โดยอิทธิพล โคตะมี

16 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 72 ปี “วันสันติภาพ” หลังจากปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นโมฆะ ในปี 2488 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2484-2488 สิ้นสุดลง

การเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทย (พ.ศ. 2484-2488) เป็นหนึ่งเงื่อนไขสำคัญที่ไทยใช้ต่อรองกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษให้ยอมตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลไทย ในเวลาต่อมาทุกวันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปี ทางการได้กำหนดให้เป็นวันสันติภาพไทยจนถึงปัจจุบัน

ความสำเร็จนั้น ดูจะได้รับการเฉลิมฉลองเพียงเงียบๆ ในกรุงเทพฯ เพียงเท่านั้น ทำให้ภาพของขบวนการสำคัญนี้ขาดตกบกพร่อง ลบลืมบทบาทของประชาชนจำนวนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมเพื่อต่อสู้จนกระทั่งบรรลุเป้าหมายโดยเฉพาะปุถุชนคนอีสานที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย

ภาพเสรีไทยสายอีสาน จาก ปรีชา ธรรมวินทรและสมชาย พรหมโครต. (2543). จากยอดโดมถึงภูพาน: บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับสามัญชนบนเส้นทางประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาการเมือง

ใครคือเสรีไทยสายอีสาน

หลักฐานเกี่ยวกับเสรีไทยที่ สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ (2535) ค้นคว้าได้ พบว่า ขบวนการเสรีไทยมีจำนวนประมาณ 8,000 คน โดยสาเหตุการเกิดขึ้นของขบวนการมาจากการแข่งขันทางการเมืองภายในประเทศระหว่างปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม มากกว่าจะเป็นเรื่องของอุดมการณ์ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น

ในส่วนของเสรีไทยสายอีสานเองพบว่า มีความแตกต่างจากเสรีไทยส่วนอื่นๆ อยู่บางประการ อย่างแรก คือมีค่ายฝึกจำนวนมากที่สุด โดยมีสมาชิกที่เข้าร่วมขบวนการถึง 3,000 คน สำหรับค่ายฝึกเสรีไทยขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในอีสานตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี โดยที่นั่นสามารถฝึกกำลังพล 800-1,000 คน จังหวัดสกลนครมีจำนวน 500 คน และจังหวัดอุบลราชธานี ฝึกไปทั้งหมด 3 รุ่น เป็นจำนวน 400 คน

อย่างที่สอง คือ พื้นฐานของมวลชนที่เข้าร่วมขบวนการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง ร่วมกับข้าราชการระดับล่าง และชาวนา ชาวไร่ ขณะที่เสรีไทยในส่วนอื่น มักจะเป็นผู้มีการศึกษา นักการทูต นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักเรียนนอก พ่อค้า นักธุรกิจ

นักการเมืองอีสานที่มีบทบาทในการจัดตั้งเสรีไทยสายอีสานขึ้นมาเพื่อเข้าร่วม “กู้ชาติ” ทั้งหมดคือกลุ่มที่ไม่พอใจต่อนโยบายรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำเนินนโยบายอำนาจนิยมทางทหารโดยเพิกเฉยต่อภาวะยากลำบากของกรรมกร ชาวนา ดังนั้นพวกเขาจึงนำเสนอนโยบายที่มิได้เป็นลักษณะภูมิภาคนิยมเท่ากับว่าเป็นต่อต้านความอยุติธรรมโดยรวม

เช่น ให้จัดสรรงบประมาณมาพัฒนาชนบทที่ไม่จำกัดภูมิภาค เรียกร้องค่าแรงของกรรมกร เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นต้น ทำให้นักการเมืองกลุ่มนี้หันไปสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ และชักชวนชาวอีสานในพื้นที่ฝึกอาวุธกับขบวนการเสรีไทย

ลักษณะเฉพาะของผู้แทนจากอีสานที่เป็นขบวนการเสรีไทย คือการอภิปรายต่อต้านนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม คำอภิปรายสำคัญ มีตั้งแต่เสนอให้ลดอากรค่านา ยกเลิกรัชชูปการ ลดอาญาบัตรค่าโค กระบือ การชลประทาน และเปิดโปงการคอร์รัปชั่นของนายทหารระดับสูง ฯลฯ

เมื่อเสรีไทยสายอีสานเริ่มแข็งแรงขึ้น นักการเมืองอีสานฝ่ายที่สนับสนุนปรีดี พนมยงค์ ได้ระดมมวลชนหลากหลายกลุ่มให้มีบทบาทหลายอย่าง ตั้งแต่การหาข่าว การสร้างสนามบินลับ การลำเลียงอาวุธ หรือเวชภัณฑ์ เป็นต้น

สมาชิกขบวนการเสรีไทยในอีสานแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีพื้นฐานที่ได้รับการศึกษาจะได้รับหน้าที่ดูแลหน่วยเป็นหลักหรือถูกส่งไปฝึกต่างประเทศ เช่น จารุบุตร เรืองสุวรรณ จากจังหวัดขอนแก่น ถูกส่งไปฝึกกับหน่วยกองกำลัง 136 ของอังกฤษ ขณะที่คนอื่นมีหน้าที่ประสานงานส่งข่าวในพื้นที่ต่างๆ อาทิ สุวรรณ รื่นยศ ดูแลหน่วยจังหวัดขอนแก่น อ้วน นาครทรรพ ดูแลหน่วยจังหวัดหนองคาย และ ถวิล สุนทรสารทูล ดูแลหน่วยจังหวัดนครพนม ขณะที่จำลอง ดาวเรือง ดูแลหน่วยจังหวัดมหาสารคาม ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ดูแลหน่วยจังหวัดอุบลราชธานี เพ่ง โพธิจิดา ดูแลหน่วยจังหวัดอุดรธานี

ในกลุ่มนี้มีทั้งครูประชาบาล เช่น เทอด บุญยรัตพันธ์ โพธิ์ ขัมภรัตน์ ซึ่งทั้งคู่เป็นครูมัธยมประจำจังหวัดอุบลราชธานี ทำหน้าที่ฝึกกำลังพลในเขตจังหวัด

กลุ่มข้าราชการในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดทำหน้าที่ช่วยจัดตั้งศูนย์ฝึกให้แก่พลพรรคเสรีไทยในระดับท้องถิ่น เช่น วิสุทธิ์ บุษยกุล จากจังหวัดสกลนคร ดำริห์ บุณยประสิทธิ และ ผดุง จัทรเบกษา จากจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้ใกล้ชิดนักการเมือง ขณะที่ผู้นำชาวนา ชาวไร่ ฯลฯ เช่น ครอง จันดาวงศ์ ทองปาน วงศ์สง่า ดำเนินการเคลื่อนไหว อาทิ ระดมมวลชน ส่งข่าวจากส่วนกลางต่อภูมิภาค บริเวณเทือกเขาภูพานอันเป็นสถานที่ฝึกกำลังที่สำคัญแห่งหนึ่ง

กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (สังคมหมู่บ้านอีสานช่วงเวลาดังกล่าว กำนัน ผู้ใหญ่บ้านยังมีอาชีพทำนา เป็นหลัก) เช่น ละเอียด อภิวาทนะศิริ เสรี นวลมณี สุรสี กองเสนา ที่ได้รับการฝึกโดยกองบัญชาการ ที่ 136 ของอังกฤษ ในเวลาต่อมามีการจัดตั้งหน่วยวิทยุจากจีน ในหมู่บ้านโพนก้างปลา จังหวัดสกลนคร มี กระจ่าง ตุลารักษ์ เป็นผู้คุม สว่าง ตราชู และสัมฤทธิ์ ตราชู เป็นผู้ช่วย เมื่อมีการตั้งค่ายแห่งใหม่ที่บ้านหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จึงได้แต่งตั้งอำนวย กุลพิพัฒน์ เป็นพนักงานวิทยุ

เสรีไทยสายอีสานสนับสนุนการปลดแอกลาว

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศไทยตกอยู่ในกระดานสงครามเย็นของชาติมหาอำนาจ ภูมิภาคอีสานกลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ ฝรั่งเศสกลับเข้ามายึดอินโดจีนอีกครั้ง ผู้นำลาวที่หลบหนีการกวาดล้างจากฝรั่งเศส ได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทยที่ขบวนการเสรีไทยมีอิทธิพลอยู่ จนกระทั่งกลายเป็นทั้งที่หลบภัยและศูนย์บัญชาการต่อต้านฝรั่งเศสของขบวนการลาวอิสระ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวนี้ มิได้เกิดขึ้นทันทีทันใด หากแต่ก่อตัวตั้งแต่ขบวนการเสรีไทยได้เริ่มติดต่อกับลาวและเวียดนามเพื่อปลดแอกจากชาติอาณานิคม ระหว่างปี 2484-2488 มาก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อรัฐบาลไทย สายเสรีไทยขึ้นครองอำนาจ จึงได้สนับสนุนขบวนการลาวอิสระและขบวนการชาตินิยมเวียดนามต่อสู้กับฝรั่งเศสจนสำเร็จ โดยให้ที่พำนักแก่ผู้อพยพกว่า 20,000 คน สำหรับคนสำคัญที่มีส่วนในปฏิบัติการนี้ เช่น สวัสดิ์ ตราชู และสนิท ประสิทธิพันธุ์ จากจังหวัดหนองคาย เป็นต้น

กองกำลังนี้มาเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2488 มีกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นและฝรั่งเศสเกิดขึ้นในลาวหลายกลุ่ม ก่อนจะรวมตัวกันเป็นขบวนการลาวอิสระ อาทิ กลุ่มชาวลาวคนหนุ่มซึ่งได้รับการสนับสนุนจากไทยได้แก่ท้าวอุ่น ชนะนิกร ตั้งเป็นกองกำลังเพื่อฝึกอาวุธในเขตไทย

รูปแบบการสนับสนุนรัฐบาลไทย มีตั้งแต่การรวบรวมจากชาวลาวที่หนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย บางส่วนได้รับการฝึกฝนกองกำลังติดอาวุธจากครอง จันดาวงศ์ และมวลชนเสรีไทยสายอีสาน โดยได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธและฝึกฝนด้านการทหารจากไทยและสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งขบวนการลาวอิสระสามารถเดินทางเข้ายึดเมืองสะหวันนะเขตและเมืองท่าแขกได้ในที่สุด

ในเดือนกันยายน ปี 2490 ปรีดีและขบวนการกู้ชาติอินโดจีน สามารถประกาศจัดตั้งสันนิบาตแห่งเอเชียอาคเนย์ เป้าหมายคือการต่อต้านการกลับคืนมาของลัทธิล่าอาณานิคม มีแกนนำขบวนการเสรีไทยสายอีสาน ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เตียง ศิริขันธ์ และถวิล อุดล เป็นประธานและประชาสัมพันธ์ตามลำดับ

นโยบายที่เป็นมิตรกับเพื่อนบ้านเช่นนี้ดำรงอยู่เพียงสั้นๆ ก่อนจบลงด้วยการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 รัฐบาลทหารที่มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังได้ขึ้นครองอำนาจ พวกเขาไม่ไว้ใจขบวนการเสรีไทยสายอีสานที่มีจุดยืนรักษาระยะห่างกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในเวลาต่อมา นักการเมืองเสรีไทยต้องพบกับโศกนาฏกรรมด้วยการถูกลอบสังหารจากรัฐ ขณะที่เสรีไทยในระดับมวลชนก็ถูกสังหารหรือจับกุม

เมื่อผู้ร่วมกู้ชาติเผชิญข้อกล่าวหาร้ายแรง

หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 ล้มรัฐบาลหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ ที่มีเสรีไทยสายอีสานสนับสนุน ยุคมืดภายใต้สถานการณ์ใหม่ก็ตามมา เสรีไทยสายอีสานหลายคนต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาร้ายแรง เช่น แบ่งแยกดินแดน กระทำการเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น การปราบปรามนี้พุ่งเป้าไปที่นักการเมืองคนสำคัญ ยังมิใช่ชาวบ้านจำนวนมากที่เข้าร่วมเสรีไทย โดยพบว่าผู้แทนจากภูมิภาคที่สนับสนุนปรีดี พนมยงค์ จำนวนถึง 96 คน ก็ถูกตั้งข้อหารุนแรงด้วยเช่นกัน

ในช่วงเวลานี้การเคลื่อนไหวของเสรีไทยสายอีสานได้เปลี่ยนเป็นการรณรงค์สันติภาพ มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการสันนิบาตแห่งประเทศไทย” โดยปั่น แก้วมาตย์ เสรีไทยจากจังหวัดนครพนมเป็นผู้ประสานงานหลักในอีสาน มีทั้งนักการเมือง พระสงฆ์ และชาวนาอีสานเข้าร่วม ตลอดกลางทศวรรษที่ 2490 การเคลื่อนไหวดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในสกลนครและศรีสะเกษ เพื่อให้รัฐบาลทหารไทยถอนตัวจากการส่งทหารไปรบในสงครามเกาหลี

ที่จังหวัดสกลนคร เสรีไทยสายอีสานเริ่มรณรงค์ให้รัฐบาลไทยยึดนโยบายเป็นกลาง โดยพบว่าที่ประชุมสันติภาพ ซึ่งจัดที่วัดโพธิ์ศรี มีชาวบ้านจำนวนกว่า 1,000 คน มาฟังการปราศรัยของอดีตเสรีไทยในการสนับสนุนนโยบายสันติภาพ ก่อนจะมีการรวบรวมรายชื่อ 50 คน เพื่อส่งไปให้คณะกรรมการสันติภาพฯ ที่กรุงเทพฯ

ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2500 ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของรัฐไทย ก็เปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อภูมิภาคอีสานไปด้วย รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์หันปลายกระบอกปืนไปหาราษฎรอีสานที่รวมกลุ่มกันอย่างแข็งขัน แม้เพียงแค่การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองเรื่องที่ดินทำกิน หรือเพื่อร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาภัยแล้งหรืออุทกภัย ก็จะกลายเป็นถูกรัฐมองว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

ผลที่ตามมาจึงทำให้ทั้งเสรีไทยสายอีสานหลายคนและชาวนาโดยทั่วไปที่ไม่เคยเคลื่อนไหวกับเสรีไทยเลยแต่เคยใกล้ชิดกับนักการเมืองหัวก้าวหน้าอีสานก็ถูกจับกุมด้วยข้อหาร้ายแรงนั่นคือ “แบ่งแยกดินแดน” ในที่สุด หนึ่งในกรณีที่น่าจดจำนั้นคือการประหาร ครอง จันดาวงศ์ และทองพันธ์ สุทธิมาศ และการจับกุมคนที่ทางการเห็นว่าเป็น “พวกพ้อง” ของครอง กว่า 148 คน

ครอง จันดาวงศ์ หนึ่งในเสรีไทยสายอีสาน เขาเป็นอดีตชาวนา ที่เรียนดี จนได้ทำงานเป็นครูประชาบาลในจังหวัดสกลนคร เริ่มเข้าร่วมกับเสรีไทยสายอีสาน ด้วยความศรัทธาที่มีต่อเตียง ศิริขันธ์ อดีตรัฐมนตรีอีสานที่ถูกสังหาร ครองมีวิธีการทำงานที่เปี่ยมไปด้วยความมีวินัย จนตัวเขาเองได้รับการยอมรับนับถือจากชาวบ้านอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสว่างแดนดิน และอำเภอวานรนิวาศ จนรวบรวมชาวนาตั้งกลุ่ม “สามัคคีธรรม” เพื่อเข้าร่วมการรณรงค์สันติภาพได้

ครั้งหนึ่งครองได้รับมอบหมายให้ไปส่งชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านประเทศลาว ขากลับเขาถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ จึงได้หาทางหลบหนีด้วยการบดใบยาสูบจนเป็นผง สาดเข้าตาทหารญี่ปุ่น แล้วจู่โจมแย่งปืนทหารญี่ปุ่นยิงจนฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต จากนั้นเดินทางมายังฝั่งแม่น้ำโขงพบทหารญี่ปุ่นจึงลงมือโจมตีอีก แล้วว่ายน้ำมาขึ้นเรือกลางแม่น้ำโขงข้ามมายังฝั่งไทย

ความเสียสละและกล้าหาญของครองได้เป็นที่ประจักษ์ แม้ในวันที่เดินเข้าสู่หลักประหารด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งในวันประหารในเดือนพฤษภาคม 2504  ครองได้พบกับคาน พิรารักษ์ เสรีไทยอีกคนที่ถูกควบคุมตัวอยู่สถานีตำรวจ เขากล่าวด้วยเสียงหัวเราะว่า “ขอให้น้องทุกคนสบายใจได้ ไม่เป็นไรดอกตายก็คือตาย ทุกคนก็ต้องตายเหมือนกัน”

สิ่งที่น่าเศร้าใจคือสถานที่ที่ใช้ประหารครองนั้น คือสนามบินเก่าของเสรีไทยที่ครองและชาวบ้านมีบทบาทสำคัญในการสร้างเพื่อภารกิจกู้ชาติ

ขณะที่ผู้ใกล้ชิดครอง และชาวบ้านที่ยังคงมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การ “ลงแขก” ก็ถูกคุกคาม ทำร้ายและจับกุม ความไม่เป็นธรรมซ้ำซากที่ชาวบ้านได้รับเช่นนี้เอง จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เงื่อนไขอะไรที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สามารถประกาศการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับรัฐบาลทหารได้ในไม่กี่ปีต่อมา

 

สำหรับผู้สนใจค้นคว้าเพิ่มเติม โปรดอ่าน

สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. (2535) ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2481-2492. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

สมชัย ภัทรธนานันท์. (2558). การสร้างรัฐประชาชาติไทยกับการต่อสู้ด้วยอาวุธของชาวนาอีสาน: กรณีบ้านนาบัว จังหวัดนครพนม. รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 36 ฉบับที่ 1, มกราคม-เมษายน, หน้า 82-115

พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ภวัครพันธุ์. (2549). สงครามเวียดนาม: สงครามกับความจริงของรัฐไทย. กรุงเทพฯ: คบไฟ

Katsuyuki, T. (2002). ‘The Peace Movement in Thailand after the Second World War: the Case of Sakon Nakhon and Sisaket’ ใน ชลธิรา สัตยาวัฒนา (บรรณาธิการ). กึ่งศตวรรษขบวนการสันติภาพ. กรุงเทพฯ: เมฆขาว, หน้า 107-142

image_pdfimage_print