้อขาว กางเกงสีกากี) นายสันติ ศรียะไชย นายก อบต.โคกหินแฮ่ (ชุดสีกากี) และผู้จัดงานรำลึกวันเสียงปืนแตก

เธอกล่าวอีกว่า การจัดงานครบรอบวันเสียงปืนแตกช่วงแรกในปี 2545 ไม่ราบรื่น เช่น เจ้าหน้าที่รัฐเคยสั่งให้รื้อธงแดงของ พคท.ที่นำมาประดับในงานออก ปีต่อๆ มาประชาชนก็พยายามปรับตัวโดยใช้วัฒนธรรม เช่น ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา มีการใช้ความเป็นงานบุญเข้ามาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดงาน

พิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถาน

นายนิพนธ์ เศวตะดุล อายุ 57 ปี ผู้ประสานงานการจัดงานวันเสียงปืนแตก กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่ จำนวน 10,000 บาท ลดลงจากปี 2557 ที่ได้งบประมาณ 15,000 บาท การที่งบประมาณลดลงเนื่องจากหน่วยงานด้านความมั่นคงไม่อยากให้การจัดงานที่มีเวทีเสวนา และเครื่องเสียง ทั้งนี้ไม่ได้มีเวทีเสวนามาตั้งแต่ปี 2557 เพราะเป็นเรื่องความละเอียดอ่อนที่เจ้าหน้าที่ไม่อยากให้จัด

นายนิพนธ์กล่าวอีกว่า อบต.โคกหินแฮ่ได้รับอนุมัติงบประมาณ ปีงบประมาณ 2561 จำนวน 10 ล้านบาทเศษ เพื่อก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนในหมู่บ้านในช่วงเวลาดังกล่าว โดยจะเป็นการจัดแสดงภาพวาด วัตถุสิ่งของสมัยที่คนในหมู่บ้านเข้าร่วมกับ พคท. และมีรูปปั้นของมิตรสหายประมาณ 10 รูป ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ผ่านการประชาคมจากชาวบ้านนาบัวทั้ง 3 หมู่บ้านจำนวน 200 คนแล้ว คือ หมู่ 5, 13 และ 14

รูปปั้นของสหายเสถียร ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เสียงปืนแตก ปี 2508 ตั้งอยู่ด้านหน้าศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 7 สิงหา ที่กำลังจะถูกย้ายไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์

“ที่เราสร้างก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราเป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์ที่สังคมเคยประทับตราว่าเป็นหมู่บ้านคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล” ผู้ประสานงานการจัดงานกล่าว

และบอกว่า ต้องการให้พิพิธภัณฑ์เป็นที่ที่คนได้มาเรียนรู้บทเรียนที่มีค่ากับสังคม เพื่อให้ตระหนักถึงความผิดพลาดของคนในสังคมที่ขัดแย้งกัน แล้วจับอาวุธขึ้นต่อสู้

แม้สหายตั้งจะออกจากป่ามาเกือบ 40 ปีแล้ว เขาก็ยังได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ สังเกตได้จาก เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ อบต.โคกหินแฮ่ นำเอกสารมาให้นายชมลงนาม โดยบอกว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับการปรองดอง แต่นายชมปฏิเสธที่จะลงนามเพราะเห็นว่าการปรองดองแบบนี้แก้ปัญหาไม่ได้ หากจะแก้ปัญหาได้จริง รัฐจะต้องลดการกดขี่ขูดรีด ลดอำนาจเผด็จการทุกอย่าง คิดและทำเพื่อประชาชน แต่ถ้าจะให้ประชาชนมาลดสิ่งใดเพื่อรัฐอีกคงเป็นไปไม่ได้

 

 

 

 

image_pdfimage_print