โดยจิรสุดา สายโสม
อุบลราชธานี – ชาวเดชอุดมพบความไม่สะดวกในการใช้บ้ตรคนจนเนื่องจากร้านธงฟ้าประชารัฐมีไม่ทั่วถึงต้องเสียค่าเดินทางจึงเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเป็นเงินสด พร้อมเห็นว่าบัตรคนจนเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ อยากให้เศรษฐกิจดีกว่านี้และมีการเลือกตั้ง ด้านผู้สื่อข่าวพบว่าร้านค้านธงฟ้าฯ ขายสินค้าในราคาที่แตกต่างกัน

สินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐที่ผู้มีบัตรคนจนสามารถไปจับจ่ายตามวงเงินที่รัฐบาลกำหนดให้
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดลงพื้นอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (ลงทะเบียนคนจน) ทั้งผู้ผ่านเกณฑ ผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ และผู้ประกอบการร้านธงฟ้าประชารัฐ
นางจำปี จินดาศรี อายุ 60 ปี บ้านกอกกลาง ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเดชอุดม อาชีพเกษตรกร เล่าว่า มีรายได้ไม่พอใช้จ่ายเนื่องจากราคายางพาราตกต่ำ เมื่อมีโครงการช่วยเหลือคนจนจึงไปเข้าร่วมโครงการ อยากให้รัฐบาลสนับสนุนวงเงินในบัตรคนจนให้มากกว่าคนละ 200 หรือ 300 บาทต่อเดือน เนื่องจากตนมีค่าเดินทางในการมาใช้บริการที่ร้านธงฟ้าประชารัฐแห่งนี้ด้วย เพราะแถวบ้านไม่มีร้านธงฟ้าฯ
“ถ้ารัฐบาลจะให้วงเงินเท่านี้ก็อยากได้เป็นเงินสดจะได้ซื้อร้านค้าใกล้บ้านได้” นางจำปีกล่าว

นางจำปี จินดาศรี อายุ 60 ปี ผู้ได้รับบัตรคนจน
ทั้งนี้ การใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จากร้านธงฟ้าฯ โดยผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีจะได้รับเงินเดือนละ 300 บาท และผู้มีรายได้ 30,000-100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินเดือนละ 200 บาท
นางฉวี ภามาเนตร อายุ 47 ปี อาชีพเกษตรกร เล่าว่า ตนไม่ได้สมัครทำบัตรคนจนเพราะมีที่นาเกิน 10 ไร่ และมีเงินหมุนเวียนในบัญชีเงินฝากจึงไม่ผ่านเงื่อนไข พ่อก็ทำบัตรไม่ได้เช่นกันเนื่องจากมีเงินฝากในบัญชีหลายหมื่นบาท แต่ลูกสาวผ่านเกณฑ์ทำบัตรคนจนได้เพราะยังเรียนหนังสืออยู่จึงไม่มีรายได้
นางฉวีบอกว่า ได้นำบัตรคนจนของลูกสาวไปใช้สิทธิเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า การส่งเสริมการขาย (โปรโมชั่น) เช่น ซื้อ 1 แถม 1 ของสินค้าบางอย่างหายไป ทั้งที่ก่อนมีบัตรคนจนเคยมีโปรโมชั่นดังกล่าว
“อยากให้รัฐบาลเปลี่ยนจากให้บัตรคนจนเป็นให้เงินสดแทนเพื่อให้ประชาชนซื้อสินค้าได้จากร้านค้าทั่วไป หรือซื้ออาหารสด ผักสด ได้จากตลาดนัด ไม่ใช่ซื้อได้แค่ในร้านธงฟ้าฯเท่านั้น” นางฉวีกล่าวและว่า ถ้าสามารถซื้อสินค้าจากร้านทั่วไปได้ผู้ถือบัตรคนจนจะไม่ต้องเสียค่าเดินทางเพื่อไปซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าฯในต่างหมู่บ้านหรือเข้าไปซื้อสินค้าในเมือง เนื่องจากร้านธงฟ้าฯยังมีไม่ทั่วถึงในชนบท
เกษตรกร วัย 47 ปีผู้นี้กล่าวอีกว่า ถ้าหากได้เงินสดก็จะสามารถเลือกซื้อตามร้านที่ต้องการซื้อได้ เช่น ที่ร้านเทสโก้โลตัสซึ่งมักจะมีโปรโมชั่นส่วนลด และมีของแถม เช่น ครีมอาบน้ำ ครีมทาผิว ซื้อ 1 แถม 1 แต่ร้านค้าประชารัฐไม่มีโปรโมชั่นแบบนั้น
“ส่วนตัวแล้วบัตรไม่โอเคนะ ให้เป็นเงินสดมาเลยดีกว่า” นางฉวีกล่าว

นางฉวี ภามาเนตร อายุ 47 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้ไม่มีบัตรคนจน
นางสาวรัตติยา บัวพา อายุ 24 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไปตำบลท่าโพธิ์ศรีอำเภอเดชอุดมจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ที่ได้รับบัตรคนจน เล่าว่า ตนได้เงินช่วยเหลือคนจนครั้งนี้เป็นครั้งที่ สอง ครั้งแรกได้เมื่อปีที่แล้วโดยได้เงินจำนวน 3,000 บาท ตอนสมัครเข้าโครงการลงทะเบียนคนจนครั้งแรก ตนเพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรียังหางานที่มั่นคงทำไม่ได้ ตนได้ทำแต่งานรับจ้างจึงยังไม่มีรายได้ประจำ
นางสาวรัตติยากล่าวอีกว่า ตนเรียนจบสาขาสาธารณสุขศาสตร์จึงไปสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการเป็นนักวิชาการสาธารณสุข และพนักงานสาธารณสุข ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาก็ไปสอบเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น แต่อัตราที่เปิดรับสมัครน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนที่ไปสมัคร จึงทำให้ไม่มีงานที่มั่นคงทำ ตนจึงเป็นผู้มีรายได้น้อย
นางคำบง ดาภา อายุ 53 ปี อาชีพเกษตรกร ชาวตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม ผู้ที่ทำบัตรคนจนแต่ไม่ผ่านเกณฑ์เล่าว่า โครงการนี้ไม่ดี เพราะช่วยเหลือประชาชนไม่ทั่วถึง ไม่ได้ช่วยเหลือคนรากหญ้าจริงๆ แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คนที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ไม่ใช่ประชาชนที่แท้จริงแต่เป็นรัฐบาล และบริษัทห้างร้านที่ขายสินค้าธงฟ้าฯ ซึ่งมีรายได้จากการใช้จ่ายบัตรคนจน เพราะบัตรคนจนไม่สามารถซื้อของทั่วไปตามท้องตลาด
“อยากฝากถึงรัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจ อยากให้พัฒนาเศรษฐกิจให้ดี บริหารให้ราคาสินค้าทางการเกษตรสูงขึ้น มีตลาดรองรับผลผลิตทางการเกษตร ถ้าเศรษฐกิจดีก็จะไม่มีคนจนไม่มีผู้ที่มีรายได้น้อย” นางคำบงกล่าวและว่า เมื่อประชาชนมีรายได้รัฐบาลก็ไม่ต้องนำงบประมาณมาช่วยเหลืออีก
“สุดท้ายนี้อยากเลือกตั้ง อยากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” นางคำบงกล่าว

ร้าน 99 มินิมาร์ท บ้านแขมเจริญ ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
ผู้สื่อข่าวสำรวจที่ร้าน 99 มินิมาร์ท บ้านแขมเจริญ ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม พบว่า เมื่อนำบัตรคนจนเข้าไปใช้บริการ ร้านจะตรวจสอบวงเงินในบัตรแล้วออกใบเสร็จรับเงินให้ สมมติว่าได้รับสิทธิ 200 บาทร้านก็จะออกใบเสร็จให้ 200 บาท เพื่อให้นำไปเลือกสินค้าตามวงเงิน หากลูกค้าซื้อสินค้าเกินจำนวนเงินลูกค้าก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น แต่ถ้าซื้อสินค้าไม่ครบจำนวนเงิน ร้านก็จะมีขนม หมากฝรั่ง และลูกอม สำรองไว้ เพื่อให้ลูกค้าได้ซื้อสินค้าครบตามวงเงินในบัตรพอดี
นางพิศมัย จำเริญ เจ้าของร้าน 99 มินิมาร์ทที่เข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐ บอกว่า เริ่มเปิดให้ใช้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีประชาชนมาใช้บริการจำนวนมาก ช่วงต้นเดือนขายสินค้าได้วันละ 70,000-80,000 บาท ช่วงกลางเดือนขายได้วันละ 30,000-40,000 บาท

นางพิศมัย จำเริญ เจ้าของร้าน 99 มินิมาร์ท บ้านแขมเจริญ ตำบลเมืองเดช อำเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
นางพิศมัยเล่าอีกว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีทั้งกับคนจนที่มาใช้บริการและร้านค้าที่ร่วมโครงการ ร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้นส่วนคนจนมีของใช้ทุกเดือนถือเป็นการลดภาระของคนจน ส่วนการให้ใช้บัตรซื้อสินค้าเป็นสิ่งที่ดีเพราะคนจนจะได้ไม่ซื้อสินค้าที่ไม่มีประโยชน์ เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล เหล้า และบุหรี่
“ให้ซื้อสินค้าให้ครบตามวงเงินทั้งหมดที่ได้ก็เพราะว่า ไม่อยากให้เกิดความยุ่งยากและไม่ต้องเสียเวลามาใช้บริการหลายรอบในแต่ละเดือน” นางพิศมัยกล่าว
เมื่อออกจากร้าน 99 มินิมาร์ท ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นว่า มีร้านขายปลานิลสดอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ร้านดังกล่าวนำไข่ไก่เบอร์ 1 มาวางขายในราคาถาดละ 100 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าไข่ไก่ในร้านธงฟ้าฯ ที่ขายถาดละ 120 บาท
ผู้สื่อข่าวไปสำรวจสินค้าในร้านพิมแอนด์พีซึ่งธงฟ้าประชารัฐอีกแห่งในหมู่บ้านใกล้เคียงกัน พบว่า ไข่ไก่เบอร์ 1 ราคาถาดละ 90 บาทถูกกว่าร้านธงฟ้าฯ อีกแห่งอยู่ 30 บาท นอกจากไข่ไก่แล้วยังมีสินค้าอีกหลายรายการในร้านค้าธงฟ้าฯ ทั้งสองแห่งที่ขายในราคาไม่เท่ากัน เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่มที่ร้านนี้ขายราคาถุงละ 16 บาท ขณะที่ร้าน 99 มินิมาร์ทขายราคา 20 บาท
ทั้งนี้บัตรคนจนเป็บบัตรพลาสติกมีลักษณะคล้ายกับบัตรเอทีเอ็ม สามารถนำไปใช้รูดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ วิธีการชำระเงินคือการรูดบัตรผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เครื่องอีดีซี จากนั้นจะได้ใบเสร็จแสดงยอดที่ใช้จ่ายไปและยอดคงเหลือในบัตร
สินค้าที่สามารถซื้อได้มีแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ ดังนี้ สินค้าอุปโภค บริโภค เช่น หมวดอาหารสด หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดของใช้ประจำวัน และหมวดยารักษาโรค สินค้าเพื่อการศึกษา เช่น เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การเรียน และสินค้าเพื่อเกษตรกรรม เช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และเมล็ดพันธุ์พืช
จิรสุดา สายโสม เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560