โดยวิรดา แซ่ลิ่ม
ศรีสะเกษ – ในยุคที่การเดินทางจากไทยไปต่างประเทศเป็นเรื่องง่ายดายขึ้นทุกวัน แต่การข้ามฝั่งของคนชายแดนอีสานใต้ไปหาญาติกลับยากลำบากกว่าเมื่อก่อน
ระยะทางกว่า 260 กิโลเมตรจากบ้านด่านกลาง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ หยุดกรอกเอกสารตรวจคนเข้าเมืองที่จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ แล้วข้ามพรมแดนไปถึงปลายทางที่บ้านเวียลโป อ.จอมกระสานต์ จ.พระวิหาร ประเทศกัมพูชา สองชั่วโมงหลังรถกระบะบวกอีกสองชั่วโมงในรถตู้ทำให้การเดินทางครั้งนี้รู้สึกยาวนานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อรู้อยู่แก่ใจว่าทั้งสองหมู่บ้านอยู่ใกล้กันแค่คนละฝั่งภูเขา สำหรับค่าใช้จ่ายเที่ยวนี้หมดไปราวหนึ่งหมื่นบาท

เส้นทางจากจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไป อ.จอมกระสานต์ จ.เขาพระวิหาร เป็นครึ่งหนึ่งของระยะทางจากบ้านด่านกลางไปบ้านเวียลโป
ทริปนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ยายเทศ พี่สุเทียน น้าชุณหเกียรติ สามตัวแทนทีมวิจัยท้องถิ่นบ้านด่านกลาง และทีมศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ เดินทางไปนัดแนะ ตระเตรียมงาน “งัยจุมบองปะโอนเญียดสันดาน” หรืองานวันพบปะเครือญาติ ที่คนสองหมู่บ้านจะร่วมกันจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานวิจัยท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์เครือญาติของพรมแดนไทย-กัมพูชา
เมื่อก่อนจะเจอกันนั้นไม่ยาก

ยายเทศ กลิ่นกล่อมกำลังจะกรอกข้อมูลในใบตม.
ตอนทีมงานหยุดทำเรื่องผ่านแดนที่ช่องสะงำ จุดผ่านแดนถาวรแห่งเดียวของจ.ศรีสะเกษ ทุกคนต้องกรอกใบตรวจคนเข้าเมือง (ใบ ตม.) ที่ท้าทายยายเทศ กลิ่นกล่อม มากที่สุด ไหนจะต้องกรอกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ สายตาจะมองตัวอักษรตัวเล็กๆ ก็ลำบาก ต้องมีทีมงานศูนย์วิจัยศรีสะเกษคอยช่วยกำกับทุกขั้นตอน ด้านชุณหเกียรติ รสชาติ หรือน้าชุณหเกียรติ ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 400 บาท เพื่อทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราว (border pass) เพราะพาสปอร์ตเปียกน้ำจนขาดไปหน้าหนึ่ง

เอกสารที่ได้รับจากทางการกัมพูชา หลังการทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราวของน้าชุณหเกียรติ รสชาติ
“เมื่อก่อนตอนผมเรียนป.3 ปี พ.ศ.2511 ผมลงไปกับยายที่หมู่บ้านอีกฝั่ง ยังไม่มีทหาร เดินไปก็สบาย ผ่านช่องโพย เส้นทางเก่า โบร่ำโบราณที่บรรพบุรุษเขาเดินผ่านกันมา ใช้เวลาเดินครึ่งวัน พอเหนื่อยยายก็พานั่งพัก มีแรงก็เดินต่อ” น้าชุณหเกียรติ ย้อนเวลากลับไปในวัยเด็กที่ยังเดินเท้าไปฝั่งกัมพูชาผ่าน “ช่องโพย” ได้อยู่ และบอกว่า “ตอนนี้ไปไม่ได้แล้วครับเพราะติดเรื่องความมั่นคง ต้องไปทางช่องสะงำ ทำพาสปอร์ต ค่าใช้จ่ายมันสูง และไกลด้วย บางคนไม่มีค่ารถจะไปหาญาติ”
ช่องโพย เป็นหนึ่งในห้าเส้นทางเดินธรรมชาติที่ชาวบ้านทั้งสองฝั่งเคยใช้ประโยชน์ ไปมาหาสู่กันตั้งแต่อดีต ระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตรจากบ้านด่านกลางถึงบ้านเวียลโปผ่านช่องโพย พวกเขาเดินเท้าหาของป่า และแลกเปลี่ยนค้าขาย จนนำไปสู่ความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่เกิดขึ้นก่อนการแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2489
ทีมวิจัยท้องถิ่นบ้านด่านกลางช่วยกันหาข้อมูลจนพบว่า เรื่องราวความผูกพันแน่นแฟ้นเริ่มต้นจาก “ตาเงิน” ชาวบ้านด่านกลางที่ค้าขายกับบ้านเวียลโป ไปพบรักกับ “ยายเสาร์” ชาวกัมพูชา และแต่งงานกันในปี พ.ศ. 2468 มีลูกด้วยกัน 2 คน

ยายเทศ กลิ่นกล่อม (คนซ้าย) กับญาติฝั่งบ้านเวียลโป ประเทศกัมพูชา
ตาเงินเป็นน้าชายของยายเทศ หนึ่งในทีมวิจัยบ้านด่านกลางที่บ่นตลอดการเดินทางว่าทำไมมันช่างไกลเหลือเกิน ยายเทศเกิดที่บ้านด่านกลาง แต่สนิทสนมกับญาติฝั่งบ้านเวียลโปมาก เพราะยายเป็นมือวางอันดับหนึ่งเรื่องเดินหาของป่าผ่านช่องโพยตั้งแต่สมัยยังสาว เคยได้แวะพักกับญาติที่บ้านเวียลโปบ่อยๆ จึงไม่น่าแปลกใจกับภาพที่เห็น ทันทีที่ยายก้าวลงมาจากรถตู้ หลาน เหลน และโหลนต่างก็กรูกันเข้ามาทักทายยายเป็นภาษาขแมร์
ต้องพบปะเพราะห่างเหิน
“ระหว่างบ้านด่านกลางฝั่งไทยกับบ้านเวียลโปฝั่งกัมพูชา ที่จริงแล้วเมื่อก่อนเขาก็เป็นญาติพี่น้องกัน มีความสัมพันธ์กันมาก่อนจะมีเส้นพรมแดน เป็นญาติพี่น้องกันทั้งสายโลหิต ทั้งเป็นเสี่ยว เป็นเกลอ เป็นกลุ่มที่เคยทำมาหากินร่วมกัน” รุ่งวิชิต คำงาม ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ อธิบายภาพรวมความสัมพันธ์ของคนชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงว่า ขณะนี้ความสัมพันธ์ขาดช่วงและห่างเหินกันมานาน ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองภายในประเทศกัมพูชา เรื่องเส้นเขตแดนและความมั่นคง รวมทั้งกรณีเขาพระวิหารที่มีความขัดแย้งกันของสองประเทศ

ยายเทศ กลิ่นกล่อม กับเหลนซึ่งเป็นพลเมืองชาวกัมพูชา
ย้อนกลับไปช่วงสงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชาที่พรรคคอมมิวนิสต์หรือเขมรแดง ได้รับชัยชนะในปี พ.ศ.2518 ทหารเขมรแดงยกกำลังมาตั้งฐานอยู่บริเวณชายแดน เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ทำให้การไปมาหาสู่กันของคนชายแดนลำบากมากขึ้น แต่ก็ยังพยายามติดต่อกันอยู่บ้าง
จนมาถึงปี พ.ศ. 2554 ที่ทหารไทยกับทหารกัมพูชาปะทะกันจากกรณีพิพาทเขาพระวิหาร ทำให้ชาวบ้านทั้งสองฝั่งขาดการติดต่อด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายความมั่นคง ดังระบุไว้ในงานวิจัยท้องถิ่นของชาวบ้านด่านกลางว่า ปัญหาชายแดนส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยและกัมพูชาเกิดความหวาดระแวงต่อชาวบ้านที่ไปหากิน กลัวเป็นสายลับ กลัวเป็นคนส่งเสบียง บางครั้งมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ ไม่สามารถถามข่าวทุกข์สุขกันได้
ทุกวันนี้คนในชุมชนตามแนวพรมแดน จะเดินทางไปหาพี่น้องก็ไปไม่ได้เหมือนแต่ก่อน เพราะว่าสถานการณ์ตามแนวพรมแดนยังไม่มีข้อยุติ เสี่ยงต่อการถูกจับกุม ทำให้วิถีการทำมาหากินไม่เหมือนเดิม และทำให้ความสัมพันธ์ข้ามแดนของญาติพี่น้องบ้านด่านกลางและบ้านเวียลโปมีความห่างเหินกัน

น้าชุณหเกียรติ รสชาติ (ขวา) นั่งคุยกับหลานชายชาวกัมพูชาทั้งสองคน
“เราอยู่ชาติไทยเราก็รักชาติ แต่ญาติเราก็รักเหมือนกัน มันคนละอย่างนะครับ ถ้าพูดถึงความมั่นคง จะทำไงได้ก็ต้องเอาความมั่นคงไว้ก่อน ถ้ามีโอกาสก็ค่อยไปติดต่อกับญาติใหม่ ยังไงก็ยังไม่ลืมเหมือนเก่า ทำไงก็ไม่ลืม” น้าชุณหเกียรติตอบคำถามว่าสำหรับตนเอง ชาติ ญาติ และพรมแดน เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ชวนให้นึกถึงคำบอกเล่าของพี่ติ๊ก ปราณี ระงับภัย หนึ่งในทีมศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษที่เดินทางไปบ้านเวียลโปด้วยกัน
พี่ติ๊กอธิบายเรื่องประเพณีเดือนสิบคือวันแซนโฎนตา หรือวันสารทเขมร ที่สะท้อนว่าชาวบ้านทั้งสองฝั่งให้ความสำคัญกับเครือญาติ โดยทุกปีประชาชนจะเซ่นผีบรรพบุรุษ ในอดีตที่ยังไปมาหาสู่กันได้ก็ยังรู้ว่าใครยังอยู่ รู้ว่าใครเสียชีวิต ก็รู้ว่าต้องเรียกขานชื่อใครให้มากินของเซ่น แต่ช่วงที่สถานการณ์ชายแดนตึงเครียด พวกเขาไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ เวลาเซ่นไหว้เดือนสิบชาวบ้านจึงจำเป็นต้องเรียกชื่อญาติที่มีอายุมากๆ ไว้ก่อน โดยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วญาติที่ตนเรียกชื่อนั้นเป็นหรือตาย แต่ต้องทำเพื่อให้รู้ว่าลูกหลานทางนี้ยังรำลึกถึงและไม่ได้ทอดทิ้ง

น้าชุณหเกียรติ รสชาติ (ขวา) ได้เจอเหลนของตัวเองเป็นครั้งแรก
ด้วยนโยบายความมั่นคง ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถไปมาหาสู่กันผ่านเส้นทางธรรมชาติได้เหมือนในอดีต การไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะต้องผ่านจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ในอ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ที่เป็นเขตติดต่อกับช่องจวม อ.อัลลองเวง จ.อุดรมีชัย ของกัมพูชา การเดินทางวิธีนี้มีค่าใช้จ่าย และยากลำบากสำหรับชาวบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีพาสปอร์ต ไม่คุ้นชินกับการกรอกเอกสาร และการนั่งรถเป็นเวลานานหลายชั่วโมง
ถึงกระนั้น เครือญาติสองฝั่งก็ยังพยายามติดต่อกันตลอด สุเทียน ผิวจันทร์ หนึ่งในทีมวิจัยบ้านด่านกลาง กล่าวว่า
“ญาติพี่น้องก็ยังถามไถ่กันเหมือนเดิม มีลักลอบไปหากันบ้าง แต่ต้องดูสถานการณ์ตลอดเวลา ถ้านโยบายฝั่งโน้นเข้มงวด ญาติก็จะบอกกันมาว่ายังไปไม่ได้นะช่วงนี้ รอไปช่วงอื่น แต่ถ้าเรื่องเป็นเรื่องตายที่ต้องไปหากันจริงๆ ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตที่ช่องอานม้า หรือช่องซำแต ถ้าเป็นผู้หญิงไปจะง่ายหน่อย ถ้าเป็นผู้ชายขอไปจะยาก”
ขณะทีมวิจัยจากฝั่งไทยยืนรวมกันอยู่ใต้ถุนบ้านหลังหนึ่ง หลังลงจากรถตู้และขนสัมภาระออกมาเรียบร้อยแล้ว บรรยากาศตอนนั้นเต็มไปด้วยชาวบ้านเวียลโปที่มารวมกัน พี่สุเทียนบอกว่า เมื่อได้ทำงานวิจัยนี้โดยใช้เวลาเกือบสองปีค่อยๆ สืบสายเครือญาติ พบว่าทุกคนที่ยืนอยู่ตรงนี้ล้วนเป็นญาติพี่น้องกันทั้งหมด สิ่งที่คนรุ่นตนกังวล คือลูกหลานฝั่งไทยที่เกิดมาโดยไม่รู้เลยว่าตัวเองมีญาติพี่น้องอยู่ฝั่งกัมพูชา เป็นที่มาของการจัดงานวันพบปะญาติพี่น้อง เพราะนอกจากจะพาคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่ได้เจอกันมานาน ยังอยากพาลูกหลานให้ได้มาเจอกันด้วย
สายสัมพันธ์เครือญาติเพิ่มความมั่นคงให้กับรัฐได้

สุเทียน ผิวจันทร์ ยืนอยู่หน้าแผนผังเครือญาติของคนสองฝั่งที่ทีมวิจัยบ้านด่านกลางร่วมกันทำขึ้นจากข้อมูลที่รวบรวมมา
กวางาน ‘งัยจุมบองปะโอนเญียดสันดาน’ จะได้เกิดขึ้นจริงช่วงต้นปีที่ผ่านมา ต้องผ่านกระบวนการทำเอกสารและติดต่อกับหน่วยงานของรัฐที่กินระยะเวลายาวนาน เพื่อขอผ่อนปรนให้ชาวบ้านที่ไม่มีพาสปอร์ตได้เดินทางไปเยี่ยมญาติอีกฝั่งด้วย แต่ถึงอย่างนั้น พี่สุเทียนก็มั่นใจว่า นอกจากโอกาสที่ชาวบ้านสองฝั่งจะได้ไปมาหาสู่กันง่ายขึ้นกว่าเดิมแล้ว ความสัมพันธ์เครือญาติที่ได้รับการฟื้นฟูจะช่วยเรื่องความมั่นคงของทั้งสองประเทศด้วย
“ความหวาดระแวงจะลดลง ช่วยรัฐได้แน่ๆ เพราะอาศัยความเป็นเครือญาติและความคุ้นเคย ทำให้เชื่อใจกันและคุยกันได้ ปี 2554 ตอนปะทะกัน ผมเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ในพื้นที่เรามีกัน 4 คน ปืน 8 กระบอก ชาวบ้านคนอื่นอพยพออกไปหมด” พี่สุเทียนย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว
เขาเล่าอีกว่า เชื่อหรือไม่ว่าไม่มีการปะทะกันเลยในพื้นที่ พวกตนต้องอดทนและอยู่นิ่ง ตนเชื่อว่าฝั่งเขาก็อดทนเหมือนกัน ทั้งสองฝั่งยิงข้ามหัวกันไปมา แต่ในพื้นที่ไม่มีการยิงกัน แล้วสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมบ้านนี้ลูกปืนถึงไม่ตก ก็เพราะความสัมพันธ์เครือญาติ ฝั่งโน้นกัมพูชาก็รู้ว่าฝั่งไทยเป็นญาติกัน ระเบิดจึงไม่ตกลงมาสักลูก และโชคดีกองกำลังฝ่ายไทยไม่ได้มาตั้งกองกำลังในพื้นที่นี้
รุ่งวิชิต คำงาม ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษกล่าวว่า ความสัมพันธ์ของคนสองฝั่งเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ในระดับประเทศ ไม่จำกัดแต่ในวงชุมชนสองฝั่งเท่านั้น ถ้าประชาชนสองฝั่งมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานรัฐทั้งสองรัฐที่จะทำงานร่วมกันได้มากขึ้น ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐฝั่งกัมพูชาที่ทำงานอยู่แถวชายแดนก็มักจะเป็นญาติพี่น้องกับคนบ้านด่านกลาง ทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้กระทั่งทหารที่อยู่ชายแดน เวลาไปมาหาสู่กันก็เอื้ออำนวยแก่กันได้ แต่ในฝั่งไทยเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่มาประจำตามเขตชายแดนจะมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงชุมชนเพราะเรื่องภาษา เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็แก้ไขได้ยาก

ลวดกั้นตรงพรมแดนไทย-กัมพูชา บริเวณจุดผ่อนปรนช่องอานม้า จ.อุบลราชธานี
“พี่น้องที่บ้านด่านจะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานรัฐได้ เพราะที่ผ่านมาเวลาจะแก้ปัญหาอะไร เจ้าหน้าที่ก็โทรหาคนบ้านด่านนี่แหละ ถามว่ารู้จักคนนี้ไหม คนนั้นไหม ชาวบ้านสามารถช่วยเจรจาพูดคุย เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันกับรัฐได้” รุ่งวิชิตกล่าว