ขอนแก่น – คนทำอาชีพหมอลำเผยสิ่งที่นายกฯ พูดเป็นการดูถูกหมอลำ ทำให้หมอลำเป็นฝ่ายผิดและอาจเป็นสิ่งต้องห้ามเหมือนในอดีต ย้ำหมอลำไม่ใช่แค่เรื่องสนุกสนาน แต่สามารถปลอบประโลมความทุกข์ผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้

วงหมอลำ “บักหนวดเงินล้าน ปฏิภาณ ลือชา” แสดงลำเรื่องต่อกลอนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.สีชมภู จ.ขอนแก่น
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.ขอนแก่น พื้นที่ ต.บึงเนียม อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมจากสาเหตุผนังกั้นน้ำบึงเนียมแตก เพราะรอรับปริมาณน้ำบางส่วนจากลำน้ำพองที่มีปริมาณมากเกินไป ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่นาข้าวและพื้นที่ทำเกษตรกว่า 3,500 ไร่ ซึ่งระหว่างการลงพื้นที่นายกฯได้ขอให้ผู้ประสบภัยฟังข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา อย่าฟังแต่เพียงหมอลำ
นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ แบงค์ อาชีพหมอลำประจำวง “บักหนวดเงินล้านปฏิภาณ ลือชา” ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ จ.ขอนแก่น กล่าวถึงความรู้สึกของตนในฐานะคนทำอาชีพหมอลำต่อกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพูดพาดพิงถึงหมอลำเสมือนเป็นตัวปัญหาที่ทำให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมไม่ฟังข่าวสารจากรัฐบาลว่า ความเดือดร้อนของประชาชนจากน้ำท่วมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ควรพูดอะไรที่ตอกย้ำความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงการพูดถึงหมอลำที่เป็นสิ่งคู่กับสังคมอีสานในลักษณะที่เป็นฝ่ายผิด เหมือนเป็นตัวปัญหาที่ทำให้ประชาชนไม่รับฟังข่าวสารจากรัฐบาล เพราะฟังแต่หมอลำ
นายปติวัฒน์มองว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดนั้นเหมือนเป็นการดูถูกหมอลำทำให้หมอลำกลายเป็นฝ่ายผิดและเป็นสิ่งไม่ดีในสายตาของรัฐบาล ซึ่งคล้ายกับช่วงรัชกาลที่ 3 และ 4 ที่หมอลำเคยถูกห้ามแสดง อย่างในกรณี “แอ้วลาวเป่าแคน” เพราะจะมีความผิดจะถูกลงโทษเก็บภาษี เนื่องจาก ร.4 อ้างว่าจะทำให้เกิดภัยแล้ง ภัยธรรมชาติ ไม่สามารถปลูกพืชอะไรได้ ซึ่งทำให้หมอลำกลายเป็นการแสดงที่ผิดของสังคมขณะนั้น
แต่งานประวัติศาสตร์บางชิ้นอ้างว่าเหตุผลหลักที่ ร.4 ห้ามเล่นแอ้วลาวเป่าแคนนั้น เพราะกลอนลำที่มีนัยยะของการปลุกระดมให้เชลยศึกชาวลาวลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐสยาม หลังจากเชลยศึกชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนลงมาอยู่ในกรุงเทพฯ หลังสงครามเจ้าอนุวงศ์ ปี 2370

นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม
นายปติวัฒน์กล่าวอีกว่า หากพูดถึง “หมอลำหมอแคน” สำหรับคนลาวหรือคนอีสานนั้น หมอลำถือเป็นหมอหรือผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความรู้ สามารถชี้นำประชาชนสังคมอีสานได้ โดยเฉพาะการร้องลำเรื่องสังคม เหตุบ้านการเมืองที่เกิดขึ้นโดยใช้ศิลปะการร้องลำที่สอดแทรกจังหวะ ท่าทางเพื่อทำให้คนฟังรื่นเริง สนุกสนานและได้ความรู้ไปด้วย
“เมืองขอนแก่นเป็นเมืองหมอลำหมอแคนเพราะในอดีตขอนแก่นเป็นเมืองที่มีศิลปินหมอลำจากจังหวัดอื่นในภาคอีสานเดินทางมาอยู่จำนวนมาก เพื่อทำมาหากิน เพราะที่เมืองขอนแก่นมีงานแสดงจำนวนมาก รวมถึงมีสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ ห้องอัดเสียงที่สามารถทำให้หมอลำได้แจ้งเกิดและเป็นที่รู้จัก เหมือนกับกรุงเทพฯที่เหล่านักแสดง ศิลปิน ดารา ต้องอยู่ที่นั้น เพราะที่นั้นมีงานแสดงและมีรายได้” นายปติวัฒน์กล่าว
หมอลำประจำวงบักหนวดเงินล้าน ปฏิภาณ ลือชาผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการสนับสนุนอาชีพหมอลำให้มากขึ้น เพราะถือเป็นอาชีพศิลปินพื้นบ้าน คล้ายกับคนทำอาชีพอื่น ๆ อยากให้เลิกมองว่าหมอลำเป็นตัวสร้างปัญหาและทุกวันนี้อาชีพหมอลำแถบจะไม่มีรายได้ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีเงิน เลยไม่ได้จ้างไปแสดง
“ทุกวันนี้คนทำอาชีพหมอลำก็ลำบาก เศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีคนจ้างหมอลำไปแสดง จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนอาชีพหมอลำ เช่นจ้างให้หมอลำไปแสดงลำกลอนให้กำลังใจพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วม” นายปติวัฒน์กล่าว