โดยเมธา มาสขาว
ผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ โดยอ้างการพัฒนาและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของส่วนรวม แต่เนื้อแท้คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหารายได้เข้ากระเป๋านายทุน ไม่ต่างจากร่างกฎหมายฉบับก่อนๆ ตั้งแต่ปี 2542 ที่ถูกกองทุนการเงินระหว่างประเทศกดดันให้ลดขนาดรัฐให้เล็กลง
ประเด็นสำคัญอยู่ที่คนร่างกฎหมายสมาทานแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) ที่องค์กรโลกบาลทั้งหลายที่ตั้งตัวมีอำนาจเหนือรัฐ ต้องการให้รัฐบาลทั้งหลายอยู่ภายใต้อาณัติและอำนาจ ผ่านระบบการเงินการธนาคาร และวาทกรรมการพัฒนาว่าด้วยโลกาภิวัตน์ แต่แท้ที่จริงแล้ว การเปิดประตูสู่โลกาภิวัตน์ คือการยอมรับการเข้าไปเป็นทาสระบบการเงินการธนาคารขององค์กรโลกบาลทั้งหลายของกลุ่มนายทุนโลก ที่สร้างกลไกเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารโลก (WB) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (WTO)
แม้ว่าการแปรรูปครั้งใหม่นี้ อาจจะไม่ใช่เงื่อนไขขึ้นตรงกับกลไกระหว่างประเทศโดยตรงนัก แต่กลุ่มนายทุนภายในประเทศที่เกาะติดรัฐบาลทหารอยู่ ย่อมเล็งเห็นผลประโยชน์มหาศาล ในทรัพย์สมบัติของรัฐภายใต้ 56 รัฐวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งมีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 13-14 ล้านล้านบาท
เรื่องนี้น่าจะสมประโยชน์กันทั้งนายทุนและขุนศึก เมื่อพบว่ามีทหารไปนั่งเป็นประธานกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 16 แห่ง รวมถึงยังนั่งเป็นกรรมการบอร์ดอีก 40 แห่งของจำนวนรัฐวิสาหกิจไทยที่กระจายอยู่ใน 15 กระทรวง
การโอนหุ้นจากหน่วยงานของรัฐ คือการโอนทรัพยากรของชาติ ให้สามารถเปลี่ยนมือในอนาคตเป็นของกลุ่มทุนผูกขาดที่มีอำนาจเหนือรัฐอย่างแน่นอน ในขั้นตอนแรกอาจเป็นในรูปแบบของคณะบุคคล ที่มาเป็นคณะกรรมการ คณะผู้บริหาร ที่จะมีอำนาจในการโอนซื้อ-ขายหุ้น จัดการทรัพย์สินและจัดการการเงิน
หากเราต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง ก็ไม่ควรพูดเรื่องการแบ่งหุ้น เพราะรัฐเป็นเจ้าของทั้งหมดอยู่แล้ว แต่การจัดทำระบบหุ้นในรูปแบบบรรษัท คือการวางแผนจะกระจายทรัพย์สินออกขายให้เอกชน ให้เอกชนมีส่วนหากำไร มีตัวอย่างสำคัญในการแปรรูป ปตท. ที่สุดท้ายเอกชนเข้ามาแบ่งกำไรอีกกว่าร้อยละ 49 ทั้งๆ ที่ ปตท. ควรเป็นทรัพย์สมบัติของรัฐทั้งหมด แล้วจ้างเอกชนมาบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อผลประโยชน์จะได้ตกแก่ปวงชนชาวไทยกว่า 60 ล้านคนที่เป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน
แต่ปัจจุบัน กลุ่มนายทุนทั้งในและต่างประเทศได้ส่วนแบ่งกำไรจาก ปตท. ปีละนับแสนล้านบาท ปล่อยให้คนรวยรวยยิ่งขึ้นจากทรัพย์สมบัติที่เคยเป็นของรัฐ ขณะที่ปล่อยให้ปวงชนชาวไทยอีกส่วนหนึ่งยากจนต่อไปทั้งที่ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานมากมาย
ประเทศไทยควรจะแยกประเภท ว่ารัฐวิสาหกิจแบบใดที่รัฐจะต้องถือครองทั้งหมดและมันควรเป็นของรัฐเพื่อบริการสาธารณะแก่ประชาชน โดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ควรเป็นสวัสดิการหรือบริการจากรัฐ เป็นบทบาทและหน้าที่ของรัฐโดยตรงที่จะดูแลด้านความมั่นคงมูลฐานของประเทศ ซึ่งไม่มีทฤษฎีกำไร-ขาดทุนมาเกี่ยวข้อง ส่วนจะเชิญเอกชนผู้มีความสามารถอย่างแท้จริงมาบริหารจัดการให้ทันสมัยก็นับว่าเป็นเรื่องดีเรื่องหนึ่ง เพราะการที่บางรัฐวิสาหกิจไม่พัฒนา ก็เพราะว่ารัฐบาลเลือกคนของตัวเองมาแสวงหาผลประโยชน์ มาเป็นผู้ว่าการฯ มาเป็นกรรมการบริหารจัดการ แทบทั้งนั้น
โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน ที่สมควรเป็นของรัฐทั้งหมด อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค สถาบันการบินพลเรือน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย องค์การเภสัชกรรม ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร บริษัท ปตท. จำกัด บริษัท ขนส่ง จำกัด และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด เป็นต้น
หากตีโจทย์ผิด แปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วตั้งบรรษัทถ่ายโอนสินทรัพย์และมูลค่าหุ้นเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อไหร่ รัฐวิสาหกิจก็ตกเป็นอาหารอันโอชะของกลุ่มทุนการเงินการธนาคารเมื่อนั้น หากไม่วิตกกังวลกันในเรื่องนี้ ก็อาจเพราะมีการวางแผนให้เป็นเช่นนั้นอยู่แล้วอย่างแน่นอน เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์จากการแปรสินทรัพย์เป็นทุนครั้งใหญ่นี้ โดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแบบเหมาเข่งทีเดียวในยุคที่รัฐบาลมีอำนาจมากกว่ายุครัฐบาลพลเรือนใดๆ ที่ผ่านมา สวามิภักดิ์ “บ้านใหญ่” แห่งกลไกทุนนิยมเสรี ขอแบ่งเค้กโลกาภิวัตน์จากตลาดกึ่งผูกขาดที่ยังรอฆาตเพื่อขุดหลุมฝังศพตนเอง
ระบบการเงินการธนาคารมีความเสี่ยงเชิงระบบมานานแล้ว ไม่นับรวมสถาบันการเงินขนาดใหญ่ 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกสิกรไทย ที่มีฐานะแข็งแกร่ง มีการสำรองสูงกว่ามาตรฐาน และมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย
แต่ภายหลังที่ธนาคารทั้งหลายถูกซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก มือใครยาวสาวได้สาวเอา เราก็แพ้กลุ่มนายทุนโลกที่เขาเติบโตมาจากการยึดครองระบบการเงินมานานหลายร้อยปี ปัจจุบันนี้หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ เราเหลือแค่ธนาคารกรุงไทยเท่านั้น ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นจากคนในชาติมากกว่าร้อยละ 51 นอกจากนั้น ธนาคารอื่นๆ ถูกทุนต่างชาติถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 แทบทั้งสิ้น จนรัฐบาลได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป เมื่อปี 2559 ลดลงเหลือวงเงินคุ้มครองแค่ 15 ล้านบาท (ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2560 – 10 ส.ค. 2561) เพราะคงคุ้มครองมากกว่านี้ไม่ไหว
ปัจจุบันนี้ ระบบการเงินการธนาคารในประเทศไทย เป็นระบบที่ขูดรีดที่สุด ผู้ประกอบการทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็ก โดนขูดรีดในกำไรที่ไม่ลงแรงนี้อย่างรุนแรง ไม่ต้องพูดถึงชนชั้นล่างลงไป โดยที่รัฐบาลไม่เคยเข้าไปแตะต้องหรือจัดการแก้ไขปัญหา ธนาคารพากันลดดอกเบี้ยเงินฝาก (สะสมทรัพย์) ของธนาคารพาณิชย์ของไทย 6 อันดับแรก เหลือเพียงประมาณร้อยละ 0.125 – 0.75 เท่านั้น ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยยังสูงถึงกว่าร้อยละ 7.8 ซึ่งเป็นช่องว่างดอกเบี้ยที่สูงแทบที่สุดในเอเชีย ขนาดในประเทศทุนนิยมเสรีอย่างนิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือกระทั่งประเทศจีน ก็ยังไม่สูงเท่านี้
ความน่าจะเป็นของแผนการอันแยบยลในเวลานี้ก็คือ ทหารการเมืองและนายทุนใหญ่ วางแผนผลักดันกฎหมายการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดให้มี “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” โดยให้กระทรวงการคลังถือหุ้น ร้อยละ 100 มีหุ้น 1,000 ล้านบาท เพื่อรับโอนสินทรัพย์ทั้งหมดจาก 11 รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรและมีมูลค่าทรัพย์มหาศาล คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ซึ่งทั้งหมดมีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 6 ล้านล้านบาท
ร่างกฎหมาย มาตรา 46 อนุญาตให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ กู้เงินกองทุนระหว่างประเทศได้ ก่อนิติกรรมทั้งในและนอกประเทศได้ ในร่างกฎหมายฉบับแรกที่ออกจากคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้คณะกรรมการอนุมัติงบประมาณได้ไม่เกิน 1,000 ล้านบาทด้วย แต่ในร่างกฎหมายที่ออกมาภายหลังได้ตัดเพดานงบประมาณจำนวนนี้ออกไปเพื่อความคล่องตัว
มาตรา 57 คณะกรรมการบรรษัทมีอำนาจซื้อ หรือจำหน่ายหุ้นในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการต่างๆ ที่โอนมาเป็นของบรรษัททั้งหมดแล้ว นี่ไม่เท่ากับการแปรรูปหรือขายรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ เข้าสู่การแข่งขันในตลาดเพื่อให้เอกชนซึ่งหมายถึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ายึดครองหรอกหรือ หนำซ้ำเงินกำไรที่จะนำเข้ารัฐ จะถูกหักงบรายจ่ายและงบสำรองเพื่อการลงทุนต่างๆ ค่อยเหลือนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
ที่น่าเศร้าที่สุด ในร่างกฎหมายดังกล่าวฉบับแรก กำหนดไว้ในกฎหมายว่าจะต้องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชี แต่ในร่างกฎหมายฉบับปัจจุบันในมาตรา 79 ระบุว่าผู้สอบบัญชีจะเป็นใครก็ได้ที่คณะกรรมการเลือกมาและไม่จำเป็นจะต้องเป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีแล้ว นี่คือการถ่ายโอนทรัพย์สินของรัฐนับล้านล้านบาทเข้าสู่มือของคนกลุ่มใด?
“ประเทศไทย 4.0” และนโยบาย “ประชารัฐ” ของรัฐบาลทหารในห้วงยามนี้มีทิศทางใดกันแน่ งบประมาณประจำปี 2560 รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณไปทั้งสิ้น 2,514,229 ล้านบาท แต่หารายได้ได้แค่เพียง 1,904,053 ล้านบาท แม้ตอนนี้เศรษฐกิจภาพรวมของไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้น แต่กระทรวงการคลังได้ออกมายอมรับเองว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นมีตัวเลขการส่งออกที่มากขึ้นนั้น มาจากการขยายตัวเพียง 10 บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์
รัฐบาล รวยกระจุก จนกระจาย ขายประเทศ แลกเศษเงิน
เมธา มาสขาว เป็นวิทยากรโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560 ครั้งที่ 1