โดยเพชรรัตน์ พิลารัตน์

นครพนม – คนเก็บขยะเผย มาทำงานเก็บขยะขายเพราะได้เป็นนายของตัวเองและมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3,000 บาท ส่วนในช่วงเทศกาลจะมีขยะให้เก็บมากกว่าปกติจึงต้องไปถึงบ่อกำจัดขยะให้เช้ากว่าเดิม

จังหวัดนครพนมอยู่ในภาคอีสานของประเทศไทย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยทำนาเป็นหลัก บางคนมีที่นาเป็นของตัวเอง แต่หลายคนไม่มีที่นาหรือที่ดินทำกินจึงไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้ คนกลุ่มนี้เลยต้องประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ต้องใช้ที่ดินทำกิน เช่น กรรมกรก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป ค้าขาย ขายล็อตตารี่ แต่ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่หลายคนมองข้าม แต่ก็มีหลายคนเลือกประกอบอาชีพนี้ นั่นคือ อาชีพเก็บขยะ หรือการเก็บของเก่าขาย

นางวิไล บุญพามา อายุ 56 ปี ชาวบ้านหนองค้า หมู่ที่ 5 ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งไม่มีที่นาเป็นมรดกตกทอด เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการประกอบอาชีพเก็บขยะขายว่า ทำอาชีพนี้ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้มีอาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้จากการรับจ้างทั่วไปบางเดือนไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายภายในบ้าน

“ต้องรอให้มีคนมาจ้าง จึงจะมีงานทำ มีรายได้ ถ้าไม่มีคนมาจ้างเเสดงว่าเดือนนั้นก็จะไม่มีรายได้” นางวิไลกล่าว

นางวิไล บุญพามา อายุ 56 ปี ชาวบ้านหนองค้า หมู่ที่ 5 ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ผู้ที่มีอาชีพเก็บขยะขาย

นางวิไลกล่าวอีกว่า จากนั้นตนกับสามีได้ไปทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้างที่ตัวเมืองนครพนม เมื่อทำงานไปได้สักพักรู้สึกไม่สบายใจเนื่องจากโดนนายจ้างและเพื่อนร่วมงานต่อว่าจึงตัดสินใจลาออกจากงาน จึงต้องหางานใหม่โดยต้องการงานที่มีรายได้ที่มากขึ้นและเป็นงานที่เป็นนายของตัวเอง

“วันหนึ่งสามีเจอคนเก็บขยะอยู่ที่ริมถนน แล้วเข้าไปถามว่าเป็นอย่างไร คนเก็บขยะคนนั้นตอบมาว่า ก็มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว เลยตัดสินใจทำอาชีพนี้” นางวิไลกล่าวถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาเก็บขยะ และว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกอาชีพนี้ก็เพราะไม่ได้เป็นลูกน้องของใครเป็นงานที่มีอิสระเป็นนายของตัวเอง และรายได้ก็ขึึ้นอยู่กับความขยัน

นางวิไลบอกอีกว่า จากนั้นตนกับสามีจึงทดลองเก็บขยะขาย เมื่อเก็บขยะขายปรากฏว่ามีรายได้มากกว่าการรับจ้างทั่วไปจึงยึดอาชีพนี้เพื่อเลี้ยงชีพ อาชีพเก็บขยะยังทำให้สามารถอยู่กับครอบครัวได้อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ถ้าหากไม่เก็บขยะขายแล้ว ตนกับสามีก็ต้องแยกย้ายกันไปหางานทำที่อื่น ทำให้ห่างไกลบ้าน ห่างไกลครอบครัว เลยตัดสินใจประกอบอาชีพนี้เพื่อที่จะได้อยู่กับครอบครัว

การคัดแยกขยะแต่ละประเภทไว้ในถุงเดียวกันเพื่อง่ายต่อการนำไปขาย

ทุกเช้าเวลาหกนาฬิกา นางวิไลและสามีจะขับรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งพ่วงถังเก็บขยะออกจากบ้าน และจะกลับบ้านในเวลาสิบหกนาฬิกา หรือกลับบ้านก่อนเมื่อได้ขยะในปริมาณที่คิดว่ามากพอแล้ว

ส่วนวิธีนำขยะไปขาย ขั้นตอนแรกต้องนำขยะ หรือของเก่าทุกประเภทที่คิดว่าจะขายได้มากองรวมกัน คัดแยกขยะออกเป็นแต่ละประเภท เช่น กระดาษ ขวดพลาสติก หรือขวดแก้ว แล้วรวมขยะประเภทเดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อคัดแยกเสร็จก็จะบรรจุขยะใส่ถุง แล้วนำถุงบรรจุขยะไปเก็บไว้ที่บ้านพักเพื่อรอการขาย

การคัดเเยกขยะเเต่ละประเภทจะต้องแยกให้เสร็จในแต่ละวันที่เก็บได้ เพราะว่าถ้ารวมไว้หลายวันปริมาณขยะจะมีมากทำให้ยากต่อการคัดแยก อีกทั้งเพื่อความสะดวกต่อการบรรจุ และขนย้าย

การขายขยะจะขายสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นางวิไลจะนำขยะที่คัดแยกแล้วไปขายที่โรงรับซื้อของเก่า ที่ อ.ปลาปาก จ.นครพนม โดยจ้างรถบรรทุกขนขยะเสียค่าจ้างครั้งละ 400 บาท การขายขยะทำให้ครอบครัวมีรายได้ประมาณสัปดาห์ละ 2,000-4,000 บาท หรือเฉลี่ย 3,000 บาท รายได้มากขึ้นหรือน้อยลงขึ้นอยู่กับปริมาณขยะที่เก็บได้

กองถุงขยะที่แยกประเภทเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมนำไปรวบรวมไว้ที่บ้านเพื่อนำไปขายต่อไป

นางวิไลเล่าอีกว่า ถ้าเป็นช่วงงานเทศกาล เช่น เทศกาลประเพณีไหลเรือไฟ และงานกาชาดของจังหวัดนครพนม ตนต้องออกจากบ้านในเวลาเช้ากว่าปกติ (บางครั้งก็มานอนที่บริเวณสถานที่กำจัดขยะ) เพื่อไปเก็บขยะที่สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองนครพนม เพราะเมื่อมีการจัดงานปริมาณขยะก็จะเพิ่มขึ้นทำให้รถขยะนำขยะมาเทขยะบ่อยขึ้น นั่นแสดงว่า ปริมาณขยะที่ตนจะสามารถเก็บได้จะมากขึ้นไปด้วย สมมติว่า ถ้ามาสายก็จะเก็บไม่ทัน ขยะก็จะถูกโกยลงไปในบ่อเพื่อกำจัดต่อไปทำให้ไม่สามารถเก็บขยะได้ หรือถ้ามาสายอาจจะเก็บขยะไม่ทันคนเก็บขยะรายอื่น

ด้านผู้รับซื้อขยะ นายวรวิทย์ ทักโลวา อายุ 34 ปี ชาวอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม พ่อค้าคนกลาง เล่าว่า ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.5 เริ่มต้นจากการชักชวนของลุง ตอนแรกเพียงแค่ขับรถยนต์ตระเวนรับซื้อของเก่าตามหมู่บ้าน พอมีกำไรได้วันละ 300 บาท

นายวรวิทย์ ทักโลวา พ่อค้าคนกลาง รับซื้อขยะจากคนเก็บขยะเพื่อนำไปขายยังโรงงานรีไซเคิลขยะ

นายวรวิทย์เล่าวว่า หลังจากจบ ม.6 ได้ไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน 5 ปี ระหว่างที่ไปทำงานพ่อกับแม่ก็ยังทำอาชีพนี้อยู่ หลังจากกลับมาบ้าน ตนก็กลับมาทำอาชีพนี้อีกครั้ง โดยขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้นจากเงินลงทุนซึ่งมาจากรายได้จากที่ไปทำงานที่ไต้หวัน

“บางครั้งคนเราก็เลือกอาชีพไม่ได้หรอก แต่เลือกที่จะทำอาชีพนั้นให้ดีได้” นายวรวิทย์กล่าว

นายวรวิทย์มารับซื้อขยะที่สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองนครพนม สัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือ วันพุธ และวันเสาร์ ส่วนวันอื่นจะไปรับซื้อขยะจากบ่อขยะแห่งอื่น ผู้ที่นำขยะมาขายจะมีรายได้ประมาณเดือนละ 3,000-4,000 บาท ขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคน

ส่วนขยะที่รับซื้อ นายวรวิทย์ก็จะนำไปขายในตัวเมืองสกลนคร และอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยขายให้กับโรงงานรีไซเคิลขยะ จะแยกขายตามประเภทของโรงงานรีไซเคิล นายวรวิทย์นำขยะไปขายสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง โดยขนส่งด้วยรถ 6 ล้อ หรือรถ 10 ล้อ ขึ้นอยู่กับจำนวนขยะ

พ่อค้าคนกลางมีรายได้ประมาณสัปดาห์ละ 20,000-30,000 บาท ฤดูแล้งรายได้จะเพิ่มขึ้นเพราะมีขยะประเภทกระดาษที่สามารถนำแยกมาขายได้เพิ่มขึ้น ส่วนขยะที่มีกำไรมากที่สุดคือขวดแก้วเพราะมีน้ำหนักมากกว่าขยะประเภทอื่นเมื่อมีขนาดเท่ากัน

ข้อมูลข้างต้นจากผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับขยะทำให้พบว่า ขยะไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ผู้คนใช้แล้วทิ้งโดยที่ไม่มีคุณค่าอะไร แต่ขยะยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสร้างรายได้ให้กับบุคคลกลุ่มหนึ่งเพื่อนำรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว

เพชรรัตน์ พิลารัตน์ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ดประจำปี 2560

image_pdfimage_print