โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

Trump welcomes Thai junta leader to White House นี่คือพาดหัวข่าวเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 3 ต.ค. ตามเวลาในประเทศไทย) แปลความได้ว่า ทรัมป์เปิดทำเนียบขาวต้อนรับผู้นำเผด็จการทหารของไทย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต้นเรื่องที่สามารถขยายความให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในประเทศไทย

วิทยากรและสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส หลังการเสวนาสาธารณะสิทธิชุมนุมฯ ที่ มรภ.สกลนคร เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2560

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เดอะอีสานเรคคอร์ดร่วมกับสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สกลนคร และองค์กรที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “สิทธิชุมชน” ความท้าทายและอำนาจในการจัดการทรัพยากร โดยข้าพเจ้ามีโอกาสเป็นวิทยากรในเวทีช่วงบ่าย โจทย์ที่ได้รับคือ การพูดถึงสถานการณ์ของสื่อในระดับประเทศและระดับภูมิภาคต่อการทำข่าวด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน

เพื่อทำความเข้าใจว่าสื่อมวลชนระดับประเทศคิดเห็นอย่างไรต่อการเสนอข่าวสิทธิมนุษยชน จึงต้องหยิบยกข่าวที่น่าสนใจมาวิเคราะห์ นั่นคือข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เยือนสหรัฐฯ ตามคำเชิญของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ

สิ่งที่น่าสนใจมีอยู่ 2 ประเด็น

ประเด็นแรกคือ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนี้ (การกราดยิงที่ลาสเวกัส จนมีผู้เสียชีวิต 59 ราย) กับเหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคนในเปอร์โตริโก้ (ดินแดนภายใต้อาณัติของสหรัฐฯ)

ประเด็นที่สองคือ พล.อ.ประยุทธ์บอกกับนายทรัมป์ว่าจะประกาศเลือกตั้งปีหน้าแน่นอน (ปี 2561) ทั้งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้สอบถาม

ทั้งสองประเด็นสื่อกระแสหลักของไทยนำเสนอข่าวไปตามน้ำโดยไม่ได้ตรวจสอบและตั้งคำถาม แต่การเขียนข่าวเช่นนี้เป็นการสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

เรื่องการประกาศการเลือกตั้ง ถ้าสื่อกระแสหลักจะตระหนักว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็พูดแบบนี้ในเวทีนานาชาติมาแล้วหลายครั้งแต่ก็ทำไม่ได้โดยไม่มีเหตุผลรองรับ ประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเลือกตั้งก็จะไม่ใช่แค่การรายงานข่าวแจ้งให้รับทราบและเชื่อไปตามนั้น

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ได้บอกกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า “เรากำลังวางแผนที่จะจัดการเลือกตั้งในช่วงสิ้นปีนี้ (ปี 2558) หรือต้นปีหน้า (ปี 2559) ผมสัญญาว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งขึ้นในประเทศไทยให้ได้”

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2558 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ พล.อ.ประยุทธ์ หารือทวิภาคีกับนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยบอกว่า

“หากประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว ก็จะดำเนินการยกร่างกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560”

เห็นได้ว่าขนาดการพูดบนเวทีต่างชาติ 2 ครั้งในเวลาต่างกันแค่ 7 เดือน หัวหน้าคณะรัฐประหารยังยืดเวลาเลือกตั้งออกไป จากปี 2558 หรือ ปี 2559 เป็นปี 2560 แล้วการพูดกับนายทรัมป์ว่าจะประกาศเลือกตั้งปี 2561 จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่

แต่นั่นไม่สำคัญเท่าการที่สื่อต้องคิดว่า สาเหตุจริงๆ ที่ยังไม่มีการจัดการเลือกตั้งติดขัดขั้นตอนของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือเป็นเพราะ คสช.ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งกันแน่

แต่สื่อไทยคำนึงถึงประเด็นนี้หรือไม่

ประเด็นเรื่องการเลือกตั้งมีความเชื่อมโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างแยกกันไม่ออก เนื่องจาก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 21 ระบุว่า

“ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศของตน ทั้งโดยทางตรงหรือทางผู้แทนซึ่งมาจากการเลือกตั้งรวมทั้งทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค”

ฉะนั้นการไม่มีการเลือกตั้งจึงเป็นการละเมิดสิทธิในการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศอย่างชัดเจน การที่สื่อเพิกเฉยต่อการพูดลอยๆ เรื่องการประกาศเลือกตั้งของพล.อ.ประยุทธ์จึงมีส่วนไม่มากก็น้อยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนไทยทุกคนหรืออย่างน้อยก็ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง

ประเด็นการกราดยิงที่ลาสเวกัสที่ พล.อ.ประยุทธ์แสดงความเสียใจต่อประธานาธิบดีทรัมป์ถือเป็นมรรยาททางการทูต แต่ประเด็นนี้ถ้าสื่อจะตั้งคำถามว่า ทำไมผู้นำเผด็จการทหารของไทยจึงเสียใจเฉพาะเหตุการณ์สังหารหมู่ที่สหรัฐฯ แล้วเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 จนมีคนตาย 99 ศพล่ะ ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยแสดงความเสียใจต่อเรื่องดังกล่าวทั้งที่คือการสังหารหมู่เช่นกัน

อีกทั้ง เมื่อปี 2553 พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก หน่วยงานที่ส่งทหารพร้อมกระสุนลอบสังหาร (สไนเปอร์) และกระสุนจริง เข้าจัดการกับผู้ชุมนุม ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ย่อมจะรับทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดี  

สื่อมวลชนกระแสหลักก็ไม่สอบถามและวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้ ทั้งที่การสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตเป็นเรื่องของรัฐบาลและกองทัพบกซึ่งเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่มากก็น้อย

ข่าวประยุทธ์เยือนทำเนียบขาวจึงสะท้อนให้เห็นว่า สื่อระดับประเทศละเลย เมินเฉย หรืออาจจะไม่เข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร และมีความหมายอย่างไร

เมื่อลงมายังพื้นที่ภาคอีสาน จะพบว่าสื่อในระดับภูมิภาคก็ละเลยเรื่องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การไม่ติดตามและเจาะลึกข่าว นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จนไผ่ต้องยอมรับสารภาพ  

ในเมื่อสื่อละเลยประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว กรณีสิทธิชุมชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นกัน อาทิ สิทธิของชุมชนด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ย่อมถูกเพิกเฉยตามไปด้วย ยกเว้นกรณีเด่นดัง เช่น ข่าวป่ากระทิงแดง ที่ จ.ขอนแก่น

จึงเห็นได้ว่า การละเมิดสิทธิชุมชนในสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ จ.นครพนม การสำรวจแร่โปแตช ที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และการกว้านซื้อป่าเพื่อปลูกไร่อ้อย ที่ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร รวมถึงการฟ้องร้องขับไล่และตัดฟันอาสินประชาชนหลายพื้นที่ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. จึงเป็นข่าวที่ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อภูมิภาค และสื่อจากส่วนกลางที่มีสาขาอยู่ที่ภาคอีสาน

ผู้ร่วมเสวนาร่วมแสดงความคิดเห็น เป็นขั้นตอนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย

ในเวทีเสวนา ข้าพเจ้ายังมีข้อเสนอต่อกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน

อย่างแรกต้องรับรู้ก่อนว่า ที่เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนอย่างลอยหน้าลอยตาได้ เพราะประเทศไทยปกครองโดยระบอบเผด็จการทหาร

อย่างที่สองต้องเข้าใจก่อนว่า ประชาชนคิือเจ้าของอำนาจสูงสุด รัฐบาลและข้าราชการเป็นคนทำงานรับใช้ประชาชน คนเหล่านี้คือลูกจ้างของประชาชนที่เสียภาษี หาใช่เป็นเจ้านายของประชาชน  

อย่างที่สามคือการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องทวงสิทธิชุมชนกลับมาจากรัฐราชการรวมศูนย์ ต้องเปลี่ยนแปลงให้ต่อไปนี้ สิทธิในที่ดิน ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ต้องเป็นของชุมนุม ไม่ใช่เป็นของส่วนกลาง เช่น กรณีป่ากระทิงแดง ที่กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจตัดสินใจมอบที่ดินในจังหวัดต่างๆ ให้เอกชนเช่าได้อีกต่อไป

การทวงสิทธิทำได้หลายวิธีแต่ข้อเสนอให้หัวข้อหลักคือ ต้องลดขนาดของรัฐบาลกลาง เพิ่มบทบาทรัฐบาลท้องถิ่น และถ่ายโอนการถือครองทรัพยากรให้ชุมชน

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นต้องมีประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานเสียก่อน

การเป็นประชาธิปไตยต้องมาจากการต่อสู้ของประชาชนเอง หาใช่รอให้ใครนำมามอบให้ เพราะขณะนี้สหรัฐฯ ที่เคยมีท่าทีแข็งกร้าวต่อความเป็นประชาธิปไตยของไทย ก็ได้ถอยห่างออกไปแล้ว

image_pdfimage_print