โดย บูรพา เล็กล้วนงาม
กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ โรงงานกระทิงแดง ใช้พื้นที่สาธารณะป่าห้วยเม็ก เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 2 งาน ที่บ้านหนองแต้ ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เป็นที่กักเก็บน้ำสำหรับโรงงานน้ำดื่มและเครื่องดื่ม ที่เว็บเพจเฟซบุ๊คปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านนำมาเผยแพร่ เป็นอีกเรื่องที่ตอกย้ำถึง ความกลับกลอกของรัฐบาลชุดนี้ได้เป็นอย่างดี

ภาพถ่ายทางอากาศพื้นที่ป่าสาธารณะห้วยเม็ก (ในกรอบสีเหลือง) อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้โรงงานกระทิงแดงเข้าใช้พื้นที่ ภาพจากเว็บเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน
เนื่องจากถ้ายังจำกันได้ หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้คือนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ซึ่งทำให้เกิดการผลักดันประชาชนออกจากป่าและมีการฟ้องร้องเป็นคดีความจำนวนมาก
แต่ทำไมรัฐบาลกลับยกพื้นที่ป่าสาธารณะให้กับเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงการทำมาหากินของคนในชุมชน รัฐบาลนี้มีความชอบธรรมแค่ไหนในการบริหารประเทศ
มีตัวอย่างของความกะล่อนของรัฐบาลชุดนี้อีก อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้โอวาทผู้ช่วยทูตทหาร เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยบอกว่า “การทำรัฐประหารที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่การรัฐประหาร แต่เป็นการยุติความขัดแย้งของกลุ่มบุคคล 2 พวกที่ ทะเลาะกัน ตีกัน”
สิ่งที่พูดออกมาคือการบิดเบือนความจริง เนื่องจากการเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 คือการก่อกบฏอย่างชัดเจน เพราะถ้าไม่ใช่การก่อกบฏคงไม่ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองด้วย เพราะการระงับความขัดแย้งไม่น่าจะมีความผิดตรงไหน
อีกข้อคือการรัฐประหารไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทะเลาะกันของประชาชน แต่เป็นการสร้างสถานการณ์ของ กปปส. ซึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่สำเร็จจนกองทัพต้องเข้าควบคุมอำนาจ
แต่บุคคลที่พูดจาไม่น่าเชื่อที่สุดของรัฐบาลนี้คือผู้นำรัฐบาลเอง เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยระบุว่า จะมีการเลือกตั้งตั้งแต่ในปี 2558 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคำถาม 4 ข้อเพื่อโยนหินถามทางให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่ไม่มีเสียงตอบรับในทางบวกมากเพียงพอ
จึงน่าคิดว่าประชาชนจะไว้วางใจรัฐบาลนี้ได้หรือไม่ ดังนั้นถ้ามองถึงพฤติกรรมที่ผ่านมา การยกพื้นที่ป่าสาธารณะให้โรงงานกระทิงแดงทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่าจึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ

ป่าสาธารณะห้วยเม็ก อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยกให้โรงงานกระทิงแดง ภาพจากสำนักข่าวอิศรา
แต่มีเรื่องที่ควรตั้งคำถามมากกว่านั้น นั่นคือทำไมพื้นที่ป่าสาธารณะที่แปลงเล็กๆ ที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จึงอยู่ในการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ส่วนกลาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะทราบได้อย่างไรว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ป่าจริงหรือพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ป่าแห้งแล้งจึงลงนามอนุมัติไป กฎหมายให้อำนาจรัฐบาลกลางในการตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้มากเกินไปหรือไม่ หรือว่า การที่ส่วนกลางมีอำนาจยกผืนป่าให้โรงงานเป็นมรดกตกค้างของการรวบอำนาจเข้าศูนย์กลางของรัฐไทย
ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็จะมีข้อสังเกตอีกว่าทำไมรัฐราชการจึงมักเข้าข้างนายทุนมากกว่าคำนึงความรู้สึกของประชาชน เพื่อพิสูจน์คำพูดนี้ขอยกตัวอย่างการจัดการทรัพยากรในภาคอีสานอีก 2 กรณี
กรณีแรกคือ การที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้อาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตชแก่ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ไปขุดเจาะแร่ที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร
กรณีที่สองคือ ส.ป.ก.จังหวัดชัยภูมิให้นำพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี ไปให้บริษัท เทพสถิตวินด์ฟาร์ม จำกัด เช่า เพื่อสร้างกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า
ทั้งสองกรณีมีความเหมือนกันคือหน่วยงานที่อนุมัติให้เอกชนใช้พื้นที่ไม่ได้ขออนุญาติประชาชนในพื้นที่ก่อน แต่กลับอนุญาตให้นายทุนเข้าใช้พื้นที่ได้ ทำเหมือนว่าประชาชนไม่มีความหมาย
หรือว่าสิ่งนี้คือลักษณะเฉพาะของรัฐราชการรวมศูนย์ที่เป็นอุปสรรคต่อการปกครองตนเองของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย เพราะถ้าประชาชนจะมีสิทธิในการปกครองตนเอง ประชาชนต้องเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และที่ดิน ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้หน่วยงานราชการต่างๆ ที่ครอบครองอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรถูกลดอำนาจลงไป ซึ่งเท่ากับการถูกทุบกระเป๋า
ถ้าอำนาจถูกถ่ายโอนจากรัฐราชการระดับกระทรวงและกรมกระจายลงไปยังประชาชนในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาพการณ์จะดีกว่าหรือไม่
ถ้าเป็นเช่นนี้เราจะไม่มีทางพบเห็นการที่ราชการส่วนกลางสร้างโครงการในพื้นที่ต่างๆ แล้วส่งผลกระทบต่อประชาชนตามมา เช่น รัฐบาลนี้ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม แล้วนายอำเภอเมืองนครพนมฟ้องขับไล่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่สาธารณะภูโคกกระแตมาก่อน จนสุดท้ายศาลนครพนมยกฟ้อง หรือ กรณีการสร้างเขื่อนสิรินธร เมื่อปี 2514 แต่จนถึงขณะนี้ประชาชนที่มีที่ดินที่ถูกน้ำท่วมยังได้รับเงินไม่ครบถ้วนแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วถึง 46 ปี
จึงพบว่ากรณีโรงงานกระทิงแดงพุ่งชนป่าสาธารณะไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะกรณีแต่เป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนปัญหาเชิงโครงสร้าง ฉะนั้นถ้าต้องการแก้ไขก็ควรแก้ไขทั้งระบบ ถ้าทำได้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและพบว่า “ฝืนป่าไม่ได้มีไว้พุ่งชน” อีกต่อไป
กรณีการอนุมัติให้เอกชนใช้พื้นที่ป่าทำให้เห็นความหมายอย่างชัดเจนถึงคำพูดของ “มงแต็สกีเยอ” นักวิพากษ์สังคมและนักคิดทางการเมืองชาวฝรั่งเศส ที่ระบุว่า “ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม”
นี่คือภาพสะท้อนของการที่เป็นผู้รักษาป่าแต่กลับทำลายป่าเสียเอง