โดยดานุชัช บุญอรัญ

กาฬสินธุ์ – ความศรัทธาและนัยยะแฝงเร้นในขนบประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธ์ของคนในชุมชน “กลางหมื่น” ชุมชนแรกตั้งเมืองกาฬสินธุ์

สิ้นเสียงดับเครื่องยนต์ของรถขนส่งขนาดหกล้อ ภาพหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งก็ปรากฏแก่สายตา

บ้านไม้สลับปูนหลายหลัง เรียงต่อกันเป็นแนวยาวโดยไม่มีรั้วกั้น ชายวัยกลางคนและเมียไล่ต้อนฝูงควายขนาดย่อมไปตามถนนคอนกรีตที่มีรอยร้าว ยามรถกระบะตอนเดียวที่เบียดเสียดไปด้วยเด็กน้อยในชุดนักเรียนหลายสิบแล่นผ่านมา เรียวไม้ไผ่เส้นเก่าเป็นต้องหวดต้อนควายให้หลบ ท่ามกลางเสียงทักทายของนักเรียนซุกซนหลายคนที่ปีนขึ้นไปนั่งโต้ลมบนหลังคารถ

ในแรกพบ ที่นี่ดูไม่ต่างจากที่อื่นๆ ที่ผมเคยเห็นมา สภาพสังคมนอกเขตเมืองของคนในภาคอีสานส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนี้ ทว่าด้วยคำยืนยันอันหนักแน่นของ “เพื่อนหมอลำ” ผมในฐานะนักท่องเที่ยวสมัครเล่นที่หลงใหลในนิทานปรัมปราและมุขปาฐะพื้นบ้าน จึงต้องเดินทางมาเยี่ยมเยียนสถานที่ที่เป็นจุดกำเนิดของจังหวัดกาฬสินธุ์ เมืองดินดำน้ำชุ่ม ปลากุ่มบ้อนคือแข้แกว่งหาง ภูมิประเทศในอุดมคติของรากเหง้าชาวอีสาน

ระบบชุมชนของคนที่นี่เรียกได้ว่ามีคุณภาพ เมื่อผมแจ้งความจำนงในการมาต่อผู้คนในบ้านซึ่งมีป้ายไม้เขียนไว้ว่า ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ชายรุ่นหนุ่มคนหนึ่งก็ถูกขอให้เป็นผู้พาผมเดินทัศนาจรเพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญและปิดท้ายด้วยการปูเสื่อสนทนากับปราชญ์ผู้เฒ่าประจำชุมชน

ต้นเปือยขนาดใหญ่ที่พบเห็นได้ตามรายทาง ที่หมู่บ้านกลางหมื่น ต.กลางหมื่น อ.เมือง จ.กาฬสินธ์ุ

ระหว่างการเดินเที่ยวชมอันแสนทรหด คำถามหนึ่งของผมที่มีต่อสถานที่แห่งนี้ก็คือ เหตุใดความสมบูรณ์ของธรรมชาติจึงถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างน่าประหลาด ตลอดรายทางที่เดินเท้ามุ่งเข้าไป ต้นไม้ขนาดสองถึงสามคนโอบปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ป่าสีเขียวรกครึ้มระดะไปด้วยพรรณไม้ที่เสียดยอดขึ้นแซมกับบ้านเรือนของผู้คน บ่งชี้ว่าวิถีชีวิตของคนที่นี่ดูจะผูกพันกับธรรมชาติอย่างแยกกันไม่ออกทีเดียว

น่าสนใจมากว่า พวกเขาใช้วิธีการอะไรในการคงสภาพแวดล้อมที่สวนทางกับกระแสการพัฒนาสังคมชนบทที่เกือบทุกแห่งมุ่งเน้นในการเปลี่ยนแปลงสภาพชุมชนดั้งเดิมให้มีความศิวิไลซ์ทัดเทียมกับสังคมเมือง

จากการเดินเที่ยวสอบถามกว่าสองชั่วโมง ผมพอสรุปประวัติของที่นี่อย่างลวกที่สุดได้ว่า คนกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้เป็นราชนิกุลลาวเวียง ในยุคที่อาณาจักรลาวล้านช้างแตกออกเป็น 3 อาณาจักร ได้แก่ ล้านช้างหลวงพระบาง ล้านช้างเวียงจันทน์ และล้านช้างจำปาศักดิ์ การเมืองที่ผกผันผลักดันให้พวกเขาต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานโดยมีผู้นำคือ เจ้าผ้าขาวลาวเวียงอดีตราชครูแห่งราชสำนักนครเวียงจันทน์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันต่อมาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนว่า “ปู่สามขา” ตามลักษณะการเดินที่ต้องใช้ไม้ค้ำพยุงกาย เหตุการณ์แต่ต้นจนจบก็พอจะลำดับได้ดังนี้ พ.ศ. 2310 เจ้าศิริบุญสาร เจ้าเมืองเวียงจันทน์ เกิดวิวาทกับกลุ่มขุนนางประกอบด้วย พระวอ พระตา และเจ้าผ้าขาวลาวเวียง กลุ่มพระวอ พระตา และเจ้าผ้าขาวลาวเวียง จึงได้พาไพร่พลและครอบครัวอพยพจากเวียงจันทน์แรมรอนมาตั้งมั่นอยู่ที่บ้านหนองบัวลุ่มภู ต่อมาใน พ.ศ. 2313 เจ้าผ้าขาวลาวเวียงเสาะพบที่ตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่ จึงแยกจากกลุ่มของพระวอพระตาแล้วตั้งชื่อหมู่บ้านที่สร้างขึ้นตามจำนวนไพร่พลที่รอดชีวิตทั้งสิ้นห้าพันคน ว่าบ้านกลางหมื่น  

ชาวลาวเวียงเหล่านี้ก็อยู่กันมาเรื่อยครับแต่คงไม่พอใจกับชัยภูมิบ้านเมืองของตัวเองเท่าไหร่ ทำให้ในปี พ.ศ. 2336 ท้าวโสมพะมิตร (เหลนของเจ้าผ้าขาวลาวเวียง) ต้องทำศึกตีชิงบริเวณแก่งส้มโฮงดงสงเปลือย (บริเวณอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน) จากท้าวฮาดผู้ครอบครองเดิมจนได้รับชัยชนะและได้ยกตนเองขึ้นเป็นเจ้าเมือง ท้ายที่สุดในปี พ.ศ. 2345 รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงสยามโปรดเกล้าแต่งตั้งท้าวโสมพะมิตรเป็นพระยาชัยสุนทร  ปกครองเมืองแก่งส้มโฮง สงเปลือย (หลักฐานไทยเรียก บ้านแก่งสำโรง) แล้วขนานนามเมืองให้ใหม่ว่า  กาฬสินธุ์

ในฐานะของต้นธารประวัติศาสตร์ของจังหวัด ประเพณีและคติความเชื่อที่ถูกปฏิบัติสืบต่อกันมาในอดีตของคนที่นี่ยังคงถูกรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น แม้ในยุคปัจจุบัน การตัดต้นไม้สักต้น หรืออนาคตการศึกษาของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในหมู่บ้านกลางหมื่น ยังคงถูกยึดโยงเอาไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน  

เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน พ่อเฒ่าที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยด้วยท่านหนึ่งเอ่ยถึงสามสรณะหลักที่ชาวชุมชนกลางหมื่นยึดถือ ประกอบด้วย ปู่ใหญ่ ปู่ตา และปู่สามขา  นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อปู่ใหญ่ หรือปู่ตา หมู่บ้านในภาคอีสานโดยทั่วไปมักนิยมเรียกพระพุทธรูปประจำท้องถิ่นของตนว่าปู่ใหญ่ พระเจ้าใหญ่   หรืออะไรเทือกนั้น เช่นเดียวกับปู่ตา เทวดาอารักษ์ประจำป่าชุมชนที่มีกันแทบทุกหมู่บ้าน เฉพาะชื่อของปู่สามขาเท่านั้นที่เป็นครั้งแรกที่ผมเคยได้ยิน

ปู่ใหญ่ศูนย์รวมใจและเครื่องชี้วัดผู้ปกครอง

วัดปฐมปฏิมากร ตำบลกลางหมื่น อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ประดิษฐานปู่ใหญ่หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านกลางหมื่น

สรณะแรกของชาวบ้านกลางหมื่นที่ผมจะขอเล่าถึงคือปู่ใหญ่ พระพุทธรูปองค์ประธานแห่งวัดปฐมปฏิมากร ฟังจากชื่อก็คงพอเดากันได้นะครับว่าวัดนี้พระองค์นี้เป็นองค์แรกวัดแรกของชาวลาวเวียงแห่งบ้านกลางหมื่น ตามประวัติการสร้างกล่าวว่าสร้างขึ้นราวปี 2310 – 2336 ก่อนการก่อตั้งเมืองกาฬสินธุ์โดยเจ้าผ้าขาวลาวเวียงเพื่อใช้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในคราวแรกตั้งบ้านตั้งเมือง จากการพูดคุยกับปราชญ์ชุมชนหลายคนทำให้ทราบว่า พิธีกรรมหนึ่งที่สำคัญและถือเป็นงานใหญ่ของชาวกลางหมื่นคือพิธีสรงน้ำปู่ใหญ่ ซึ่งในอดีตนั้นเจ้าเมืองและเหล่าปราชญ์เป็นผู้นำประกอบพิธี โดยพิธีสรงน้ำแต่ละปี มีนัยยะบ่งบอกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวกลางหมื่นทั้งยังแสดงฐานะ อำนาจ และศักยภาพของผู้ปกครองในแต่ละยุคว่ายังคงปกบ้านคุ้มเมืองได้ร่มเย็นเป็นสุขเช่นเดียวกันกับบรรพชนในอดีตหรือไม่

ปัจจุบันในเดือนพฤษภาคมของทุกปีพระพุทธรูปสีทองที่ชาวบ้านขนานนามว่าปู่ใหญ่ ยังคงรับหน้าที่เดิมในการเป็นศูนย์รวมใจชาวบ้านในเทศกาลประจำปี ชาวบ้านกลางหมื่นมีคำกล่าวว่า “ลูกหลานที่ไปอยู่ที่อื่น เทศกาลสำคัญๆ อย่างสงกรานต์ ปีใหม่ จะกลับบ้านหรือไม่ก็ได้ แต่งานสรงน้ำปู่ใหญ่ถือเป็นงานที่ไม่มาไม่ได้” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชนเองก็ยังคงสวมบทบาทของผู้จัดและผู้นำประกอบพิธี ในงานประเพณีที่ต่างกรรมต่างวาระ ผู้นำท้องถิ่นยุคสมัยใดจัดงานได้ยิ่งใหญ่กว่า สมบูรณ์กว่า ก็ถือเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จประการหนึ่งในฐานะผู้ปกครองดูแลบ้านกลางหมื่น

ปู่ตาผู้จัดการบริหารครัวเรือน

ป้ายทางเข้าศาลปู่ตา  เขตป่าสาธารณะดอนเจ้าปู่ท้ายหมู่บ้านกลางหมื่น ริมลำห้วยทราย

เมื่อกล่าวถึงพระไปแล้วต่อมาผมคงต้องพูดถึงผีกันบ้าง ผีท่านแรกที่ผมจะกล่าวถึงคือผีปู่ตาซึ่งเชื่อกันว่าคือผีบรรพชนผู้ล่วงลับซึ่งยังคงเฝ้ารักษาคุ้มครองและคอยป้องกันภยันตรายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นกับคนในชุมชน

ผีปู่ตาของคนอีสานโดยทั่วไปนั้นนอกจากเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องคุ้มครองแล้ว ยังมีหน้าที่พิทักษ์รักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ต้นไม้ใบเขียว และแนวป่านานาพรรณ ที่ผมกล่าวมาข้างต้นก็เป็นผลงานของผีท่านนี้ล่ะครับ แม้ในปัจจุบันผีปู่ตาในหลายพื้นที่จะถูกลดความสำคัญลงไปจนแทบไร้ตัวตน แต่ทว่าสำหรับคนกลางหมื่น ผีปู่ตาในวันนี้คงมีความสำคัญในฐานะ “ปู่ย่าตายาย” ทั้งยังผูกพันอยู่กับวิถีชีวิต ทั้งการกิน การอยู่ ของชาวบ้านอย่างเหนียวแน่น  

ในบริบทของบ้านกลางหมื่น ภาระหน้าที่ของผีปู่ตายังมีความพิเศษกว่าของชุมชนอื่น นอกจากการคุ้มครองเบ็ดเตล็ดดังที่กล่าวมาแล้ว ผีปู่ตาในความหมายของคนที่นี่ยังหมายถึงกระบวนการตัดสินความผิดของใครก็ตามที่ประพฤติตัวขัดต่อขนบประเพณีและจารีตวิถีชุมชน วิธีคิดดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผู้ใหญ่สั่งสอนเด็กมุ่งหวังให้กลับตัวกลับใจเป็นคนดี ยกตัวอย่างเรื่องเล่าที่คลาสสิกที่สุดคือ เมื่อชาวชุมชนคนใดแอบลักลอบตัดไม้ในป่าของปู่ตาก็จะมีอาการปัสสาวะไม่ออก จนต่อเมื่อนำธูปเทียนเหล้ายามาขอขมาอาการดังกล่าวจึงจะหายไป

แน่นอนว่าอาจไม่ใช่ทุกคนที่เป็นเช่นนี้ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดยังคงอยู่ได้ นอนสบาย มาตรการลงโทษทางสังคม เช่น การติฉินนินทา หรือการถูกกีดกันให้เป็นคนนอก ก็อาจจะถูกนำมาใช้ต่อผู้ล่วงละเมิดปู่ตาได้เช่นกัน อย่าเพิ่งตั้งคำถามเลยครับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่อย่างไร เพราะสุดท้ายมันก็เป็นแค่เรื่องเล่า ทว่าเป็นเรื่องเล่าที่คนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังคงเชื่อถือและไม่คิดจะทำผิดเพื่อพิสูจน์

แท่นเชือดหมู  สถานที่ประกอบพิธีพลีสัตว์สี่เท้าบูชาปู่ตา

อีกสิ่งหนึ่งที่ผีปู่ตาแห่งบ้านกลางหมื่นต่างจากผีปู่ตาชุมชนอื่นก็คือ พิธีกรรมเซ่นสรวงบูชา  นอกจากเหล้าไหไก่ตัว ตามวิธีปฏิบัติที่นิยมกันในประเพณีเซ่นสรวงผีปู่ตาในภาคอีสานแล้ว ที่บ้านกลางหมื่น หมูเป็นๆ ยังถูกนำมาเชือดเพื่อพลีถวายปู่ตาในการบวงสรวงบูชาวาระต่างๆ ด้วย ศาลาข้างศาลปู่ตาที่ผมได้เข้าไปเยี่ยมชม มีลานเชือดหมูซึ่งยังคงมีคราบเลือดติดอยู่ บอกให้รู้ว่าการพลีสัตว์สี่เท้าครั้งล่าสุดน่าจะผ่านมาได้ไม่นานนัก  

วิธีการเช่นนี้ผมตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นกุศโลบายของบรรพบุรุษในการตรวจสอบสภาพทางเศรษฐกิจของชุมชน โดยเฉพาะในอดีตที่เน้นด้านกสิกรรม หากปีใดไม่มีสัตว์ปีก ไม่มีสัตว์ใหญ่ รวมทั้งผลหมากรากไม้ตามขนบการประกอบพิธี ก็แสดงให้เห็นได้ว่าปีนั้นเศรษฐกิจของชุมชนอาจเกิดปัญหา และในห้วงของความเคารพต่อผีปู่ย่าตายาย ชาวชุมชนในฐานะลูกหลานอาจต้องเพิ่มความขยันขันแข็งสำหรับการทำงานมากขึ้นในปีต่อไป

ปู่สามขากับการจัดสรรทรัพยากรบุคคล

เนินดินที่ฝังไม้คานหามศพของเจ้าผ้าขาวลาวเวียง หรือปู่สามขา โดยเชื่อว่ากอไผ่ที่เกิดบนเนินดินนั้นงอกออกมาจากไม้คานที่ถูกปักลงในดิน

สรณะสุดท้ายของชาวกลางหมื่นคือปู่สามขา ทราบกันไปแล้วนะครับว่าปู่สามขาจริงๆ แล้วก็คืออดีตผู้บุกเบิกชุมชนของที่นี่ สันนิษฐานจากความเจริญรุ่งเรืองของบ้านกลางหมื่นไปจนถึงเมืองกาฬสินธุ์ ต้องยอมรับเลยล่ะครับว่าปู่สามขาหรือเจ้าผ้าขาวลาวเวียงผู้นี้เป็นนักปกครองมืออาชีพ และสิ่งที่น่าสนใจก็คือผมพบว่าปัจจุบันปู่สามขาเองก็ยังทำหน้าที่ปกครองชุมชนแห่งนี้อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนสถานภาพจากคนเป็นผีเท่านั้น ท่านปกครองยังไงหรือ?  ก็ดำเนินนโยบายผ่านตำนานมุขปาฐะอย่างไรล่ะครับ   

ที่ฝังศพของท่านซึ่งปัจจุบันนี้เป็นเนินไผ่ มีเรื่องเล่าเก่าแก่ที่รู้กันดีในหมู่คนบ้านกลางหมื่นว่า ไม้คานที่ใช้หามศพของปู่สามขาเมื่อท่านสิ้นชีพนั้น ถูกนำไปปักไว้บนเนินดินแห่งหนึ่ง ต่อมาไม่นานไม้คานซึ่งเป็นไม้แห้งก็พลันแตกกอต่อกิ่งกลายเป็นไผ่กอใหญ่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ฉะนั้นต้นไผ่ที่ขึ้นอยู่เหนือหลุมศพของท่านนั้นเป็นไผ่ศักดิ์สิทธิ์ มีข้อห้ามหลายประการเกี่ยวกับต้นไผ่เหล่านี้ หนึ่งในนั้นคือเขยต่างบ้าน สะใภ้ต่างเมืองห้ามปีนเด็ดขาด ปีนเมื่อไรมีอันเป็นไปทุกราย

เป็นอีกครั้งที่ผมต้องบอกว่า อย่าเพิ่งถามว่าจริงไม่จริงครับ มันสำคัญแค่ว่าคนที่นี่เขาเชื่อกันอย่างนี้เท่านั้น ตำนานเรื่องห้ามปีนไผ่นี้เมื่อคิดดีๆ แล้วบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ทั้งสภาพการเมืองในอดีตที่แน่นอนว่าผู้ปกครองย่อมไม่ต้องการให้คนนอกเข้ามายุ่มย่ามในเขตปกครองของตน แนวคิดการรักษาความบริสุทธิ์ของเผ่าพันธุ์จึงเกิดขึ้นในชุมชนเก่าแก่หลายที่ และ ณ บ้านกลางหมื่นแห่งนี้ที่คนในหมู่บ้านแม้ในปัจจุบันเองยังคงภาคภูมิใจในเชื้อสายเชื้อเจ้าชาวเวียงของบรรพบุรุษ ย่อมคาดเดาได้ว่าในอดีตเมื่อแรกตั้งเมืองนั้น มุมมองของผู้ปกครองต่อกลุ่มชาติพันธ์ุลาวอื่นๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณโดยรอบเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ตำนานดังกล่าวยังเป็นเครื่องบ่งชี้สภาพสังคมสมัยก่อนที่อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ บ้านเรือนของชุมชนชาวอีสานเก่าแก่หลายแห่งยังปรากฏบ้านใต้ถุนสูงลักษณะต่อชานยาวติดกันโดยไม่เว้นช่อง อันเป็นเหตุให้เมื่อเกิดอัคคีภัยแต่ละครั้งก็มักไหม้ลามติดกันไปเป็นบริเวณกว้าง การอยู่รวมกันของประชากรในลักษณะเช่นนี้เอง ที่จำเป็นต้องมีการจัดสรรทรัพยากรให้แก่เครือญาติฝ่ายต่างๆ โดยอาศัยคุณค่าของความเป็นสายหลักและสายรองเป็นเกณฑ์ แม้ในปัจจุบันตำนานเรื่องต้นไผ่ของปู่สามขาจะไม่ได้เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เท่าในอดีต เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ไม่มีความจำเป็นต้องไปปีนตัดต้นไผ่มาใช้ในครัวเรือนอีกแล้ว แต่ความเชื่อเรื่องการให้คุณให้โทษแก่ผู้ล่วงละเมิดและค่านิยมในการเกี่ยวดองกันเองในหมู่บ้านก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่

นอกจากตำนานความเชื่อที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว บ้านกลางหมื่นยังมีความน่าสนใจอีกในหลายแง่มุมครับ ไม่ว่าจะเป็นงานฝีมือที่ขึ้นชื่อในเรื่องผ้าไหมแพรวา นอกจากนั้นกลุ่มสรภัญญะของชาวบ้านกลางหมื่นก็นับได้ว่ามีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศ เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทั้งหมดที่ก่อขึ้นเป็นบ้านกลางหมื่นแล้ว คงไม่เกินเลยใช่ไหมครับ หากผมจะขอขนานนามสถานที่แห่งนี้ว่า กลางหมื่นหมู่บ้านเล็กเรื่องราวใหญ่

ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

image_pdfimage_print