ขอนแก่น- มีปัญหาเกิดขึ้นก่อนศาลพิพากษา 7 นักศึกษาคดีละเมิดอำนาจศาล เพราะรายงานสืบเสาะข้อมูลจำเลยคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง จึงต้องแก้ไข ด้านทนายความจำเลยเผย การยื่นอุทธรณ์คำพิพากษานั้นลูกความกำลังปรึกษากันอยู่ขณะนี้

เครือข่ายนักศึกษา 4 ภาคจัดกิจกรรมให้กำลังใจนายจตุภัทร์ บุญภัทรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” หน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา จนนำมาสู่การแจ้งข้อกล่าวหาต่อนักเคลื่อนไหว 7 คน ฐานละเมิดอำนาจศาล

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาตัดสินจำคุก 7 นักกิจกรรมและนักศึกษากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีจัดกิจกรรมเพื่อให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” บริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ. หลังจากศาลมีคำสั่งฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ดาวดิน” ผู้กระทำผิดในคดีหมิ่นเบื้องสูง ตามมาตรา 112 กรณีแบ่งปันประวัติ ร.10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทยผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว

กิจกรรมดังกล่าวมีการนำรองเท้าบูทมาทำเป็นเครื่องหมายตราชู ทำให้ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่นแจ้งข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลต่อผู้ร่วมจัดกิจกรรม 7 คน ประกอบด้วย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิยาลัยขอนแก่น 4 คน นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 คน  นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาขอนแก่น 1 คน และนักกิจกรรมทางการเมืองจากกรุงเทพฯ อีก 1 คน  

ผู้กระทำผิดในคดีละเมิดอำนาจจำเลยที่ 1 – 6 ถ่ายรูปกับประชาชนที่มาให้กำลังใจหลังศาลมีคำพิพากษา

ทั้งนี้ ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 7 คน ดังนี้ จำเลยที่ 1 – 6 ตัดสินให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี ซึ่งหมายถึงยังไม่กำหนดว่าจำเลยจะต้องถูกจำคุกนานเท่าใด แต่หากจำเลยได้กระทำความผิดภายในระยะเวลา 2 ปี จึงจะถูกกำหนดโทษ โดยศาลให้เหตุผลว่าอจำเลยที่ 1- 6 ยังเป็นวัยเยาว์ เป็นนักศึกษา ยังขาดความรู้ ความเข้าใจกระบวนการศาล ยังด้อยประสบการณ์ แต่ต้องเข้ารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ใน 1 ปีและบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

ส่วนจำเลยที่ 7 ตัดสินจำคุก 6 เดือน ปรับ 500 บาท เพราะเป็นผู้ใหญ่ แต่ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี โดยต้องรายงานตัวกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติและบำเพ็ญประโยชน์เช่นกัน

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความเพ่ง มาตรา 30-33 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี ให้การดำเนินคดีของศาลไม่ถูกรบกวน มีความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนให้ความเคารพและปฏิบัติตาม ซึ่งมีการระบุองค์ประกอบของความผิดไว้ใน มาตรา 31 ว่า ผู้ใดกระทำการอย่างใดๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ระหว่างรอฟังคำพิพากษา ซึ่งตามกำหนดนัดหมายของศาลเป็นเวลา 9.00 น. ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์เวลา 10.00 น. มีประชาชนและเพื่อนจำเลยทั้ง 7 คนมาให้กำลังใจและเข้าร่วมรับปังคำพิพากษาภายในห้องพิจารณาอย่างหนาแน่น ทำให้บางคนต้องนั่งลงกับพื้นเพื่อฟังการพิจารณาคดี ทั้งนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ภายนอกห้องอย่างใกล้ชิด

ต่อมาเมื่อผู้พิพากษามาถึง ศาลสั่งให้จำเลยทั้ง 7 คน พร้อมทนายความตรวจสอบรายงานสืบเสาะของสำนักงานคุมประพฤติเพื่อความถูกต้อง พบว่าข้อมูลของจำเลยบางคนมีความผิดพลาดและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทำให้ศาลต้องสั่งให้แก้ไขทำรายงานสืบเสาะต่างๆ ใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรายงายประวัติอาชญากรรม คดีความ และประวัติการรักษาอาการทางจิต เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้พิพากษายังได้สั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติผู้ที่ทำรายงานสืบเสาะเข้ามาชี้แจงข้อผิดพลาดที่ศาล เวลา 13.00 น. จากนั้น เจ้าพนักงานคุมประพฤติแถลงยอมรับความผิดพลาดเรื่องข้อมูลที่เกิดขึ้น ผู้พิพากษาจึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติกลับไปแก้ไขก่อนเวลา 16.00 น.

น.สภาวินี ชุมศรี ทนายความของจำเลยกล่าวถึงกรณีรายงานสืบเสาะมีความผิดพลาดว่า ถือเป็นเรื่องปกติก่อนศาลพิพากษา ซึ่งทนายความต้องอ่านทุกครั้งเพื่อจะดูว่ามีข้อมูลส่วนไหนหรือไม่ ว่าจะกระทบต่อลูกความหรือไม่ เช่น กรณีประวัติทางคดี เป็นต้น จึงสามารถขอให้ศาลแก้ไขเพื่อปกป้องสิทธิของลูกความได้

น.สภาวินีกล่าวอีกว่า ตามหลักการแล้ว รายงานการสืบเสาะเป็นรายงานที่ศาลให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติทำรายงานสืบหาข้อเท็จของจำเลยแทนศาล ดังนั้น หากมีข้อเท็จหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ศาลก็จะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลต่อคำพิพากษา

“ครั้งนี้รายงานการสืบเสาะมีความผิดพลาดจำนวนมาก ทำให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่นจากข้อเท็จที่ได้จากการสืบพยานหรือจากคำพูดของลูกความ ความผิดพลาดนี้อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินคดี” น.สภาวินีกล่าวว่า  

 

image_pdfimage_print