ขอนแก่น – หนึ่งเดือนหลังเปิดใช้บัตรคนจน เจ้าของร้านธงฟ้าเผย ขายสินค้าดีขึ้น 2-3 เท่า ด้านคลัง-พาณิชย์จังหวัดขอนแก่นยันบัตรคนจนแก้ปัญหาตรงจุด ประชาชนได้ประโยชน์ ไร้นายทุนผูกขาด ขณะที่นักวิชาการ ม.ขอนแก่นมองว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มีเพียงรัฐบาลกับกลุ่มทุน ส่วนคนจนยังจนเหมือนเดิม

ป้ายติดหน้าร้านค้าที่เข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐบ่งบอกให้ผู้ที่มีบัตรคนจนทราบว่าสามารถใช้บัตรซื้อสินค้าในร้านนี้ได้
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันแรกที่มีการเปิดให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกว่า “บัตรคนจน” ซึ่งบัตรนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีรายได้ปีละ 30,000-100,000 บาท จะได้รับเงินในบัตรเดือนละ 200 บาท และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 30,000 บาท จะได้รับเงินในบัตรเดือนละ 300 บาท วงเงินนี้ทั้งสองนี้สามารถนำไปซื้อสินค้าที่ขายในร้านที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ได้ทุกชนิด และได้รับส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มคนละ 45 บาทต่อสามเดือน โดยวงเงินที่ได้รับจะไม่สามารถสะสมไว้ใช้ในเดือนถัดไป
ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งสองกลุ่มยังได้รับส่วนลดค่าเดินทาง โดยใช้จ่ายค่ารถเมล์และรถไฟฟ้ารวมเดือนละ 500 บาท ค่ารถโดยสาร บขส.เดือนละ 500 บาท และค่ารถไฟเดือนละ 500 บาท
จากข้อมูลของกรมบัญชีกลางเผยว่า มีผู้ลงทะเบียนทั่วประเทศทั้งสิ้น 14.2 ล้านคน โดยมีผู้ผ่านคุณสมบัติที่จะได้รับประชารัฐสวัสดิการ 11 ล้านคน โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณปีละ 41,940 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่ จ.ขอนแก่น ข้อมูลเดือนตุลาคมของสำนักงานคลังจังหวัดขอนแก่นระบุว่า มีผู้มาลงทะเบียนคนจนจำนวนถึง 452,065 คน เป็นผู้ผ่านการพิจารณาให้ได้รับบัตรคนจนจำนวน 355,384 คน มีร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมโครงการ “ธงฟ้าประชารัฐ” 1,161 ร้าน มีการติดตั้งเครื่องรับชำระอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) แล้ว 260 ร้าน ส่วนอีก 901 ร้านต้องรอการติดตั้งตามลำดับ หลังจากมีการใช้บัตรคนจนเป็นเวลา 1 เดือน มีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้บัตรว่ามีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายสินค้าเกินราคาของร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งเป็นร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ที่ผู้มีบัตรคนจนสามารถไปซื้อของที่ร้านค้าดังกล่าวได้
เดอะอีสานเรคคอร์ดสำรวจราคาสินค้าในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่ ต.ศิลา อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น พบว่ามีสินค้าบางชนิดที่ขายถูกกว่าร้านค้าทั่วไป และมีบางชนิดที่ขายแพงกว่า เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ร้านธงฟ้าขายแพงกว่าร้านค้าทั่วไป 14 บาท ซอสหอยนางรมร้านธงฟ้าขายแพงกว่าร้านทั่วไป 5 บาท ผงซักฟอกร้านธงฟ้าขายถูกกว่าร้านทั่วไป 9 บาท น้ำดื่มขวดใหญ่แพ็คละ 6 ขวด ร้านธงฟ้าขายถูกกว่าร้านทั่วไป 9 บาท เป็นต้น

นางสุนันทา เลื่องลือ และนายสมาน เลื่องลือ เจ้าของร้านธงฟ้าขนาดใหญ่
นางสุนันทา เลื่องลือและนายสมาน เลื่องลือ เจ้าของร้านธงฟ้าขนาดใหญ่ใน ต.ศิลา กล่าวว่า หลังจากเปิดให้ใช้บัตรคนจน ร้านของตนมีรายได้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากเดิมขายสินค้าได้วันละ 10,000 บาท ก็เพิ่มเป็นวันละ 20,000-30,000 บาท ประชาชนในหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านโกทา บ้านพระคือ บ้านหนองกุง ก็เหมารถเพื่อเดินทางมาซื้อสินค้าที่ร้านของตน เพราะมีสินค้าให้เลือกมากกว่าร้านอื่นๆ
“ที่เราขายได้ เพราะที่ไกลๆ เขายังไม่ได้เครื่อง ถ้าที่อื่นเขากระจายเครื่องแล้ว ลูกค้าอาจจะลดลง เพราะช่วงนี้เขาหาที่ซื้อไม่ได้” นางสุนันทากล่าว
นางสุนันทาเล่าอีกว่า สินค้าที่ประชาชนมาซื้อส่วนใหญ่เป็นของใช้ในครัวเรือน น้ำมันพืช ข้าว ไข่ไก่ ผงซักฟอก สบู่ กาแฟ ยาสระผม ส่วนคนที่เป็นนักศึกษาก็มักจะซื้อเครื่องสำอาง ตนมองว่าเป็นโครงการที่ดีเพราะประชาชนได้ใช้ของจริงๆ ส่วนปัญหาที่พบคือ ในบางวันเครื่อง EDC ขาดสัญญาณ จึงต้องให้ลูกค้ารอไปก่อนจนกว่าเครื่องจะใช้งานได้
เจ้าของร้านธงฟ้าอีกคนหนึ่งก็พบปัญหาเกี่ยวกับเครื่อง EDC เช่นกัน นายสมเพศ วงษ์โค อายุ 63 ปี เจ้าของร้านอีกแห่งเล่าว่า แม้จะขายของดีขึ้น แต่ค่อนข้างวุ่นวาย เพราะเครื่อง EDC มักมีปัญหา โดยเฉพาะเวลาที่มีการใช้งานหนักทำให้เครื่องร้อนแล้วค้าง ตนจึงต้องให้ลูกค้ากลับไปก่อน
ด้านนางจิรนาฏ สารารัตน์ เจ้าของร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่ได้ร่วมลงทะเบียนเป็นร้านธงฟ้า ให้ความเห็นว่า การให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก เพราะราคาสินค้ายังคงแพงเช่นเดิม และมีคนจำนวนมากที่ไม่ทราบข่าวและไม่ได้มาลงทะเบียน ทำให้การช่วยเหลือไม่ทั่วถึง
“ถ้ารัฐจะช่วย ก็อย่าขึ้นภาษีให้มากกว่านี้ จะช่วยคนได้เยอะกว่า การแจกบัตรเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ใช่ต้นเหตุ” นางจิรนาฏกล่าว

สินค้าอุปโภคในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐแห่งหนึ่งใน ต.ศิลา อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น
นายคำนวณ สุวรรณดี พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้พาณิชย์จังหวัดขอนแก่นจะเร่งติดตั้งเครื่อง EDC ให้แล้วเสร็จทุกพื้นที่ 198 ตำบลใน26 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนปัญหาเกี่ยวกับโครงการที่พบนั้นเป็นปัญหาเล็กน้อย เช่น กระดาษเครื่อง EDC หมด สัญญาณขัดข้อง ส่วนเรื่องการฉวยโอกาสขึ้นราคานั้น พบน้อยมาก เบื้องต้นพาณิชย์ได้ตรวจสอบและแจ้งให้ลดราคาสินค้าลงมา หากยังฝ่าฝืนก็จะถอนชื่อออกจากร้านธงฟ้า ทั้งนี้ทางพาณิชย์ได้ดูแลไม่ให้มีการขายราคาสินค้าเกินราคา การบังคับขายสินค้า การจัดชุดสินค้า รวมถึงการเปลี่ยนเงินในบัตรเป็นเงินสด
ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าโครงการนี้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตสินค้านั้น พาณิชย์จังหวัดขอนแก่นมองว่า ทุกวันนี้ประชาชนบริโภคสินค้าเหล่านี้อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่มีโครงการนี้ก็ตาม เมื่อมีโครงการนี้ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นห่วงโซ่ ทำให้ร้านค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ผลิตมีเงินหมุน จึงเป็นการช่วยเหลือร้านค้าในหมู่บ้าน ขณะที่ผู้บริโภคก็มีอำนาจเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเอง ไม่ได้ผูกขาดกับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง
ด้านนายสุคนธ์ วิจิตรกุลสวัสดิ์ นักวิชาการคลังชำนาญการพิเศษ สำนักงานคลังจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตนคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะสามารถช่วยเหลือคนจนได้ตรงจุดจริงๆ “ถูกตัว ถูกคน ถูกที่” เพราะในการใช้บัตร เจ้าของบัตรจะต้องเป็นคนใช้เอง หากให้คนอื่นจะใช้สิทธิแทน จะต้องมีการมอบอำนาจก่อน ดังนั้น การใช้สิทธิจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ผ่านกลไกรัฐ ไม่มีเบี้ยใบ้รายทาง ต่างจากนโยบายครั้งก่อนที่แจกเงินให้ 1,500 หรือ 3,000 บาท โดยไม่ได้เช็คข้อมูลของผู้ได้รับสิทธิ เป็นการแจกแบบเหวี่ยงแห ทั้งนี้ บัตรนี้มีอายุ 5 ปี แต่โครงการนี้เป็นลักษณะปีต่อปี โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนทุกปี เพราะประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงทุกปี

นายสถาพร เริงธรรม อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ด้านนายสถาพร เริงธรรม อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะได้ให้ความเห็นว่า โครงการนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ช่วยประชาชนที่ลำบากให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แม้ไม่มาก แต่ก็ช่วยจุนเจือและผ่อนบรรเทาได้ระดับหนึ่ง และทำให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้มากขึ้น
อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์กล่าวอีกว่า ข้อเสียคือ นโยบายนี้ไม่สร้างความเชื่อมั่นว่า จะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง เพราะปัญหาที่แท้จริงของคนจนเป็นเรื่องของภาระหนี้สิน หากดูข้อมูลปี 2559 คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 79.9 ต่อ GDP ดังนั้นแม้จะแจกเงิน 300 บาทให้มาซื้อสินค้า ก็ยังไม่เพียงพอ อาจช่วยเหลือประชาชนได้เพียงเล็กน้อยแต่ไม่สามารถสร้างผลสำเร็จในระยะยาว
“การแก้ไขเท่านี้ ไม่ใช่การช่วยเหลืออย่างแท้จริง เป็นเพียงการช่วยเหลือที่พอกล้อมแกล้ม ลดกระแสแรงเสียดทานจากปัญหาการใช้งบของรัฐไปซื้ออาวุธ” นายสถาพรกล่าว
นายสถาพรยังได้กล่าวอีกว่า กรณีบัตรคนจนเป็นนโยบายที่คนจากข้างบนคิดขึ้นมาจากข้อมูลที่เขามีจำนวนมาก แต่เมื่อนำมาปฏิบัติกลับพบปัญหาที่นึกไม่ถึง เพราะขาดการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลกับสถานการณ์จริง เช่น มีต้นทุนแฝงเกิดขึ้นในการใช้เงิน 300 บาท นั่นคือ ค่าเดินทางไปร้านค้าในอำเภอ เนื่องจากบางหมู่บ้านไม่มีร้านสวัสดิการธงฟ้า ทำให้ประชาชนไม่ได้ใช้เงินเต็มจำนวน 300 บาท เพราะเมื่อนำไปหักลบกับค่าเดินทางอาจเหลือใช้เพียง 200 บาท
อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์เสนอว่า การบริหารนโยบายสาธารณะต้องให้คนในท้องถิ่นซึ่งรู้ปัญหาในพื้นที่ดีที่สุด เป็นคนคิดและดำเนินนโยบายเอง โดยรัฐบาลกลางควรมีบทบาทเป็นผู้กำกับดูแลเชิงสนับสนุนเท่านั้น ไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐบาลกลางโดยออกนโยบายชุดเดียวแล้วนำมาใช้กับทั้งประเทศเหมือนที่รัฐบาลชุดนี้กำลังทำ
โดยยังมองอีกว่า คนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มี 2 กลุ่มคือรัฐ กับกลุ่มทุน โดยรัฐบาลได้รับความนิยมทางการเมือง ส่วนทุนก็ได้รายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย คนที่ขาดทุนคือคนจนที่ยังคงเป็นหนี้เหมือนเดิม แม้ว่าจะได้ประโยชน์ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หากจะมีนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อเช่นนี้ ควรทำระบบสวัสดิการเต็มรูปแบบดีกว่า
“นโยบายนี้คือการเอาเงินรัฐไปใส่กระเป๋าเอกชน แต่ไม่ได้ใส่โดยตรง แต่ใส่ผ่านมือคนจนให้ช่วยซื้อของ” นายสถาพรกล่าวทิ้งท้าย