สิ่งที่เขาต้องการคือทำให้เราสิ้นหวัง
โดยบูรพา เล็กล้วนงาม
การได้มาทำงานที่เดอะอีสานเรคคอร์ดทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสสนทนากับบุคคลมากหน้าหลายตาที่ต้องการสอบถามถึงทิศทางการทำงานของเดอะอีสานเรคคอร์ดและแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ในพื้นที่ ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้ที่เข้ามาสนทนาด้วยมีทั้งที่นัดหมายไว้ก่อนหรือพบปะกันตามวาระงานต่างๆ ซึ่งประเมินได้ว่าเกือบทั้งหมดยังมีความต้องการเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย
การพูดคุยที่ผ่านมา นอกจากคู่สนทนาที่เป็นคนไทยแล้ว ในบางครั้งก็มีโอกาสพูดคุยกับชาวต่างชาติ ทำให้เกิดอุปสรรคด้านภาษา อุปสรรคที่ว่าคือข้าพเจ้าเข้าใจบทสนทนาพอสมควร รู้ว่าควรตอบยังไง แต่ในบางเรื่องข้าพเจ้าจะไม่สามารถพูดออกไปเป็นภาษาอังกฤษได้ อาจเป็นเพราะข้อจำกัดด้านภาษาและเป็นเพราะไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน นั่นทำให้ข้าพเจ้าขาดความสามารถในการสื่อสาร
ที่เอ่ยมาเบื้องต้นไม่ได้เป็นเรีื่องส่วนตัว แต่ปัญหาด้านภาษาที่ประสบทำให้เกิดความตระหนักว่า สิ่งใดที่เรามีแต่เราไม่ได้ใช้ หรือเรามีแต่เราไม่รู้ว่าเรามี สิ่งนั้นจะจางหายไป เช่นเดียวกับ เรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิของความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดแต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงในสังคมไทย
สถานการณ์ในภาคอีสานก็ยังคงวนเวียนกับเรื่องเหล่านี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวในเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด 2 ข่าวที่แสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน

จำเลยคดีพูดเสรีภาพ (ผู้หญิง 3 คน) เดินลงจากศาลทหาร เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 เพื่อเดินทางไปเรือนจำเพื่อรอการปล่อยตัวหลังศาลทหารให้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์คนละ 1 หมื่นบาท
ข่าวแรกคือกรณีที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร หรือ ศาลทหาร รับฟ้องคดีพูดเพื่อเสรีภาพทำให้นักศึกษาและนักกิจกรรม 8 คนตกเป็นจำเลย ส่วนผู้ต้องหาอีก 2 คน คือ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ และภรรยา ยอมถูกปรับทัศนคติจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจึงไม่ถูกดำเนินคดี ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดี
ข่าวที่สองคือการสืบพยานคดีขอนแก่นโมเดล ที่มีการนัดสืบพยานโจทก์ที่เป็นนายทหาร แต่พยานโจทก์ติดราชการจึงไม่ได้มาขึ้นศาล ศาลทหารจึงสั่งเลื่อนการสืบพยานออกไป คดีขอนแก่นโมเดลมีจำเลย 27 คน ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าตระเตรียมการก่อการร้าย คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557 หรือหนึ่งวันหลังการยึดอำนาจ มีพยานโจทก์กว่า 90 ปาก แต่ผ่านมา 3 ปีแล้วสอบพยานไปได้แค่ 3 ปาก ทำให้คาดเดาได้ยากว่าคดีจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่
ทั้งสองคดีผู้ที่ตกเป็นจำเลยล้วนแต่เป็นพลเรือนแต่กลับต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน
คดีพูดเพื่อเสรีภาพเกิดจากการเสวนา “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 เพื่อรณรงค์การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองมุมไหนก็ไม่พบว่า การจัดเสวนาเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน
คดีขอนแก่นโมเดลมองตามรูปการณ์น่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารที่ผู้มีอำนาจต้องการทำให้เชื่อว่าที่ว่า “กองทัพต้องเข้ามาเพื่อระงับความขัดแย้ง” จึงมีการจับกุมตัวบุคคลต่างๆ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ทั้งที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองก่อนการยึดอำนาจ ล้วนถือกำเนิดจากการกระทำของ กปปส. ที่มีแกนนำเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่ประกาศบอยคอตการเลือกตั้งมาแล้วถึง 2 ครั้งในรอบ 8 ปี คือ ในปี 2557 และ ปี 2549 ซึ่งหลังจากการบอยคอตการเลือกตั้งก็จะเกิดการรัฐประหารตามมาทุกครั้ง
จึงไม่ผิดถ้าจะบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์และกองทัพมีความคิดทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนกองทัพจะเข้ามารับไม้ต่อจาก กปปส. เพื่อควบคุมอำนาจทางการเมืองหรือไม่ ยังไม่มีผู้ใดออกมายอมรับ
ทั้งหมดที่อธิบายมาเพื่อพิสูจน์ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเกิดขึ้นผ่านกระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหาร แต่สื่อมวลชนทั่วไปไม่สนใจติดตามข่าวสารดังกล่าว การไม่ติดตามข่าวด้านสิทธิมนุษยชนทำให้ขาดการตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้ประชาชนผู้ติดตามข่าวสารจึงขาดการรับรู้ว่าสิทธิมนุษยชนยังคงมีอยู่
เมื่อไร้ซึ่งการรับรู้และไม่มีการพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนจึงค่อยๆ จางหายไปจากความคิดของคนไทย ในทำนองเดียวกับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษที่ลดทอนลงไปเรื่อยๆ หากขาดการปฏิบัติ
นานวันเข้าสิทธิมนุษยชนจึงกลายเป็นเรื่องแปลกแยกสำหรับสังคมไทย ทำให้บางครั้งเมื่อถูกละเมิดสิทธิจึงไม่รับรู้ว่าตนเองกำลังถูกละเมิด เช่นเดียวกับการถูกละเมิดสิทธิในการปกครองตนเองผ่านการเลือกตั้ง ที่คนไทยถูกกองทัพลิดรอนไปเป็นเวลาเกือบ 3 ปีครึ่งแล้ว
มีคำสัญญาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร หลายครั้งว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า แต่เมื่อถึงปีหน้าก็กลับเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ จนไม่ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่กันแน่
การเลื่อนการเลือกตั้งทีละเล็กละน้อย สามารถมองได้ว่า นี่คือเทคนิคในการครองอำนาจ เพราะสมมติว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า อย่างเช่นที่บอกแก่ประธานธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่แน่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถครองอำนาจได้ยาวนานจนถึงทุกวันนี้
เพราะเวลา 4 ปีเป็นค่าเฉลี่ยการครองอำนาจของคณะรัฐประหารที่เกินมาตรฐาน หากเปรียบเทียบกับการยึดอำนาจในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 การครองอำนาจที่ยาวนานที่สุดเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2520 โดยมีการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2522 หรือ ประมาณ 1 ปี 6 เดือน เท่านั้น
เมื่อไม่มีการเลือกตั้งเป็นเวลายาวนาน ประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทีี่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ให้อำนาจองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคานอำนาจองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ ยิ่งทำให้การเลือกตั้งลดทอนความสำคัญลงไปพร้อมๆ กับความหวังในการได้มาซึ่งประชาธิปไตย เพราะหากมีการเลือกตั้งแล้วพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะถูกโค่นล้มด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอีกหรือไม่ เช่นเดียวกับ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อคนไทยส่วนหนึ่งยังไม่ยอมจำนน แม้จะไม่ทราบว่าคนไทยดังกล่าวคือใครบ้าง แต่ถ้าใช้ผลการโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาผู้ที่ไม่ยังไม่สิ้นหวัง จะพบว่า ภาคอีสานคือภูมิภาคเดียวท่ี่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยจากทั้งหมด 20 จังหวัดมีถึง 15 จังหวัดที่เสียงโหวตโนชนะ ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนเสียงโหวตโนสูงที่สุด คือ จ.ร้อยเอ็ด ที่ร้อยละ 64.02
แม้ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้อีกเมื่อไหร่ แต่ถ้ายังมีการพูดและตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป๋็นประเด็นพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็เชื่อว่าความหวังของคนไทยยังคงไม่ถูกลบเลือนไป เมื่อมีความหวังแม้จะน้อยนิดก็ยังมีโอกาสที่จะสมหวัง