โดยสุรวุฒิ ศรีนาม

ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ซึ่งดูลึกๆ แล้วก็ไม่ต่างจากแผนเดิมและมีแนวโน้มที่จะไม่สำเร็จหากยังทำเหมือนเดิม ภาพจาก BIOTHA

หลังจากความล้มเหลวของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 ในที่สุด “เกษตรอินทรีย์” ก็กลายเป็นวาระแห่งชาติอีกครั้งในยุครัฐบาล คสช.

แต่ทว่าดูท่าแล้วจะเป็นการละลายงบประมาณโดยไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเนื้อหาของแผนก็ไม่ต่างจากแผนเดิมที่สุดท้ายงบประมาณก็ไปกองอยู่กับการอบรมเรื่องปุ๋ยหมัก น้ำหมัก และจัดงานตลาด ซึ่งไม่สามารถสร้างตลาดรองรับผลผลิตอินทรีย์ได้อย่างแท้จริ

อีกทั้งยังคงเป็นการขับเคลื่อนผ่านหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก แทนที่จะให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน ในขณะที่ทิศทางการพัฒนาประเทศของรัฐก็ยังคงทำทุกอย่างเพื่อบีบคอเกษตรกรรายย่อย เพื่ออุ้มชูภาคอุตสาหกรรมเช่นเดิม

“ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2564” ของรัฐบาล คสช. ทำให้เกิดคณะทำงานในระดับต่างๆ มากมาย ผมเองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟขบวนนี้ โดยการได้รับแต่งตั้งให้เป็น “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

ผมเป็นตัวแทนจากภาคเอกชนเพียงคนเดียวที่ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์โดยตรง ซึ่งสาเหตุที่ได้เข้ามาทำงานนี้ก็ด้วยประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับการจับคู่ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ให้ผู้ผลิตหาผู้ซื้อเจอ รวมทั้งได้ฝึกการเจรจาธุรกิจ และปัจจุบันผมก็เป็นเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักปลอดภัยเพื่อการส่งออกซึ่งเป็นตลาดบน ผู้เสนอชื่อจึงเห็นว่าผมมีประสบการณ์ในการทำตลาดผักปลอดภัย จึงน่าจะสามารถช่วยในการขับเคลื่อนตลาดอินทรีย์ได้

การเข้ามาทำงานนี้ ทำให้ได้เห็นภาพรวมของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ทั่วภาคอีสานและของทั้งประเทศ ซึ่งจากการประชุมครั้งแรกนั้นผมได้เห็นแผนงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของแต่ละจังหวัดที่ร่างขึ้นเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์นี้

แต่ทั้งนี้ด้วยความที่คนในแวดวงเกษตรอินทรีย์บางคนรู้สึกว่าเกษตรอินทรีย์เป็นสิ่งบริสุทธิ์ เป็นจริยธรรมขั้นสูง ที่ไม่อาจให้คนที่ทำเคมีมาร่วมได้ ผมจึงถูกทักท้วงว่าเป็นคนทำเคมีที่มานั่งขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์

น่าเป็นห่วงมากว่าโครงการต่างๆ ที่เสนอเข้ามานั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะการอบรมให้ความรู้เรื่องเดิมๆ เช่น การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ แม้แต่ “โครงการ 9101” ที่ผ่านมาที่รัฐบาลโยนงบสองหมื่นกว่าล้านบาทลงมาทำโครงการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน ก็มีการทำปุ๋ยอินทรีย์กันเป็นส่วนใหญ่ จึงกลายเป็นว่ารัฐออกนโยบายตั้งงบประมาณขึ้นมา แล้วก็มีคนเขียนโครงการเอางบไปทำแบบที่ไม่ได้หวังผลให้การขับเคลื่อนเกิดขึ้นจริงจัง ทั้งที่ในความเป็นจริงเกษตรอินทรีย์บ้านเรามีปัญหาติดขัดในด้านการตลาดมากกว่าการผลิต แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างพยายามส่งเสริมเฉพาะในส่วนของการผลิตอย่างการทำปุ๋ย ซึ่งผมก็เห็นส่งเสริมมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว

หากเราย้อนมองไปถึงอดีตเราก็จะพบว่าเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่เป็นกระแสรองในสังคมเกษตรกรรมไทยมากว่า 30 ปี โดยเฉพาะในแวดวงเกษตรพอเพียง มักจะชูการทำเกษตรอินทรีย์กันเป็นหัวใจหลัก เห็นได้จากศูนย์ถ่ายทอดความรู้เกษตรพอเพียงที่มีกระจายอยู่มากมายทั่วประเทศ ยิ่งในยุคนี้มีการอัดฉีดเม็ดเงินลงมาสร้างศูนย์ถ่ายทอดความรู้เกษตรพอเพียงกันขนานใหญ่ ยิ่งทำให้เราเห็นความเคลื่อนไหวของเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น

แต่ตลาดของเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณสองพันกว่าล้านบาทต่อปี เกือบร้อยละ 80 เป็นตลาดส่งออก น่าสะท้อนใจว่าการผลิตอาหารปลอดภัยนั้นมีพื้นที่การตลาดภายในประเทศน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนตลาดในต่างประเทศ

นโยบายการกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของไทยอ่อนแอมาก ทำให้เรามีสินค้าอาหารราคาถูกอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่มีการนำเข้าผักผลไม้และอาหารแปรรูปจากต่างประเทศเข้ามาอย่างมหาศาล เป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าไทยเป็นประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรมากมาย แต่รัฐก็ยังอนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรหลายรายการเข้ามาทั้งที่เราเองก็สามารถผลิตได้ เช่น พริก หอมแดง กระเทียม แครอท ผักเมืองหนาว และ ผลไม้บางชนิด

นโยบายเช่นนี้สร้างอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของเรา ผลกระทบก็คือสินค้าจากต่างประเทศนั้นเข้ามาในราคาที่ถูกมาก จึงกดราคาสินค้าของไทยเราให้มีราคาถูกตาม ซึ่งยิ่งขยายช่องว่างราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์กับสินค้าเกษตรเคมีทั่วไปให้กว้างมากขึ้น ตัวอย่างเช่น พริกแห้งจากอินเดียปัจจุบันราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท ในขณะที่พริกแห้งไทยกิโลกรัมละ 100-130 บาท ส่วนพริกแห้งอินทรีย์กิโลกรัมละ 150-200 บาท ช่องว่างราคาเช่นนี้มีผลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

ตรงกันข้าม ที่ยุโรปซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าอินทรีย์นั้น ไม่ได้เป็นเหมือนตลาดบ้านเราเพราะที่นั่นสินค้ามีสองราคาคือ “แพง” และ “แพงมาก” ดังนั้นสินค้าเกษตรอินทรีย์จึงมีที่ทางมากกว่าเพราะสินค้าทั่วไปก็ราคาแพงอยู่แล้ว ผู้บริโภคจึงมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าอินทรีย์มากยิ่งขึ้น

จากประสบการณ์ทำผักส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นของผม การที่จะส่งพืชผักผลไม้ไปขายได้ต้องผ่านด่านการตรวจสอบมากมายทั้งสารเคมีตกค้าง เชื้อปนเปื้อน โรคและแมลง จึงทำให้พืชผักผลไม้ที่เราทำส่งออกนั้นต้องดูแลเป็นอย่างดี ราคาจึงค่อนข้างสูงกว่าปกติและเมื่อเดินทางไปถึงปลายทางก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีก

นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของปรากฏการณ์ที่ผักผลไม้ รวมทั้งสินค้าอาหารอื่นๆ เป็นสินค้าราคาแพงในยุโรปและหลายๆ ประเทศ จึงมีแนวโน้มการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้นในต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปเพราะมีที่ทางในการขาย คนในประเทศเหล่านั้นไม่สามารถหาพืชผักผลไม้ราคาถูกแสนถูกที่ไม่ปลอดภัยอย่างในบ้านเราได้เลย

เมืองไทยเป็นประเทศที่สินค้าเกษตรราคาถูกมาก ซึ่งหากมองเผินๆ อาจจะเป็นความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาลทุกรัฐบาล แต่หากมองย้อนไปถึงอดีตและพิจารณาปัจจุบันอย่างลึกซึ้งก็สามารถสรุปได้ว่า เป็นความจงใจทำให้สินค้าเกษตรราคาถูกเพราะจะผลักดันให้ประชาชนไหลเข้าสู่ระบบแรงงานราคาถูกในภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น

เรื่องนี้ผมเคยฟังอาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญพูดในทำนองว่า การที่ภาคเกษตรของไทยอ่อนแอและมีปัญหาที่แก้ไม่ตกมาช้านานนั้นเป็นความจงใจของรัฐที่จะถ่ายโอนทรัพยากรต่างๆ ไปยังระบบอุตสาหกรรม และการกดราคาอาหารให้ราคาถูกนั้นเป็นการช่วยค้ำจุนระบบอุตสาหกรรมในสองทาง

คือหนึ่ง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถมีรายได้เพียงพอด้วยการทำงานภาคเกษตรเพียงอย่างเดียว และสอง ทำให้คนทำงานในภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ได้ แม้ว่ารายได้จากการทำงานในระบบอุตสาหกรรมจะไม่มากนักแต่ก็ไม่เป็นภาระมากเพราะราคาอาหารนั้นค่อนข้างถูก จึงทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะออกมาทำงานนอกภาคเกษตรมากยิ่งขึ้น

นโยบายเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาลนี้ซึ่งดูเหมือนจะจริงจัง แต่ท้ายที่สุดผมคิดว่าน่าจะเป็นเพียงละครโรงเล็กที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกได้ว่ารัฐให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์และความปลอดภัยทางอาหาร

ทั้งที่ในความเป็นจริงก็เป็นเพียงนโยบายลูบหน้าปะจมูกที่ผันงบลงมาแล้วก็ทำกันไปพอผ่านๆ ขายฝันให้กับคนหัวใจอินทรีย์ไปวันๆ แต่ไม่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่จริงจังอย่างที่ควรจะเป็น

หากรัฐจริงใจจริงๆ ก็จะต้องปรับรื้อระบบการเกษตรของไทยใหม่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การปกป้องตลาดสินค้าเกษตรของไทย การส่งเสริมด้านมาตรฐานความปลอดภัย และการพัฒนาการเกษตรในทุกด้านอย่างจริงจัง

แต่ถ้าหากมัวแต่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ผ่านรูปแบบเดิมๆ ทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมัก จัดตลาดนัด ก็คงจะเป็นการยากที่เราจะไปถึงสังคมเกษตรปลอดภัยได้อย่างแท้จริง

image_pdfimage_print