โดยดานุชัช บุญอรัญ
ยโสธร – นักเขียนจัดตั้งสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของและรางวัลอุรังคธาตุอะวอร์ด เพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดงานวรรณกรรมจากระบบรัฐชาตินิยมศูนย์กลาง ด้านนักเขียนจาก จ.อุบลราชธานี แนะควรตั้งเกณฑ์การพิจารณาให้รางวัลจากตัวบุคคลและผลงานในระยะยาว ป้องกันปัญหาซ้ำรอยรางวัลใหญ่

นักเขียนร่วมงานแถลงข่าวก่อตั้งสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของและรางวัลอุรังคธาตุอะวอร์ด โดยมีนายสมชาย เนินทราย หัวหน้าฝ่ายบริหารการศึกษา กองการศึกษาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธี
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2560 ที่ห้องประชุมสีเงิน องค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร คณะกรรมการดำเนินงานสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของและรางวัลอุรังคธาตุอะวอร์ด นำโดย นายชัชวาลย์ โคตรสงคราม นักเขียนผู้ปฏิเสธนัยยะของคำว่า “อีสาน” และนิยามตนเองว่าเป็นนักเขียนลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง จัดพิธีแถลงข่าวการก่อตั้งสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของและรางวัลอุรังคธาตุอะวอร์ด ภายในงานมีการตั้งวงเสวนาและอ่านบทกวีในหัวข้อ “ทีปทัศนโบราณ สู่การประกอบสร้าง ทวิปัญญาสู่โลกสมัยใหม่” โดยมีบรรดานักเขียน นักวิชาการ ศิลปิน ตลอดจนประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมพิธีราว 60 คน

ชัชวาลย์ โคตรสงคราม (คนซ้าย) กรรมการจัดงานแถลงข่าวก่อตั้งสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของ และรอน โพนทอง นักเขียนอาวุโสจากจังหวัดร้อยเอ็ด
นายชัชวาลย์ ผู้ริเริ่มแนวคิดก่อตั้งสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของและรางวัลอุรังคธาตุอะวอร์ด กล่าวว่า ตนและกลุ่มเพื่อนพ้องในแวดวงวรรณกรรมจำนวนหนึ่งก่อตั้งสมาพันธ์ฯและรางวัลดังกล่าวขึ้นมาเนื่องจากมีปัญหาการผูกขาดด้านวิธีคิดของรัฐชาตินิยมไทยที่ใช้ระบบจารีตนิยมจากศูนย์กลางเป็นตัวกำหนดองค์ประกอบทางสังคมต่างๆ ทั้งด้านการเมือง การศึกษาและวัฒนธรรม ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่รัฐชาติต้องการ
นายชัชวาลย์กล่าวอีกว่า ภาวะภายใต้การตีกรอบครอบงำโดยกลไกอำนาจรัฐผ่านการศึกษาและการเมืองเช่นนี้ส่งผลให้การสร้างงานวรรณกรรมของนักเขียนไม่เกิดพัฒนาการทั้งรูปแบบและเนื้อหา และไม่สามารถสะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิม รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลกระทบต่อรัฐที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนได้
ผู้ริเริ่มการก่อตั้งสมาพันธ์กล่าวอีกว่า แม้แต่ในระบบการศึกษา การเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและวรรณกรรมของเยาวชนในโรงเรียนก็ถูกผูกขาดเนื้อหา โดยการกำหนดหนังสือที่ส่งเสริมให้อ่านด้วยวิธีการบังคับ ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาองค์ความรู้ที่เกิดจากการเรียนการสอนของเด็กไทยเติบโตมาพร้อมกับข้อมูลด้านเดียวอันถูกคิดขึ้นเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมืองให้แก่รัฐส่วนกลาง
“วรรณกรรมเล่มใดที่กล่าวถึงปัญหาวิถีชีวิต ปัญหาสังคม หรือปัญหาประเทศชาติ นำเสนอความหลากหลายของชาติพันธุ์ก็จะถูกตัดบท ถูกละเลย และถูกลดทอนความสำคัญ” นายชัชวาลย์ระบุด้วยว่า ที่ปัญหามาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะความพยายามสร้างความเป็นชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความพยายามให้คนทำและคิดทุกอย่างแบบเดียวกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นความงดงามและเป็นสุนทรียะของชีวิต
สำหรับพันธกิจและทิศทางการดำเนินงานของสมาพันธ์ฯ นายชัชวาลย์กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมาวรรณกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง สมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของและรางวัลอุรังคธาตุอะวอร์ด จึงถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมสร้างกิจกรรมทางปัญญาและบูรณาการอัตลักษณ์ ให้แก่นักเขียนและศิลปินทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกแนวคิดทางการเมือง เชื้อชาติ หรือศาสนา โดยเน้นที่ตัวบุคคลและตัวผลงานเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อร่วมกันสร้างกิจกรรมทางปัญญาและบูรณาการอัตลักษณ์ ผ่านวิถีวัฒนธรรมการอ่าน การเขียน และการวิจารณ์ โดยไม่ผูกติดอยู่กับความเป็นชาตินิยมและเส้นพรมแดนเพียงอย่างเดียว รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
นายชัชวาลย์กล่าวด้วยว่า งานที่สำคัญอีกอย่างของสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของ คือ การจัดตั้งรางวัลอุรังคธาตุอะวอร์ดเพื่อส่งเสริมและเชิดชูเกียรติคุณแก่ศิลปิน กวีและนักเขียน รวมทั้งปัญญาชนสาธารณะ ผู้สร้างสรรค์เพื่อปัญญาที่ยั่งยืน ที่มีความเหมาะสม เพื่อสร้างพัฒนาการให้แก่วงการวรรณกรรมต่อไป
“เราได้รับความร่วมมือจากพี่น้องนักคิด นักเขียนทั้งรุ่นเก่าและใหม่ คิดว่าทุกคนอยากเห็นพื้นที่ตรงนี้เติบโตเหมือนๆ กัน และคงคิดคล้ายๆ กันว่าความหลากหลายทางความคิด ทางวัฒนธรรมมันมีคุณค่ามากกว่าจะไปถูกผูกโยงอยู่กับเรื่องความเป็นรัฐชาติ” นายชัชวาลย์กล่าว

นายวิทยากร โสวัตร นักเขียนและเจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย หนึ่งในคณะกรรมการดำเนินงาน อ่านกวีกานต์
นายวิทยากร โสวัตร นักเขียนและเจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ความคิดที่จะมีการจัดตั้งสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของและรางวัลอุรังคธาตุอะวอร์ดได้มีการพูดคุยกันมาในแวดวงของนักเขียนซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมาเป็นระยะเวลาหลายปีก่อนจะออกมาเป็นรูปธรรมดังที่ปรากฏ การจัดตั้งสมาพันธ์ฯ และรางวัลอุรังคธาตุอะวอร์ดในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการฉกฉวยโอกาสในห้วงเวลาที่รางวัลทางวรรณกรรมกระแสหลัก เช่น รางวัลซีไรต์ (รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน-ผู้เขียน) กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์และตกอยู่ในสภาวะศรัทธาเสื่อมถอย เพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือชื่อเสียงให้แก่หมู่คณะของตนเองอย่างที่มีการตั้งข้อสงสัย
ส่วนคำถามถึงความซ้ำซ้อนกับองค์กรวรรณกรรมในภาคอีสาน ซึ่งมีการจัดตั้งมาแล้วหลายกลุ่ม อาทิ สโมสรนักเขียนภาคอีสาน และกลุ่มชายคาวรรณกรรม นายวิทยากรบอกว่า องค์กรด้านวรรณกรรมที่จัดตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในแง่แนวคิดและความหลากหลาย แต่ละที่ล้วนมีเฉดสีเป็นของตัวเอง ดังนั้นสมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของและรางวัลอุรังคธาตุอะวอร์ดจึงอาจเป็นความหวังสำหรับผู้แสวงหาพื้นที่สาธารณะที่ปราศจากการตีกรอบและพร้อมเปิดรับมุมมองจากบุคคลทุกฝักฝ่ายทุกแนวคิด เพื่อทำให้เกิดการต่อยอดทางงานวรรณกรรมในพื้นที่ภาคอีสานและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ในฐานะของกรรมการดำเนินงานจัดตั้งสมาพันธ์ฯ นายวิทยากร ตั้งข้อสังเกตถึงรางวัลอุรังคธาตุอะวอร์ดว่า ต้องการเสนอให้มีความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณามอบรางวัล ว่าควรจะเลือกระหว่าง เลือกจากตัวเล่มแบบเดียวกับรางวัลซีไรต์ หรือเลือกจากตัวบุคคลซึ่งมีผลงานยาวนานต่อเนื่อง
“หากจะเลือกจากตัวบุคคล ก็ควรจะให้คนจากทุกสี ทุกฝ่าย พิจารณากันในระยะยาวถ้าเป็นเช่นนี้ผมคิดว่าโอเค แต่ถ้าเราจะเลือกจากตัวเล่ม ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก หรือมีเรื่องไม่ชอบมาพากลอื่นๆ ตามมาได้” นายวิทยากรเสนอ
ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560