โดย บูรพา เล็กล้วนงาม
ประเด็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเป็นสิ่งที่ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด นำเสนอมากที่สุด ในการอบรมครั้งสุดท้ายของปี ระหว่างวันที่ 1-3 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเดอะริเวอร์ จ.นครพนม ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนสังคมได้ในระดับหนึ่ง แต่การว่างงานหลังได้รับปริญญาชี้วัดผลงานรัฐบาลได้

วิทยากร ทีมงาน และผู้เข้าอบรม โครงการนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560 ที่โรงแรมเดอะริเวอร์ จ.นครพนม เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2560
ผู้เข้าอบรมคนแรกเสนอประเด็นค่านิยมของคนในชนบทที่อยากให้ลูกเป็นครู โดยเธอจะไปสัมภาษณ์ครู 2 คน คนแรกเห็นด้วยกับการให้ลูกเป็นครู อีกคนไม่เห็นด้วยกับการให้ลูกเป็นครูโดยตัวเองก็ไม่อยากเป็นครูแต่ต้องทำตามความคาดหวังของคนที่บ้าน ประเด็นข่าวนี้นำมาสู่การตอบคำถามว่า ควรบังคับให้ลูกเป็นครูหรือไม่
ข้าพเจ้าในฐานะวิทยากรอบรมคิดตามไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับนักเรียนถ้าต้องเรียนหนังสือกับครูที่ไม่ได้อยากประกอบอาชีพครู แล้วเพราะเหตุใดผู้ปกครองในชนบทจึงมักอยากให้ลูกเป็นครู ซึ่งเรื่องนี้คงมีคำตอบหลังจากข่าวชิ้นนี้สำเร็จ
ผู้เข้าอบรมคนต่อมาอยากเขียนข่าวเรื่องมุมมองของครูชาวต่างชาติ ชาวญี่ปุ่นที่มีต่อนักเรียนไทย เพื่อต้องการทราบว่าครูชาวญี่ปุ่นมองนักเรียนไทยอย่างไร
ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจเพราะที่ผ่านมาจะพบว่ามีครูต่างชาติมาสอนหนังสือที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ค่อยทราบถึงทัศนคติของครูต่างชาติที่มีต่อนักเรียนไทย
ผู้เข้าอบรมอีกคนเสนอเรื่องสถานการณ์รถโรงเรียนในอีสานที่ไม่มีความปลอดภัยแต่นักเรียนไม่มีทางเลือกจึงต้องใช้บริการ ประเด็นนี้ผู้เข้าอบรมต้องการเรียกร้องให้มีสวัสดิการรถรับส่งนักเรียนที่มีความปลอดภัย
เรื่องความปลอดภัยของรถโรงเรียนข้าพเจ้าคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม แต่การจัดสวัสดิการเรื่องรถโรงเรียนจะมีความเป็นไปได้มากขนาดไหนในยุคสมัยของรัฐบาลทหารที่เน้นการเพิ่มงบประมาณให้กระทรวงกลาโหม จนเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด
งบประมาณ ประจำปี 2561 ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 200 เสียง เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา สามอันดับแรก คือ กระทรวงกลาโหม 111,962 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 88,191 ล้านบาท และกระทรวงคมนาคม 47,170 ล้านบาท
ผู้เข้าอบรมคนถัดมาเสนอประเด็น การแต่งชุดนักศึกษาของนักศึกษาจะมีผลต่อผลการเรียนหรือไม่ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าการแต่งเครื่องแบบมีความสำคัญอย่างไร เนื่องจากพบว่าคณะแห่งหนึ่งมีภาควิชาหนึ่งที่บังคับให้นักศึกษาใส่เครื่องแบบ แต่อีกภาควิชาไม่บังคับ แต่มีการกล่าวอ้างว่าการไม่ใส่ชุดนักศึกษาทำให้ผลการประเมินของคณะดังกล่าวลดลง
ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าสงสัยเช่นเดียวกันว่าการแต่งเครื่องแบบเกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้สามารถตั้งคำถามย้อนลงไปถึงการใส่ชุดนักเรียนและบังคับนักเรียนให้ตัดผมสั้นว่าเกี่ยวข้องกับผลการเรียนหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้องกันนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลที่ตัดผมสั้นกว่านักเรียนโรงเรียนเอกชนต้องมีผลการเรียนที่ดีกว่า แต่มันเป็นเช่นนั้นหรือ
ขณะที่ประเทศไทยมุ่งเน้นกฎระเบียบ แต่คุณภาพการศึกษากลับรั้งท้ายประเทศอื่น
เมื่อปีที่แล้ว องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เผยผลประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ “พีซ่า” ประจำปี 2558 ซึ่งสำรวจนักเรียนใน 72 ประเทศทั่วโลก พบว่า นักเรียนสิงคโปร์มีคะแนนสูงสุดในทุกด้าน ได้แก่ คณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ ส่วนนักเรียนไทยอยู่อันดับ 54-57 มีข้อกังขาว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไม่ก้าวหน้ามาจากการที่ประเทศไทยมีครูที่ไม่อยากเป็นครูด้วยหรือไม่
ผู้เข้าอบรมคนสุดท้ายเสนอประเด็นนักเรียนเลือกเรียนสายอาชีพหลังจบชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากค่านิยมของสังคมที่นิยมให้นักเรียนเรียนต่อ ม.ปลายมากกว่าเรียนสายอาชีวะ
ประเด็นของผู้เข้าอบรมจำกัดอยู่ในเรื่องการศึกษา แต่สำหรับข้าพเจ้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติมว่า หลังจากเรียนจบแล้วพวกเขาได้งานทำหรือไม่ และผลกระทบของการที่ผู้ปกครองชาวอีสานอยากให้ลูกหลานเป็นครูคืออะไร
ข้าพเจ้าค้นหาข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จนไปพบรายงานสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2560 มีเรื่องที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ว่างงานตามระดับการศึกษารายภาค ตามตารางข้างล่าง
จากตารางเห็นว่า จำนวนผู้ว่างงานทั้งประเทศประจำเดือนสิงหาคม ปี 2560 มีจำนวน 425,200 คน ภาคอีสานมีจำนวนผู้ว่างงานมากที่สุดจำนวน 133,900 คน เมื่อเจาะลึกลงไปตามระดับการศึกษาของภาคอีสานพบว่าผู้สำเร็จการศึกษาชั้น ม.ปลายตกงานมากที่สุด รองลงมาคือผู้เรียนจบระดับอุดมศึกษา ซึ่งแตกต่างจากภาพรวมของประเทศและภาคอื่นๆ ที่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะตกงานมากที่สุด

จากข้อมูลนี้จึงน่าคิดว่าถ้าคนอีสานจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากขึ้นจะมีโอกาสมีงานทำเพิ่มขึ้น หรือจะมีบัณฑิตตกงานมากขึ้นสอดคล้องกับสถิติของประเทศไทยที่จำนวนคนจบชั้นอุดมศึกษาตกงานมากกว่าทุกระดับการศึกษา
เมื่อพิจารณาผู้ตกงานระดับอุดมศึกษาแยกตามสายที่เรียนตามสัดส่วนร้อยละพบว่า ภาพรวมของประเทศไทย ผู้เรียนจบสายวิชาการว่างงานมากที่สุด ร้อยละ 22 ขณะที่ผู้สำเร็จสายวิชาการศึกษาตกงานน้อยที่สุด ร้อยละ 5.3 ในทางตรงกันข้ามพบว่าในภาคอีสานผู้ที่ตกงานมากที่สุดมาจากสายวิชาการศึกษา ร้อยละ 10.1 หรือ มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกือบเท่าตัว ถ้าคิดเป็นจำนวนคนก็พบว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านการศึกษาหรือเรียนครูตกงานถึง 13,500 คน
จำนวนและร้อยละของผู้ว่างงาน

ที่มา: การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560
จากข้อมูลเชิงสถิติประกอบกับการนำเสนอประเด็นข่าวของผู้เข้าอบรมจึงสันนิษฐานได้ว่า สาเหตุที่ผู้เรียนครูในภาคอีสานว่างงานมากที่สุดคือการที่ผู้ปกครองนิยมให้บุตรหลานเรียนครูเพื่อรับราชการโดยไม่คำนึงถึงตลาดแรงงานใช่หรือไม่ที่มา: การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560
การศึกษาและการว่างงานนอกจากจะเป็นเรื่องส่วนบุคคลแล้ว ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในภาพรวมหนีไม่พ้นรัฐบาล จึงมีคำถามว่ารัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริหารประเทศเข้าปีที่ 3 พัฒนาประเทศอย่างไรบ้าง และทำงานสำเร็จมากน้อยขนาดไหน ทำไมผู้ที่เรียนระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดจึงตกงานมากที่สุดถึง 158,000 คน (ร้อยละ 37.2) โดยเฉพาะในภาคอีสานมีผู้ตกงานจำนวนถึง 32,900 คน
โครงการที่รัฐบาลนี้นำมาพัฒนาภาคอีสานมีจำนวนมาก อาทิ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดน โครงการเลย โขง ชี มูล และโครงการประชารัฐต่างๆ แต่โครงการเหล่านี้ยังไม่ทำให้คนจบปริญญาในภาคอีสานมีงานทำอย่างเพียงพออีกหรือ แล้วจะให้ชาวอีสานและคนไทยไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ให้ทำโครงการที่ใหญ่กว่า คือ “ประเทศไทย 4.0” ต่อไปได้อย่างไร
มีคำถามว่า หมดเวลาหรือยังสำหรับการฝึกหัดบริหารประเทศ