โดยอิทธิพล โคตะมี (เรื่อง) พิทักษ์ ปรารถนาวุฒิกุล (ภาพ)

การเคลื่อนไหวเพื่อประกาศ “ธรรมนูญประชาชนฅนอำนาจเจริญ” เมื่อ 5 ปีก่อน ทำให้จังหวัดอำนาจเจริญ กลายเป็นจังหวัดแรกที่ประกาศโมเดลจังหวัดจัดการตนเองอย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจคือ พวกเขาเสนอรูปแบบการพัฒนาที่ท้าทายทางเลือกโดยทั่วไป นั่นคือใช้ “เมืองธรรมะเกษตร” เป็นกลไกผลักดันไปสู่เป้าหมาย แต่ขณะนี้มีความท้าทายชนิดใหม่เกิดขึ้นในจังหวัด นั่นคือการปลูกอ้อยเพื่อส่งให้โรงงานน้ำตาล

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ปี 2555 ภาพของประชาชนจังหวัดอำนาจเจริญกว่า 10,000 คน ร่วมกันเดินรณรงค์จังหวัดจัดการตนเอง ก่อนจะประกาศ “ธรรมนูญประชาชนฅนอำนาจเจริญ” พวกเขาใช้สัญลักษณ์สุ่มไก่หงายขึ้นมีมือคนประคองคล้ายพานรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ความหมายถึงการประกาศอิสรภาพจากอำนาจรัฐรวมศูนย์ สร้างความตื่นตาตื่นใจต่อผู้คนที่ติดตามข่าวสารอยู่ไม่น้อย

ผ่านเข้าสู่ปีที่ 5 ดูเหมือนว่า หนทางข้างหน้าของการเป็นเมืองธรรมะเกษตรจะไม่ง่าย เมื่อกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาดเข้าประชิดตัว โดยเมื่อปลายปี 2558 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ รวมทั้งขอย้ายที่และขยายโรงงานเดิม เพื่อปูทางไปสู่การตั้งโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดอำนาจเจริญ

โครงการตั้งโรงงานน้ำตาลที่อำนาจเจริญดำเนินการโดยบริษัท มิตรกาฬสินธุ์ จำกัด เป็นโรงงานขนาด 2 หมื่นตันอ้อย และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ภายใต้บริษัทมิตรผลไบโอ-เพาเวอร์จำกัด ทั้งสองโรงงานได้จัดทำประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยแล้วในช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของทั้ง 2 โครงการ อยู่ในกระบวนการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

วันประกาศ “ธรรมนูญประชาชนฅนอำนาจเจริญ” ที่ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ (13 ก.พ. 2555-ภาพจากประชาไท)

เส้นทางธรรมะเกษตร

แนวทางจังหวัดจัดการตนเองของจังหวัดอำนาจเจริญ เริ่มต้นราว ปี 2551 หลังจากที่มีการตราพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน (มาตรา 66 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สนับสนุนให้ชุมชนรวมกลุ่มกัน) ชุมชนต่างๆ ในจังหวัดอำนาจเจริญจึงรวมตัวกัน ก่อตั้งสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ และมีบทบาทให้ใช้แนวทางธรรมะเกษตรในแผนพัฒนาจังหวัดได้ ซึ่งมีความหมายถึงการผลิตและขายผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมและชีวิตของผู้ผลิตและผู้บริโภค

วานิชย์ บุตรี ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ หัวเรี่ยวหัวแรงของแนวทาง “ธรรมะเกษตร” อธิบายความหมายของจังหวัดจัดการตนเองของคนอำนาจเจริญว่า “คือการที่ประชาชนเข้าไปวางแผนการพัฒนา การมีสิทธิ เสรีภาพมากขึ้น ลดอำนาจส่วนกลาง กระจายให้ชาวบ้านมากขึ้น จุดใหญ่ใจความอยู่ที่ประชาชนอยากมีสิทธิในการตัดสินใจมากขึ้น”

วานิชย์ บุตรี ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ

ตัวอย่างรูปธรรมที่เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดได้ดำเนินมากว่าหนึ่งทศวรรษ เช่น การรวมตัวของชาวนาซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของขบวนจังหวัดเพื่อกำหนดอนาคตตัวเอง พวกเขาออกแบบการตกลงราคาที่เป็นธรรมกับโรงสีและผู้รับซื้อ เพื่อช่วยให้ชาวนาในกลุ่มสมาชิกสามารถคาดการณ์ได้ว่าปีหน้าพวกเขาจะสามารถขายข้าวได้ราคาเท่าไรและในรูปแบบใด

วานิชย์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ การตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณพัฒนาจังหวัดทำได้ยากลำบากเพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจ โดยผู้ที่ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณคือ คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดอำนาจเจริญ แต่หลังจากภาคประชาสังคมของจังหวัดมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น มีการขยายบทบาทเครือข่ายออกไปเพื่อตรวจสอบและกำกับการบริหารงบประมาณแผ่นดิน อาทิ การที่สมาชิกสภาองค์กรชุมชนของจังหวัดเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดฯ กระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่นเพราะลักษณะเฉพาะของจังหวัดอำนาจเจริญมีภาคประชาสังคมที่เป็นเอกภาพและเข้มแข็งมายาวนาน และยังมีที่มาที่หลากหลาย เช่น สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายสตรี เครือข่ายเด็ก เครือข่ายนาข้าวอินทรีย์ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ฯลฯ

กลุ่มเกษตรกรนาข้าวอินทรีย์ประชุมใหญ่ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560

เมื่อนาข้าวอินทรีย์เผชิญการท้าทาย

ในช่วง 2-3 ปีหลัง ความพยายามของกลุ่มชาวนาหลีกไม่พ้นแรงเสียดทานจากการกดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาให้ลดต่ำลง ไม่เว้นแม้กระทั่งข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงของจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งส่งผลต่อการรวมตัวของชาวนา

สิริศักดิ์ ทองแก้ว สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดอำนาจเจริญ ชาวนาจากอำเภอเสนางคนิคม มองเห็นปัญหาข้อนี้ เขาพบว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา แนวทางธรรมะเกษตรจะสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของเกษตรกรด้วย การรณรงค์จะต้องไม่หลุดไปจากปัญหาพื้นฐานของชาวนา เช่น เรื่องรายได้และหนี้สินของเกษตรกร

สิริศักดิ์เล่าอีกว่า การทำเกษตรอินทรีย์ต้องตอบให้ได้ว่าเกษตรกรจะได้อะไรบ้าง เพราะการทำนาข้าวอินทรีย์แม้ว่าจะได้ผลตอบแทนสูงในอนาคต แต่ขั้นตอนการผ่านการรับรองจากบริษัทส่งออกข้าวมีเงื่อนไขยุ่งยากและซับซ้อน ช่วงแรกมีคนสนใจเข้ามาร่วมเยอะแต่เมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบแปลงข้าวเกษตรอินทรีย์ผู้สนใจเข้าร่วมมีจำนวนลดลง

สิริศักดิ์ ทองแก้ว ชาวนาข้าวอินทรีย์จากอำเภอเสนางคนิคม

เมื่อมีการส่งเสริมการปลูกพืชชนิดใหม่ เช่น อ้อยหรือมันสำปะหลัง จึงตรงใจกับชาวนาข้าวจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาราคาข้าวลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้นสิริศักดิ์เห็นว่า การขยายพื้นที่ปลูกพืชชนิดใหม่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปลูกข้าวอินทรีย์ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการใช้สารเคมีในพืชไร่มากกว่า

ดังนั้นแนวทางของสภาเกษตกรจังหวัดจึงเป็นการรณรงค์ให้คนที่หันไปปลูกอ้อยเลี้ยงสัตว์ด้วยเพื่อไม่ให้เกษตรกรพึ่งพาอ้อยแต่เพียงอย่างเดียว และทำให้เกษตรกรยังอยู่ในแผนธรรมะเกษตรของจังหวัดที่ถูกกำหนดไว้

สถิติการปลูกพืชเศรษฐกิจของอำนาจเจริญจากการสำรวจโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิในจังหวัดอำนาจเจริญในปี 2559 มีอยู่ 883,499 ไร่ ส่วนการปลูกอ้อยโรงงาน ในปี 2558 มี 40,688 ไร่ ในปี 2559 ขยายตัวเป็น 51,446 ไร่ และในปี 2560 ลดลงเล็กน้อย ตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 50,076 ไร่ (อ้อยโรงงานคืออ้อยที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวส่งเข้าโรงงานในฤดูหีบอ้อย ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. ถึง 30 ก.ย. ของปีถัดไป)

เมื่อพื้นที่ปลูกอ้อยไม่ได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในสายตาของสิริศักดิ์ เรื่องที่น่ากังวลมากกว่าการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย คือการใช้ยาฆ่าแมลง และสารเคมี ในไร่อ้อย หากในอนาคตมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกจะทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยไม่สามารถเปลี่ยนมาปลูกนาข้าวอินทรีย์ในภายหลังได้ เพราะเมื่อดินเสื่อมโทรมไปแล้วจะทำให้การฟื้นฟูที่ดินเพื่อกลับมาทำนาข้าวอินทรีย์เป็นไปด้วยความยากลำบาก

ทิศทางการพัฒนาของอำนาจเจริญ

ภาคประชาสังคมของจังหวัดอำนาจเจริญเป็นผู้ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์จังหวัด คือ “เมืองธรรมะเกษตร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง เส้นทางการค้าสู่สากล” โดยมีหน่วยงานราชการทำหน้าที่รับรองและช่วยสนับสนุนความรู้การตรวจรับแปลงนาข้าว และยังมีการขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ เช่น “อำนาจเจริญเมืองสมุนไพร” ซึ่งกลุ่มที่ทำงานเรื่องนี้คือ สมัชชาสุขภาพ

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มวิสาหกิจนาข้าวอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญได้จัดประชุมใหญ่ประจำปี เพื่อวางแผนของกลุ่มให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด โดยกลุ่มเกษตรกรนาข้าวอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญวางแผนขยายพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์จากปี 2560 ที่มีอยู่ 68,880 ไร่ จะขยายพื้นที่เพาะปลูกให้ถึง 100,000 ไร่ภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มจำนวนผลผลิตที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศและขยายพื้นที่การปลูกนาข้าวอินทรีย์เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัด แต่ชาวนายังติดขัดในเรื่องขั้นตอนการรับรองผลผลิต โดยจังหวัดได้สนับสนุนเงินทุนบางส่วนสำหรับการสร้างโรงสีของเครือข่ายวิสาหกิจนาข้าวอินทรีย์ และสนับสนุนเรื่องการประสานกับบริษัทค้าข้าว เป็นต้น

นาข้าวอินทรีย์อำเภอเสนางคนิคม ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของอำนาจเจริญ

ด้วยเป้าหมายการขยายพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ แต่นอกฤดูกาลทำนาพวกเขาต้องการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นด้วย ภาคประชาสังคมอำนาจเจริญจึงต้องการโครงการขนาดย่อม แก้มลิง ฝายน้ำล้นที่จัดการได้ง่าย สระขนาดเล็กตามไร่นา และสระขนมครก ฯลฯ วานิชย์ กล่าวถึงเหตุจำเป็นที่ชาวบ้านเรียกร้องแหล่งน้ำขนาดย่อมว่า เป็นเพราะแหล่งน้ำขนาดย่อม ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมสามารถจัดการได้ง่ายกว่าโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่อยู่ภายใต้อำนาจของหลายหน่วยงานราชการที่มีภารกิจงานซ้ำซ้อน

“ที่ผ่านมาแต่ละตำบลก็ได้บ่อ และเกษตรกรมีการสมทบ บางราย 1,000 บาท บางราย 1,500 บาท ซึ่งแก้ปัญหาน้ำแล้งได้ เป็นการจัดการง่ายๆ จากชาวบ้าน” วานิชย์กล่าว

การขอตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้า

พื้นที่ลุ่มน้ำเซบาย เส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ยโสธรและมุกดาหาร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อาจจะมีโรงงานน้ำตาล เกษตรกรชาวอำนาจเจริญบางส่วนจึงได้เคลื่อนไหวคัดค้านหลายรูปแบบ เช่น สร้างเครือข่ายเกษตรกรที่รณรงค์เรื่องกสิกรรมไร้สารพิษแต่ยังไม่ได้มีการประสานงานอย่างเหนียวแน่น สาเหตุที่ต่อต้านการสร้างโรงงานน้ำตาลเพราะหากมีโรงงานน้ำตาลที่นี่ก็จะมีการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อนำอ้อยไปป้อนให้กับโรงงาน

สิริศักดิ์กล่าวว่า เริ่มมีการเปลี่ยนทิศทางการคัดค้านโรงงานน้ำตาลในระดับจังหวัดจากการเดินขบวนเป็นการต่อต้านในระดับนโยบาย เช่น การยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด การยื่นจดหมายคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรี เพราะการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่มีนโยบายจากส่วนกลางโรงงานก็ไม่สามารถเกิดขึ้น อีกทั้งหน่วยงานราชการในพื้นที่ก็ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

ป้ายต่อต้านการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล บริเวณสี่แยกทางเข้าตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ

โจทย์ท้าทายของการจัดการตนเอง

ความเห็นของคนที่เกี่ยวข้องกับโรงงานที่ก่อตั้งมาก่อน ดูจะมีทัศนะที่ตรงกันข้ามกับกลุ่มธรรมะเกษตร คาร สุยะรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลโนนงาม อำเภอปทุมราชวงศา และผู้ประสานงานโรงงานแป้งมันสำปะหลังแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ เล่าให้ฟังว่า โรงงานแป้งมันของอำนาจเจริญตั้งขึ้นในปี 2556 ในพื้นที่อำเภอปทุมราชวงศา ด้วยการริเริ่มของอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีประสบการณ์การอนุญาตให้ตั้งโรงงานจากจังหวัดอื่น จึงได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ และเห็นว่ามีความเหมาะสมสำหรับการตั้งโรงงานเนื่องจากมีการปลูกมันสำปะหลังเป็นจำนวนมากในพื้นที่แต่ยังไม่มีการตั้งโรงงาน

ผู้ประสานงานโรงงานบอกอีกว่า ค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดอำนาจเจริญอยู่ที่ 305 บาท แต่หากมีทักษะที่ดีจะได้รับค่าแรงวันละ 350 บาท โรงงานมีคนงานประมาณ 70 คน ร้อยละ 70 เป็นคนในจังหวัดอำนาจเจริญ ส่วนข้อกังวลเรื่องสารเคมีหรือสารปนเปื้อนที่มากับโรงงาน คารกล่าวว่า ถ้ามีร้องเรียน กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ขององค์การบริหารส่วนตำบล จะเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ

คารเห็นว่าพื้นที่การปลูกนาข้าวอินทรีย์กับปลูกพืชเชิงเดี่ยวชนิดอื่นไม่ได้ทับซ้อนกัน พื้นที่ตำบลโนนงาม อำเภอปทุมราชวงศา แบ่งเป็น 2 โซนคือ พื้นที่ลุ่มปลูกนาข้าวกับพื้นที่สูงปลูกมัน เมื่อก่อนขายมันตามลานก็ได้ราคาต่ำ แต่ตอนนี้โรงงานมาตั้งราคาก็ดีขึ้น พื้นที่อำเภอปทุมราชวงศา ปลูกพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด คือ ข้าว ซึ่งเป็นพืชหลัก ส่วนมันและอ้อยคือพืชชนิดใหม่ ในอนาคต คารคิดว่าถ้าราคาข้าวยังตกต่ำแบบนี้ เกษตรกรก็ต้องหาทางเลือกจากพืชชนิดใหม่

สำหรับวิสัยทัศน์ในเรื่องเมืองธรรมะเกษตร ที่มีการสร้างนโยบายระดับจังหวัด คารให้แง่มุมว่า

“พืชทุกชนิดที่ปลูกลงดินได้ควรจะถูกนับเข้าเป็นเมืองธรรมะเกษตรด้วย และพืชที่ปลูกได้จะต้องสามารถนำไปแปรรูป ทำการตลาด และการขนส่ง เพื่อให้ชาวบ้านเกษตรกรไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เศรษฐกิจของลูกหลาน จะได้ไม่ต้องห่างพ่อห่างแม่ ไปเช่าบ้าน ไปซื้อข้าวอยู่ต่างถิ่น”

โจทย์นี้เองจึงท้าทายขบวนจังหวัดจัดการตนเองของอำนาจเจริญ เพราะแม้ว่าอำนาจเจริญจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญในเรื่องการปลูกข้าวอินทรีย์คุณภาพสูงจนสามารถขายได้ราคาที่ดี และได้รับความนิยมในตลาดยุโรป แต่ปัญหาก็คือ การจะได้มาซึ่งใบอนุญาตขายข้าวกลับมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก หลายคนเผชิญกับความล้มเหลว

สิริศักดิ์เห็นว่า การเสนอข้อมูลว่าอ้อยมีราคาดี มีคนมารับซื้อ และจะมีการตั้งโรงงานน้ำตาลรองรับ เป็นอุปสรรคต่อการรวมกลุ่มชาวนาเพื่อปลูกข้าวอินทรีย์ เนื่องจากการปลูกข้าวอินทรีย์มีความยากลำบากในการขอเอกสารรับรองแปลงข้าวอินทรีย์ ชาวนาจึงอาจจะเปลี่ยนใจไปรับทุนจากบริษัทเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย แม้การปลูกข้าวอินทรีย์จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาวมากกว่าการปลูกอ้อย เช่น สามารถกำหนดราคาข้าวในราคาที่สูงกับตลาดผู้รับซื้อในตลาดยุโรป และมีความปลอดภัยในการทำนาโดยไม่พึ่งสารเคมี อีกทั้งเมื่อพิจารณากระบวนการปลูกอ้อยอย่างละเอียด ก็พบว่า ทุกกระบวนการมาจากการใช้เงินโดยบริษัทเป็นผู้ปล่อยกู้

ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนาจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ชาวจังหวัดอำนาจเจริญต้องเลือกว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด

image_pdfimage_print