ขอนแก่น – ภาคประชาชนอีสาน 37 องค์กรแถลงคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่ ชี้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม พร้อมเผยร่าง พ.ร.บ. นี้เอื้อรัฐรวมศูนย์การจัดการน้ำ-กีดกันบทบาทภาคประชาชน เสนอให้ประธาน สนช. ถอนร่าง พ.ร.บ นี้ด่วน

นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน (ถือไมโครโฟน) ตัวแทนกล่าวแถลงการณ์คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ ฉบับใหม่ พร้อมตัวแทนประชาชนจากลำน้ำพอง, ลำน้ำมูล, ลุ่มน้ำชี และตัวแทนประชาชนแก่งละว้าร่วมแถลงการณ์ที่สำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาชน 37 องค์กรในภาคอีสาน อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อีสาน, เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน, เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน, สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน, ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง ฯลฯ ร่วมกันแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ ฉบับใหม่ ภายใต้ชื่อ “คัดค้าน พ.ร.บ.น้ำ หยุดเหยียบย่ำเกษตรกรคนลุ่มน้ำ ยิ่งปรับปรุงยิ่งให้อำนาจรัฐ” ณ สำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ตัวแทนกล่าวแถลงการณ์ระบุว่า ตนและเครือข่ายไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ เพราะตนชื่อว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นไม่ครอบคลุมพื้นที่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ลุ่มน้ำอย่างแท้จริงตามหลักการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเก็บภาษีน้ำ
“พี่น้องได้ยินว่าจะมีการเก็บภาษีน้ำ เลยออกมาคัดค้านกันเต็มที่ เพราะพี่น้องเพิ่งได้ยินข่าวว่าจะมีการเก็บภาษีน้ำในช่วงปลายของกระบวนการพิจารณากฎหมาย ดังนั้น ผมจึงเสนอให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกจังหวัดอย่างแท้จริงก่อนออกเป็นกฎหมาย” นายสิริศักดิ์กล่าว
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2560 นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ แถลงถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ซึ่งคณะรัฐมนตรีลงมติ เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558 เสนอร่างพระราชบัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาออกเป็นกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยสมควรมีกฎหมายเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพและประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ เนื้อหาใน ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวพูดถึงการเก็บค่าธรรมเนียม (ภาษีน้ำ) จากการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ จนนำมาสู่ความกังวลของเกษตรกรผู้ที่ต้องอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการทำการเกษตรกรรม เพราะเกรงว่าหาก ร่าง พ.ร.บ. นี้ผ่านเป็นกฎหมาย จะเป็นการเพิ่มภาระด้านต้นทุนในการทำเกษตรซ้ำเติมความลำบากของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยืนยันหลังจากเกิดกระแสวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.นี้ว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่มีการเก็บเงินค่าใช้น้ำจากเกษตรกรและชาวนา เพราะเจตนาของกฎหมายคือ ต้องการเก็บเงินค่าใช้น้ำจากภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรายใหญ่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ โรงแรม
อย่างไรก็ตาม นายสิริศักดิ์เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำฉบับนี้ยังให้อำนาจรัฐในการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะตามมาตรา 6 ที่ระบุว่า “ให้รัฐมีอำนาจบริหารทรัพยากรน้ำสาธารณะบนพื้นฐานความยั่งยืนและความสมดุลของระบบนิเวศ โดยเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำหรือขยายแหล่งน้ำได้นั้น” ซึ่งประโยคข้างต้นตนมองว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจในการจัดการน้ำอยู่ที่รัฐ ในเชิงหลักการถือว่าผิด เพราะน้ำต้องเป็นของสาธารณะและส่วนรวม ซึ่งต้องให้อำนาจประชาชนในการบริหารจัดการน้ำให้เต็มที่
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานระบุอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ ในมาตรา 9 ระบุว่า จะกำหนดให้มี “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” หรือ (กนช.) ซึ่งถ้าดูตามโครงสร้างแล้วพบว่า ผู้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้จัดเตรียมคนของรัฐ ซึ่งมีอำนาจตามบทบาทหน้าที่ไว้เรียบร้อยแล้ว คำถามคือว่า เกษตรกรรายย่อยและประชาชนในลุ่มน้ำอยู่ส่วนไหนในโครงสร้างคณะกรรมการฯ นี้ หากเป็นเช่นนี้ จะพบว่าประชาชนไม่มีโอกาสเข้าไปกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการจัดการน้ำได้ เพราะโครงสร้างคณะกรรมการฯ ได้ให้อำนาจกับภาครัฐมากกว่าประชาชน
นายสิริศักดิ์กล่าวว่า เหตุผลข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจึงนำมาสู่การคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำฉบับนี้ โดยมีข้อเสนอให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอนร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำออกจากการพิจารณาออกทันที เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับนี้สร้างความวิตกกังวลต่อเกษตรกรลุ่มน้ำและเกษตรกรทั่วไปในประเด็นความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการเก็บภาษีน้ำ และถ้าเกิดจะมีการร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำใหม่ ขอให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกจังหวัด เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมครอบคลุมกลุ่มคนผู้มีส่วนได้เสียก่อนเข้าสู่กระบวนการการพิจารณาอนุมัติเป็นกฎหมาย

นางณัฐภรณ์ แสงโพธิ์ ตัวแทนจากชมรมชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น (ถือไมค์)
นางณัฐภรณ์ แสงโพธิ์ ตัวแทนจากชมรมชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ตนรู้สึกตกใจมากเมื่อได้ยินว่า ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่จะมีการเก็บค่าใช้สาธารณะ เพราะวิถีชีวิตคนที่เป็นเกษตรกรต้องอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำ ลำห้วย หนอง คลอง ชุมชนที่ตนอยู่เกษตรกรต่างอาศัยน้ำจากลำน้ำพองเพื่อทำการเกษตร
“ถ้าจะมาเก็บค่าน้ำอีกเกษตรกรคงเดือดร้อนแน่ เพราะปัจจุบันต้นทุนการทำการเกษตรก็สูงอยู่แล้ว ไหนจะต้องมาซื้อน้ำเพื่อทำการเกษตรอีก” นางณัฐภรณ์กล่าว
นางณัฐภรณ์กล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวผลักดันเพื่ออุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกร เพราะใน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมาก ตนคิดว่ารัฐผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำนี้ก็เพื่อจัดสรรน้ำให้โรงงานอุตสาหกกรรมแต่กีดกันการใช้น้ำของเกษตรกร
“ที่ผ่านมาช่วงฤดูแล้ง ลำน้ำพองจะแห้ง รัฐบาลเคยกีดกันไม่ให้เกษตรกรในพื้นที่ทำนาปรัง เพื่อประหยัดน้ำ แต่รัฐบาลกลับอนุญาตให้โรงงานอุตสากรรมสูบน้ำจากลำน้ำพองมาใช้ในโรงงาน” นางณัฐภรณ์กล่าว