โดย จิรสุดา สายโสม

อุบลราชธานี – น้ำท่วมตำบลบ้านท่าโพธิ์ศรีส่งผลให้นาข้าวเสียหาย แม้จะมีการขุดลอกร่องหัวช้างตามโครงการที่ได้รับงบประมาณจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาแล้ว ขณะที่ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 10 บอกว่าน้ำท่วมเพราะน้ำไหลมาจากพื้นที่อื่น

ร่องหัวช้างอยู่ที่บ้านท่าโพธิ์ศรี ต.ท่าโพธิ์ศรี อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เป็นสระเก็บน้ำและเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติคนในพื้นที่เรียกกันว่า “ห่อง”

หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นพค.56) ให้งบประมาณขุดลอกสระเก็บน้ำร่องหัวช้าง ต.ท่าโพธิ์ศรี เพื่อไว้ใช้เป็นแก้มลิง

เมื่อปี 2558 มีการขุดลอกร่องหัวช้างให้เป็นแก้มลิง ตามโครงการในพระราชดำริฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งและป้องกันน้ำท่วมในหน้าฝน การขุดลอกได้รับงบประมาณจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นพค.56) กองบัญชาการกองทัพไทย ตั้งอยู่ที่ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา น้ำจากร่องหัวช้างเอ่อท่วมถนนเส้นระหว่างบ้านท่าโพธิ์ศรีไปบ้านบ้านวารีอุดม ต.บ้านท่าโพธิ์ศรี ทำให้รถไม่สามารถผ่านไปมาได้ โดยน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. – 2 ส.ค. 2560

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำหลาก น้ำจึงเอ่อล้นจากร่องหัวช้างเข้าท่วมพื้นที่ใกล้เคียงและท่วมที่นาในตำบลบ้านท่าโพธิ์ศรี

นายสนอง จันทร์เพ็ง ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านท่าโพธิ์ศรี ต.ท่าโพธิ์ศรี

นายสนอง จันทร์เพ็ง อายุ 58 ปี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านท่าโพธิ์ศรี ต.ท่าโพธิ์ศรี มีที่นา 18 ไร่ติดกับร่องหัวช้างถูกน้ำท่วมข้าวเน่าเสียหายทั้งหมด เล่าว่า หากเกิดน้ำท่วมหมู่บ้านท่าโพธิ์ศรี หมู่ที่ 7 ที่นาของตนซึ่งแบ่งเป็นนาข้าวเจ้าหอมมะลิและข้าวเหนียวก็จะท่วมทุกครั้ง โดยหลังจากที่ทำโครงการแก้มลิงขุดลอกร่องหัวช้างหากมีพายุเข้าน้ำก็จะท่วมอยู่เช่นเดิม โครงการแก้มลิงจึงไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ในช่วงหน้าแล้งผู้ที่อยู่บริเวณร่องหัวช้างสามารถสูบน้ำมาทำนาบัวได้

ครูชำนาญการพิเศษผู้นี้เล่าอีกว่า โครงการแก้มลิงทั้งหมดใน ต.ท่าโพธิ์ศรี ได้แก่ ร่องแหว่ง ร่องหัวช้าง ร่องไผ่บ้านท่าโพธิ์ศรี ร่องไผ่บ้านวารีอุดม และห้วยทู้ ไม่สามารถแก้ไขน้ำท่วมได้สำเร็จเพราะน้ำยังคงท่วมอยู่เช่นเคย

นายสนองเล่าอีกว่า ตนเคยเสนอวิธีการที่จะจัดการกับน้ำคือ เมื่อเริ่มเข้าหน้าฝนหากน้ำในแก้มลิงทุกที่เต็ม ให้ระบายน้ำออกไปยังลำโดมใหญ่ให้เหลือน้ำไว้ระดับหนึ่งเพื่อเตรียมรับน้ำในหน้าฝน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่า ไม่มีงบประมาณก่อสร้างท่อระบายน้ำจึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้คนอีสานด้วย

นายสุทิม มูลนาม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 10 ต.ท่าโพธิ์ศรี

นายสุทิม มูลนาม อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 10 ต.ท่าโพธิ์ศรี เป็นผู้เขียนโครงการของบประมาณโครงการขุดลอกร่องหัวช้างจาก นพค.56 เปิดเผยว่า ที่ร่องหัวช้างมีการขุดลอกและทำแก้มลิงซึ่งจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง

ส่วนสาเหตุที่น้ำท่วมในครั้งนี้ เกิดจากการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำหลายอ่างบริเวณต้นน้ำ ที่ อ.นาจะหลวยและ อ.น้ำยืน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำพลาญเสือตอนบน อ่างพลาญเสือตอนล่าง ฝายลำซอม และอ่างเก็บน้ำห้วยวังเหนือ ทำให้น้ำไหลลงมาที่ตำบลบ้านท่าโพธิ์ศรีเพื่อผ่านไปลงที่แม่น้ำลำโดมใหญ่ แต่ครั้งนี้น้ำมีปริมาณมากเกินกว่าที่ร่องหัวช้างจะรองรับได้จึงเกิดน้ำท่วมตำบลบ้านท่าโพธิ์ศรี

มีความเห็นที่แตกต่างถึงสาเหตุน้ำท่วมระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับครูชำนาญการ โดยผู้ใหญ่บ้านบอกว่า สาเหตุหนึ่งที่เกิดน้ำท่วมในปีนี้มาจากการมีทางหลวงชนบท อบ.4068 ขวางกั้นทางน้ำทำให้น้ำไหลลงแม่น้ำลำโดมใหญ่ไม่ได้ แต่ด้านครูชำนาญการเชื่อว่า การมีถนนเส้นนี้ไม่ส่งผลต่อการเกิดน้ำท่วม เพราะก่อนที่จะมีการตัดถนนเส้นนี้น้ำก็ท่วมอยู่แล้ว

นายบุญ แสวงวงค์ ชาวบ้านตำบลท่าโพธิ์ศรี กำลังปลดปลาที่หาได้จากร่องหัวช้างออกจากมอง (อุปกรณ์จับปลาที่คล้ายแห)

มีผู้ได้รับผลดีจากการขุดร่องหัวช้าง คือ นายบุญ แสวงวงค์ อายุ 57 ปี อาชีพเกษตรกร ชาวตำบลท่าโพธิ์ศรี ผู้หาปลาในร่องหัวช้างมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก โดยหาปลามาไว้กินเองถ้ามีเหลือจึงนำออกขาย

เขาเล่าว่า เดิมบริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยป่าหญ้าคา การขุดลอกทำให้จับปลาสะดวก อีกทั้งปลาก็เยอะขึ้นเพราะมีทั้งปลาธรรมชาติและปลาที่มีผู้นำหมู่บ้านนำมาปล่อย แม้หลังจากทำแก้มลิงจะมีการแบ่งพื้นที่ให้จับปลา 3 ใน 4 ส่วน ส่วนพื้นที่อีก 1 ส่วนที่เหลือมีไว้เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ

หมายเหตุ จิรสุดา สายโสม ผู้เข้าอบรมโครงการนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

 

image_pdfimage_print