1

ศาลไต่สวนมูลฟ้องคนตรวจสอบ รง.น้ำตาล

สกลนคร – ศาลจังหวัดสกลนครเตรียมพิจารณารวมคดี 2 คดีของกลุ่มคนรักษ์น้ำอูนที่ถูกบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมฯ ฟ้องหมิ่นประมาท ในการไต่สวนระหว่างวันที่ 3-4 ต.ค.นี้ โดยการถูกฟ้องคดีมาจากการตรวจสอบโรงงานที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (คนกลาง คลุมผม) ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากประชาชนบ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ที่กังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560

จากกรณีที่กลุ่มคนรักษ์น้ำอูน ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจาก ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ถูกบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร เนื่องจากยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลของบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม ที่ อ.กุสุมาลย์ ต่อนายรัฐวุฒิ บุตราช นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อุ่มจาน โดยบริษัทฟ้องกลุ่มคนรักษ์น้ำอูนเป็น 2 คดี คือ คดีของกลุ่มรักษ์น้ำอูน 18 คน และคดีของนางยวนจิตร ไชยรักษ์

นายทิตศาสตร์ สุดแสน นักกฎหมายมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ศาลจังหวัดสกลนครนัดไต่สวนมูลฟ้อง ระหว่างวันที่ 3-4 ต.ค. ที่จะถึงนี้ โดยจะพิจารณารวมคดีของกลุ่มคนรักษ์น้ำอูน 18 คน กับคดีของนางยวนจิตรเป็นคดีเดียวกันเพื่อความสะดวก เนื่องจากทั้งสองคดีมีมูลเหตุเดียวกัน และจะใช้พยานหลักฐานชุดเดียวกันในการไต่สวนมูลฟ้อง

นายทิตศาสตร์กล่าวว่า ในวันไต่สวนมูลฟ้อง จะมีการสืบพยานโจทก์ 4 ปาก ประกอบด้วย ทนายโจทก์, นายกฤต กรเดชากุล ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด, นายรัฐวุฒิ บุตราช นายก อบต.อุ่มจาน และนายชูชาญ กาญจนวาปสถิตย์ ปลัด อบต.อุ่มจาน โดยจะไต่สวนเกี่ยวกับการที่ประชาชนร้องเรียน อบต.อุ่มจาน ให้ตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทฯ จากนั้นศาลจะพิจารณาว่า จะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ หากศาลรับฟ้องจำเลยทั้ง 19 คนจะขอประกันตัว

นักกฎหมายมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนผู้นี้กล่าวอีกว่า หากศาลรับฟ้องอาจต้องวางหลักทรัพย์ในการประกันตัว คนละ 50,000 บาท โดยก่อนหน้าผู้ต้องหาได้ขอความช่วยเหลือเรื่องหลักทรัพย์ประกันตัวต่อกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม แต่ได้รับความช่วยเหลือเพียงบางคนเท่านั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่กองทุนยุติธรรมเห็นว่าผู้ที่ถูกฟ้องบางคนมีที่ดินทำกินจึงไม่ให้ความช่วยเหลือ

นางสมัย มังทะ หนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องว่าหมิ่นประมาทโรงงานน้ำตาล (คนที่ 2 จากซ้าย) ในเวทีเสวนาหัวข้อ SLAPPs Law: กลไกทางกฎหมายที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (อาจ) ต้องเผชิญ ที่โรงแรมหนองหาร เอลลิแกนท์ จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560

นางสมัย มังทะ อายุ 53 ปี สมาชิกกลุ่มคนรักษ์น้ำอูนและเป็นจำเลยในคดีนี้ กล่าวว่า ตนและผู้ถูกฟ้องรวม 19 คนได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม แต่มีผู้ได้รับความช่วยเหลือในเรื่องค่าประกันตัว และค่าพาหนะ เพียง 6 คน เฉพาะเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินหรือทรัพย์สินเป็นของตัวเอง ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ 13 คน กองทุนยุติธรรมเห็นว่า มีทรัพย์สินที่สามารถนำมาช่วยเหลือตัวเองได้จึงไม่ให้การช่วยเหลือ

นางสมัยประเมินผลของคดีนี้ว่า จากที่คุยกับเพื่อนหลายคนและทนายความ คาดว่า ศาลคงจะไม่รับฟ้อง ศาลน่าจะให้ความเป็นธรรม แต่ทุกอย่างก็ไม่แน่นอนจึงต้องเตรียมใจเผื่อไว้ด้วย

“ชาวบ้านที่ถูกฟ้องก็คิดว่าทำตามหน้าที่ รักษาสิ่งแวดล้อม รักษาที่สาธารณะ เป็นหูเป็นตาช่วยเหลือรัฐ แทนที่เราจะเป็นคนฟ้องโรงงานที่เข้ามารุกล้ำที่สาธารณะ เรากลับตกเป็นจำเลย” สมาชิกกลุ่มคนรักษ์น้ำอูนคนนี้กล่าว

สำหรับที่มาของการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้ง 2 คดีนั้น คดีแรกเกิดจาก กลุ่มคนรักษ์น้ำอูนยื่นหนังสือต่อนายก อบต.อุ่มจาน เมื่อวันที่ 11 พ.ย. และวันที่ 16 ธ.ค. 2559 เพื่อให้ตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมฯ ว่า ได้บุกเบิกพื้นที่ป่าและปรับพื้นที่จนทำให้ถนนและลำห้วยสาธารณะเสียหายหรือไม่ นายก อบต.อุ่มจานจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งทางบริษัทฯ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวทำให้บริษัทฯ เสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

ส่วนคดีของนางยวนจิตร ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารเช่นเดียวกับสมาชิกกลุ่มคนรักษ์น้ำอูน 18 คน แต่ต่างกันที่นางยวนจิตรไม่ได้เป็นคนลงชื่อในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว เหตุที่นางยวนจิตรถูกฟ้องเพราะบริษัทฯ กล่าวหาว่า นางยวนจิตรเป็นผู้หลอกลวงบุคคลอื่นให้ลงลายมือชื่อในหนังสือร้องเรียนซึ่งเป็นการใส่ความบริษัทฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ