โดยพีระ ส่องคืนอธรรม

หากท่านไปร่วมงานเสวนาวิชาการโครงการสานสัมพันธ์วรรณกรรมไทย-ลาว เรื่อง “ฮูปแต้ม มรดกวัฒนธรรมสองฟากฝั่ง” เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยไม่ได้สวมชุดเครื่องแบบนักศึกษาหรือจีวรพระ คนก็คงจะเรียกท่านว่า “อาจารย์” ไว้กันเหนียว

เช่นเดียวกับเมื่อฉันได้พบคุณหทัยรัตน์ สุดา หรือ “พี่อ้อ” จนกระทั่งถามไปจนรู้ความจริงว่าแต่ละคนก็ไม่ได้เป็น “อาจารย์” ทั้งยังมาเองโดดๆ แบบ “ไม่มีสังกัด”

คุณหทัยรัตน์ หรือ “พี่อ้อ” เป็นผู้จัดการศึกษาด้าน sexuality หรือเพศวิถี มีประสบการณ์หลากหลาย ทั้งการผลักดันการเรียนการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน การจัดตั้งเครือข่าย safe sex ไปจนถึงการเสริมพลังอำนาจให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้มีศักยภาพเป็นผู้จัดการศึกษาด้วยตนเอง

หลังจากทำงานที่สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน (AIHD) มหาวิทยาลัยมหิดล ตามด้วยองค์กรแพธ (PATH) รวมแล้วเป็นเวลากว่ายี่สิบปี ล่าสุดคุณหทัยรัตน์ย้ายถิ่นฐานกลับบ้านที่เมืองศรีสะเกษมาได้เกือบสองปีแล้ว เปลี่ยนสถานะจาก “เอ็นจีโอ” กลายเป็น “ชาวบ้าน” ผู้เพิ่งได้มารู้จักกับมูนมังของความเป็นอีสานเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

บทสัมภาษณ์นี้แกะรอยเส้นทางของคุณหทัยรัตน์สู่การเห็นคุณค่าในศิลปวัฒนธรรมอีสาน คู่ขนานไปกับการเล่าประสบการณ์ที่เธอได้จัดการศึกษาให้ผู้อื่นเห็นคุณค่าของตัวเอง ท่ามกลางการที่โครงสร้างสังคมกำหนดและลดทอนคุณค่าของ “คนจบป.6,” ของ “คนรักเพศเดียวกัน,” ของ “ความเป็นลาว” ลงไป

เพื่อที่จะเข้าใจถึงหลักการสำคัญที่ว่า มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็น “อาจารย์” หรือไม่

คุณหทัยรัตน์ สุดา จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านชานเมืองศรีสะเกษให้เป็น “พื้นที่สาธารณะ” มีทั้ง “ห้องสมุดผีเสื้อ” บริเวณสวนหน้าบ้านซึ่งให้บริการคนและโรงเรียนในพื้นที่ และห้องชั้นบนที่ใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ จัดเวิร์กช็อปได้ไปในตัว

พี่มีเชื้อสายจีนใช่ไหมฮะ เป็นคนจีนรุ่นที่เท่าไหร่

ตอนรุ่นอากงอาม่า เป็นจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ เปิดร้านขายกาแฟอยู่ตรงหน้าศาลหลักเมืองศรีสะเกษ สมัยก่อนคนจีนจะไม่คิดว่ามาตั้งรกรากหรอก ก็คือมาทำมาหากิน มีเงินก็จะกลับประเทศจีน นั่นก็เป็นรุ่นแรก

แม่พี่ก็เป็นรุ่นสอง มาแต่งงานกับพ่อซึ่งเป็นคนลาว จากอำเภอพนา อำนาจเจริญ สมัยก่อนยังสังกัดกับอุบลฯ พี่ก็เป็นรุ่นที่สาม

จีนแต้จิ๋วใช่ไหมฮะ? พูดจีนได้ไหม

ใช่ แต้จิ๋ว แต่พูดไม่ได้ เกิดมาก็เว้าลาว แต่ว่าด้วยความที่พ่อเป็นข้าราชการ เข้าใจเนาะว่าคนบ้านเฮาหนิ พอเป็นข้าราชหนิ กะสิบ่เว้าลาวกับลูก คึดออกบ่ พ่อกะสิเว้าไทยกับลูก แม่ก็เป็นคนจีน เอื้อย [พี่] ก็เลยเป็นคนอีสานที่บ่กินข้าวเหนียว ก็คือตั้งแต่น้อยจนใหญ่มา กะกินข้าวเจ้า กินกับข้าวที่ไม่ใช่กับข้าวอีสาน เพราะว่าแม่เป็นคนจีน แม่ก็จะทำกับข้าวจีน ผัดนั่นผัดนี่ผักบุ้ง กับข้าวที่กินกับข้าวสวย

พ่อซึ่งเป็นคนอีสาน ก็ออกจากบ้านไปตั้งแต่จบประถมเพื่อที่อยากจะไปเรียนหนังสือ คนสมัยก่อนแบบลูกบ้านนอกจะไม่เรียนใช่มั้ย แต่พ่อพี่ก็คือเข้ากรุงเทพฯไปเลย ไปเรียนหนังสือเป็นทหารเป็นหญังแล้ว ถึงกลับมาบ้าน พ่อพี่เป็นสัสดีเนาะ

มันก็เลยทำให้เราเป็นเด็กน้อยอีสานอยู่แต่บ่ได้ใช้ชีวิตแบบคนอีสาน ดำนาบ่เป็น ฮูปแต้มฮูปเติ้มเขาเว้ากันนี่กะพอแต่มาสนใจปีนี้หละ ตะกี้ก็บ่ได้เคยสินำไปเบิ่งดอกสิมเสิมอีหญังหนิ [ไม่เคยได้ตามไปดูสิมอีสานอะไรนี่หรอก] คือก็บ่เคยอายที่เป็นคนอีสาน ไปไสแนะนำโตกับใผก็ตาม แต่ว่าบ่ได้สนใจวัฒนธรรมอีสานน่ะ

เป็นหญังจั่งมาสนใจวัฒนธรรมอีสานหละ

ไปสิม ตะกี้ [แต่ก่อน] ไปวัดก็คือ สนใจพระหนา ว่าพระองค์ใด๋สิปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สิสอนให้เฮาฮู้จักหลักการภาวนา ใผสิไปญ่างเลาะ [เดินเที่ยว] อ้อมเบิ่งฮูปต้มฮูปแต้ม

สองเดือนที่แล้ว มาเป็นวิทยากรอยู่ภาควิชาสรีรวิทยา ที่มข. [มหาวิทยาลัยขอนแก่น] ไปอบรมให้สองวัน จบวันแรกเค้าก็ต้องเอ็นเตอร์เทนตามมารยาท เค้าก็ถามว่าอาจารย์จะไปไหน เค้าจะพาไป ก่อนหน้านั้นก็ดูเฟซบุ๊ก แล้วก็เผอิ๊ญ เห็นรูปแต้มวัดไชยศรีนี่ขึ้นมา อู๊ย คืองามแถะ เห็นตั้งแต่ในรูปแล้วนะ สีครามน่ะ เพราะพี่คนชอบผ้าฝ้ายชอบครามนะ อ๊าวว มีครามเป็นฮูปนำติ อันนั้นคือแรงบันดาลใจเลย แล้วก็คิดว่าถ้าไปขอนแก่นต้องไป

พอไปเห็นก็แบบ สวยน่ะ แล้วก็ไปเจออาจารย์ทรงวิทย์ [พิมพะกรรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข.] มาบรรยายอยู่ พี่ก็ไปส่อหล่อยืนฟังนำเขาน่ะ โอ๊ คือเป็นตาสนใจแถะ [ช่างน่าสนใจแท้] แล้วพี่ก็ตามไปด้วยซื้อหนังสือ สะกดรอยสินไซ ของนัทธ์หทัย วนาเฉลิม มาอ่าน อ่านก็แฮงตะสนใจเด๊ะหละ [อ่านแล้วก็ยิ่งสนใจขึ้นมาอีก]

ไปเข้าร่วมงานเสวนาวิชาการ “ฮูปแต้ม” แล้วประทับใจอี่หญัง

เจ้าจำพระนั้นได้บ่ พระไพวัน มาลาวง นั่น [พระภิกษุหนุ่มนามปากกา “ลูกดอนกะเด็น” เจ้าของรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขงจาก สปป. ลาว] เลาเว้าผญาเทิงเวที เอื้อยฮู้สึกว่า โอ๊ยยย บ่เคยฟังคนเว้าผญากับเวทีวิชาการ แบบว่า “คันสิไปทางหน้าให้เหลียวหลังเบิ่งก่อน คันมะลูดทูดเท้า เซาถ้อนอย่าไป”  มันก็เลยเฮ็ดให้เอื้อยมาเสิร์ชกูเกิ้ลหนา เกี่ยวกับคำผญาเนี่ย

ปกติเอื้อยเป็นคนปฏิเสธเทคโนโลยีเด๋เธอ เอื้อยบ่เคยคึดว่ากูเกิ้ลสิมาหาหญังบ่มี แต่เอื้อยก็อยากฮู้ว่า ความหมายแท้ๆ คืออีหญังหนา คือมันกระตุ้นการเรียนรู้ของเฮาเนาะ บ่านเอื้อยกะเสิร์ชคำว่า ผญา หนึ่งวรรคแล้ว แล้วก็เข้าไป จากอันหนึ่งมันก็นำให้เฮาเฮียนฮู้ๆ ไป

นำไปไสหละบ่านหนิ [นำไปไหนล่ะทีนี้]

พอหลังจากงานเวทีนี้ เอื้อยเพิ่งไปอบรมที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยขอนแก่น เอื้อยก็ไปลองจัดอบรมเป็นภาษาไทยปนภาษาอีสาน และเอาผญาสอดแทรกเข้าไป ซึ่งปกติพี่บ่เคยใช้ภาษาอีสานในการอบรมเด๊ะ

ครูน่ะ ม่วนหลาย คือเอื้อยไปเฮ็ดเวิร์กช็อปมาโดยตลอด คนก็ม่วนนำเวิร์กช็อปเอื้อยเนาะเพราะมันเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมน่ะ แต่เอื้อยบอกได้เลยว่า เทื่อนี้มันม่วนอี่หลีน่ะ ม่วนทั้งเฮาม่วนทั้งเขาน่ะ คือมันมี “ความเป็นลาว” น่ะ จั๊กสิเว้าแนวใด๋ [ไม่รู้จะว่ายังไง]

เอื้อยมีความฮู้สึกว่า อ๋อ! เวลาเฮาเข้าใจอีหญังแล้วเอาไปใช้ได้มันเป็นจั่งซี่นี่เอง มันม่วนหนา มันแบบว่า จนผู้เข้าอบรมว่า “ป๊าด” แบบว่า ความเป็นลาวในห้องอบรมมันม่วนจั่งซี่น่อ มันเป็นเรื่องชีวิตของเฮา แล้วกะบรรยากาศของการเรียนรู้มันกะเฮ็ดให้เขาเจ้าฮู้สึกแบบมีความเป็นพี่น้องกัน

ตอนเอื้อยเบิ่งรูปแต้มซื่อๆ บ่ทันได้อ่านสะกดรอยสินไซหนิ มันเป็น “ชอบ” ที่แบบผิวๆ คือจั่งเอื้อยเห็นเธอเอื้อยก็มักเธอจั่งซี่หนา แต่ว่าพอเอื้อยได้อ่านหนังสือแล้วเนี่ย เอื้อยฮู้สึกเลยว่า มันเข้าใจนำหนา มันบ่แม่นรักแบบ “ร๊ากก” หนา แต่ว่ามันมีความเข้าใจที่มาที่ไปด้วย มันเฮ็ดให้เฮามีความฮักแบบมีวุฒิภาวะนะ มันบ่แม่นความฮักแบบลุ่มหลง พอเฮาฮักและเข้าใจมันก็เลยเฮ็ดให้เอื้อยประยุกต์ใช้ในงานเฮา ในชีวิตของเฮา

ภาพเมื่อคุณหทัยรัตน์ไปร่วมงาน “ฮูปแต้ม มรดกวัฒนธรรมสองฟากฝั่ง” ซึ่งได้พาผู้เข้าร่วมงานไปชมฮูปแต้มที่วัดไชยศรี บ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมืองขอนแก่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2560

ฮักแบบมีวุฒิภาวะ นี่เป็นจั่งใด๋ ขยายความตื่ม [เพิ่มเติม] อีกได้บ่

เอื้อยมักหม่องที่เอื้อยไปเฮียน sexuality [เพศวิถี] สำนักครูของเอื้อย [สำนัก Family Planning Association หรือ FPA ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร] เนี่ยก็คือ

“เข้าใจมัน เพื่อจะรื้อมัน แต่อย่าเป็นศัตรูกับมัน”

คันแม่นคือเฮาไปสิมวัดไชยศรีเนาะ คันแม่นเอื้อยบ่ได้เฮียนกับครูสำนักเอื้อยเนี่ยะ เอื้อยว่าเอื้อยดิ้นแล้วเด๊ะ ไปฮอด [ถึง] เห็นว่า “ผู้หญิงห้ามเข้า” จั่งซี่ โอ๊ยยย คนเฮ็ดงานด้านสิทธิก็สิว่าตัวะว่า “นี่คือความบ่เท่าเทียมทางเพศ! เป็นหญังผู้ญิงเข้าไปบ่ได้!” จั่งซั่นจั่งซี่หนา

แต่ความเข้าใจที่เอื้อยได้รับรู้มาก็คือ ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป เฮาก็แค่เข้าใจที่มาที่ไปว่า อ๋อ บริบทอันนี้มันก็สอดค้องกับยุคนั้นสมัยนั้น แต่พอมาฮอดยุคสมัยปัจจุบันนี่ เฮาบ่สมาทานเอาก็ได้ เฮาบ่รับเอาก็ได้ เออ บ่เข้าก็บ่เป็นหญังดอก บ่เข้าก็ดี ข้อยไปยื่นโทรศัพท์มือถือให้เจ้าผู้ซายแมนบ่ เจ้าเข้าไปเจ้าถ่ายให้ข้อยแหน่เด้อ ทุกมุมออกมา จั่งซี่หนา (หัวเราะ) บ่ได้แบบว่า “อึดอัด คับข้องใจ เป็นหญังคือบ่เท่าเทียมทางเพศ!”

เข้าใจว่า อ๋อออ เขาถูกปูกฝังมาแนวนั้น แต่เฮาสิเอาหญังหละ เฮากำลังสิเอามวลชนอยู่แมนบ่? ตาที่เลายืนอธิบายห้ามผู้ญิงบ่ให้เข้านั่น เลากะมีด้านอื่นบ่ที่เลางาม เช่น เลาบ่มายืนเฝ้าเว้าเรื่องฮูปแต้มก็ได้เด้ แมนบ่หละ เลาอยู่เฮือนนอนอยู่เฮือนก็ได้ เออ ก็ต้องเห็นความงามของเลาให้ได้ หาความงามของคนตรงหน้านั่นให้ได้

คือเข้าใจระบบชายเป็นใหญ่ แต่บ่ประณามมัน จั่งซี่เบาะ

สิ่งที่สำคัญ ที่เป็นหัวใจเป็นแก่นเลยนะในสายครูของเอื้อยก็คือ ทุกคนเป็นมนุษย์คือกัน เพราะความเป็นมนุษย์ก็คือว่า อีหญังที่เฮาบ่อยากให้มาเฮ็ดกะเฮาอย่าไปเฮ็ดกะคนอื่น ให้จำหลักนี่ให้มันได้ แล้วมันจั่งไปแตกเป็นอย่างอื่น

คือตอนนี้ในสายที่เฮ็ดประเด็นเพศวิถีในบ้านเฮาเนาะ กะสิมีกลุ่มบางกลุ่มที่เขากะเอิ้นว่าเขาเป็นเฟมินิสต์เนาะ แต่จากที่เอื้อยไปเฮียนฮู้กับครูของทางฝั่งเอื้อยนะ เอื้อยมีความรู้สึกว่า เฮาเรียนรู้ความหลากหลายเพื่อที่เฮาสิใช้ชีวิตในความหลากหลายร่วมกันอย่างสันติ แต่เอื้อยรู้สึกว่าบางกลุ่มในสังคมไทยเฮาตอนนี้ที่กำลังเป็นแนวหน้าในเรื่องเพศ เรื่องเพศวิถีหนิ คือจั่งด่ากัน เออ มันบ่ได้ญอมรับและเข้าใจเขาหนา

แบบคือจั่ง เรื่องปิตาธิปไตยเนี่ยก็คือจั่งด่าผู้ซาย ทั้งที่ถ้าเฮาวิเคราะห์เบิ่งก็ผู้ซายกะถืกเลี้ยงโดยแม่ โดยพี่สาว แม่นบ่ หรือคนเป็นเมียเองกะผู้ญิงเฮานี่หละ ที่ปฏิบัติให้เขามีอำนาจเหนือเฮา แต่บัดพอเฮาด่าเฮาก็ไปด่าเขา ซึ่งในเวทีหลายวงเอื้อยก็ฮู้สึกว่า ผู้ซายถืกเป็นจำเลย เออ ทั้งๆ ที่เขาเองเขาก็อยู่ภายใต้โครงสร้างปิตาธิปไตยนั่นหนา เอื้อยว่าผู้ซายก็มีความทุกข์ของเขานะ ที่เขาถูกกรอบที่แบบว่า เป็นผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ต้องกล้าหาญ ถ้าเป็นเรื่องเพศก็ต้องมีเมียหลายคน จั่งซี่หนา เพราะฉะนั้นมุมมองของเอื้อยก็คือ ต้องเข้าใจว่า บ่ว่าเพศใด๋ ก็ต้องเผชิญกับอคติทางเพศ เอื้อยมีความฮู้สึกว่าทุกเพศก็มีอคติทางเพศ

คันคึดจั่งซี่แล้ว การ “เอามวลชน” มันสิออกมาในรูปแบบใด๋

คือ บ่ว่าเฮาสิเฮ็ดงานกับกลุ่มใด๋หนิ สิ่งที่เฮาต้องหาก็คือ โจทย์ของคนที่เฮาไปเฮ็ดงานนำคือหญัง แต่โจทย์ใหญ่คือ บ่ว่าเฮาสิเฮ็ดงานผู้ติดเชื้อ กับคนรักเพศเดียวกัน หรือในกลุ่มหญิงชายทั่วไป หรือเด็กน้อยเยาวชน หัวใจสำคัญคือให้เขาญอมรับในสิ่งที่เขาเป็น หาคุณค่าตัวเองให้พ้อ

ตอนเอื้อยเริ่มต้นเฮ็ดงานเอ็นจีโอ [เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว] เอื้อยอยู่ PATH เนาะ แล้วกะต้องไปเริ่มต้นโครงการ M Plus คือกลุ่มชายรักชายอยู่เชียงใหม่

ไปคุยกับใผเขาก็บ่ญอมรับว่าเขาเป็นเกย์ สมัยนั้นนะ เป็นกะเทยเขาบ่ญอมรับ เขาก็ด่าเฮา เอื้อยก็เป็นผู้ญิงหั้นเนาะ ก็ต้องไปนำบาร์เกย์ ไปซาวน่าเกย์เชียงใหม่ ไปร้านอาหาร ไปหญังซี่หนา เข้ามหาวิทยาลัย ไปเฮ็ดโครงการอยู่สองปีอยู่เชียงใหม่ จนกะทั่งตั้งกลุ่มขึ้นมาได้

เฮาเฮ็ดจั่งใด๋ จากจุดที่เขาบ่ญอมรับคำว่า “เกย์” มาจนจุดที่ตั้งกลุ่มได้

บ่ญอมรับก็ได้ เฮาก็บ่ต้องไปยืนยันว่าเฮาสิเอาชื่อนี้ คึดออกบ่

อันนั้นคือการเรียนรู้ของเฮาว่า เฮาบ่ได้ต้องการมานิยามคำ สำหรับเอื้อยนะ คนอื่นคึดจั่งใด๋เอื้อยบ่ฮู้ แต่เอื้อยบ่ได้ต้องการสิมายัดเยียดคำใส่ลงไปในเขานะ ถ้าเขาบ่มักคำนั่น เฮาก็เปลี่ยนคำ

เพราะฉะนั้น เจ้าบ่เอาชื่ออบรมชายรักชาย ข้อยก็บ่ได้ว่า! เฮากะมาตั้งชื่อเป็น “รักปลอดภัย” จั่งซี่หนา บ่ต้องระบุเพศดอกอ่ะ เฮาก็มาจัด แต่ว่าในกระบวนการนั่นก็คือให้คนมาเฮ็ดให้เห็นว่า เฮาต้องภูมิใจในโตเองก่อน

เพราะว่าจริงๆ แล้ว คนรักเพศเดียวกันเองก็มีปมของตัวเองนะ ซึ่งก็เป็นปมที่เกิดจากสังคมกระทำกับเขานั่นหละ ปมที่คนอื่นเอาหอกทิ่มเขานั่นล่ะ แต่เขาก็หยิบมาทิ่มเจ้าของดุๆ [บ่อยๆ]

ก็มีอคติติดมา เช่น เขาก็บ่เชื่อว่า คนรักเพศเดียวกันสิมีชีวิตคู่ได้ จากประสบการณ์ที่เขาเห็นหรือหญังก็ตาม เขาก็สิเชื่อว่า “โอ๊ย บ่มีดอก ความรักที่ยั่งยืนของเพศเดียวกัน” เนาะ หรือถ้าเป็นความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศที่นำไปสู่ความเสี่ยงก็เช่น บ่พกถุงยางอนามัย คันเฮาออกไปล่าแต้มคืนนี้ ไปล่าไม้ คันเฮาเอาถุงยางไปมันสิซวย เฮาสิบ่ได้ จั่งซี่หนา

ข้อดีขององค์กรที่เอื้อยเฮ็ดงานคือ เฮาบ่ได้มุ่งมาแต่เรื่องให้เขาป้องกันให้ใส่ถุงยาง แต่ภาพใหญ่คือให้คนภูมิใจในโตเอง

คนเฮาพอเห็นคุณค่าในโตเองเนี่ย แล้วก็ให้เขาประเมินให้เห็นความเสี่ยงเนี่ย เขาสิหาวิธีป้องกันด้วยโตเขา เนาะ แต่ว่าถ้าเฮาไปเริ่มเรื่องการป้องกัน จั๊กสิป้องกันเฮ็ดหญังบางเทื่อก็บ่ได้อยากป้องกัน

ได้เฮ็ดงานทำนองนี้ที่บ้านเกิดบ่

สิ่งที่เอื้อยภูมิใจที่สุดในการทำงาน HIV ในบ้านเกิดเอื้อยเองเนี่ย ในศรีสะเกษก็คือ คนที่ติดเชื้อ HIV เนี่ยมีทุกสถานะเนาะ แต่คนที่เปิดโตนี่มักสิเป็นคนชั้นล่างนะ ก็คือเป็นไทบ้านที่เฮียน ป.หก ม.สาม จั่งซี่เนาะ มารับยาต้านไวรัสอยู่โรงบาลก็เลยมารวมกลุ่มกัน เป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อ

เอื้อยเฮ็ดงานอยู่ PATH เนาะ ก็คุยกันว่า เวลาเฮาสิ empowerment ผู้ติดเชื้อนี่นะ กระบวนการอันนึงที่มันเป็นเครื่องมือของเฮาถนัดก็คือ ต้องเฮ็ดให้เขาขึ้นมาเป็นผู้จัดการเรียนรู้น่ะ เพราะว่าที่ผ่านมาเนี่ยผู้ติดเชื้อเนี่ยะ เวลาไปอบรมให้ความรู้ บ่ว่าสิกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือว่าไปกับเอ็นจีโอ กะคือ ไปนั่งถ้าเปิดโต [นั่งรอเปิดตัว] คึดออกบ่ เจ้าหน้าที่กะจั๊ดอบรมไป ให้เข้าใจเรื่องเอดส์ จนพอท้ายๆ ก็ อ่ะ “ขอให้เราเจอกับผู้ติดเชื้อ คุณอ้อ!” จั่งซี่หนา แล้วคุณอ้อกะมาเว้าเรื่องชีวิต กะให้เขาซักถาม

โครงการที่เอื้อยภูมิใจแฮงที่เฮ็ดอยู่บ้านเฮาก็คือ พัฒนาให้เขาขึ้นมาเป็นผู้จัดการเรียนรู้ เอาผู้ติดเชื้อจากเครือข่ายมา 15 คนของศรีสะเกษ แล้วเฮากะเทรนเขา อบรมเขาห้ามื้อ [วัน] ตั้งแต่ความรู้เรื่องเอดส์ เรื่องทักษะการเป็นผู้จัดการเรียนรู้ มีรอบให้เขาฝึก 20 รอบ ให้เขาทำซ้ำๆ แล้วกะเฮามานั่งเป็นโค้ช มานั่งเบิ่งติดตามตอนเขาสอน

ให้เขาจัดอบรมเอง?

ให้เขาเฮ็ดเลย จนซุมื้อนี่ ผู้ติดเชื้อก็ญังเป็นวิทยากรน่ะ แล้วกะถืกเอิ้นว่า “อาจารย์” น่ะ เธอเข้าใจบ่ว่า ความฮู้สึกของคนที่มันจบ ป.6 ม.3 ที่เป็นผู้ติดเชื้อไปแต่กี้ก็นั่งจ๋องๆ เนาะ แต่เดี๋ยวนี้เขาเป็นอาจารย์

แม้ว่าโครงการจบ แต่ว่าโตเขาก็พัฒนาไป เขาก็ญังเป็นวิทยากรทำอบรมนู่นนี่นั่น อบรมหลักสูตรพ่อแม่ หลักสูตรพัฒนาเยาวชนในการสื่อสารเรื่องเพศ จั่งซี่หนา เวลาเฮาเว้าภาวะ empowerment กะคือ นี่หละ เฮ็ดให้เขาเฮ็ดให้ได้ มันเสริมพลังอำนาจให้เขา

ทำงาน NGO มาก็นาน ทำไมพี่ถึงตัดสินใจกลับบ้าน

คิดอยู่แล้วว่าซักวันต้องกลับมาบ้าน เพราะกรุงเทพฯ มันไม่ใช่ที่ของเรา พูดง่ายๆ คือไปหาเงิน อยู่ยังไง้มันก็ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง

เอื้อยฮู้สึกว่า วัยเอื้อยกำลังเพิ่มขึ้น แล้วเอื้อยอยากกับมาใช้ชีวิตอยู่บ้านเฮาแบบคนอีสานน่ะ แต่เอื้อยบ่ฮู้จักอีสานน่ะ เข้าใจบ่ แล้วผิดบ่ที่เอื้อยสิอยากกับมาหารากเหง้าเจ้าของตอนอายุ “ซีซิบแปด” จั่งซี่หนา

จากการไปเวทีสองมื้อนี่นะ เอื้อยฮู้สึกว่า เอ๊ย ความเป็นคนอีสานมันมีคุณค่าเนาะ แบบมันมีมูนมังของเฮาอยู่ แต่เฮาเองบ่ได้แนมเบิ่งต่างหากว่า บ้านเฮามีไหอยู่ ไหกะตั้งอยู่หั้นหละ แต่เฮาบ่ได้แนมเบิ่ง

จริงๆ เฮามีศิลปะ เฮามีวัฒนธรรม แต่ว่าเฮาไปวัด …เอื้อยโทษระบบการศึกษานะ ระบบการศึกษาบ่ได้ให้เฮาเห็นความงามในศาสนาแง่มุมอื่นเลย นอกจากเรื่องสอนให้เฮาเป็นคนดี แต่ว่าทั้งที่ในวัดมีความงามทางศิลปะ ทางวัฒนธรรม แต่ว่าเฮาบ่มีแว่นที่สิแนมเห็น

ขยายความเรื่องที่เอื้อยโทษระบบการศึกษาแหน่ได้บ่

การศึกษาที่มันบ่ได้ให้เฮาฮู้สึกว่า  กะตั้งแต่มันเอาความเป็นลาวออกไปจากเฮาเนาะ เอื้อยเฮียนโรงเรียนสตรีสิริเกศ โรงเรียนประถมวัดพระโตหนิ คัน [ถ้า] ผู้ใด๋เว้าภาษาอีสาน ครูกะให้หัวหน้าห้องปรับคำละบาทแหม มันก็เริ่มจากเอาความเป็นอีสานออกไปจากตัวเฮาเนาะ แบบว่า “ต้องพูดภาษากลาง” เนาะ แล้วเฮาก็ต้อง เวลาฟ้อนเวลารำเราก็ต้องใส่ชุดไทย คึดออกบ่ ฉันก็ได้เป็นนางรำเด๊เธอ นพเก้า ก็ต้องใส่ชุดไทย

การส่งเสริมเด็กน้อยนี่กะเป็นเรื่องเอาวัฒนธรรมภาคกลาง เอาความเจริญมา แข่งฮ้องเพลงภาษาอังกฤษ แต่ว่ามันบ่ได้มีแบบ แข่งผญาแข่งหมอลำเด้ มันบ่ได้มีแนวนี้ที่มาเฮ็ดให้เฮาแบบสนใจที่สิเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมเกี่ยวกับรากเหง้าของเฮา

แล้วเอื้อยคิดว่าคนที่มีความฮู้จริงในเรื่องพวกนี้ เขาก็คึดว่าต้องเป็น “อาจารย์” นั่นหนา แต่เขาบ่ได้คึดว่า ครูบาในวัด พ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่อยู่ในหมู่บ้านเป็น “อาจารย์”

แต่ว่าสู่มื่อนี่โรงเรียนก็มักสอนเรื่อง “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” หลายขึ้นแมนบ่

เอื้อยว่าเรื่องปราชญ์ชาวบ้านเพิ่งมาเห่อกันบ่จักปีนี้แด๊ะ ตั้งแต่เฮาเป็นเด็กน้อยเคยได้ญินอยู่ติ “ปราชญ์ชาวบ้าน” บ่เคยได้ญิ๊น! เอื้อยว่า มันเป็นการเพิ่งมาเห่อกันบ่จักปีนี้เอง

แต่กี้เฮาละเลยด้วยซ้ำ เฮามีความฮู้สึกว่า ผู้เฒ่าผู้แก่พวกนี้บ่ฮู้หญัง บ่มีความรู้ ต้องเป็นพวก “อาจารย์” เป็นครูเป็นหญังจั่งซี่หนา เฮาบ่ได้คิดเด๋ว่าผู้เฒ่าในหมู่บ้านเป็นปราชญ์เฮาต้องไปเรียนรู้ เฮาต้องไปเรียนรู้หญังที่มันศิวิไล

เอื้อยว่าระบบการศึกษามันเป็นจั่งซี่ตั้งแต่เอื้อยเป็นเด็กน้อยจนใหญ่ มันก็สร้างวิธีคิดของเฮา เฮ็ดให้เฮาเป็นคนฉาบฉวย เอื้อยว่า เฮาก็บ่ฮู้จริงหญังเลย ในความเป็นอีสานของเฮา เอื้อยคนอีสานแต่ฮู้สึกว่าเป็นอื่นกับวัฒนธรรมเจ้าของ

ที่เอื้อยว่าฮู้สึกเป็นอื่นจากวัฒนธรรมเจ้าของ พ่อของเอื้อยก็ฮู้สึกจั่งซั่นคือกันบ่?

แม่น แม่นๆ

ดีว่า ชีวิตที่เฮาไปเป็นน่ะ มันบ่ได้เฮ็ดให้เฮาถึงขนาด เว้าง่ายๆ คือ “เหม็นสาบคนจน” หนา ความโชคดีของเอื้อยหนา ว่าสายที่เอื้อยไป มันบ่ได้เฮ็ดให้เอื้อยกับมาแบบฮู้สึกว่าคนบ่ท่อกันหนา เผอิ๊ญสายที่เอื้อยไปเฮียนไปเฮ็ดงานไปหญังหนิมันมีจุดเชื่อมที่ให้เอื้อยคึดว่าเอื้อยกับมาหารากเหง้าเอื้อยได้ง่าย กะคือมันเป็นสายที่ให้เฮาเคารพในความเป็นมนุษย์ของคน บ่นั้นเอื้อยกะสิเป็นคนที่เคอะเขิน ที่สิญกมือไหว้ผู้เฒ่าผู้แก่ ไทบ้าน ใผกะซางที่เอื้อยไปพ้อไปฮู้จักหนา

แต่ว่าเอื้อยมาเปรียบเทียบหมู่เอื้อยหลายคนนะที่ไปเฮ็ดงานอยู่กรุงเทพฯ ดน ไปเฮียนไปหญัง เขาก็บ่เว้าภาษาอีสานนะ บ่เว้าเลยละ

image_pdfimage_print