นักกิจกรรมในภาคอีสานและนักกิจกรรมในกรุงเทพมหานครร่วมวงสนทนาเรื่องการตั้งพรรคการเมืองและเรื่องการเคลื่อนไหวเชิงนโยบาย ต่างเห็นตรงกันว่าตอนนี้ต้องทำงานด้านความคิด แต่ข้อเสนอของแต่ละคนแตกต่างไปว่าจะต่อกรกับสภาพการเมืองที่ปิดกั้นของทุกวันนี้อย่างไร
แถลงข่าว โดย โครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตย
โดยพีระ ส่องคืนอธรรม
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2560 กลุ่มการเมืองที่เพิ่งเกิดใหม่ คือ “โครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตย (the Project for a Social Democracy หรือ PSD)” จัดการประชุมพบปะพูดคุยขนาดเล็กระหว่างนักกิจกรรมจากภาคอีสานและนักกิจกรรมในกรุงเทพมหานคร เพื่อวัดระดับความสนใจต่อแผนการก่อตั้งมูลนิธิที่จะให้การศึกษาทางการเมืองแก่สาธารณชน
ตั้งแต่การยึดอำนาจปกครองเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ประชาชนชุมนุมกันทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และยังห้ามไม่ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมใดๆ ด้วย
ผู้จัดการประชุมกล่าวว่า การประชุมนี้มิใช่การรวมตัวทางการเมือง แต่ก็เป็นการพบปะกันอย่างเปิดเผยเพื่อพูดคุยเรื่องการเมือง
“พรรคอุดมการณ์” นอกนิยามแดงเหลือง
กรชนก แสนประเสริฐ ตัวแทนจากพรรคสามัญชนวัย 31 ปี เล่าว่า แนวความคิดที่จะก่อตั้งพรรคการเมืองนั้นมีมาตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 แล้ว
ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชน อันมาจากนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน เป็นแนวร่วมอยู่กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ “กลุ่มเสื้อเหลือง” แต่แล้วก็เกิดความแตกแยกทางความคิดช่วงก่อนรัฐประหารปี 2549 เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ เสนอแนวทางที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย
“เราไม่ใช่เสื้อแดง แต่เราเป็นเสื้อเหลืองไม่ได้แล้ว” กรชนกเล่าถึงการที่กลุ่มของตนแยกตัวออกมาจากกลุ่มเสื้อเหลือง จนปัจจุบันนี้ที่ร่วมกิจกรรมหลายอย่างกับคนเสื้อแดง
ประเทศไทยมีพรรคการเมืองที่ยึดถืออุดมการณ์สังคมประชาธิปไตยแล้ว นั่นคือ “พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย” หรือชื่อเดิมคือ “พรรคการเมืองใหม่” ซึ่งก่อตั้งโดยสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่ง ณ เวลานั้น กรชนกและกลุ่มนักกิจกรรมจากภาคอีสานก็ได้เริ่มวางแผนตั้งพรรคการเมืองแยกออกมาต่างหากแล้ว
“เริ่มคุยเรื่องพรรคสามัญชนกันมาหกปีแล้ว แต่พอจะไปจดทะเบียนแล้วเกิดรัฐประหารก่อนวันเดียวพอดี” กรชนกกล่าว
อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงศ์ ตัวแทนวัย 35 ปี จากโครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตย กล่าวว่า โครงการฯ ต้องการก่อตั้งพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายซ้ายกลาง (center-left) ซึ่งชูนโยบายการกระจายความมั่งคั่งจากคนรวยสู่คนจนและนโยบายรัฐสวัสดิการ
อธิพงศ์เห็นว่าโครงการ PSD สามารถเป็นขุมพลังที่จะช่วยบ่มเพาะให้พรรคการเมืองที่ถืออุดมการณ์บางอย่างเป็นธงนำ หรือ “พรรคอุดมการณ์” ได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งในเวทีการเมืองไทย โดยพรรคการเมืองที่ยึดถืออุดมการณ์ฝ่ายซ้ายต่างๆ ในอดีตของไทยนั้นถูกปราบปรามลงสมัยสงครามเย็น
“โครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตย วางตนแตกต่างไปจาก “พรรคมวลชน” หรือพรรคการเมืองที่เป็นผู้เล่นหลักในประเทศไทยปัจจุบันนี้ ซึ่งมักไม่ยึดถือจุดยืนซ้าย-ขวาทางการเมืองเด่นชัด และมักมีนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตามสถานการณ์” อธิพงศ์กล่าว
กรชนกเห็นไปในทางเดียวกันว่า จำเป็นต้องมี “พรรคอุดมการณ์” ให้มากเท่าที่จะมากได้ หากมีการเลือกตั้งทั่วไป กรชนกตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในนามพรรคสามัญชน แต่ทั้งนี้เขาก็พร้อมใจที่จะทำงานร่วมกับกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายอื่นๆ
จากท้องถนนสู่รัฐสภา
ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement หรือ NDM) กรชนก แสนประเสริฐ ได้เรียนรู้ว่า ลำพังการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านการแสดงออกของนักกิจกรรมจำนวนหยิบมือ ไม่สามารถ “จุดติด” หรือชักพามวลชนให้ออกมาเคลื่อนไหวได้
“ประสบการณ์จาก NDM ชัดเจนมากว่า มวลชนไม่มี มวลชนไม่พร้อม [จะออกมาเคลื่อนไหว]” ตัวแทนพรรคสามัญชนกล่าว “เราไปคาดหวังให้การเคลื่อนไหวประท้วงดึงมวลชนมาไม่ได้ หวังพึ่งการ active [ตื่นตัว] ของเสรีชนเนี่ย เป็นไปได้ยากมาก”
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีนักศึกษานักกิจกรรมเป็นโฉมหน้าการเคลื่อนไหว ซึ่งการประจันหน้ารัฐบาลทหารโดยไม่ใช้ความรุนแรงตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้ทำให้หลายคนถูกกักตัวและดำเนินคดี
เปรมปพัทธ์ ผลิตผลการพิมพ์ นักรณรงค์ผ่านสื่อโซเชียล แสดงความเห็นว่า ทุกวันนี้มีการทำกิจกรรมประเภท “อีเว้นท์” มากพอแล้ว เช่น การจัดเวทีเสวนา หรือการทำแฟลชม็อบ แต่ที่ยังขาดคือการทำงานระดับโครงสร้างแบบมองการณ์ไกลและไม่ฉาบฉวย
เปรมปพัทธ์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง New Ground อันเป็นองค์กรเครือข่ายที่พยายามสร้างพื้นที่สำหรับวัยรุ่น ให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักรู้ตลอดจนลงมือมีส่วนร่วมทางการเมืองและออกแบบนโยบาย
เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นักกิจกรรมนักศึกษาวัย 21 ปี ผู้ถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นตรงกันว่า การทำงานด้านนโยบายควรเป็นองค์ประกอบสำคัญมากกว่าที่เป็นอยู่ในการจัดขบวนการเคลื่อนไหว
“อยากทำบางอย่างที่ฉีกจากรูปแบบแบบเก่า อยากผลักดันความคิดนโยบายก้าวหน้า ทำ policy [นโยบาย] เชิงรูปธรรมในระดับโครงสร้าง” เนติวิทย์กล่าวในบริบทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนิสิตขาดอำนาจการมีส่วนร่วมตัดสินใจในกิจการของมหาวิทยาลัย โดยเนติวิทย์ต้องการผลักดันเรื่องสวัสดิการนิสิต
แต่เมื่อพูดถึงพรรคการเมืองแล้ว นักกิจกรรมผู้เคยกล่าวว่าตนมุ่งเดินเส้นทางการเมืองแสดงความไม่แน่ใจ เขากล่าวว่า ตอนนี้อาจควรทำพรรคการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะสถานการณ์อันตราย ไม่ควรจะป่าวประกาศไปในทันที
“ทุกวันนี้ผู้มีอำนาจเขาเล่นแรง” เนติวิทย์กล่าวถึงการถูกปลดจากตำแหน่งสภานิสิตจุฬาฯ ซึ่งผู้มีอำนาจภายนอกได้มีส่วนกดดันด้วย “ถ้ามีพรรคการเมืองอาจทำให้แย่ยิ่งกว่าเดิม”
เชื่อมโยงข้ามเส้นแบ่ง
นิติกร ค้ำชู ตัวแทนขบวนการอีสานใหม่ อายุ 27 ปี กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมต่อการเคลื่อนไหวในระดับชุมชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับโครงสร้างประเทศเข้าด้วยกัน
ขบวนการอีสานใหม่เป็นการรวมตัวกันของนักเคลื่อนไหวและผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐให้สามารถเชื่อมโยงวิถีชีวิตของคนอีสานกับโครงสร้างทางการเมืองได้อย่างเกิดผล
ในเวลาไม่ถึงสามปีนับแต่การประกาศตัวอย่างเป็นทางการ ขบวนการอีสานใหม่ได้จัดงานเสวนาสาธารณะในกรุงเทพมหานคร ขอนแก่น และในชุมชนต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับโครงการพัฒนาของรัฐ ให้ผู้นำชุมชนและผู้เชี่ยวชาญได้มาเสนอประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนอีสาน แต่ถึงกระนั้น นิติกรก็ยังมองว่า “การเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างกับข้างล่างยังไม่เกิดขึ้น”
นิติกรสังเกตว่านักเคลื่อนไหวระดับชุมชนมักจะติดอยู่กับประเด็นร้อนที่ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จึงไม่ค่อยได้มีการถกกันอย่างจริงจังถึงปัญหาภาพรวมเชิงโครงสร้าง ว่าสิ่งที่เกิดในพื้นที่เชื่อมโยงกับนอกพื้นที่อย่างไร ตัวแทนขบวนการอีสานใหม่พบว่าระดับการศึกษาทางการเมืองระดับโครงสร้างยังต่ำอยู่
เนติวิทย์แสดงท่าทีเชิงปฏิเสธต่อการจัดทริปให้นิสิตจุฬาฯ ไปลงพื้นที่ชุมชนในภาคอีสานที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เขาอธิบายว่าทางมหาวิทยาลัยชอบเน้นให้นิสิตลงพื้นที่ชนบทอยู่แล้ว แต่ไปลงพื้นที่แบบฉาบฉวย ไม่มีการบ่มเพาะทางอุดมการณ์
แทนที่จะเน้นไปพื้นที่ชนบท เนติวิทย์ต้องการเน้นลงพื้นที่ในเมืองมากกว่า เขาเล็งเห็นพลังที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่นักเรียนนักศึกษา ซึ่งกำลังตื่นตัวทางการเมืองกันขนานใหญ่โดยเริ่มจากประเด็นที่ใกล้ตัวที่สุด อย่างเช่นเครื่องแบบและสวัสดิการนักเรียนนักศึกษา
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนติวิทย์ได้จัดงานประชาพิจารณ์รับฟังปัญหาของผู้ค้าที่เช่าที่โครงการสวนหลวงสแควร์ของจุฬาฯ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้สั่งยกเลิกการประชาพิจารณ์ในนามสภานิสิตฯ โดยบอกว่าเป็น “เรื่องของผู้ใหญ่” แต่เนติวิทย์ก็ยังเดินหน้าจัดงานในนามส่วนตัว
ทำงานด้านความคิด
เมื่อมองไปยังอนาคตประเทศไทยที่จะมีรัฐบาลพลเรือนอีกครั้ง ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสำคัญกับการทำงานทางความคิดเป็นอันดับแรก หลายคนมองเห็นศักยภาพของการตั้งมูลนิธิเพื่อสังคมประชาธิปไตย ว่าน่าจะช่วยให้การศึกษาแก่สาธารณชนชาวไทยได้
มูลนิธิของโครงการเพื่อสังคมประชาธิปไตยมุ่งหวังจะเจริญรอยตามมูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ต ซึ่งเป็นปีกฝ่ายหนึ่งของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี มูลนิธิดังกล่าวดำเนินการโดยมีเจ้าหน้าที่ประจำในสำนักงานกว่าหนึ่งร้อยแห่งทั่วโลก เพื่อส่งเสริมแนวคิดและแนวปฏิบัติของอุดมการณ์สังคมประชาธิปไตย
อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า PSD ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแต่จะส่งเสริมอุดมการณ์สังคมประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังต้องการส่งเสริมการรับรู้เข้าใจการเมืองโดยทั่วไปด้วย เช่นมโนทัศน์เรื่องแกนทางการเมือง (political spectrum) จากฝั่งซ้ายสุดโต่ง (คอมมิวนิสต์) จนกระทั่งขวาสุดโต่ง (ฟาสซิสต์)
“นี่ก็เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความแตกต่างและคล้ายคลึงกันระหว่างอุดมการณ์ชุดต่างๆ และเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของพรรคอุดมการณ์” อธิพงศ์กล่าว
เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล สนับสนุนการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อให้เป็นพื้นที่ของ “ตลาดสากลแห่งความคิด” โดยเฉพาะการเป็นฮับหรือศูนย์รวมการแปลและนำเสนอทฤษฎีทางการเมืองใหม่ๆ ในรูปลักษณ์น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่กลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่ม
ปัจจุบันนี้พรรคสามัญชนและขบวนการอีสานใหม่ได้เริ่มทำงานด้านความคิดอย่างเป็นรูปธรรมแล้วด้วย “โรงเรียนสามัญชน” และ “โรงเรียนอีสานใหม่”
รัฐบาลทหารได้เลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งทั่วไปออกไปเป็นปี 2561 แต่กรอบเวลานี้ก็ยังไม่แน่นอนนัก นายกรัฐมนตรีได้เคยประกาศว่าจะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งจนกว่าประเทศจะ “สงบ”