โดยธิดารัตน์ นันตรี และรสสุคนธ์ หงษ์ทอง

นครพนม – ผู้จัดงานรำลึกประวัติศาสตร์ “วันเสียงปืนแตก” เผยว่าหลังรัฐประหารปี 2557 เจอข้อห้ามทำให้งานกร่อยลง เมื่อเทียบกับยุคเฟื่องฟูสมัยรัฐบาลทักษิณฯ ด้านนักวิชาการชี้ถ้ามีการเลือกตั้งจะทำให้งานรำลึกกลับมาคึกคัก แม้วัตถุประสงค์อาจเปลี่ยนไปอีก

วันที่ 7 สิงหาคม 2508 หรือ “วันเสียงปืนแตก” เป็นวันประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเสียเลือดเสียเนื้อของฝ่ายนักปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ การปะทะกันนี้เกิดขึ้นที่บ้านนาบัว ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ปัจจุบันผู้คนที่เคยอยู่ร่วมเหตุการณ์ยังคงฝังใจ และพยายามถ่ายทอดความทรงจำให้กับคนรุ่นหลัง

จากงานวันรำลึกเสียงปืนแตกที่มีการจัดงานยิ่งใหญ่กลายเป็นเล็กลง ในความคิดเห็นของนายสมสินธ์ นามวุฒิ อดีตสหายผู้เข้าร่วมพคท. วัย 68 ปี กล่าวว่า ตนมีความอึดอัด ที่การจัดงานวันรำลึกวันเสียงปืนแตกเล็กลง แต่ก่อนมีการจัดงานที่ใหญ่ และมีอดีตสหายมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ตนอยากให้กลับมาจัดงานยิ่งใหญ่เหมือนเดิม แต่ก็ทำไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต

ในทางวิชาการ นางนิลวดี พรหมพักพิง นักวิจัยประจำกลุ่มวิจัยการอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า งานรำลึกเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทางการเมือง เพราะช่วงเริ่มแรก 2545 ที่มีการจัดงานรำลึกวันเสียงปืนแตกยังไม่ได้การยอมรับจากหน่วยงานของรัฐและสถานการณ์ทางการเมืองตอนนั้นยังไม่ค่อยยอมรับคอมมิวนิสต์สักเท่าไร แต่ปีต่อมาได้มีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ แต่หลังปี 2557 เป็นการเอาวัฒนธรรมเข้ามาเพื่อที่จะได้ทำให้งานรำลึกไม่ได้มีความขัดแย้งกับภาครัฐ เช่น ทำบุญ ฟ้อนรำ เป็นต้น และเป็นยังการสร้างความทรงจำเพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังลืม จึงได้ชื่อว่า “หมู่บ้านประวัติศาสตร์”

นางนิลวดีชี้ว่าถ้าในอนาคต สมมติว่า สถานการณ์ทางการเมืองไม่เป็นรัฐบาลทหาร แต่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทน อาจจะมีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่เหมือนเดิมแต่วัตถุประสงค์ก็อาจจะเปลี่ยนไปอีก ตามหลักทฤษฎีสังคมวิทยาคือกาลเวลาเปลี่ยนอะไรๆ ก็เปลี่ยน นั่นคือ อาจจะจัดงานรำลึกเหมือนเดิมแต่เป็นการเน้นการสร้างความทรงจำมากกว่า เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่าที่นี้เป็น “หมู่บ้านประวัติศาสตร์” นอกจากนี้หมู่บ้านนาบัว ก็อยู่ในแผนพัฒนาของจังหวัดนครพนมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย

รูปปั้นจำลองของสหายเถียร

นายนิพนธ์ เศวตะดุล อายุ 57 ปี ผู้ประสานงานการจัดงานรำลึกวันเสียงปืนแตก และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มในการจัดงานวันเสียงปืนแตก ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดงานเสียงปืนแตกครั้งแรกเริ่มขึ้นในปี 2545 จัดโดยอดีตสหายระดมทุนกันจัดขึ้นในวันที่ 9-10 มีนาคม ซึ่งไม่ตรงกับวันเสียงปืนแตก เนื่องจากทางผู้จัดงานต้องการโยนหินถามทาง เพราะไม่แน่ใจว่าการจัดงานรำลึกจะมีการตอบรับจากฝ่ายรัฐอย่างไร แต่ต่อมามีการตอบรับอย่างดี โดยมีนายอดิศร เพียงเกษ อดีตส.ส. พรรคไทยรักไทย เป็นประธานในพิธี ซึ่งการจัดงานในช่วงปี 2546-2548 เป็นไปอย่างคึกคัก เพราะเป็นช่วงพัฒนาประชาธิปไตยจึงได้รับความร่วมมือจากสมาชิกสภาจังหวัดและองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นอย่างดี

เมื่อเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ก็ยังคงมีการจัดงานรำลึกอยู่เช่นทุกปีและต่อเนื่องเรื่อยมา

นายนิพนธ์กล่าวต่อว่า รูปแบบการจัดงานโดยทั่วไป จะเป็นการทำบุญให้สหายที่ล่วงลับ บายศรีสู่ขวัญผูกข้อต่อแขนผู้มาร่วมงาน และคารวะผู้วายชนม์โดยการจุดธูป วางดอกไม้และคำนับหน้ารูปภาพของผู้วายชน เรียกพิธีกรรมนี้ว่า “พิธีการเมือง” ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของงานรำลึกวันเสียงปืนแตก นอกจากนี้ ในบางปีโดยเฉพาะช่วงปีแรกๆ จะมีการแสดงคอนเสิร์ตเพื่อชีวิต เวทีเสวนา และการแสดงของสหาย เช่น การควงไฟของอดีตสหายจากภาคใต้ โดยมีอดีตสหายจากทั่วประเทศมาเข้าร่วม

นายนิพนธ์ เศวตะดุล ผู้ประสานงานวันรำลึกวันเสียงปืนแตก

ผู้ประสานงานรำลึกวันเสียงปืนแตก กล่าวอีกว่า หลังการรัฐประหาร 2557 ทหารได้ห้ามจัดเวทีเสวนาและห้ามพูดคุยเกี่ยวกับประชาธิปไตย ซึ่งทางผู้จัดก็ยินดีที่จะทำตาม เพราะผู้จัดไม่เน้นการจัดงานใหญ่โต แต่ต้องการความร่วมมือและการยอมรับจากส่วนราชการ เนื่องจากหัวใจสำคัญของการจัดงานคือการรำลึก และผลิตซ้ำเพื่อตอกย้ำประวัติศาสตร์ไม่ให้ถูกลืม รูปแบบการจัดงานจึงมีลักษณะเป็นงานบุญรำลึกแทน และมีการจัดค่ายเยาวชนในหมู่บ้านเพื่อให้มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตนเอง

“เป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ เป้าหมายต้องตั้งไว้ อย่าไปแตะ แต่วิธีการเราจะใช้วิธีอะไรก็ได้เพื่อไปถึงเป้าหมาย” นายนิพนธ์กล่าว

ธิดารัตน์ นันตรี เป็นผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

image_pdfimage_print