โดยดานุชัช บุญอรัญ

ความคิดเห็นต่อวิธีปฏิบัติและแนวความเชื่อของคนต่างวัยในสังคมชนบทอีสาน ที่บ้านแมด ต.ตลาด จ.มหาสารคาม ซึ่งได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไปจากการเข้ามาของคริสต์ศาสนา ที่สนับสนุนเด็กเรื่องการศึกษาและการอุปการะจากต่างประเทศ ทำให้เด็กที่นี่ต้องไปทั้งโบสถ์คริสต์ในวันเสาร์อาทิตย์และเข้าวัดเมื่อมีเทศกาลงานบุญทางพุทธศาสนา

ป้ายทางเข้าคริสตจักรนาซารีนมหาสารคาม ที่บ้านแมด ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม

คริสตจักรนาซารีนมหาสารคาม ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 30 ชุมชนบ้านแมด ถนนเสมา ตำบลตลาด  อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

เนื้อที่กว่า 1 ไร่ของคริสตจักรแห่งนี้ได้รับการจัดสรรเพื่อใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ แบ่งเป็น สนามเด็กเล่น ห้องครัว แปลงปลูกผัก และสิ่งปลูกสร้าง สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่ในอาคารกึ่งไม้กึ่งปูนขนาดสองชั้นที่คนโดยทั่วไปเรียกอย่างติดปากว่า “โบสถ์” ชั้นล่างของตึกหลังนี้ยังถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าหน้าที่คริสตจักรซึ่งอุทิศเวลาทั้งหมดในชีวิตให้กับพระเจ้าของตน

เช้าวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุด เด็กหลายคนล้อมวงกันเล่นสนุกอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ด้านหน้าของโบสถ์ ที่ถูกจัดไว้ให้เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับกิจกรรมนันทนาการ เสียงหัวเราะและความร่าเริงแจ่มใสจากหนูน้อยเข้ากันได้ดีกับบรรยากาศบริเวณห้องครัวซึ่งวัยรุ่นและผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งนั่งรับประทานอาหารร่วมกันพลางสนทนาปะสาสะ

แน่นอนว่าที่เล่ามาทั้งหมดไม่ใช่ภาพแทนทางศาสนาดั้งเดิมของคนในชุมชนบ้านแมด อันมีความเป็นมาที่เก่าแก่พอๆ กับประวัติศาสตร์แรกตั้งของเมืองมหาสารคามในอดีต

นายทองสุข ชนะบุญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 30 ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมของชาวชุมชนบ้านแมด

พ่อทองสุข ชนะบุญ ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านแมด ได้บอกเล่าถึงปูมหลังและความเปลี่ยนแปลงในแง่ศาสนาและความเชื่อที่เกิดขึ้นในชุมชนในช่วงบ่ายวันหนึ่ง หลังจากที่ผู้เขียนเที่ยวเสาะหาที่ตั้งของที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 30 อย่างยากเย็น

“แต่เดิมคนบ้านแมดทั้งหมดนับถือพุทธศาสนาและมีความเชื่อในเรื่องผีสางเทวดาประจำท้องถิ่นเช่นเดียวกับชุมชนชาวอีสานทั่วไป จนกระทั่งเมื่อราว 10 กว่าปีก่อน คณะผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ขององค์การนาซารีน ในนิกายโปรเตสแตนท์ ได้ซื้อที่ดินบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านและจัดตั้งคริสตจักรนาซารีนมหาสารคามขึ้น ทำให้มีคนในชุมชนบางส่วนเริ่มหันเหความสนใจจากศาสนาเดิมไปยังศาสนาใหม่”

หลังคำปรารภ พ่อทองสุขเน้นความว่า แม้คริสตจักรนาซารีนจะก่อตั้งและทำการเผยแผ่ศาสนาอยู่ภายในบริเวณชุมชนมามากกว่าสิบปีแล้ว แต่ผู้ใหญ่ในชุมชนส่วนใหญ่ยังคงนับถือพุทธศาสนาและยึดโยงวิถีชีวิตไว้กับวัดและพระสงฆ์อย่างเหนียวแน่น ทว่าอีกด้านหนึ่งเด็กในชุมชนกว่าร้อยละ 90 ก็ได้รับการสั่งสอนและสนับสนุนโดยคริสตจักร นอกจากให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเสื้อผ้าและเงินบำรุงการศึกษาแล้ว เด็กอีกจำนวนหนึ่งยังได้รับสิทธิในการทำเรื่องขอมีผู้อุปการะจากต่างประเทศผ่านช่องทางของคริสตจักร ทำให้ในเทศกาลสำคัญ เช่น วันคริสต์มาส และวันเกิด เด็กกลุ่มนี้จะได้รับของขวัญและเงินพิเศษจากผู้อุปการะของตน

ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านแมดบอกอีกว่า ที่เด็กในชุมชนหันไปให้ความสนใจศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก เป็นเพราะการเป็นคริสต์ศาสนิกชนนั้นให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และยังเกี่ยวข้องกับเรื่องการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กให้ดีขึ้น ต่างจากศาสนาเดิมที่มีลักษณะของการบังคับ ความเคร่งเครียด และไร้สิ่งล่อใจ

“แต่ยังไงผมก็ว่า ศาสนาพุทธยังอยู่นะ อย่างน้อยก็ตอนนี้ เด็กๆ เสาร์อาทิตย์ไปโบสถ์ไปเรียนพิเศษ ไปเล่นสนุก แต่พอถึงงานตักบาตรเทโว งานบุญต่างๆ ก็เข้าวัดทำบุญตามปกติ ซึ่งส่วนนี้ทางโบสถ์คริสต์เขาก็ไม่ได้ถือว่าเป็นข้อห้ามอะไร” ชายกลางคนผู้นี้กล่าว

สำหรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของคนบ้านแมด พ่อทองสุขนิ่งคิดสักพัก ก่อนจะพูดว่า จากการได้พูดคุยกับบรรดาลูกหลานและเด็กๆ ในชุมชนซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมกับคริสตจักรเป็นประจำ ทำให้มองว่าหากคนรุ่นเก่าซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ตายไป ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า คนรุ่นใหม่ในบ้านแมดซึ่งคลุกคลีอยู่กับคริสตจักรตั้งแต่ยังเด็กจะเปลี่ยนแปลงกระแสความเชื่อความศรัทธาในระดับชุมชนจากแต่เดิมมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดกลายไปเป็นคริสตจักรซึ่งพวกเขาคุ้นเคยมากกว่า

“พระเจ้าสอนให้เราแสดงความรักด้วยการกระทำ ไม่ใช่รักด้วยคำพูด” ช่วงหนึ่งจากการสัมภาษณ์อาจารย์ประสาน ทองสุมาตร ศิษยาภิบาล เจ้าอธิการคริสตจักรนาซารีนมหาสารคาม

ที่คริสตจักรนาซารีนมหาสารคาม อาจารย์ประสาน ทองสุมาตร ศิษยาภิบาล เจ้าอธิการคริสตจักรนาซารีน มหาสารคาม ให้การต้อนรับผู้เขียนด้วยความอารี เนื่องด้วยวันเสาร์เป็นวันที่คริสตจักรจัดกิจกรรมทางศาสนาทำให้มีผู้คนค่อนข้างมาก ทำให้กว่าผู้เขียนจะหาที่จอดรถได้ยาก เวลานัดหมายก็ล่วงไปกว่ายี่สิบนาทีจึงได้เริ่มการสนทนา

“เราเริ่มต้นจากการเช่าที่และย้ายกันมาถึงสามแห่ง กว่าจะมามีที่นี่”  ชายผู้เปรียบเสมือนบิดาแห่งศาสนิก ชนนาซารีนมหาสารคามเอ่ยก่อน

คริสตจักรนาซารีนมหาสารคาม ก่อตั้งเมื่อปี 2547 เป็นศาสนสถานของศาสนาคริสต์ ในนิกายโปรเตสแตนท์ภายใต้สังกัดของสหพันธกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย ที่มีคริสตจักรในสังกัดหลายพันแห่งทั่วประเทศ สาเหตุที่เลือกบริเวณในปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งถาวร เนื่องจากการกระจายตัวของคริสตจักรในจังหวัดมหาสารคามที่ส่วนใหญ่กระจุกอยู่เฉพาะในตัวเมือง ทำให้บริเวณรอบนอก เช่น บริเวณบ้านแมดนี้ไม่มีโบสถ์ของชาวคริสต์

“ที่บ้านแมดราคาที่ดินค่อนข้างสมเหตุสมผล แม้จะมีคำเล่าลือว่าที่ตรงนี้ผีดุ แต่ด้วยความศรัทธาในพระเจ้าเราก็ไม่กลัว แต่เราก็ไม่ประมาทนะ” อาจารย์ประสานกล่าวพลางหัวเราะ

อีกสาเหตุหนึ่งของการตั้งคริสตจักรในบริเวณชุมชนบ้านแมด อาจารย์ประสานให้เหตุผลว่า เพราะต้องการช่วยชุมชน โดยทางคริสตจักรได้ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อสงเคราะห์และให้ความช่วยเหลือคนยากจนโดยทั่วไปทั้งที่เป็นคริสต์ศาสนิกชนและผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ทั้งนี้มุ่งเน้นจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กก่อน และนอกจากจะให้ความช่วยเหลือเรื่องทุนทรัพย์แล้ว คริสตจักรนาซารีนยังเปิดสอนพิเศษในรายวิชาต่างๆ ให้แก่เด็กตามความถนัดและความสนใจ ในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ของสัปดาห์จะมีบุคลากรมาให้ความรู้ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะเฉพาะ และครูอาสาจากสถานศึกษาต่างๆ ที่มีความตั้งใจ และต้องการร่วมแบ่งปันความรู้ให้แก่เยาวชน

ในประเด็นการต่อต้าน อาจารย์ประสานเผยว่า ในช่วงแรกที่เริ่มก่อตั้งคริสตจักรนั้นมีการต่อต้านจากชาวบ้านโดยรอบพอสมควร เนื่องจากประชาชนที่นี่ยังไม่มีความเข้าใจในบทบาทและสิ่งที่คริสตจักรต้องการเผยแผ่

แต่ต่อมาหลังจากผ่านระยะเวลาช่วงหนึ่ง จากการที่คริสตจักรได้มีบทบาทร่วมในการพัฒนาชุมชน เช่น การจัดโครงการอบรมวิชาชีพ การเปิดบริการด้านการรักษาพยาบาล และการสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ทำให้สภาพสังคมเดิมที่ปิดกั้นเริ่มเปิดรับและกลายมาเป็นให้การยอมรับในที่สุด

“กับวัดเราก็ทำงานร่วมได้นะ เราร่วมกันในเชิงพัฒนาชุมชน ผมไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไร” อาจารย์ประสานกล่าวตอนหนึ่ง พร้อมยกตัวอย่างการร่วมกันพัฒนาชุมชนโดยการพาเด็กในคริสตจักรไปทาสีห้องน้ำวัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคริสตจักรเองพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา

เมื่อถูกถามถึงประเด็นที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมที่คริสตจักรแจกจ่ายข้าวของ ทุนทรัพย์ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชน เป็นวิธีการล่อใจคนให้หันมานับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ ศิษยาภิบาลแห่งบ้านแมด ตอบอย่างยิ้มแย้มว่า การช่วยเหลือคนขัดสนเป็นเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า เป็นการให้ด้วยความรัก และความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่หวังผลตอบแทนอะไรไปมากกว่าการได้ให้

ส่วนที่มีคนกล่าวว่าการช่วยเหลือจุนเจือคนตกทุกข์ได้ยากคล้ายกับเป็นการจ้างให้คนมานับถือศาสนาของพระเจ้านั้น อาจารย์ประสานคิดว่า ด้วยวิธีการเช่นนี้ คริสตจักรแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการที่มีผู้นับถือพระเจ้าเพิ่มขึ้นมาทั้งที่ในใจไม่ได้มีพระองค์อยู่

สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจในส่วนนี้ อาจารย์ประสานยอมรับว่า ถ้าเจอก็คงต้องอธิบายกัน แต่ถ้าไม่ได้เจอไม่ได้อธิบาย มันก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นนั้นเองที่เขาจะมองด้วยความไม่เข้าใจ และตนก็คงทำอะไรไม่ได้

“พระเยซู เป็นสุภาพบุรุษนะ ก่อนที่พระองค์จะเข้าบ้านใครต้องทรงเคาะประตูก่อน ไม่ทรงเข้าไปเลยโดยไม่ขอนะครับ ดังนั้นอย่าคิดว่าพระเยซูจะไปซื้อใคร ผมเองไม่เคยสนับสนุนวิธีซื้อ ส่วนคนที่ซื้อถ้ามี  ผมก็คิดว่าเขาไม่ฉลาดพอที่คิดซื้อคนด้วยวิธีเช่นนี้ เพราะมันจะซื้อได้แต่ตัว แต่ไม่มีทางได้ใจคน” เจ้าอธิการคริสตจักรนาซารีนมหาสารคามกล่าว

นางสาวสมปอง มะโรงรัตน์ กับมะขามอ่อนจากลานข้างวัดท่าเสมา วัดประจำชุมชนบ้านแมด

สถานที่สุดท้ายที่ผู้เขียนเดินทางไปเยือนคือวัดท่าเสมา ศาสนสถานเก่าแก่ประจำชุมชนบ้านแมด ด้วยความที่ท่านเจ้าอาวาสติดกิจนิมนต์ที่อื่น ทำให้ผู้เขียนต้องไปพูดคุยกับใครสักคนในกลุ่มของคุณยายวัยอาวุโสกลุ่มใหญ่ ที่นั่งสนทนากันอยู่ใต้ต้นมะขามติดบริเวณวัดด้วยความครื้นเครง ประหนึ่งว่าลานมะขามต้นใหญ่ข้างวัดเป็นร้านน้ำชาของคนเมืองที่มีเอาไว้พบปะสังสรรค์กันยามว่าง

“มาทุกวันนั่นแหละวัดลูกเอ๋ย บ่มาวัดสิไปไส คนเฒ่า”  แม่สมปอง มะโรงรัตน์ ตอบพลางเก็บมะขามอ่อนกำมือใหญ่

สำหรับคริสตจักรซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าชุมชนในมุมมองของแม่สมปองนั้น หญิงชรากล่าวว่า ตนและคนในวัยเดียวกันไม่ได้สนใจเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากเห็นว่าศาสนาและประเพณีดั้งเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายนั้นดีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องที่ลูกหลานในชุมชนไปเข้าร่วมกิจกรรมของทางคริสตจักร ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะแม้ว่าจะไปร่วมกิจกรรมของทางคริสตจักรเป็นประจำ แต่เมื่อถึงเวลามีงานบุญที่วัด เด็กเหล่านี้ก็สามารถเข้าร่วมประเพณีต่างๆ ตามที่ผู้ใหญ่พาปฏิบัติได้ตามปกติ อีกทั้งเด็กส่วนใหญ่ยังได้ประโยชน์จากการที่คริสตจักรคอยให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการศึกษาและการอยู่การกินอีกด้วย

“โบสถ์คริสต์เขากะมาช่วยพัฒนาบ้านเมืองอยู่ จั่งวัดนี่กะเคยเห็นเขามาช่วยทาสีห้องน้ำ มาเฮ็ดกิจกรรมของเขา แม่ว่ามันอยู่กันได้นะ บ่ได้ขัดแย้งกัน” แม่สมปองสรุป

โดยดานุชัช บุญอรัญ ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

image_pdfimage_print