โดยดานุชัช บุญอรัญ

มหาสารคาม – เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยระบุ สิทธิและเสรีภาพสื่อเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการตรวจสอบและแก้ปมความขัดแย้งภายในรัฐ พร้อมแนะวิธีการผลักดันสังคมสู่ยุคดิจิทัลผ่านโครงการไทยแลนด์ 4.0 ของไทย ต้องรับประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

นายสตัฟฟาน แฮร์สเตริม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2560 ณ ห้องฉายภาพยนตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เดอะอีสานเรคคอร์ดร่วมกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการเวทีเสวนาสาธารณะสถานการณ์และสิทธิการแสดงออกของสื่อในภาคอีสาน ช่วงบ่าย นายสตัฟฟาน แฮร์สเตริม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย แสดงปาฐกถาและร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์สื่อและสิทธิเสรีภาพการแสดงออก

นายแฮร์สเตริมกล่าวถึงความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย โดยยกตัวอย่างประเทศสวีเดนที่มีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและพลเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อเป็นพื้นฐานของสิทธิในการตรวจสอบ สอดส่อง และวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหรือนโยบายภาครัฐของประชาชนชาวสวีเดนให้สามารถกระทำได้อย่างเสรี

เอกอัครราชทูตสวีเดนฯกล่าวอีกว่า การส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในลักษณะเช่นนี้นำมาซึ่งกระบวนการแก้ไขข้อบกพร่องในการบริหารจัดการรัฐที่ดีเยี่ยม การให้สิทธิสื่อและพลเมืองสวีเดนได้แสดงออกทำให้เกิดพื้นที่ในการโต้แย้ง ประนีประนอมและนำมาซึ่งความเห็นเป็นเอกฉันท์อันเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศอย่างสูงสุด ที่ผ่านมาปรากฏว่าจากระบบการตรวจสอบโดยสื่อและสาธารณะ ประเทศสวีเดนถูกจัดให้เป็นประเทศที่สามารถจัดการการทุจริตโดยภาครัฐยอดเยี่ยม ติดอันดับหนึ่งในห้าของโลก

“สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก คือพื้นฐานของประชาธิปไตย ทั้งสองอย่างถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญของเรา และเพื่อปกป้องการหุนหันพลันแล่นหรือความพยายามจำกัดสิทธิเหล่านี้ การจะแก้รัฐธรรมนูญสวีเดนต้องได้รับการรับรองโดยรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งถึงสองสมัย” นายแฮร์สเตริมกล่าว

ด้านการบริหารจัดการองค์กรสื่อ นายแฮร์สเตริมเล่าว่า สื่อมวลชนในประเทศสวีเดนมีระบบการตรวจสอบและกำกับดูแลกันเอง โดยมีการตั้งสภาสื่อซึ่งเป็นองค์กรเอกชนขึ้นมาทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาประเด็นความผิดทางกฎหมายและจรรยาบรรณของสื่อทั้งหมด โดยหากประชาชนคนใดเห็นว่าสิทธิหรือศักดิ์ศรีของตนถูกล่วงละเมิดจากการเผยแพร่ข้อมูลของสื่อมวลชนก็สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสภาดังกล่าวได้ และหากได้มีการพิจารณาว่าเรื่องที่ร้องเรียนมานั้นผิดจริง สภาก็จะมีมาตรการลงโทษสื่อผู้เผยแพร่ข้อมูล อาทิ บังคับให้ตีพิมพ์คำวินิจฉัยของสภาเพื่อเป็นการยอมรับผิดและแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

นายสตัฟฟาน แฮร์สเตริม เอกอัครราชทูตสวีเดนฯ (ที่ 4 จากซ้าย) นายสุจิน บุตรดีสุวรรณ คณบดี คณะวิทยาการสารสนเทศ ม.มหาสารคาม (ที่ 5 จากซ้าย) และบรรดาวิทยากร โครงการเวทีเสวนาสาธารณะสถานการณ์และสิทธิการแสดงออกของสื่อในภาคอีสาน ที่ ม.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา

การแลกเปลี่ยนในวงเสวนา เอกอัครราชทูตสวีเดนฯให้ความเห็นต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อในประเทศไทยว่า

“ทุกวันนี้หลายๆ ประเทศมักอ้างเรื่องความขัดแย้งในสังคม เพื่อปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จากประสบการณ์ของประเทศสวีเดนผมคิดว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่ชนวนความขัดแย้ง ตรงกันข้ามมันกลับเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดีที่สุด”

เอกอัครราชทูตสวีเดนฯ กล่าวอีกว่า การที่ประเทศไทยพยายามพัฒนาสังคมให้ก้าวไปสู่ระบบดิจิทัลผ่านโครงการไทยแลนด์ 4.0 นั้น ตนมองว่าหากจะให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง ก็จำเป็นต้องมีความสอดคล้องกันในเชิงการรับประกันสิทธิและเสรีภาพให้แก่สื่อและประชาชนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ (เชื่อมต่อและไม่เชื่อมต่อกับระบบสื่อสารดิจิทัล-ผู้เขียน) ซึ่งถ้าไม่สามารถรับประกันเรื่องเหล่านี้ได้ การที่จะผลักดันระบบสังคมดิจิทัลก็คงไม่สามารถเป็นไปได้

ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print