โดยบูรพา เล็กล้วนงาม
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 คงไม่มีใครคาดการณ์ว่า คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยึดอำนาจมานานขนาดนี้ เพราะนับจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 3 ปี 5 เดือนแล้วที่ประเทศไทยถูกปกครองด้วยกองทัพ ซึ่งเป็นการครองอำนาจที่ยาวนานที่สุด นับตั้งแต่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่พ้นจากอำนาจหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือ 44 ปีที่แล้ว แต่การยึดอำนาจยาวนานก็ยังไม่เลวร้ายเท่าแนวคิดที่ว่า คสช.จะสืบทอดอำนาจต่อไป
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เปรยว่า จะหาคนมาตั้งพรรคการเมือง สิ่งนี้เป็นการส่งสัญญาณเป็นครั้งแรกว่า พล.อ.ประยุทธ์มีแนวคิดจะสืบทอดอำนาจ โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธทุกครั้งว่า จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังเลือกตั้ง
เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแล้วพบว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก แม้จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งหรือต้องเป็น ส.ส.
การประกาศตัวสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์สอดคล้องกับแถลงการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐฯกับไทย ที่มีขึ้นหลังจากการเยือนทำเนียบขาว ประเทศสหรัฐอเมริกา ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้ฉายาจากสื่อสหรัฐว่า เผด็จการทหารของประเทศไทย
แถลงการณ์ข้อ 8 ระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ยินดีที่ประเทศไทยทำตามพันธสัญญาตามโร้ดแมป หลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ จะเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างชอบธรรมและเสรีในปี 2018 (พ.ศ. 2561)
ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาแถลงข่าว เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า จะประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายนปีหน้า และจะมีการจัดเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปีหน้า
นั่นเท่ากับว่ามีความเป็นไปได้อีกครั้งที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีความแน่นอนว่าจะมีการเลือกตั้งจริงหรือไม่ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ประกาศวันเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยเป็นความจริงแม้แต่ครั้งเดียว ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2557 ที่ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2558
สมมติว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีหน้าจริง แล้วสิ่งใดที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหลังการเลือกตั้ง ถึงขนาดหลุดปากออกมาว่าจะหาคนตั้งพรรคการเมือง
ประกาศแรกน่าจะมาจากกลไกในรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าในช่วงเวลา 5 ปีแรกให้ ส.ส. และ ส.ว.ลงมติร่วมกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ส.มี 500 คน ส.ว.มี 250 คน รวมเป็น 750 คน ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ทั้งหมด จึงเท่ากับว่า หากมี ส.ส.เกินกว่า 125 คน หรือ เพียงร้อยละ 25 เลือก พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง โดยไม่ต้องคำนึงเสียงของ ส.ส.ส่วนใหญ่ที่เหลือ
ประการต่อมาคือ คสช.คงประเมินแล้วว่า ตัวเองประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ โดยมีตัว คสช.เป็นหัวหน้าใหญ่ของระบบรัฐราชการ สังเกตได้จากหลังยึดอำนาจ คสช.ออกคำสั่งที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในปี 2558 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้เห็นต่าง เช่น การดำเนินคดีชุมนุมเกิน 5 คนกับนักศึกษา 7 คนที่ชุมนุมหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น หรือ คดีชูป้ายต่อต้านรัฐประหาร เหตุเกิดเมื่อปี 2558 และการดำเนินคดีกับนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน จากการจัดงานเวทีวิชาการ ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ชาวอำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร เข้าร่วมโครงการเวทีเสวนาสาธารณะ “สิทธิชุมชน ความท้าทายและอำนาจในการจัดการทรัพยากร” โดยพวกเขาคัดค้านการสำรวจแร่โปแตชที่ อ.วานรนิวาส ส่งผลให้แกนนำถูกดำเนินคดีชุมนุมสาธารณะ
ส่วนการดำเนินคดีชุมนุมสาธารณะ มีอาทิ คดีของนายศตานนท์ ชื่นตา แกนนำกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ที่คัดค้านเหมืองแร่โปแตช ที่ จ.สกลนคร และคดีฟ้อง 7 สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ที่ จ.เลย
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนการรัฐประหารนายทุนเป็นผู้ฟ้องประชาชน แต่หลังรัฐประหารรัฐเป็นคนฟ้องประชาชน
กรณีที่เกิดขึ้นคือการใช้กฎหมายเล่นงานผู้ที่ไม่ยอมนิ่งเฉย แต่ในทางตรงข้าม การชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ต่อนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในปีนี้ และการประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กลับไม่ถูกดำเนินคดีและได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวเข้าข่ายการชุมนุมเกิน 5 คน และผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงการเลือกปฏิบัติได้อย่างชัดเจน เป็นไปได้หรือไม่ว่า คสช.ใช้วิธีแบ่งแยกแล้วปกครอง กรณีผู้ชุมนุมยอมรับอำนาจ คสช. คสช.จะพูดคุยด้วย แต่กรณีผู้ชุมนุมที่ไม่สยบสมยอม คสช.จะใช้ไม้แข็ง ทั้งหมดเพื่อทำให้ผู้ชุมนุมซึมซาบการขึ้นตรงกับ คสช. และยอมรับ คสช.ในฐานะหัวหน้าใหญ่ในที่สุด
เพื่อให้เห็นภาพที่รัฐบาล คสช.กำลังทำให้ประชาชนเซื่องซึม ยังมีตัวอย่างอีก 2 โครงการ
โครงการแรกคือ โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ เมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลให้เงินหมู่บ้านละ 200,000 บาท เพื่อนำไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ โดยให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นคนดูแล โครงการดังกล่าวคือการเพิ่มอำนาจให้กำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นตัวแทนการปกครองจากส่วนกลาง และลดทอนการปกครองตนเองของท้องถิ่น มีแนวโน้มว่า สิ่งใดที่คนในท้องถิ่นเคยจัดการได้เองจะถูกโอนมาสังกัดระบบรัฐราชการ
โครงการต่อมาคือ โครงการบัตรคนจนที่รัฐบาลแจกบัตรให้ผู้ที่ลงทะเบียนคนจนทำไปซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และใช้เป็นส่วนลดค่าเดินทาง โครงการดังกล่าวเป็นการแบ่งแยกชนชั้นให้มีคนจนกับคนไม่จน ซึ่งจะส่งผลให้คนจนต้องเจียมตัว เข้าสังกัด และรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งที่การดูแลประชาชนด้านสวัสดิการเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนการช่วยเหลือคนจนน่าจะมีวิธีการที่เหมาะสมกว่านั้น นั่นคือการสร้างงานและสร้างรายได้ให้ประชาชน เช่นเดียวกับ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่เลือกปฏิบัติ
การกำหนดให้ใช้บัตรคนจนผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ ยังเป็นการสนับสนุนความเข้มแข็งของโครงการประชารัฐของรัฐบาล คสช. ซึ่งโครงการประชารัฐก็เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันระหว่างรัฐบาลทหารกับนายทุนเอกชนขนาดใหญ่ไม่กี่รายเพื่อเป็นการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศภายใต้ระบอบพวกพ้อง
การดำเนินการทั้งหมดของรัฐบาล คสช.ภายในเวลาที่ผ่านมา ทั้งการใช้อำนาจ การใช้งบประมาณ และการใช้เครือข่ายเอกชนภายใต้ร่มธงประชารัฐ คือการรวบอำนาจมาที่ตัวของ คสช.เพื่อหวังผลต่อการสืบทอดอำนาจ เพราะ คสช.คงตระหนักว่าสภาวะยกเว้นปลอดจากการเลือกตั้งย่อมมีวันสิ้นสุด
แล้วจะทำอย่างไรให้การรัฐประหาร ปี 2557 ไม่เสียของเหมือนการรัฐประหาร ปี 2549 นอกจากการทำให้เกิดความมั่นใจว่า พวกเขาได้เกลี้ยกล่อมประชาชนให้เซื่องซึมและมองไม่เห็นทางออกในชีวิตอื่นใดหลังการเลือกตั้ง นอกจากให้ระบบรัฐราชการเป็นผู้ชี้นำประชาชนต่อไป