สกลนคร – ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมระบุ หลังรัฐประหารรัฐไล่ฟ้องคนอีสานกว่า 1,000 คดี ส่วน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีไว้เพื่อกลั่นแกล้งประชาชน ด้านอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีชี้ ภาคอีสานมีความอุดมสมบูรณ์แต่รัฐไม่เข้าใจและมาสร้างโครงการให้ ส่งผลให้ทรัพยากรตกอยู่ในมือนายทุน

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2560 ที่อาคาร 19 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เดอะอีสานเรคคอร์ดร่วมกับสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จัดโครงการเวทีเสวนาสาธารณะ “สิทธิชุมชน ความท้าทายและอำนาจในการจัดการทรัพยากร” ช่วงบ่ายเป็นการเสวนาจากมุมมองของนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชน   ส่วนช่วงเช้าตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาได้ร่วมสะท้อนปัญหาในพื้นที่

เวทีเสวนาสาธารณะสิทธิชุมชน ความท้าทายและอำนาจในการจัดการทรัพยากร   น.ส.กิติมา ขุนทอง (คนซ้ายสุด – ผู้ดำเนินรายการ) ส่วนบุคคลที่เหลือเป็นวิทยากร ประกอบด้วย นายบูรพา เล็กล้วนงาม  (คนที่ 2 จากซ้าย) นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ  (คนที่ 3 จากซ้าย) นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ (คนที่ 4 จากซ้าย) และนายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ (คนขวาสุด)

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม กล่าวว่า มีประชาชน จ.เลย ที่ต่อสู้กับเหมืองแร่ทองคำเคยพูดไว้ว่า “ก่อนการรัฐประหารปี 2557 นายทุนเป็นผู้ฟ้องคดีประชาชน แต่หลังรัฐประหารคนที่ฟ้องประชาชนกลับเป็นรัฐ” คำพูดนี้สะท้อนว่ารัฐทำหน้าที่เป็นผู้ฟ้องคดีประชาชนมั่วไปหมด การใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะฟ้องคดีประชาชน เป็นการปิดกั้นและทำลายกระบวนการภาคประชาชนอย่างรุนแรง

ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุม แต่รัฐกลับใช้กฎหมายนี้เพื่อกลั่นแกล้งประชาชนและปกป้องนายทุน เพื่อไม่ให้ประชาชนยื่นหนังสือหรือรวมตัวกันคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น การฟ้องผู้หญิง 7 คน คดีเหมืองแร่ ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย และการฟ้องประชาชน 27 คน คดีเหมืองทอง จ.พิจิตร

นายเลิศศักดิ์กล่าวด้วยว่า นโยบายและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลิดรอนสิทธิประชาชนอย่างมาก เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ประชาชนภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน เผชิญหนักมาก โดยปัจจุบันสถิติจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พบว่า ตั้งแต่มีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เกี่ยวกับการทวงคืนพื้นที่ป่า มีคดีบุกรุกที่ดินของรัฐและยึดคืนที่ดินจากชาวบ้านทั่วประเทศรวม 1,785 คดี ส่วนใหญ่ประมาณ 1,000 คดีอยู่ในภาคอีสาน มีจำนวนผู้ต้องหารวมทั้งหมด 552 คน และพื้นที่ที่ถูกยึดคืนมี 165,386 ไร่

“ประเด็นคือจะไม่มีคดีแบบนี้สักคดีเดียว ที่ดินชาวบ้านจะไม่ถูกยึดคืนแม้สักไร่เดียว ถ้า คสช.ไม่ยึดอำนาจ” นายเลิศศักดิ์กล่าวและว่า นี่คือความเลวร้ายของการรัฐประหาร

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน นอกจากสาเหตุด้านระบบการเมืองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ อุดมการณ์การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ที่เป็นแนวทางลัทธิเสรีนิยมใหม่ โดยหลักการของลัทธิเสรีนิยมใหม่คือ การลดบทบาทรัฐให้เหลือน้อยที่สุด หากจะมีบทบาทรัฐก็ต้องเป็นบทบาทที่เอื้อประโยชน์กับทุน เพื่อให้ทุนสะสมต่อไปได้

อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคามผู้นี้กล่าวอีกว่า หลักการต่อมาคือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชน การจัดสรรความมั่งคั่งของรัฐโดยเอื้อประโยชน์ให้นายทุนมากกว่าคนจน เช่น กรณีป่ากระทิงแดง กรณีเหมืองโปแตช เหมืองทองคำ และปิโตรเลียมในอีสาน มีเพียงไม่กี่บริษัทที่จะได้ใช้ทรัพยากรนั้น

ทั้งนี้ จากบทเรียนลัทธิเสรีนิยมใหม่ในจีนและรัสเซีย เห็นได้ชัดว่า สิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างมโหฬาร คนจนยิ่งจนมากขึ้น กฎหมายถูกละเมิดหรือทำให้ไม่มีความหมาย แม้ว่าเสรีนิยมใหม่จะอ้างว่าตนเคารพกฎหมายแต่กลับละเมิดกฎหมายเสียเอง

“รัฐมองทรัพยากรแบบต้องแสวงหากำไร นำไปสู่การกีดกันคนจนออกจากการเข้าถึงทรัพยากร เช่น เรื่องป่า รัฐมองเพียงว่าทำอย่างไรให้ป่าสมบูรณ์ คนจะจนลง คนจะติดคุกก็ช่าง” นายไชยณรงค์กล่าว

นายไชยณรงค์กล่าวต่อว่า สังคมจำเป็นต้องมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อประชาชนจะได้วิจารณ์โครงการต่างๆ ได้ เช่น ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วพยายามทำนโยบายเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน ก็ถูกประชาชนวิจารณ์จนไม่สามารถทำโครงการได้

นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติของน้ำในอีสานทำให้เกิดความหลากหลายของระบบนิเวศ โดยมีลุ่มน้ำหลักคือโขง ชี มูล “ใครว่าอีสานแล้ง ผมเถียงหัวชนฝา” เพราะพื้นที่ 1 ใน 3 ของอีสานเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในประเทศไทย ทำให้เกิดฐานทรัพยากรที่มากมายหลากหลาย แต่ที่ผ่านมารัฐไม่เคยนำข้อดีเหล่านี้มาพัฒนาภาคอีสาน มีแต่การสร้างโครงการให้ เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการมองแบบรัฐและนายทุนที่ต้องการเปลี่ยนทรัพยากรจากเป็นของชุมชนไปเป็นของนายทุน

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีผู้นี้กล่าวอีกว่า ชุมชนอีสานเป็นชุมชนที่มีความเป็นกลุ่มก้อนสูงถ้าทะเลาะกันจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ดังนั้น สิ่งที่นายทุนต้องการมากที่สุดในการเปลี่ยนทรัพยากรเป็นสินค้าคือ การทำให้ชุมชนแตกย่อยยับมากที่สุด เพราะถ้าชุมชนเข้มแข็ง ก็จะไม่สามารถดำเนินโครงการได้ นายทุนใช้หลายวิธีที่จะทำให้ชุมชนแตกเป็นเสี่ยงๆ เช่น ใช้วิธีแบ่งคนเป็นสองฝ่าย ใช้กฎหมายหรือกลไกรัฐ หรือใช้วิธีการป่าเถื่อน

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมักจะพูดเสมอว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่า เมื่อมีการพัฒนาขึ้นทีไร กลับทำให้ประชาชนยากจนยิ่งขึ้น สูญเสียที่ดินมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ภาคธุรกิจเข้ามาดำเนินโครงการแล้วละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้นี้กล่าวอีกว่า ตั้งแต่มาทำหน้าที่ตนได้รับเรื่องร้องเรียนว่านักปกป้องสิทธิถูกคุกคามรวม 19 กรณี สังเกตได้ว่ารูปแบบการคุกคามเปลี่ยนไปจากอดีตที่เป็นลักษณะการทำร้ายร่างกาย หรือการอุ้มหาย เปลี่ยนมาเป็นการฟ้องร้องคดีเพื่อทำให้เกิดความกลัว บางกรณีที่เป็นผู้หญิงก็ถูกคุกคามทางเพศ เช่น แม่ๆ ที่ออกมาต่อต้านโครงการ ก็จะถูกถามว่า ออกไปไม่กลัวถูกข่มขืนเหรอ หรือ วันนี้ทำไมหน้าอกใหญ่จัง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงที่ใครก็ล่วงละเมิดไม่ได้

นางอังคณากล่าวด้วยว่า การรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนากับสิทธิมนุษยชน คือต้องไม่ทำให้เกิดความกลัว และให้เสรีภาพประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ตนฝากบอกไปถึงรัฐบาลว่าในการปรองดองที่คณะรัฐประหารต้องการนั้น จะต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายก่อนที่จะเริ่มโครงการหรือนโยบายต่างๆ หากรัฐไม่รับฟังเสียงของประชาชน สุดท้ายรัฐก็แก้ปัญหาเพียงลำพังไม่ได้

image_pdfimage_print