โดยดานุชัช บุญอรัญ
ความตายของประชาชนจากต่างจังหวัดซึ่งมาจากภาคเหนือและภาคอีสาน เมื่อปี 2553 ถูกลดคุณค่าด้วยกระบวนการครอบงำทางความคิดผ่านสื่อและกลไกลรัฐ ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนน้อยในเมืองหลวงซึ่งได้ประโยชน์ ซึ่งแตกต่างจากการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในอีกทวีปที่อยู่ตรงข้ามกับประเทศไทย
น่าแปลกใจที่คนไทยจำนวนไม่น้อยเป็นเดือดเป็นร้อนต่อเหตุการณ์กราดยิง 50 ศพที่ลาสเวกัส ทั้งแสดงท่าทีรับไม่ได้ต่อการใช้ความรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์ ต่างจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยวิธีล้อมยิง โดยเจ้าหน้าที่รัฐกลางเมืองหลวงในประเทศตัวเอง ที่มีคนตายเป็นร้อยคน โดยคนส่วนใหญ่เลือกที่จะเงียบเเละสมยอมต่อความรุนแรงที่มีผลได้ผลเสียกับตน
จากกรณีคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงใส่ประชาชนในงานเทศกาลดนตรีกลางแจ้ง ใกล้โรงแรมแห่งหนึ่ง ในนครลาสเวกัส รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 ราย ผู้บาดเจ็บมากกว่า 400 ราย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในสังคมออนไลน์และสื่อกระแสหลักในไทย ทำนองรับไม่ได้กับพฤติกรรมของมือปืนในการใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุให้คนเสียชีวิต
เมื่อเปรียบเทียบกับ กรณีการสั่งสลายการชุมนุมของประชาชนด้วยกระสุนจริงโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 100 คน จะพบความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเรื่องท่าทีการแสดงออกของสังคมไทย

ซากรถบรรทุกที่ถูกเผาทำลายกีดขวางถนนพระราม 4 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 ภาพประกอบจาก wikipedia
ปี 2553 เมื่อรัฐบาลเริ่มประกาศกระชับพื้นที่โดยการใช้กำลังทหารเดินเท้าเข้ายึดสถานที่ที่มีประชาชนตั้งเต๊นท์ชุมนุมอยู่และมีการใช้อาวุธปืนซึ่งบรรจุกระสุนที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นกระสุนยาง ยิงเข้าใส่กลุ่มคน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ในขณะนั้นเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลเฉพาะฝั่งการปฏิบัติงานโดยเจ้าหน้าที่ หลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงความรุนแรงและประชาชนผู้เสียชีวิต จากการสรุปบทเรียนโดยนักวิชาการเมื่อเวลาผ่านมาบ่งชี้ว่า ข้อมูลที่ถูกนำเสนอโดยสื่อในขณะนั้นเป็นเพียงยอดสุดของภูเขาน้ำแข็งและมีความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงหลายประการ
กระแสสังคมที่น่าสนใจจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ คือ วาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” ที่ถูกยัดเยียดแก่ประชาชนซึ่งถูกสังหารโดยรัฐ คำสี่คำดังกล่าวกลายมาเป็นความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงจนถึงขั้นการปลิดชีวิตคนจำนวนมาก ที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับและปล่อยให้ผ่านไป มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ แม้ในระยะเวลาต่อมาตัวผู้บงการจะถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมแต่ในวิธีคิดแบบตุลาการไทยก็ยังสมยอมกับกระแสสังคมดังกล่าวจนปรากฏรูปออกมาเป็น การยกฟ้องของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าคดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี สั่งสลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล
ปัจจุบันการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์นองเลือดเมื่อปี 2553 ถูกมองว่าเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคมและการเรียกร้องให้ผู้กระทำผิดออกมารับผิดชอบก็ดูจะยากเย็นเสียจนแทบเป็นไปไม่ได้ สาเหตุหนึ่งที่น่าคิดคือ เพราะกระแสสังคมไม่เอาด้วย คนส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่ใต้การครอบงำของโครงสร้างอำนาจนิยมเก่า ที่แทรกซึมลงรากลึกทุกพื้นที่ด้วยกลไกของระบบราชการ รู้สึกว่าเรื่องมันผ่านไปแล้ว ให้แล้วๆ กันไป “อย่าไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ”
เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ ปี 2553 การกราดยิงฝูงชนที่ลาสเวกัสดูจะมีภาษีเชิงกระแสดีกว่า สื่อหลักและสื่อออนไลน์ต่างพร้อมใจกันเทพื้นที่ให้กับเรื่องนี้ ในสังคมออนไลน์ยังมีความคิดเห็นแสดงออกถึงจุดยืนที่ตรงข้ามกับพฤติการณ์ของมือปืน อีกทั้งยังเรียกร้องหาสันติภาพ
ภาวะเช่นนี้อาจอธิบายได้ว่า เพราะเหตุการณ์ที่ลาสเวกัสเป็นเรื่องไกลตัว อีกทั้งการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ตามกระแสหลักเป็นการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่ตัวผู้วิจารณ์เอง ต่างจากการพูดถึงกรณีสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงที่หากไม่ระวังอาจนำพาความเดือดร้อนมาสู่ตัวได้ ความหวาดกลัวภัยทางการเมืองเช่นนี้ถูกปลูกฝังจากบาดแผลของประชาชนซึ่งพยายามผลักดันการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในอดีต ที่ถูกอำนาจรัฐและกลุ่มผู้นำสังคมตีแตกกระเจิงกลับมาไม่เป็นท่า ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บความคิดเห็นไว้กับตัวและปล่อยให้ความคิดกระแสหลักที่ถูกให้ค่าโดยส่วนกลางเป็นเครื่องชี้นำสังคม
ในอีกแง่หนึ่งการประเมินคุณค่าของการ “สมควรตาย” ในสังคมไทย อาจขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างผู้ตายกับตนเอง มโนทัศน์ที่มองว่าชาวอเมริกันเป็นผู้เจริญกว่าอยู่ในประเทศที่มีสถานะเหนือกว่า และชีวิตแบบอเมริกันที่น่าหลงใหลซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์และสื่อต่างชาติ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับความตายของประชาชนผู้ร่วมชุมนุม ซึ่งถูกมองว่าเป็นคนบ้านนอกที่มีชีวิตแร้นแค้น จากภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศ ที่รวมกลุ่มกันเข้ามาสร้างความวุ่นวายในเมืองเพราะความโง่เขลาและหน้าเงิน โดยวิธีครอบงำผ่านมายาคติการขีดเส้นแบ่งระหว่างคนเมืองกับคนต่างจังหวัดด้วยความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสติปัญญา ซึ่งถูกขานรับโดยคนส่วนน้อยที่มีความได้เปรียบในเมืองหลวง
กระแสสังคมกลายเป็นเครื่องมือที่สามารถควบคุมการแสดงออกได้ เมื่อกระบวนการสร้างความสำคัญโดยสื่อและอำนาจรัฐถูกด้วยคนส่วนน้อยที่มีความได้เปรียบในการเข้าถึงกลไกรัฐเพื่อผูกขาดสิทธิในการชี้นำ ปรากฏการณ์กำหนดความคิดของคนส่วนใหญ่ว่า เรื่องใดควรจะ “รับไม่ได้” หรือเรื่องใด “สมควรแล้ว” จึงเกิดขึ้นแบบที่เห็นอยู่
ดานุชัช บุญอรัญ ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560