ขอนแก่น – พบพื้นที่สาธารณประโยชน์ห้วยเม็กยังมีสภาพสมบูรณ์ ประชาชนบ้านหนองแต้ยืนยันใช้ประโยชน์จากป่าและรักษาป่าร่วมกันมากว่าร้อยปี ย้ำไม่เคยทำประชาพิจารณ์ พร้อมขอให้ยกเลิกคำสั่งให้โรงงานกระทิงแดงเช่าพื้นที่ ด้านเลขานุการสภาองค์กรชุมชนฯเตือน การรับคนในพื้นที่ทำงานไม่ยั่งยืน

สถานที่ก่อสร้างอาคารโรงงานกระทิงแดงขอนแก่น อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าที่สาธารณประโยชน์ห้วยเม็ก

จากกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารโดยเว็บเพจเฟซบุ๊กปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ระบุว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงนามอนุมัติให้บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (กระทิงแดง) ใช้ที่ดินสาธารณะห้วยเม็ก ที่บ้านหนองแต้ หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 2 งาน เป็นที่กักเก็บน้ำสำหรับโรงงานน้ำดื่มและเครื่องดื่ม เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2559 โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวมีสภาพแห้งแล้งและประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว อีกทั้งไม่มีประชาชนคนใดคัดค้าน

เดอะอีสานเรคคอร์ดลงพื้นที่ตรวจสอบผืนป่าสาธารณประโยชน์ห้วยเม็ก เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2560 พบว่าเส้นทางเข้าไปที่ป่าสาธารณประโยชน์ดังกล่าว มีการล้อมรั้วเพื่อก่อสร้างอาคารโรงงานกระทิงแดงขอนแก่น (เฟส 1) ด้านข้างพื้นที่ก่อสร้างโรงงานมีถนนของบริษัทฯ ตัดผ่านเข้าสู่ป่าสาธารณประโยชน์ห้วยเม็ก เมื่อขับรถตามเส้นทางประมาณ 700 เมตร พบว่ามีอาคารของบริษัทฯ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของป่า อาคารหลังดังกล่าวอยู่นอกเขตที่สาธารณประโยชน์ห้วยเม็ก แต่พบว่ามีร่องรอยการถางป่าและขุดดินเป็นบ่อรับน้ำรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ห้วยเม็ก ประมาณ 50 เมตร

นายมนูญ บุญลา ประชาชนบ้านหนองแต้ ม.6 ต.บ้านดง ชี้จุดที่บริษัทฯ ได้เริ่มเข้ามาถางป่าและขุดบ่อรับน้ำ บริเวณทิศเหนือของป่าสาธารณประโยชน์  

นายมนูญ บุญลา ประชาชนบ้านหนองแต้ ม.6 หนึ่งในผู้ที่ติดตามการก่อสร้างโรงงานกระทิงแดง เปิดเผยว่า ประมาณเดือนมีนาคมปี 2560 บริษัทฯพยายามเข้ามาถางป่าเพื่อเคลื่อนย้ายต้นไม้ออกจากป่าสาธารณประโยชน์ห้วยเม็ก รวมถึงมีการขุดบ่อเพื่อรับน้ำเสียจากโรงงาน ช่วงนั้นประชาชนในชุมชนติดป้ายห้ามบริษัทฯ ขุดและเคลื่อนย้ายต้นไม้ขนานใหญ่ออกจากพื้นที่ แต่บริษัทฯ ไม่สนใจและยังคงแผ้วถางและขุดบ่อต่อไป แต่หลังจากที่เกิดประเด็นข่าวขึ้นมา มีสื่อมวลชนหลายสำนักเข้ามาเก็บภาพและทำข่าว ทำให้บริษัทฯนำดินมาถมบริเวณที่ขุดบ่อ

เมื่อผู้สื่อข่าวเดินสำรวจสภาพป่าดังกล่าวพบว่า ป่าแห่งนี้ยังมีสภาพสมบูรณ์ ซึ่งนายมนูญเล่าว่า ป่าแห่งนี้มีไม้ประดู่ประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่และมีเห็ดหลายชนิด เช่น เห็ดระโงก เห็ดไค เป็นต้น

นายประดิษฐ์ อ้อคำ อายุ 67 ปี ประชาชนบ้านหนองแต้ที่ใช้ประโยชน์จากป่าแห่งนี้มากว่า 60 ปี

นายประดิษฐ์ อ้อคำ อายุ 67 ปี ประชาชนบ้านหนองแต้ที่ใช้ประโยชน์จากป่าแห่งนี้มากว่า 60 ปี เปิดเผยว่า ตนมีที่ดินจำนวน 12 ไร่ติดกับป่าแห่งนี้จึงรู้สึกผูกพันกับป่า เพราะป่าเป็นแหล่งอาหาร เช่น ในฤดูแล้งก็จะมีตัวแย้ (สัตว์เลื้อยคลานลักษณะคล้ายกิ้งก่า – ผู้เขียน) ฤดูฝนก็เก็บเห็ด จับกบ จับอึ่งอ่าง เก็บหน่อไม้ รวมถึงเก็บสมุนไพรมาทำยารักษาโรค เช่น ต้นช้างน้าว ต้นเหลี่ยม โดยนิยมเอาไปทำเป็นยาฝุ่นซึ่งเป็นยาแผนโบราณ

นายประดิษฐ์กล่าวอีกว่า คนเฒ่าคนแก่ที่หมู่บ้านจะบอกต่อๆ กันรุ่นสู่รุ่นว่าให้รักษาป่าผืนนี้ให้คงอยู่สภาพเดิม เพราะป่าผืนนี้เป็นป่าสาธารณะที่ชุมชนต้องพึ่งพาอาศัย และไม่เพียงแค่คนในชุมชนบ้านหนองแต้ แต่คนจากชุมชนอื่นก็เข้ามาหาอาหารในป่าแห่งนี้ด้วย เช่น คนจาก อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น และ อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี เป็นต้น ซึ่งมีกฎกติกาที่ใช้ประโยชน์จากป่าแห่งนี้ร่วมกันคือห้ามตัดไม้ทำลายป่า แต่สามารถเข้ามาหาอาหารหาของป่าได้ สมัยเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน เมื่อมีคนเข้ามาตัดไม้ หากจับตัวได้คนคนนั้นจะต้องถูกนำตัวไปให้กำนันตักเตือนและมีการปรับสินไหมโดยให้ปลูกต้นไม้ทดแทน

ประชาชนบ้านหนองแต้ผู้นี้เล่าว่า หลังจากมีข่าวว่าโรงงานกระทิงแดงจะเข้ามาตั้งในพื้นที่ ประมาณปี 2555 เริ่มมีนายหน้าค้าที่ดินเข้ามาซื้อที่ดินบริเวณรอบๆ ป่าแห่งนี้ ประมาณปี 2556 ตนจึงตัดสินใจขายที่ดินทั้งหมดให้นายหน้าไร่ละ 200,000 บาท เหตุผลที่ขายเพราะว่า บริษัทฯได้กว้านซื้อที่ดินรอบข้างที่ดินของตนไปหมดแล้ว หากไม่ขายก็ไม่สามารถเข้ามาทำกินในพื้นที่ได้

“อยากบอกโรงงานว่าผมไม่ได้ขัดขวางการก่อสร้างของโรงงาน เพราะว่าพื้นที่ก่อสร้างโรงงานนั้นเป็นพื้นที่ของโรงงาน แต่อยากให้เก็บพื้นที่ป่าแห่งนี้ไว้ในสภาพเดิม ไม่อยากให้มีการทำลายป่า” นายประดิษฐ์กล่าว

เมื่อสอบถามถึงประเด็นที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดงอ้างว่ามีการทำประชาพิจารณ์หมู่บ้านเพื่อให้บริษัทฯ เช่าที่สาธารณะห้วยเม็ก ตั้งแต่ปี 2558 แล้วนั้น นายประดิษฐ์กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ ถ้ามีการทำประชาพิจารณ์ตามที่อ้างจริง ตนคนหนึ่งในฐานะกรรมการหมู่บ้านต้องไปร่วมรับฟัง รู้สึกไม่พอใจในการกระทำของผู้นำชุมชนเพราะมักจะทำอะไรแบบปิดบังเหมือนกลัวเสียผลประโยชน์

นายมนูญ บุญลา อายุ 64 ปี กรรมการหมู่บ้านหนองแต้ ม.6 ผู้ที่ติดตามการก่อสร้างโรงงานกระทิงแดงในพื้นที่มาตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2555

สอดคล้องกับนายมนูญ บุญลา อายุ 64 ปี กรรมการหมู่บ้านบ้านหนองแต้ ม.6 เขากล่าวว่า ป่าแห่งนี้จะมีการตั้งกฎกติกาในการใช้ประโยชน์ร่วมกันว่า ไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่า การตัดต้นไม้จะทำไม่ได้เว้นแต่ว่าจะตัดต้นไม้เพื่อทำประโยชน์สาธารณะให้ชุมชน แต่ต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านอนุญาตก่อน

“พ่อแม่บอกว่าให้ดูแลป่าแห่งนี้ให้ช่วยกัน ถ้าป่าถูกทำลายจนเป็นโคกหัวโล้นแล้วพวกเราจะอยู่ไม่ได้ คนในชุมชนบ้านหนองแต้ หมู่ที่ 6 เกือบทุกครัวเรือนใช้ประโยชน์กับป่าแห่งนี้” นายมนูญกล่าว

นายมนูญรู้สึกแปลกใจว่า รัฐบาลสมัยไหนก็รณรงค์ให้ประชาชนปลูกป่า รักษาป่า แล้วทำไมรัฐบาลชุดนี้อนุญาตให้บริษัทฯเข้ามาทำลายป่า ถึงแม้จะเป็นที่ดินของหลวง จึงอยากให้รัฐบาลคิดถึงหัวอกคนที่ดูแลป่าแห่งนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ส่วนเรื่องมีข่าวว่าบริษัทฯกระทิงแดงขอเช่าที่ดินบริเวณป่าห้วยเม็กโดยผ่านประชาพิจารณ์หมู่บ้านนั้น นายมนูญกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเรื่องนี้ แต่มีการทำประชาพิจารณ์ให้บริษัทฯ มาก่อสร้างโรงงานจริง ซึ่งคนในชุมชนก็ไม่ได้ต่อต้านเพราะเห็นว่าการมีโรงงานจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ แต่การทำประชาพิจารณ์ให้สร้างโรงงานไม่เกี่ยวข้องกับการขอเช่าพื้นที่ป่าห้วยเม็ก และถ้าบริษัทฯ จะมาขอเช่าพื้นที่ป่าเพื่อสร้างโรงงาน คนในชุมชนคงไม่ยอมให้ก่อสร้าง

“เมื่อเรื่องราวเกิดขึ้นแล้ว คนที่รับผิดชอบควรจะเป็นคนที่เซ็นอนุมัติให้บริษัทฯเข้ามาทำลายป่า อยากขอให้รัฐบาลรับผิดชอบ โดยให้คืนพื้นที่ป่าแห่งนี้ให้ประชาชนในสภาพเดิมแล้วชุมชนจะขอดูแลป่าต่อไป” นายมนูญกล่าว

นายสมพงศ์ สุวอ อายุ 63 ปี ชาวบ้านหนองแต้ ม.6 ต.บ้านดง ขอคืนพื้นที่ป่า 31 ไร่ ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป

นายสมพงศ์ สุวอ อายุ 63 ปี กรรมการหมู่บ้านบ้านหนองแต้ ม.6 อีกคนกล่าวว่า ป่านี้ไม่ใช่ของชาวบ้านหนองแต้หรือของใครคนใดคนหนึ่ง ชุมชนบ้านหนองแต้ได้ร่วมกันรักษามานับร้อยปีแล้ว ส่วนการทวงคืนผืนป่านี้ ตนก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร นอกจากอาศัยสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงโดยการลงมาศึกษาว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าเสื่อมโทรมจริงหรือไม่ จากนั้นผู้มีอำนาจจะจัดการอย่างไรก็สุดแล้วแต่

“ชุมชนบ้านหนองแต้จะขอคืนพื้นที่ทั้ง 31 ไร่ ได้ไหม อยากให้ลูกหลานได้เห็นป่าไปนานๆ เพราะคนแก่รักษามาไว้แล้ว ไม่อยากให้สูญหายไป” นายสมพงศ์กล่าว

นายไพบูลย์ บุญลา อายุ 67 ปี ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

ชาวชุมนุมคนแรกๆ ที่ออกมาต่อต้านคำสั่ง รมว.มหาดไทยลงนามอนุมัติให้บริษัทฯ เช่าพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ห้วยเม็กเพื่อขยายโรงงาน อย่าง นายไพบูลย์ บุญลา อายุ 67 ปี ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ไม่พอใจสิ่งที่รัฐบาลทำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการอนุญาตให้บริษัทฯสามารถแผ้วถางป่าเพื่อสร้างที่กักเก็บน้ำโดยไม่มาคุยกับคนในชุมชนก่อน แต่ถึงแม้รัฐบาลจะมาคุยด้วย คนในชุมชนคงไม่อนุญาตเพราะป่าแห่งนี้เป็นป่าที่ชุมชนใช้ประโยชน์

ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง ผู้นี้ ขอให้คนที่เกี่ยวข้องในการลงนามอนุญาตให้บริษัทฯบุกรุกป่าของชุมชนยกเลิกคำสั่งนั้น บริษัทฯ ก็ทำงานให้พื้นที่ของตัวเองไป แต่ขออย่าเข้ามาบุกรุกป่าแห่งนี้ แล้วขอให้บริษัทฯปลูกป่าทดแทนให้เป็นสภาพเดิมโดยเฉพาะในส่วนที่ทำลายไป เส้นทางที่ประชาชนเคยสัญจรเข้ามาในป่าก็ให้คงไว้เหมือนเดิม เพื่อให้ชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในป่าแห่งนี้ได้ ขณะนี้ บริษัทฯกำลังเริ่มปิดเส้นทางเข้าออกของป่า อีกทั้งมีการทำคันดินกักเก็บน้ำในบริเวณป่าซึ่งอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ในที่สุด

นางมยุรี ศรีสงคราม อายุ 39 ปี สมาชิกชมรมชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพอง ชี้ให้ดูอ่างเก็บน้ำที่บริษัทฯ สร้างขึ้น

จากนั้นตัวแทนชุมชนบ้านหนองแต้พาผู้สื่อข่าวเดินเท้าไปยังทางทิศตะวันตกของป่าสาธารณประโยชน์ห้วยเม็กเพื่อไปดูสถานที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ผู้สื่อข่าวสังเกตว่าบริเวณด้านข้างสิ่งก่อสร้างดังกล่าวอยู่ติดกับห้วยทรายซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยห้วยทรายจะไหลลงสู่แม่น้ำพองอันเป็นแม่น้ำสายสำคัญของภาคอีสาน

นายมนูญ บุญลา ประชาชนบ้านหนองแต้ ชี้จุดที่บริษัทฯสร้างคันดินสูงประมาณ 70-80 เซนติเมตร ทอดยาวประมาณ 200 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในโรงงาน

ระหว่างทางเดินไปดูสิ่งก่อสร้างผู้สื่อข่าวพบว่า มีคันดินสูงประมาณ 70-80 เซนติเมตรทอดยาวประมาณ 200 เมตร และมีน้ำท่วมขัง ซึ่งนายมนูญ บุญลา กล่าวว่า คันดินดังกล่าวเป็นที่กักเก็บน้ำของโรงงาน ซึ่งตอนนี้เริ่มมีน้ำขัง ตนเชื่อว่าบริษัทฯต้องการทำให้น้ำท่วมป่า และทำให้ป่าแห่งนี้กลายเป็นป่าเสื่อมโทรมตามที่กล่าวอ้าง

นางสมจิตร สุวรรณ เลขานุการสภาองค์กรชุมชน อ.อุบลรัตน์ กังวลว่า จะมีการอนุมัติพื้นที่ให้นายทุนมาดำเนินโครงการโขง เลย ชี มูน เหมือนกรณีป่าห้วยเม็ก

นางสมจิตร สุวรรณ อายุ 45 ปี เลขานุการสภาองค์กรชุมชน อ.อุบลรัตน์ กล่าวว่า ตนเห็นตัวอย่างพื้นที่อื่นที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานจึงไม่อยากให้ชาวชุมชนบ้านหนองแต้ต้องเจอกับปัญหาเดียวกัน เช่น การตั้งโรงงานกระดาษของเครือซีเมนต์ไทยในพื้นที่ ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว แล้วมีปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงสู่ห้วยโจดที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตนเกรงว่า การตั้งโรงงานกระทิงแดงในที่สาธารณประโยชน์ห้วยเม็กจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม โดยการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำพองเช่นกัน

ส่วนการที่บริษัทกระทิงแดงบอกกับประชาชนว่าจะรับคนในพื้นที่เข้าทำงานด้วย  นางสมจิตรเตือนว่า เป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน เพราะจากกรณีโรงงานกระดาษก็เคยบอกกับประชาชนว่าจะรับเข้าทำงานแม้ว่าจะจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  แต่ต่อมาเมื่อครบสัญญาจ้าง บริษัทก็เปลี่ยนแปลงกติกาว่าต้องจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขึ้นไป

เลขานุการสภาองค์กรชุมชน อ.อุบลรัตน์ กล่าวอีกว่า การอนุมัติที่สาธารณประโยชน์ห้วยเม็กให้กับนายทุน ทำให้ประชาชนที่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่อยู่อาศัยในพื้นที่ราชพัสดุตื่นตัว และกังวลว่ารัฐบาลจะยกที่ราชพัสดุให้นายทุนเข้ามาดำเนินโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูน โดยที่ราชพัสดุดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 1 หมื่นไร่ ครอบคลุม 6 ตำบลใน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.อุบลรัตน์ และ อ.น้ำพอง หากจะมีการดำเนินโครงการในพื้นที่แห่งนี้จริง จะทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ราชพัสดุมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษได้รับผลกระทบประมาณ 1,700 คน

“ตอนนี้ชาวบ้านกลัวว่ารัฐมนตรีจะอนุมัติพื้นที่ให้นายทุนเลย โดยที่เราไม่รู้ กลัวว่าฝ่ายรัฐให้สิทธินายทุนมากกว่าประชาชน เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนโดยที่ไม่ดูแลชาวบ้าน” เลขานุการสภาองค์กรชุมชน อ.อุบลรัตน์กล่าว

 

 

 

 

image_pdfimage_print